ตุ๊กตาบาร์บี้หน้าตาสะสวย สวมกระโปรงสีม่วงและเสื้อสีชมพูหวานแหวว ตัดด้วยผมสีน้ำตาลยาว ใบหน้าเชิดตรงพร้อม ‘แว่นตา’ บริเวณศีรษะ และ ‘ไม้เท้านำทาง’ สำหรับผู้พิการทางสายตา

ข้างต้นนี้คือลักษณะของ ‘บาร์บี้ตาบอด’ ตัวแรกของโลก โดยสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น (CNN) รายงานเมื่อวานนี้ (24 กรกฎาคม 2024) ว่า แมทเทล (Mattel) บริษัทผลิตของเล่นสัญชาติอเมริกัน เปิดตัวตุ๊กตาคอลเลกชันใหม่ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายระยะยาวขององค์กรคือ การสร้างให้บาร์บี้มีความหลากหลายและสะท้อนกลุ่มคนในสังคม

ไม่ใช่แค่รูปลักษณ์ภายนอกที่สะท้อนอัตลักษณ์อันหลากหลาย ตุ๊กตาตัวนี้ยังออกแบบเพื่อใช้งานสำหรับคนตาบอด ตั้งแต่การใช้ผ้าซาตินเป็นวัสดุหลักในชุดตุ๊กตา พร้อมตะขอเพื่อให้ง่ายต่อการเปลี่ยนเสื้อผ้า ขณะที่บรรจุภัณฑ์และคู่มือการใช้งานเป็นอักษรเบลล์ทั้งหมด

นอกจากนี้ แหล่งข่าวยังเปิดเผยอีกว่า แมทเทลร่วมงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคนตาบอดหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น องค์กรเพื่อคนตาบอดแห่งอเมริกา (American Foundation for the Blind: AFB) และสถาบันคนตาบอดแห่งชาติ (Royal National Institute of Blind People: RNIB) ในสหราชอาณาจักร เพื่อให้แน่ใจว่า ตุ๊กตาคอลเลกชันนี้จะถ่ายทอดลักษณะเฉพาะ และสามารถใช้งานได้จริง โดยมีจุดมุ่งหมายสูงสุดคือ การสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องผู้พิการทางสายตาแก่สาธารณชนอย่างถูกต้อง

โทนี สตีเฟนส์ (Tony Stephens) ผู้อำนวยการด้านการสื่อสารของ AFB อธิบายว่า คอลเลกชันดังกล่าวถือเป็นการส่งท้ายเดือนแห่งผู้พิการที่สวยงาม และเขาเชื่อว่า ตุ๊กตาบาร์บี้รูปแบบใหม่นี้ จะทำให้เด็กทุกคนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ไม่ว่าพวกเขาจะมีตัวตนแบบใดก็ตาม 

ขณะที่ เด็บบี มิลเลอร์ (Debbie Miller) ผู้อำนวยการฝ่ายให้คำแนะนำลูกค้าของ RNIB กล่าวถึงเบื้องหลังการผลิตว่า บาร์บี้คือสัญลักษณ์แห่งความสุข โดยเฉพาะในแง่ของการค้นพบและการทำความเข้าใจโลกของเล่น ดังนั้นคงจะเป็นเรื่องที่ยอดเยี่ยม หากเด็กที่มองไม่เห็นได้เล่นของเล่นที่เหมือนกับพวกเขา

ด้าน ลูซี เอ็ดวาร์ด (Lucy Edwards) ผู้พิการทางสายตา นักเคลื่อนไหว และแบรนด์แอมบาสเดอร์ของตุ๊กตาคอลเลกชันดังกล่าว โพสต์ภาพและข้อความบนอินสตาแกรมด้วยความยินดีว่า เธอฝันใฝ่ช่วงเวลานี้มานาน และนับเป็นเรื่องเหลือเชื่อมากที่ตุ๊กตาแบรนด์ดังของโลก ออกคอลเลกชันที่แสดงอัตลักษณ์เหมือนกับเธอ

ปัจจุบัน แมทเทลกำลังสร้างคอลเลกชัน ‘ความหลากหลายในตุ๊กตาบาร์บี้’ โดยในปี 2020 มีการเปิดตัวบาร์บี้ผิวด่างขาว บาร์บี้ไม่มีผม บาร์บี้ผิวดำ และบาร์บี้ใส่ขาเทียม ขณะที่ในปี 2023 บริษัทร่วมกับสมาคมดาวน์ซินโดรมแห่งชาติ (National Down Syndrome Society: NDSS) สร้างตุ๊กตาบาร์บี้ที่เป็นโรคดาวน์ซินโดรมออกมา 

นอกจากนี้ บาร์บี้ยังเคยใช้เป็นแคมเปญขับเคลื่อนสิทธิสตรีมุสลิม โดยในปี 2015 ฮานีฟาห์ อดัม (Haneefah Adam) ศิลปินชาวไนจีเรียน สร้างแอ็กเคานต์ @Hijarbie ในอินสตาแกรม โดยปรากฏภาพบาร์บี้สวมใส่ฮิญาบสีชมพูและเสื้อผ้าสมัยใหม่ เพื่อจุดประกายแฟชั่นยุคใหม่ของผู้หญิงมุสลิม

“ตุ๊กตาบาร์บี้ คือปรากฏการณ์ใหม่ การเฉลิมฉลองความเป็นผู้หญิง ความเป็นอิสระ และอำนาจของสตรีเพศ” อดัมระบุ หลังภาพยนตร์ Barbie (2023) ทำให้สังคมพูดถึงความเท่าเทียมทางเพศ บทบาทของผู้หญิง และกลุ่มเฟมินิสต์ (Feminist) จนเธอต้องกลับมาใช้งานอินสตาแกรมอีกครั้ง

หากย้อนกลับไปในอดีต บาร์บี้มักถูกโจมตีถึงการผูกขาดมาตรฐานทางความงาม (Beauty Standard) ด้วยการสร้างรูปลักษณ์ที่ไม่มีอยู่จริง เช่น ตัวสูง ขายาว เอวคอดกิ่ว หน้าอกใหญ่ ผิวขาว และผมทอง จนมีงานวิจัยหนึ่งชี้ว่า เด็กผู้หญิงที่เล่นตุ๊กตาชนิดนี้ อาจมีแนวโน้มเป็นโรคการกินผิดปกติและมีความรู้สึกเคารพชื่นชมในตนเองต่ำ 

อ้างอิง

https://www.cbsnews.com/news/barbie-down-syndrome-doll-introduced-by-mattel/

https://edition.cnn.com/2024/07/23/style/first-blind-barbie-doll-mattel-intl-scli/index.html

https://vitaminstree.medium.com/the-barbie-effect-dolls-beauty-standards-and-body-image-issues-172044af336f

https://www.theguardian.com/global-development/2023/aug/03/move-over-barbie-hijarbie-is-back-to-celebrate-muslim-fashion-and-culture

Tags: , , , , , , ,