วันนี้ (20 มิถุนายน 2567) ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล วิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี จัดแถลงข่าวผลสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย โดยมี ฉัตรชัย พรหมเลิศ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน กรณีข่าวความขัดแย้งภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ระหว่าง บิ๊กต่อ-พลตำรวจเอก ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร) กับบิ๊กโจ๊ก-พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ซึ่งผลสอบชี้ว่า มีความขัดแย้งเกิดขึ้นภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติจริงในทุกระดับ และเห็นควรว่า ให้พลตำรวจเอกต่อศักดิ์กลับไปปฏิบัติราชการตามเดิม ภายหลังการสอบสวนสิ้นสุดแล้ว

ทั้งนี้ วิษณุแถลงสรุปสาระสำคัญของผลสอบจากคณะกรรมการฯ ไว้ทั้งหมด 5 ข้อ ดังต่อไปนี้

1. ผลการตรวจสอบพบว่ามีความขัดแย้งจริง ระหว่างตำรวจทุกระดับ ทุกฝ่าย จนเกิดคดีความฟ้องร้องกัน

2. เรื่องราวที่เกิดขึ้นนั้นเกี่ยวข้องกับ 2 ตำรวจใหญ่ ได้แก่ บิ๊กต่อและบิ๊กโจ๊ก ซึ่งแต่ละท่านมีทีมงานของตนเอง และก็เกิดความขัดแย้งเช่นเดียวกัน โดยมีคดีที่สำคัญเกี่ยวข้อง ได้แก่ คดี 140 ล้าน, คดีกำนันนก, คดีเว็บพนันออนไลน์มินนี่, คดีเว็บพนันออนไลน์ BNK และคดีย่อยอีกกว่า 10 คดี กระจายอยู่ตามสถานีตำรวจและศาลต่างๆ ความขัดแย้งบางอย่างเพิ่งเกิดขึ้น แต่บางคดีเกิดขึ้นมานานกว่า 10 ปีแล้ว

3. จึงต้องดำเนินการส่งเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบ เช่น ตำรวจ อัยการ และศาล ตามปกติ

4. บางเรื่องที่อยู่นอกกระบวนการยุติธรรม ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการไปแล้ว ไม่มีคดีตกค้างที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) หรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) อีกแล้ว

5. สำหรับรอง ผบ.ตร.ได้รับคำสั่งให้กลับไปปฏิบัติราชการตามเดิมเมื่อวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา ภายหลังถูกเรียกมาช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2567 แต่ในวันเดียวกัน ได้ตั้งคณะกรรมการตั้งอีกชุดหนึ่ง เพื่อสอบสวนทางวินัย และมีคำสั่งให้พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ออกราชการไว้ก่อน

อย่างไรก็ตาม ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 วิษณุระบุว่า มีการเพิ่มมาตราว่า หากการสั่งให้ตำรวจออกราชการไว้ก่อน แล้วกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของบุคคลนั้น ให้การออกคำสั่งจะต้องกระทำโดยคำแนะนำหรือเสนอแนะจากคณะกรรมการสอบสวนเท่านั้น

คณะกรรมการกฤษฏีกาจึงมีมติ 10-0 เห็นว่า การสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนกระทบสิทธิต่อหน้าที่ เพราะพลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ไม่ได้รับเงินเดือนข้าราชการ, เงินประจำตำแหน่ง, รถประจำตำแหน่ง รวมไปถึงสิทธิการเลื่อนตำแหน่งก็ไม่ได้ จึงต้องทำโดยคณะกรรมการสอบสวน แต่เรื่องนี้ไม่ได้กระทำโดยคณะกรรมการสอบสวน จึงต้องให้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติแก้ไขให้ถูกต้อง

ดังนั้นสถานภาพของ รอง ผบ.ตร.ยังอยู่ระหว่างรอนำความขึ้นกราบบังคมทูลให้ออกจากราชการไว้ก่อน ซึ่งสำคัญอย่างยิ่งที่สำนักเลขาคณะรัฐมนตรีต้องมีการตรวจสอบว่า ถูกต้องตามระเบียบของกฎหมายหรือไม่

ขณะที่กรณีของพลตำรวจเอกต่อศักดิ์ วิษณุระุบว่า เดิมทียังไม่ได้ให้กลับไปปฏิบัติหน้าที่ตามเดิมก่อน ภายหลังการสอบสวนเสร็จสิ้น จึงสมควรส่งให้ต่อศักดิ์กลับไปปฏิบัติราชการในฐานะ ผบ.ตร.ตามเดิม

Tags: , , , ,