‘ภูฏาน’ ดินแดนที่หลายคนมักขนานนามว่า ‘ประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก’ เมื่อสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก (Jigme Singye Wangchuck) พระราชบิดากษัตริย์องค์ปัจจุบัน จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก (Jigme Khesar Namgyel Wangchuck) มีนโยบายสร้างความสุขให้กับคนในชาติ โดยใช้ค่า ‘GNH’ (Gross National Happiness) หรือดัชนีมวลรวมแห่งความสุข เป็นตัวชี้วัดด้านการพัฒนาประเทศ แทนการใช้ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจอย่าง ‘GDP’ (Gross Domestic Product) ซึ่งกลายเป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งในรัฐธรรมนูญภูฏานนับตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา
แต่ใครจะรู้ว่า ข้างหลังภาพประเทศแห่งความสุขนี้ ยังมีเรื่องราวที่ถูกปิดกั้นจากโลกภายนอกหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายในและนักโทษทางการเมือง ในอดีต ดินแดนแห่งเทือกเขาหิมาลัยแห่งนี้เคยสร้างจำนวนผู้ลี้ภัยมากที่สุดในเอเชียใต้ในช่วงทศวรรษ 1990
ฮิวแมนไรต์วอตช์ (Human Rights Watch) เปิดเผยสถานการณ์น่าเป็นห่วงของภูฏาน หลังมีรายงานว่า นักโทษทางการเมืองอย่างน้อย 37 คน ถูกคุมขังในข้อหาก่ออาชญากรรมทางการเมืองต่อรัฐ อีกทั้งมีเรื่องราวการใช้ความรุนแรงกับเหล่านักโทษโหดร้ายเกินความเป็นมนุษย์
“การทรมานร่างกายนั้นไร้ความปรานีมาก เราจึงไม่มีทางเลือกอื่น นอกเหนือจากการปรากฏตัวต่อศาลตามคำเรียกร้อง และถ้อยแถลงของพวกเขา (กองกำลังความมั่นคง)” นักโทษการเมืองคนแรกอธิบาย
“พวกเขาจะทุบตีเรา เราจึงสารภาพ ทั้งที่มันไม่ใช่ความจริง” นักโทษการเมืองคนที่สองเผยความในใจ
ประวัติศาสตร์ที่ถูกลืม: การกวาดล้างชาติพันธุ์ (Ethnic Cleansing) และกระบวนการทำให้เป็น ‘ภูฏาน’ โดยชนชั้นนำและรัฐบาล
จุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมด สืบเนื่องจากปัญหาทางการเมืองตั้งแต่อดีต ที่เต็มไปด้วยความหวาดกลัว ความเกลียดชังของชนชั้นนำประเทศและพลเมืองส่วนใหญ่ของภูฏานที่เรียกว่ากลุ่ม ‘งาล็อบ’ (Ngalop) ต่อชนพื้นเมืองเชื้อสายเนปาล หรือกลุ่ม ‘โลตชัมพา’ (Lhotsampa)
ทางการมองว่า โลตชัมพาเป็นภัยคุกคามของประเทศ กลืนกินเอกลักษณ์ ภาษาและวัฒนธรรมของชาติ โดยกล่าวหาว่า กลุ่มชาติพันธุ์นี้เป็นผู้มาใหม่ ไม่ใช่ชนพื้นเมืองดั้งเดิมในอดีต แต่ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ระบุว่า พวกเขาเป็นหนึ่งในชนพื้นเมืองของภูฏานนับตั้งแต่ทศวรรษ 1600 เมื่อกลุ่มชาติพันธุ์ ‘เนวาร์’ (Newar) แห่งเนปาล เดินทางมาสร้างสถูปในภูฏาน และตั้งรกรากในดินแดนตอนใต้ของประเทศ จนได้รับชื่อใหม่ว่า โลตชัมพา แปลว่ากลุ่มผู้คนจากทางใต้
รัฐบาลภายใต้ระบอบราชาธิปไตยจึงกวาดล้างกลุ่มชนพื้นเมืองนี้ โดยใช้กลยุทธ์ทางกฎหมายและการเมืองผสมผสานด้วยกระบวนการ ‘ทำให้เป็นภูฏาน’ (Bhutanization) นับตั้งแต่การออกกฎหมายสัญชาติพลเมือง กำหนดให้ผู้คนที่อาศัยในประเทศก่อนปี 1958 เท่านั้น จึงจะเป็นพลเมืองที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะชาวโลตชัมพาส่วนใหญ่ได้รับสัญชาติในปี 1958 ขึ้นไป
รวมถึงอดีตกษัตริย์จิกมีนำนโยบาย ‘หนึ่งประเทศ หนึ่งพลเมือง’ (One Nation, One People) เพื่อกีดกันชนพื้นเมืองไม่ให้ใช้ภาษาอื่น นอกจากภาษาภูฏานเป็นหลัก และห้ามพวกเขาสวมใส่ชุดประจำชาติของตนเอง เหล่านี้ทำให้กลุ่มโลตชัมพาไม่พอใจเป็นอย่างมาก
ชาวโลตชัมพากว่า 1 แสนคน เริ่มหนีออกจากประเทศในปี 1988 หลายคนอ้างว่ารัฐบาลภูฏานบังคับ หลังจากพวกเขาถูกตราหน้าว่า เป็นคนต่างด้าวผิดกฎหมาย ต้องเผชิญกับความรุนแรง และการเลือกปฏิบัติทางชาติพันธุ์จากกองกำลังทหาร
แต่สถานการณ์รุนแรงที่สุดในช่วงทศวรรษ 1990 คือการที่รัฐบาลพยายามปราบปรามกิจกรรมทางการเมือง เช่น การเรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีความหมายถึงการต่อต้านและทรยศต่อชาติ อีกทั้งเกิดการใช้ความรุนแรงต่อชาติพันธุ์ที่ไม่ใช่ภูฏานตามมายาคติ ผู้คนนับพันถูกจับกุม ทรมาน สังหาร หรือได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิต
“รัฐบาลขับไล่ผู้คนเป็นจำนวนมาก พวกเขาเกือบทั้งหมดลงนามในแบบฟอร์มการย้ายถิ่นฐานโดยสมัครใจ ก่อนเดินทางออกจากประเทศ ทางการยังยึดเอกสารของประชาชนที่สามารถพิสูจน์สัญชาติภูฏานได้ เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาจะไม่สามารถกลับมาได้อีกในอนาคต” รายงานบางส่วนจากกลยุทธ์กวาดล้างชาติพันธุ์ของรัฐบาลภูฏานในเวลาดังกล่าว
นักโทษทางการเมืองในปัจจุบัน: มรดกจากความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ของรัฐบาลภูฏาน
แม้เรื่องราวดังกล่าวจะผ่านไปถึง 2 ทศวรรษ ผู้ลี้ภัยนับแสนรายได้รับการช่วยเหลือและตั้งรกรากในดินแดนต่างๆ สำเร็จ แต่ที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก คือกลุ่มผู้คนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ซึ่งฮิวแมนไรต์วอตช์เผยว่า ภูฏานมีนักโทษทางการเมืองถูกคุมขังยาวนาน โดยที่ไม่มีโอกาสรอการลงอาญาตั้งแต่ปี 1990
นักโทษทางการเมืองประกอบด้วยอดีตทหาร 8 นายของกองทัพภูฏานที่พูดภาษาเนปาลได้ พวกเขาถูกกล่าวหาว่า เข้าร่วมการประท้วงในคุกลับอันห่างไกลที่ใช้สำหรับขังอดีตข้าราชการในข้อหากบฏ รวมถึงกลุ่มชาวโลตชัมพาอีก 15 คน ถูกจองจำนับตั้งแต่ปี 2008 และ 2012 กลุ่มคนเหล่านี้เคยเป็นผู้ที่หนีออกจากภูฏานตั้งแต่วัยเด็กพร้อมครอบครัว แต่กลับมายังที่นี่ เพื่อรณรงค์ ‘สิทธิในการกลับประเทศ’ ที่เสนอโดยพรรคคอมมิวนิสต์ภูฏาน
พวกเขาถูกจับได้ไม่นานหลังจากมาถึงในข้อหากบฏ ซึ่งมีหลักฐานคือการพกพาอาวุธขนาดเล็กและเอกสารทางการเมือง อัยการให้เหตุผลว่า เพราะครอบครัวของพวกเขาหนีไปตั้งแต่ยังเป็นเด็ก นั่นหมายถึงการละทิ้งประเทศและเป็นศัตรูของภูฏานไปโดยปริยาย
นอกจากนั้น ยังมีนักโทษทางการเมือง 5 คนที่เรียกว่า ‘ซาร์ชอป’ (Sarchops) มีความหมายว่าชาวตะวันออก ได้แก่ ชาย 4 คน กับหญิง 1 คน ถูกคุมขังด้วยข้อหาเชื่อมโยงกับพรรคการเมืองต้องห้าม คือพรรคดรุกคองเกรสแห่งชาติ (Druk National Congress) เพราะเรียกร้องประชาธิปไตยแบบรัฐสภา (Parliamentary System) และสิทธิมนุษยชนในช่วงปี 1990
“เขาถูกทรมานโดยกองทัพ (…) พวกเขา (นักโทษ) ถูกเฆี่ยนตีและเผา ตอนที่ฉันพบเขา เขาเศร้ามากนะ น้ำตาเต็มใบหน้าเขาไปหมดเลย” พี่สาวของนักโทษคนหนึ่งซึ่งถูกจับกุมในปี 2008 และถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตกล่าว
“คุณต้องอยู่กับเราต่อ ส่วนพวกเขา (ฮิวแมนไรต์วอตช์) จะกลับพรุ่งนี้ เพราะฉะนั้น คิดให้ดีก่อนจะพูดอะไร” นักโทษทางการเมืองนิรนามบอกเล่าเรื่องระหว่างเขากับผู้คุม หลังจากเขาคิดจะเล่าเรื่องราวอันโหดร้ายให้เจ้าหน้าที่ภายนอกฟัง
กระบวนการยุติธรรมของภูฏานมีข้อกังขาจากหน่วยงานพิทักษ์สิทธิมนุษยชนอย่างมาก ผู้ต้องหาไม่สามารถมีทนายแก้ต่างในการพิจารณาคดี และไม่มีโอกาสถูกปล่อยตัว แม้ว่าจะมีชีวิตก็ตาม ยกเว้นแต่จะได้รับการนิรโทษกรรม และนำการพิพากษาโทษมาพิจารณาใหม่
อีกทั้ง คนภายนอกยังไม่รู้เลยว่า นักโทษถูกห้ามไม่ให้ใช้โทรศัพท์เพื่อติดต่อ และไม่สามารถส่งจดหมายไปยังครอบครัวของพวกเขาในดินแดนใหม่ องค์กรสิทธิมนุษยชนชี้ว่า สิ่งนี้สร้างความสะเทือนใจให้กับตัวนักโทษและคนที่รักเป็นอย่างมาก
ฮิวแมนไรต์วอตช์ทิ้งท้ายว่า ภูฏานควรปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากพิจารณาถึง ‘หลักความเมตตา’ ตามศาสนาพุทธนิกายมหายาน ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติของภูฏาน รวมถึงกษัตริย์จิกมีองค์ปัจจุบันมีอำนาจพิเศษในการปล่อยตัวนักโทษเหล่านี้ ดังที่จิกมี พระราชบิดา เคยนิรโทษกรรมนักโทษทางการเมืองจำนวน 40 คนในปี 1999 นั่นเอง
อ้างอิง
https://blogs.adb.org/blog/your-questions-answered-what-bhutan-s-gross-national-happiness-index
https://thediplomat.com/2016/09/bhutans-dark-secret-the-lhotshampa-expulsion/
https://www.typeinvestigations.org/investigation/2009/04/19/nepalese-minority-poses-problem-bhutan/
https://www.hrw.org/news/2023/03/23/bhutans-long-serving-political-prisoners-should-be-released
Tags: การกวาดล้างชาติพันธุ์, จิกมี, การขังลืม, การเมืองภูฏาน, เนปาล, โลตชัมพา, การเมืองระหว่างประเทศ, สิทธิมนุษยชน, ภูฏาน, Human Rights Watch, Ethnic Cleansing, นักโทษทางการเมือง