วันนี้ (28 สิงหาคม 2566) ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภาเพื่อพิจารณารายงานประจำปี 2565 ของสำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ครูหยุย-วัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อภิปรายตอนหนึ่งถึงปัญหาสำคัญทั่วโลกตอนนี้ คือ ‘สื่อดี’ สู้กับ ‘สื่อเลว’ โดยชัดเจนว่าขณะนี้สื่อกำลังครอบงำสังคมจนเละเทะ

“ในสถานการณ์การเมืองที่ผ่านมา ก่อนการเลือกตั้ง เราเห็นชัดว่าสื่อครอบงำเละเทะไปหมด เด็กของมูลนิธิที่ดูแลตั้งแต่ 6 7 8 ขวบ ไปจนถึงอายุ 20 พบว่า ในมือถือมีเรื่องเดียวกัน แล้วเป็นการครอบงำผ่านมือถือ แล้วเรื่องนี้เป็นสงครามใหญ่ แล้วจะมีสื่อบิดเบือนไปหมดเลย โดยเฉพาะสื่อบิดเบือนทางสถาบันพระมหากษัตริย์ เสียหายมาก บิดเบือนเต็มไปหมด และสิ่งที่จำเป็นต้องเกิดขึ้น คือต้องมีสื่อดีไว้สู้กับสื่อเลว โดยในอนุกรรมการมีส่วนของอนุกรรมการสื่อสร้างสรรค์ฯ ที่ต้องทำให้สื่อดีไปสู้กับสื่อเลวได้ แต่ขณะนี้ ในวิธีการยังเห็นว่าไม่ชัดเพียงพอ” 

วัลลภยังยกตัวอย่างภาพยนตร์ที่สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์สนับสนุน 2 เรื่อง คือหนุมานขาว (WHITE MONKEY) และพระร่วงพระราชาผู้ทรงธรรม ว่ามีเนื้อหาที่ดี สามารถสะท้อนความเป็นไทย แต่ยังมีปัญหาเรื่องช่องทางในการติดตาม โดยในต่างจังหวัดไม่สามารถเข้าถึงได้

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับรายการ ‘ลายกนกยกสยาม’ ของช่องท็อปนิวส์ (TOP NEWS) ซึ่งเป็นอีกรายการที่ตนติดตามเป็นประจำ และกองทุนสื่อสร้างสรรค์ฯ สนับสนุนเช่นกัน โดยสามารถติดตามได้ง่ายผ่านทางช่องท็อปนิวส์ เพราะฉะนั้น กองทุนสื่อสร้างสรรค์ฯ ควรสนับสนุนผ่านทางช่องโทรทัศน์ต่างๆ ให้หลากหลายกว่านี้

ด้าน พลอากาศตรี นายแพทย์เฉลิมชัย เครืองาม ส.ว.ระบุว่า เป็นแฟนพันธุ์แท้ของรายการลายกนกยกสยามเช่นกัน โดยระบุว่า ที่ผ่านมามี ส.ส.จากบางพรรคการเมืองวิพากษ์ถึงการสนับสนุนรายการนี้ของกองทุนสื่อสร้างสรรค์ฯ​ ว่า เป็นการสนับสนุนรายการที่เลือกข้างทางการเมืองชัดเจน แต่โดยส่วนตัวเห็นว่า รายการนี้ไม่เกี่ยวกับการเมือง เพราะพูดถึงทุกสิ่งดีงามของไทย ไม่ว่าเรื่องครู เด็ก จิตอาสา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม จิตอาสา การท่องเที่ยวที่ให้ทะนุถนอมความรักต่อแผ่นดิน และการให้ทุนสนับสนุน 4.8 ล้านบาท เหมาะสมแล้ว ควรให้มากกว่านี้ด้วยซ้ำ 

ส่วนที่ผู้จัดการกองทุนระบุว่า จะรับไป ‘ปรับปรุง แก้ไข’ จากการอภิปรายในวันดังกล่าว ขอยืนยันว่าไม่ต้องปรับปรุง ให้ทำต่อไป

พลอากาศตรีนายแพทย์เฉลิมชัยยังระบุอีกด้วยว่า ในการอภิปรายรายงานประจำปีของกองทุนสื่อสร้างสรรค์ฯ สภาผู้แทนราษฎรมี ส.ส.จากพรรคการเมืองหนึ่งอภิปรายว่า กองทุนสื่อสร้างสรรค์ฯ นี้สนับสนุนเฉพาะโครงการที่ ‘อวยสถาบันฯ’ ซึ่งตนเองไม่เข้าใจว่าอวยสถาบันฯ หมายถึงอะไร เพราะวัตถุประสงค์ของกองทุนชัดเจนอยู่แล้วว่า ต้องการสนับสนุนวัฒนธรรม ประเพณี และสิ่งที่ดีงามของไทย รวมทั้งถือว่าเป็นโชคดีแล้วที่พรรคการเมืองนั้นไม่ได้เป็นรัฐบาล โดยหากพรรคการเมืองดังกล่าวได้เป็นรัฐบาลและได้คุมกระทรวงวัฒนธรรม ก็ไม่แน่ใจว่าจะเกิดอะไรขึ้น

Tags: , ,