วันนี้ (21 มีนาคม 2566) เวลา 13.30 น. ที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) อัศวิณีย์ หวานจริง อดีตคณบดีคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยื่นหนังสือร้องเรียนกับ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หลังจากผ่านไปเกือบ 2 ปี ไม่มีความคืบหน้าจากคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในกรณีที่เคยยื่นจดหมายร้องเรียนขอความเป็นธรรม เกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัยและจริยธรรมกับอาจารย์ประจำคณะวิจิตรศิลป์ ได้แก่ ทัศนัย เศรษฐเสรี และศรยุทธ์ เอี่ยมเอื้อยุทธ พร้อมเผยว่า ตนเองถูกคุกคามและกลั่นแกล้งอย่างไม่เป็นธรรม จนได้รับความเสื่อมเสียชื่อเสียง แต่ไม่มีความคืบหน้าใดๆ จากมหาวิทยาลัย

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากกรณีที่อัศวิณีย์และอดีตทีมผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์ ได้เคยส่งจดหมายร้องเรียนขอความเป็นธรรมไปยังผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ช่วยดำเนินการทางวินัยและจริยธรรมกับอาจารย์ในคณะวิจิตรศิลป์ 2 คน ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ยึดศิลปะนักศึกษากลุ่มหนึ่งเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2564 และได้ส่งหนังสือขอทวงถามความคืบหน้ามาแล้วจำนวน 3 ฉบับ ตลอดระยะเวลา 2 ปี ยังคงมิได้รับคำตอบใดๆ ในการพิจารณาจากทางมหาวิทยาลัย ขณะเดียวกัน อัศวิณีย์ยังระบุว่า อาจารย์ทั้งสองได้เผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์และหนังสือพิมพ์มากมาย ทำให้ตนเองและครอบครัวได้รับความเสียหาย ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง รวมถึงทำให้คณะวิจิตรศิลป์และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เสื่อมเสียชื่อเสียงไปด้วย

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2564 อัศวิณีย์ที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นคณบดีคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วยกลุ่มผู้บริหาร เข้าไปรื้อและยึดงานศิลปะจัดวาง (Installation Art) ของนักศึกษากลุ่มหนึ่ง บริเวณลานหน้าตึกมีเดียอาร์ต ซึ่งงานศิลปะดังกล่าวมีลักษณะคล้ายศพห่อด้วยผ้าขาวและธงชาติไร้สีน้ำเงิน โดยอ้างว่ากระทำไปเพื่อเป็นการทำความสะอาดเพียงเท่านั้น ก่อนที่ทัศนัย อาจารย์ประจำภาควิชามีเดียอาร์ต คณะวิจิตรศิลป์ จะเข้ามาช่วยพูดและทวงถามถึงจริยธรรมของคนทำงานศิลปะ จนเกิดเป็นวลีที่ถูกพูดถึงในโซเชียลมีเดีย ณ ขณะนั้นว่า “ศิลปะไม่เป็นเจ้านายใคร และศิลปะไม่เป็นขี้ข้าใคร” ถึงแม้เหตุการณ์ดังกล่าวจะมีการถกเถียงและปะทะคารมกัน ทว่าสุดท้ายแล้วกลุ่มผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ก็ยอมคืนชิ้นงานที่ยึดไปให้กับนักศึกษา

ขณะเดียวกัน อดีตคณบดีคณะวิจิตรศิลป์ มช. ยังได้เปิดเผยข้อมูลบางส่วนเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลา 2 ปี ผ่านเฟซบุ๊กของ เอ็ดดี้ อัษฎางค์ ยมนาค ว่าที่ผ่านมา ตนเองถูกคุกคามไปถึงครอบครัว ลูกชายถูกกลุ่มเพื่อนและอาจารย์กลั่นแกล้ง ลูกสาวต้องขอไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ แต่อัศวิณีย์ยังคงเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ทำนั้นถูกต้อง ไม่ได้ทำอะไรผิด และความจริงต้องถูกเปิดเผยในสักวัน

“การต่อสู้เพื่อความจริง ความถูกต้อง และเพื่อสถาบันที่เรารักเคารพ เป็นสิ่งที่เราทำด้วยความเต็มใจในชีวิตที่ได้เกิดมาบนแผ่นดินไทยนี้” อัศวิณีย์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา อัศวิณีย์ได้แจ้งความคดีมาตรา 112 และคดีหมิ่นประมาทส่วนตัว รวมถึงแจ้งความในประเด็นอื่นๆ กับนักศึกษา อาจารย์ และผู้ใช้เฟซบุ๊กที่กล่าวพาดพิงตนหรือหมิ่นเหม่ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ในหลายข้อกล่าวหา โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 ที่สถานีตำรวจภูธรพิงคราชนิเวศน์ ทัศนัย ศรยุทธ์ และยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ นักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ เพิ่งเข้ารับทราบข้อกล่าวหากรณีที่ถูกอัศวิณีย์กล่าวหาว่าเข้าบุกรุกอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น ในคคีตัดโซ่บริเวณหอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อจัดแสดงงานศิลปะในวันที่ 16 ตุลาคม 2564 อย่างไรก็ตาม ทั้งสามคนยังคงแสดงจุดยืนที่แน่ชัด พร้อมนำป้ายข้อความต่าง ๆ อาทิ “หากไร้ซึ่งเสรีภาพจะมีศิลปะไว้ทำไม” และ “ศิลปะสั้น คดียืดยาว” ทำให้ตำรวจเข้ายึดและทำลายป้ายข้อความดังกล่าว นำไปสู่เหตุการณ์ชุลมุน ส่งผลให้นักศึกษาได้รับบาดเจ็บ 1 ราย

Tags: , ,