รองศาสตราจารย์ อัศวิณีย์ หวานจริง คณบดีคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ส่งหนังสือ เรื่องขอให้ดำเนินการแก้ไขข้อมูลประเด็นข่าวตามคำพิพากษา หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากกรณี The Momentum ได้พาดหัวข่าวว่า ‘ศาลปกครองเผยเด็กวิจิตรศิลป์ เข้าใช้หอศิลป์ มช.ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนฝ่ายบริหาร ’ลิดรอนสิทธิ์’ โดยทางคณะวิจิตรศิลป์กล่าวว่า เป็นการนำเสนอข่าวที่บิดเบือนข้อมูล ไม่ถูกต้องตามคำพิพากษาของศาลปกครอง ซึ่งปรากฏตามหัวข้อข่าวสังคมออนไลน์ เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า ‘ชนะคดีฟ้องผู้บริหาร’ ทางคณะวิจิตรศิลป์จึงเรียนมาเพื่อให้ท่านทราบว่าสำนักพิมพ์ของท่าน ได้นำเสนอข่าวในประเด็นที่ไม่ตรงกับความจริง ทำให้เกิดความเสื่อมเสียชื่อเสียงต่อคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นอย่างมากต่อสาธารณชน จึงขอให้ทาง The Momentum ทำการดำเนินแก้ไขข่าวให้ถูกต้อง หรือดำเนินการลบ หากไม่ดำเนินการภายใน 7 วัน (หลังจากได้รับเอกสาร) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะดำเนินทางกฎหมายต่อไป

สิ่งที่แนบมาด้วย 

1. คำชี้แจง คำพิพากษาของศาลปกครองเชียงใหม่ เกี่ยวกับกรณีการใช้หอศิลปวัฒนธรรม จำนวน 1 ฉบับ

2. คำพิพากษาศาลปกครองเชียงใหม่เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา จำนวน 1 ฉบับ

อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจสอบเนื้อข่าวในเว็บไซต์ The Momentum ไม่เคยมีการระบุว่า ‘นักศึกษาชนะคดีฟ้องผู้บริหาร’ แต่อย่างใด โดย The Momentum ได้รายงานว่า เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ศาลปกครองเชียงใหม่ได้นัดฟังคำพิพากษากรณีนักศึกษา สาขาวิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ (Media Arts and Design) คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณาจารย์ เข้ายื่นหนังสือเพื่อขออำนาจศาลปกครองคุ้มครองการนำเสนอผลงานของนักศึกษา จากกรณีที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และคณะวิจิตรศิลป์ไม่อนุญาตให้นักศึกษาเข้าใช้พื้นที่หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (หอศิลป์ฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) เพื่อจัดแสดงผลงาน Whiplash นิทรรศการแสดงรวมธีสิสของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 โดยไม่เซ็นอนุมัติการเข้าใช้พื้นที่ พร้อมกับนำโซ่ไปคล้องประตูทางเข้าหอศิลป์ฯ ไม่ให้นักศึกษาเข้าใช้งานเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยศาลมีความเห็นว่า การเข้าใช้สถานที่ของนักศึกษาและอาจารย์เป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย สามารถใช้ได้

พร้อมกันนี้ The Momentum ได้อ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งได้ให้ความเห็นว่า กรณีขอการคุ้มครองการนำเสนอผลงานของนักศึกษา มีผู้ฟ้องเป็นนักศึกษาสาขาวิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ และผู้ถูกฟ้องคือ รองศาสตราจารย์ อัศวิณีย์ หวานจริง คณบดีคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, รองศาสตราจารย์ กิตติ มาลีพันธุ์ ผู้ช่วยคณบดีคณะวิจิตรศิลป์ และตัวแทน ศาสตราจารย์ นายแพทย์ นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่าทางฝ่ายผู้บริหารได้ละเลย ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เรื่องการแสดงผลงานที่หอศิลป์ฯ ศาลปกครองระบุว่า เนื่องจากไม่จำเป็นต้องบังคับคดี ศาลจึงจำหน่ายคดีนี้ออกไป และคำพิพากษาส่วนหนึ่งได้ยืนยันว่า นักศึกษาและอาจารย์ที่เข้าไปใช้พื้นที่บริเวณหอศิลป์ฯ มีสิทธิที่จะใช้สถานที่ ซึ่งการกระทำนี้เป็นความผิดของฝ่ายคณะผู้บริหารที่ไม่ยอมอนุมัติให้นักศึกษาเข้าใช้สถานที่ เพื่อจัดแสดงผลงานอันเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอน

ในเนื้อข่าวดังกล่าว ทนายความยังระบุด้วยว่า คดีความครั้งนี้จะเป็นบรรทัดฐานที่ระบุว่า นักศึกษาได้ทำตามระเบียบขั้นตอนแล้ว แต่ทางมหาวิทยาลัยกลับทำการพิจารณายืดเยื้อ เพื่อเป็นการละเมิดสิทธิการแสดงความคิดเห็นของนักศึกษา เมื่อนักศึกษาส่งเอกสารครบ ก็ต้องพิจารณาให้นักศึกษามีสิทธิในการแสดงผลงาน และคิดว่าในรายวิชาต่อไป หรือหากมีการยื่นใช้หอศิลป์ฯ ครั้งต่อไป ผู้บริหารต้องเรียนรู้จากจุดนี้ และต้องอนุมัติให้นักศึกษาเข้าใช้พื้นที่ ด้านการดำเนินการทางจริยธรรมของผู้บริหาร ให้เป็นการตัดสินใจของนักศึกษาเองว่าจะยื่นร้องเรียนต่อคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ต่อหรือไม่

สำหรับคำพิพากษาศาลปกครองคดีหมายเลขดำที่ 382/2564 คดีหมายเลขแดงที่ 288/2564 ระหว่างนาย อภิสิทธิ์ วะลับ ที่ 1 กับพวกรวม 24 คน ผู้ฟ้องคดี กับผู้ช่วยคณบดีคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ 1 คณบดีคณะวิจิตรศิลป์ ที่ 2 อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ 3 ผู้ถูกฟ้องคดี กล่าวโดยสรุปดังนี้

1. ประเด็นการขอใช้หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เห็นว่าแม้ไม่ปรากฏว่าระเบียบหรือประกาศที่เกี่ยวข้องกับการขอใช้ หอศิลปวัฒนธรรมได้กําหนดระยะเวลาในการพิจารณาขอใช้พื้นที่หอศิลปวัฒนธรรมว่าจะต้องพิจารณาคําสั่งอนุญาต หรือไม่อนุญาตให้เข้าใช้พื้นที่ดังกล่าวภายในกี่วัน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (ผู้ช่วยคณบดีคณะวิจิตรศิลป์ ผู้รับผิดชอบหอศิลปวัฒนธรรม) และ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (คณบดีคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) ชอบที่จะพิจารณาคําขอใช้พื้นที่หอศิลปวัฒนธรรม และมีคําสั่งจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตก่อนกําหนดระยะเวลาในการใช้พื้นที่ตามที่ระบุในการขอใช้พื้นที่ของผู้ฟ้องคดี กล่าวคือ เมื่อได้รับคําขอ จะต้องพิจารณาคําขอและคําสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาต 

ทั้งนี้ หากเห็นว่าผู้ฟ้องคดี (นักศึกษา) ไม่ส่งเอกสารหรือหลักฐานเพิ่มเติมตามที่แจ้งให้จัดส่ง ก็ชอบที่จะคืนคำขอให้แก่ผู้ฟ้องคดีเป็นหนังสือถึงเหตุแห่งการคืนคําขอให้ทราบด้วยอย่างช้า ควรจะก่อนถึงกําหนดระยะเวลาในการใช้พื้นที่ตามที่ระบุในการขอใช้พื้นที่ของผู้ฟ้องคดี โดยเทียบเคียงการพิจารณาอนุญาตของทางราชการตามมาตรา 8 และมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติการอํานวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ 2558 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ใช้เป็นกฎหมายกลางที่จะกําหนดขั้นตอนและระยะเวลาในการพิจารณาคําขอ อนุญาตจากทางราชการ อย่างไรก็ดี เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีได้เข้าไปจัดนิทรรศการแสดงผลงานที่หอศิลปวัฒนธรรมแล้ว และอาจารย์ผู้สอนได้ตรวจผลงานและให้คะแนนแล้ว ศาลไม่จําต้องกําหนดคําบังคับ ไม่มีผลเป็นการเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหายของผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด

2. ประเด็นที่ผู้ฟ้องคดีมีคําขอให้เพิกถอนขั้นตอนการพิจารณาใช้หอศิลปวัฒนธรรม เห็นว่าเป็นขั้นตอนการดำเนินการพิจารณาก่อนที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (คณบดีคณะวิจิตรศิลป์) จะมีคําสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีใช้หอศิลปวัฒนธรรม ซึ่งเป็นเพียงกระบวนการภายในของฝ่ายปกครองที่ยังไม่มีผลกระทบสิทธิของผู้ฟ้องคดี ให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหายที่จะมีสิทธินําคดีมาฟ้องต่อศาลได้

3. ประเด็นการฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (อธิการบดี) เห็นว่า เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ได้มอบหมายให้คณะวิจิตรศิลป์เป็นผู้ดูแลและรับผิดชอบการดําเนินงานของหอศิลปวัฒนธรรมแล้ว ผู้ฟ้องคดี (นักศึกษา) จึงมิได้เป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายอันเนื่องจากการกระทําหรืองดเว้นการกระทําของผู้ถูกฟ้องคดี ที่ 3 ที่จะมีสิทธิฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ต่อศาล

จึงมีคําสั่งจําหน่ายคดีออกจากสารบบความ จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบโดยทั่วกัน

คณะวิจิตรศิลป์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

Tags: , ,