วันนี้ (30 มกราคม 2567) ที่ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล คารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงการณ์ผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ประเด็นเห็นชอบร่างกฎกระทรวงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่เสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อให้เห็นชอบในประเด็นการตรวจวัดแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก ฉบับที่ 13 พ.ศ. 2565 มาตรา 5 วรรค 1 และมาตรา 142 โดยเพิ่มเกณฑ์การตรวจ

สำหรับร่างกฎกระทรวงดังกล่าว เกิดขึ้นหลังประเทศไทยมีอัตราการเกิดอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับเป็นจำนวนมาก อีกทั้งการแก้ไขปัญหาและมาตรการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ยังไม่ชัดเจน โดยในร่างพระราชบัญญัติฉบับเดิมยังคงใช้วิธีตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ผ่านเครื่องวัดโดยการเป่าลมหายใจ (BREATH ANALYZER TEST) เป็นหลัก

ทำให้ในบางกรณีที่ต้องให้มีการตรวจเลือด ผู้ขับขี่จำเป็นต้องให้ความยินยอมก่อน โดยหากไม่ยินยอม เจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถตรวจเลือดได้ การตรวจวัดในกรณีเหล่านี้จึงเกิดปัญหา เนื่องจากผู้ขับขี่ไม่ยินยอมให้ตรวจ และยื้อเวลาจนทำให้การตรวจวัดภายหลังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงเสนอระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการพิสูจน์ปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายของผู้ขับขี่ หรือบุคคลที่อาจเป็นผู้ขับขี่ ให้แก้ไขวิธีการในการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ โดยสามารถตรวจวัดจากของเสียอย่างอื่นในร่างกาย เช่น ปัสสาวะ จึงทำให้หลังเกณฑ์ในการตรวจแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นเป็น 3 แบบคือ

1. ตรวจวัดจากลมหายใจโดยใช้วิธีการเป่า (วิธีเดิม)

2. ตรวจเลือด โดยผู้ขับขี่ต้องให้การยินยอม

3. ตรวจวัดจากของเสียอย่างอื่นในร่างกาย เช่นปัสสาวะ

ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุและมีพฤติกรรมที่เชื่อว่าผู้ขับขี่ทำการฝ่าฝืน คือไม่ให้ความยินยอมในการตรวจวัดแอลกอฮอล์ จะถูกตั้งข้อสันนิษฐานว่าเป็นผู้มีแอลกอฮอล์ในร่างกายเกินกว่ากำหนด และจะถูกเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีต่อไป

สำหรับผู้ขับขี่ที่ถูกจับกุมให้ตั้งข้อสันนิษฐานว่ามีแอลกอฮอล์ในร่างกายเกินกว่ากำหนด เจ้าหน้าที่จะต้องนำผู้ขับขี่ไปยังโรงพยาบาล เพื่อตรวจพิสูจน์แอลกอฮอล์ในร่างกายภายใน 3 ชั่วโมงนับตั้งแต่มีการจับกุม หากมีปริมาณแอลกอฮอล์เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะถือว่าเป็นปริมาณที่ผิดกฎหมาย และถูกตั้งข้อหาเมาแล้วขับ

ทั้งนี้ คณะโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีคาดว่า ร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่นี้จะช่วยให้คนตระหนัก และระวังพฤติกรรมที่เข้าข่ายเมาแล้วขับ อีกทั้งยังย้ำว่าการเปลี่ยนกฎหลักการใหม่ของร่างกฎกระทรวง ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติทำการสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนของกระทรวงยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานศาลยุติธรรม และกระทรวงสาธารณสุขได้ศึกษาแล้วว่าการตรวจปริมาณแอลกอฮอล์จากของเสียอื่นๆ ภายในร่างกายจะมีประสิทธิภาพและความแม่นยำสูง

Tags: ,