วันนี้ (31 มีนาคม 2565) ในงานเสวนาออนไลน์ Asia in Review (AiR) หัวข้อ Thai-Barometer: Where does the Thai Party System go? อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวตอนหนึ่งถึงกฎหมายพรรคการเมืองว่า ปัญหาของระบบพรรคการเมืองไทย เกิดขึ้นเพราะพยายามเอากฎหมายมาควบคุมพรรคการเมืองเสมือนเป็นหน่วยงานราชการ ให้พรรครับเงินสนับสนุนจากรัฐ ซึ่งก่อนหน้านี้อาจเป็นแบบนั้นจริง มีบางคนตั้งพรรคการเมืองเพื่อหากินจริงๆ พยายามเอากฎหมายและคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มาเป็นผู้พัฒนาพรรคการเมือง ซึ่งทั้งหมดขัดและฝืนธรรมชาติ กกต. ควรดูเป็นเรื่องๆ เช่น ระดมทุนโดยมิชอบ ใช้จ่ายโดยมิชอบ หรือใช้จ่ายฉ้อฉล ฝ่าฝืนกฎหมาย แต่การพยายามเข้ามาควบคุมการใช้จ่ายพรรคการเมือง ควบคุมจำนวนสาขา หรือการทำไพรมารีโหวตนั้นฝืนทั้งความเป็นจริงและไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์

สำหรับระบบการเลือกตั้งวันนี้ หากเป็นธรรมที่สุดจะต้องไม่มีคะแนนเสียงตกน้ำ เป็นระบบ MMP หรือระบบ ส.ส.พึงมี แต่หากทำให้เป็นเช่นนั้น ก็มีความสุ่มเสี่ยงทำให้สภาเป็นเบี้ยหัวแตก สภาชุดนี้ไม่ได้เกิดจากรัฐธรรมนูญ ระบบกฎหมาย หรือระบบเลือกตั้ง แต่มาจากการจงใจคำนวณโดยใช้สูตรที่ผิดเพี้ยน ยกตัวอย่างเช่น พรรคอนาคตใหม่ หรือพรรคประชาธิปัตย์ ล้วนมีเศษเหลือในเชิงคะแนนมากกว่าคะแนนของพรรคการเมืองเล็กที่ได้ทั่วประเทศด้วยซ้ำ ซึ่งทั้งหมด เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างจงใจ

อดีตนายกรัฐมนตรียังกล่าวอีกว่า ระบบพรรคการเมืองที่ถูกออกแบบตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ออกแบบมาจากความรังเกียจพรรคการเมือง กังวลเรื่องพรรคขนาดใหญ่ และถูกซ้ำเติมโดยให้ ส.ว. ทั้ง 250 เสียง มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี ถือเป็นรัฐธรรมนูญที่มีเป้าหมายแฝงชัดเจน ไม่อยากให้มีพรรคไหนได้เสียงข้างมาก และเมื่อไม่มีพรรคไหนได้เสียงข้างมาก พอมาเจอกับ ส.ว. 250 คน ก็จะเปลี่ยนแปลงอำนาจต่อรองของแต่ละฝ่ายได้ทันที

อภิสิทธิ์เห็นว่า หากแต่ละฝ่ายจะเลือกตั้งไม่เกินปีหน้า จะต้องสะสางรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 272 ให้ได้เสียก่อน ส่วนระบบเลือกตั้งก็มีปัญหาไม่แพ้กัน ตอนแก้รัฐธรรมนูญแก้ไม่ค่อยละเอียด คิดแต่เพียงจะแก้เป็นบัตร 2 ใบเท่านั้น เมื่อถึงขั้นตอนลงรายละเอียดจึงมีปัญหาตามมามากมาย แต่ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับว่าผู้มีอำนาจอยากให้เป็นอย่างไร และผลที่ออกมาก็จะเป็นไปตามนั้น

“ไม่แน่ใจว่าวันที่ นายกฯ และพรรคที่มีอำนาจสนับสนุนให้แก้รัฐธรรมนูญเป็นบัตรสองใบคิดอะไร แต่วันนี้ เขาไม่อยากได้แล้ว และเขาก็ไม่แน่ใจว่าจะกลับไปเป็นแบบเดิมได้หรือไม่ เรื่องนี้ไม่ได้จบที่มติกรรมาธิการอีกแล้ว ต้องแปรญัตติ ต้องว่ากันในสภาฯ แล้วสมมติว่าพยายามแก้กลับไปเป็นบัตรใบเดียว เกิดมีคนท้วงว่าขัดรัฐธรรมนูญ ส่งไปตีความ ผมก็บอกได้เลยว่าผู้มีอำนาจก็ไม่ได้เดือดร้อน สมมติว่าศาลตีความว่าไม่ได้ขัด เขาก็ได้สิ่งที่ต้องการ ถ้าศาลบอกว่าขัด เขาก็จะบอกว่าขอแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่อีกรอบ ถ้าเรามาพูดเรื่องทิศทางระบบพรรค แต่ไม่เอาคำถามมาเป็นตัววางก่อนว่าเราต้องการระบบแบบไหน สภาพการเมืองก็จะสับสนวนเวียนแบบนี้”

อภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ถึงที่ผ่านมาจะไม่ชอบกับหลายสิ่งหลายอย่าง แต่ระบบพรรคการเมืองก็เข้มแข็งขึ้นโดยลำดับ ถ้าย้อนไป 30 ปีที่เข้ามาสู่การเมือง พรรคการเมืองมีความเข้มแข็งขึ้นทั้งในเรื่องนโยบาย การแก้ปัญหาประชาชน มีความพร้อมในเชิงข้อมูล หรือมีความพร้อมในเชิงที่จะบอกกับข้าราชการว่ามีนโยบายแบบใด

“ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ทุกพรรคต้องต่อยอดให้ได้ ถ้าพรรคเข้มแข็งตรงนี้ มีความเข้มแข็งในด้านอุดมการณ์ มองเห็นพรรคในแง่สถาบันมากกว่าเป็นของกลุ่มบุคคลหนึ่งบุคคลใด พรรคการเมืองก็ยังเติบโตได้” อดีตนายกรัฐมนตรีกล่าว

ก่อนหน้านี้มีนักศึกษามาขอสัมภาษณ์ทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับการเมือง และขอให้ตนพูดถึงปัญหาของระบอบประชาธิปไตยที่ถดถอย และนักศึกษาก็ถามว่า “สุดท้ายแล้วประชาธิปไตยกับเผด็จการ ใครจะเป็นผู้ชนะ?”

“ผมก็ตอบเขาไปว่า ประชาธิปไตยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าไม่ได้เกิดขึ้นแล้วจะดำรงอยู่ได้โดยอัตโนมัติ มันมีโอกาสที่จะถูกทำลายลงอยู่ตลอด แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเชื่อ 100% ผมไม่เคยเห็นเผด็จการที่ไหนอยู่ได้ตลอดไป อย่างไรเสีย ประชาชนที่เป็นเจ้าของประเทศ ก็ต้องทวงคืนอำนาจเขารูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แต่สิ่งที่ผมอยากเห็นคือไม่อยากให้เกิดความรุนแรงหรือความสูญเสียอีก”

อภิสิทธิ์ ระบุว่า การเมืองแบบนี้ทำให้พรรคการเมืองแบบใหม่ที่พยายามสื่อสารว่าก้าวข้ามความขัดแย้ง ก็ยังคงก้าวข้ามไปไม่ได้ แม้ตัวเองจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการเมือง หรือการตัดสินใจใดของพรรคเพื่อไทย ถึงที่สุด การปรากฏตัวของ ‘แพทองธาร ชินวัตร’ จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้กระแสเดิมๆ และการเผชิญหน้ากันของสองขั้วความคิดวนกลับมาอีกครั้ง

นอกจากนี้ อภิสิทธิ์เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 เอา 250 ส.ว. ออกจากการเลือกนายกฯ ก่อนการเลือกตั้ง เพราะหากยังมีมาตรานี้อยู่ ก็จะเกิดความบิดเบี้ยวและเกิดความสุ่มเสี่ยงตลอดเวลา โดยในช่วงเวลาแรก 250 ส.ว.อาจยอม แต่ยอมไปสักพัก อาจมีอภินิหารทางกฎหมายในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งที่ทำให้กฎหมายมีปัญหาได้อีก

“ต้องหาทางให้เกิดฉันทามติ ให้เกิดกติกาที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ถ้าทำได้ก็เป็นหลักประกันดีที่สุดที่พึงมี ทำให้การเมืองไทยเติบโตและเข้าที่เข้าทางมากขึ้น แต่ผมเตือนนิดหนึ่ง แม้เราจะมองว่ารัฐราชการกับผู้มีอำนาจเข้ามาทำลายหลายสิ่งหลายอย่าง แต่ถ้าพรรคการเมืองด้วยกันไม่สรุปบทเรียนว่า ถึงแม้เป็นข้ออ้าง แต่เป็นข้ออ้างซึ่งทำให้เกิดพลังของผู้คนให้เข้ามาต่อต้านพรรคการเมือง ถ้าเราไม่สรุปบทเรียนเหล่านี้ ก็สุ่มเสี่ยงว่าจะเดินวนตลอดเวลา”

Tags: ,