แม้ว่าเหตุการณ์สังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 จะถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางทั้งในเชิงวิชาการ ตามสำนักข่าว หรือเว็บไซต์ทางการและไม่ทางการมากมาย ทว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ก็ยังไม่มีการกล่าวถึงมากนักใน ‘หนังสือเรียนประวัติศาสตร์’ โดยเฉพาะฉบับของกระทรวงศึกษาธิการ
เพื่อไขข้อข้องใจและหาเหตุผลของการ ‘ไม่มีอยู่’ ดังกล่าว The Momentum ได้สนทนากับ อรอนงค์ ทิพย์พิมล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ความรุนแรงและประวัติศาสตร์บาดแผล เพื่อหาข้อสรุปรวมทั้งเสนอทางแก้ไข
อรอนงค์เริ่มต้นโดยเล่าย้อนกลับไปตอนที่เธอยังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ว่า ช่วงนั้นเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ยังเป็นหลุมดำของสังคมไทย หลายคนไม่ต้องการพูดถึงเหตุการณ์ดังกล่าว และแม้เธอจะชอบเรียนวิชาประวัติศาสตร์มากเพียงใด ทว่าเธอก็ไม่เคยรู้จักเหตุการณ์นี้มาก่อน จนกระทั่งมารู้จักหนังสือ ‘6 ตุลาเราคือผู้บริสุทธิ์’
“ตอนเรียนมัธยมฯ เราไม่รู้จัก 6 ตุลาฯ แม้แต่นิดเดียว เรามาเริ่มสนใจจริงๆ ตอน ม.3 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับเหตุการณ์พฤษภาฯ มหาโหดปี 2535 เราได้ยินคนจำนวนหนึ่งพูดว่ากลัวเหตุการณ์พฤษภาคมปี 2535 จะเหมือนเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ตอนนั้นเราจึงเริ่มสงสัยว่า 6 ตุลาฯ คืออะไร
“เราไปถามผู้ใหญ่ ไม่มีใครตอบได้เลย และมีบางท่านบอกว่า ‘อย่าไปพูดถึงเลย ไม่มีใครเขาอยากรื้อฟื้นหรอก’ จากคำพูดนั้นก็ยิ่งทำให้เราสงสัยมากขึ้นว่าทำไมหลายคนไม่อยากพูดถึง ในหนังสือเรียนก็ไม่มีอธิบายไว้ จนกระทั่งไปเจอหนังสือ ‘6 ตุลาเราคือผู้บริสุทธิ์’ เป็นหนังสือที่รวบรวมจดหมายของนักโทษจากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 19 คน ซึ่ง 18 คนเป็นนักศึกษา 1 คนเป็นผู้นำสหภาพแรงงาน เขียนออกมาจากในคุก นั่นคือจุดเริ่มต้นที่เรารู้จักเหตุการณ์นี้”
อย่างไรก็ดี แม้เวลาผ่านมาราว 30 ปีจากวันที่อรอนงค์ยังเป็นนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 3 ทว่าปัจจุบันเธอมองว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ก็ยังไม่ได้รับการพูดถึงในหนังสือประวัติศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการมากเท่าที่ควร
“หนังสือเรียนประวัติศาสตร์ของกระทรวงฯ มักมีแต่เนื้อหาเกี่ยวกับความยิ่งใหญ่และดีงามของชาติไทย ความเจริญรุ่งเรือง สยามเมืองยิ้ม เมืองพุทธ อะไรทำนองนี้ แต่เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ กลับมีน้อยมาก เรามองว่าภาพเหตุการณ์มันรุนแรงเสียจนกระทรวงฯ ในฐานะส่วนหนึ่งของรัฐคงกระอักกระอ่วนที่จะกล่าวถึง
“เหตุการณ์นี้ยังมีตัวละครมากมายที่ไม่ถูกพูดถึงหรือทำความเข้าใจอย่างทะลุปรุโปร่ง รวมทั้งยังไม่มีใครได้รับผลจากการกระทำของตัวเองทั้งสิ้น เป็นประวัติศาสตร์ที่คาราคาซัง ที่สำคัญ หากจะอธิบายเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ให้ครบถ้วน มันเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องกล่าวถึงหรือพาดพิงถึงตัวละครอื่นๆ ซึ่งอาจจะเชื่อมโยงกับตัวรัฐเอง ดังนั้น เขาอาจมองว่า ไม่รู้จะสอนไปทำไม ไม่มีประโยชน์ และยังสะเทือนต่อความมั่นคงอีกด้วย”
หากมองในมุมรัฐไทย อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ผู้นี้มองว่า วัตถุประสงค์ของการศึกษาคือ ‘เบ้าหลอม’ ประชาชนในแบบที่รัฐต้องการ เพราะฉะนั้นการสอนประวัติศาสตร์ 6 ตุลาฯ ที่อาจนำไปสู่ชุดความจริงที่ว่ารัฐเป็นผู้ผิด จึงไม่มีความจำเป็น
อรอนงค์อธิบายเหตุผลเพิ่มเติมว่า นอกจากรัฐจะกระอักกระอ่วนที่จะต้องพาดพิงบุคคลต่างๆ แล้ว เหตุการณ์ในครั้งนั้นยังเป็นการกระทำซึ่งขัดกับสิ่งที่รัฐพร่ำสอนมา หนึ่งในนั้นคือ ‘ศีลธรรมอันดี’ ของไทย
“เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงมาก หากมองตามนิยามของอาจารย์ธงชัย (วินิจจะกูล) มันคือประวัติศาสตร์บาดแผลที่รุนแรงมาก รุนแรงจนกระทั่งไม่มีใครสามารถจินตนาการความโหดร้ายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยที่มีศาสนาและวัฒนธรรมที่ว่ากันว่าดีงามครอบคลุมอยู่”
อรอนงค์มองว่า การเรียนการสอนประวัติศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการ ไม่เฉพาะเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ค่อนข้างล้มเหลวอย่างมาก “เรามองว่าการสอนประวัติศาสตร์ของกระทรวงฯ ทำให้เด็กเกลียดวิชานี้ เพราะสอนให้ท่องจำอย่างเดียว อีกทั้งยังเป็นประวัติศาสตร์แบบที่ผู้เรียนไม่รู้สึกเชื่อมโยง ในโรงเรียนมีแต่เรื่องพระเจ้านั้น พระเจ้านี้ พระองค์นั้น พระองค์นี้ คือสอนให้จำอย่างเดียว แต่ไม่สอนให้ตั้งคำถาม”
เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ของประเทศไทย อรอนงค์มองว่า กระทรวงศึกษาธิการควรปรับการทำงาน 2 ประเด็นหลัก
1. เปิดรับ ‘ความจริงเวอร์ชันอื่น’ แทนการเชื่อว่าความจริงมีเพียงหนึ่งเดียว – ปัญหาใหญ่ที่สุดของแบบเรียนประวัติศาสตร์ไทยฉบับกระทรวงศึกษาธิการ คือการบอกว่าความจริงมีหนึ่งเดียวและการปฏิเสธความจริงในแง่มุมอื่น ซึ่งตามหลักการทางประวัติศาสตร์ถือว่าผิดมาก
“การที่นักประวัติศาสตร์หรือใครสักคนอยากจดบันทึกเรื่องราวในอดีต ล้วนต้องผ่านการตีความของผู้ศึกษาก่อนแล้ว หรือแม้กระทั่งการตัดสินใจเลือกหลักฐานทางประวัติศาสตร์แต่ละชิ้นมาสนับสนุนงานของตัวเอง ทั้งหมดเป็นการตัดสินใจ เป็นการเลือกที่อยู่ภายใต้ดุลพินิจของบุคคลนั้นๆ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์เหตุการณ์หนึ่งจะมีคนเขียนถึงในหลายแง่มุม เพราะความจริงไม่มีหนึ่งเดียว แต่รัฐไทยกลับไม่คิดเช่นนั้น”
2. ควรมีพื้นที่ให้ ‘ประวัติศาสตร์นอกตำรา’ – ประวัติศาสตร์ที่มีการเรียนการสอนอยู่ในโรงเรียนส่วนใหญ่เป็นประวัติศาสตร์ชาติไทย และประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมที่เน้นเพียงประวัติศาสตร์กรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี หรือกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งไม่มีพื้นที่ให้ประวัติศาสตร์ล้านนา ประวัติศาสตร์ปัตตานี และอื่นๆ หากจะมีการสอนก็มักเป็นการบันทึกว่าดินแดนเหล่านั้น ‘เป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทย’
“ในฐานะอาจารย์ประวัติศาสตร์ เราอยากให้กระทรวงศึกษาฯ นำประวัติศาสตร์นอกตำราเหล่านั้นเป็น ‘องค์ประธาน’ ของการศึกษา ไม่ใช่เป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งของชาติไทย”
ท้ายที่สุด อรอนงค์มองว่าอาจต้องใช้เวลาอีกนานกว่ารัฐไทยจะปฏิบัติตามทั้ง 2 ข้อนั้น และคงใช้เวลามากพอสมควรกว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ จะถูกพูดถึงอย่างแพร่หลายในหนังสือเรียนประวัติศาสตร์ไทยด้วยเหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมา
อย่างไรก็ดี เธอยกตัวอย่างเหตุการณ์ความรุนแรงในประเทศรวันดา (Rwanda) ว่าอาจเป็น ‘ต้นแบบ’ ของประเทศไทยได้
“รวันดาเคยมีสงครามกลางเมืองระหว่างชาวทุตซี (Tutsi) ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศกับชาวฮูตู (Hutu) ชนกลุ่มน้อยแต่กลับได้เป็นชนชั้นปกครอง ทั้งสองฆ่ากันอย่างรุนแรงและโหดเหี้ยม แต่หลังจากเหตุการณ์ผ่านไป ทั้งสองกลุ่มอยากยุติสงคราม อยากเข้าใจกันมากขึ้น จึงนำไปสู่กระบวนการค้นหาความจริง นำคนผิดมาลงโทษ จากนั้นรัฐจึงถอดบทเรียนแล้วนำไปบรรจุในหนังสือเรียนประวัติศาสตร์ สุดท้ายจึงเกิดการปรองดอง
“ก่อนจะไปถึงขั้นปรองดองหรือบรรจุเนื้อหาลงหนังสือได้ ต้องมีการนำความจริงมาพูดอย่างเปิดเผยว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร และด้วยเหตุใด ภายใต้การช่วยเหลือขององค์กรภายนอก สุดท้ายประวัติศาสตร์บาดแผลเหล่านั้นจะกลายเป็นประวัติศาสตร์กระแสหลักให้เยาวชนรุ่นหลังได้ศึกษา ที่สำคัญรัฐต้องเปิดพื้นที่ให้ทุกความทรงจำและให้พื้นที่กับทุกความเจ็บปวด”
เมื่อถามว่า หากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ สามารถไปถึงศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Crimanal Court: ICC) เพื่อเข้าสู่ ‘กระบวนการค้นหาความจริง’ เหมือนในประเทศรวันดาได้ ความขัดแย้งในประเทศไทยอาจพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นหรือไม่ อรอนงค์ทิ้งท้ายว่า
“ถ้าเรื่องของ 6 ตุลาฯ ไปถึงศาลอาญาระหว่างประเทศได้ อาจจะมีโอกาสเหมือนประเทศรวันดา แต่เรามองว่ายากมากกว่าคดีจะไปถึง เพราะคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียต่อเรื่องนี้น่าจะขัดขวางและไม่ยอมง่ายๆ
“ความยากของ 6 ตุลาฯ คือผู้ชนะยังอยู่ในอำนาจมาจนถึงทุกวันนี้”
Tags: 6 ตุลาฯ, อรอนงค์ ทิพย์พิมล