หลายสิบปีก่อน ห้อง ร. 103 ของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือห้องเรียนของนักเรียนวิชารัฐศาสตร์หลายสิบหลายร้อยคน และหลายคนก็น่าจะจดจำบรรยากาศการเรียนการสอนภายในห้องนี้ได้เป็นอย่างดี

สำหรับหลายคน วิชาการเมืองการปกครองไทย คือประตูสู่โลกใบใหม่ที่พวกเขาไม่เคยรู้จัก และเป็นบันไดขั้นแรกของการเรียนรู้โลกอันน่าพิศวงของ ‘การเมืองไทย’

เสกสรรค์ ประเสริฐกุล คือหนึ่งในคณาจารย์ที่นั่งอยู่เบื้องหน้าลูกศิษย์รุ่นแล้วรุ่นเล่าในอดีต และใช้เวลาตลอด 30 ปีวนเวียนเข้าออกห้องเรียนแห่งนี้

ณ ปี 2560 ตัวละครบน ‘เวที’ การเมืองไทยแปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่ ‘การเมืองไทย’ กลับดูเหมือนเดินหน้าแล้วก็เดินถอยหลัง จนกระทั่งลูกศิษย์ลูกหามึนงงหาคำอธิบายไม่เจอ

นักเรียนวิชาการเมืองการปกครองไทยจึงยังคงต้องพึ่งพาความรู้และประสบการณ์ของ ‘อาจารย์เสก’ อยู่เป็นระยะ

และห้อง ร. 103 ก็ได้เวลาต้อนรับ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อีกครั้งในเช้าวันที่ 19 มิถุนายน 2560 กับปาฐกถา ‘การเมืองไทยกับสังคม 4.0’ ในงานสัมมนา Direk’s Talk หัวข้อ ‘ทิศทางการเมืองโลก การเมืองไทย และนโยบายสาธารณะ’

ต่อไปนี้คือใจความสำคัญของบทเรียนความยาวราว 1 ชั่วโมง

 

‘คนเชื่อว่าตัวเองกำลังทำความดี’

3-4 ปีที่ผ่านมา คนมักพูดถึงการเมืองโดยโยงนัยไว้ที่นักการเมืองและพรรคการเมืองเท่านั้น ทำให้เข้าใจกันผิดๆ ว่า มีแต่นักการเมืองฝ่ายเดียวที่เล่นการเมือง ฝ่ายอื่นๆ ไม่ได้เล่นการเมือง คำพูดแบบรวบรัดดังกล่าว เมื่อนำมาบวกกับเรื่องคนดีคนไม่ดี ก็จะกลายเป็นข้อสรุปที่ว่านักการเมืองที่เคยกุมอำนาจโดยผ่านระบบเลือกตั้งล้วนเป็นคนไม่ดี ส่วนคนที่อยู่บนเวทีอำนาจด้วยวิธีอื่นล้วนไม่ใช่นักการเมือง ดังนั้นจึงเป็นคนดี

เรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญที่ช่วยอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้นในบ้านเมืองของเราในระยะ 3-4 ปีมานี้ นับตั้งแต่การลุกฮือต้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของมวลชนคนเสื้อเหลือง ซึ่งนำไปสู่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 มาจนถึงการร่างและประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 รัฐธรรมนูญที่ผู้ร่างเองเรียกว่าเป็นฉบับต้านโกง

ใช่หรือไม่ว่าทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพราะมีคนเชื่อว่าตัวเองกำลังทำความดี ด้วยการเอาคนไม่ดีลงมาจากเวทีอำนาจ จากนั้นก็เขียนกติกาการเมืองขึ้นมาใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้คนไม่ดีกลับมามีอำนาจอีก หรือถ้าขึ้นมาได้ก็ต้องถูกฝ่ายคนดีควบคุมอย่างเข้มข้น

หากเราถอดนามธรรมออกมาเป็นรูปธรรม ก็จะพบว่าพวกที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคนไม่ดีนั้นล้วนผูกติดอยู่กับการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ส่วนผู้ถือตนเป็นคนดี ตอนแรกก็เป็นมวลชนคนชั้นกลางในเมืองกับแกนนำที่มาจากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน จากนั้นจึงมีการส่งไม้ต่อไปยังชนชั้นนำภาครัฐ ให้ช่วยลงดาบสุดท้าย

ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่าวิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทยช่วง 2556-2557 ไม่ได้เป็นความขัดแย้งระหว่างมวลชนที่ใส่เสื้อสีต่างกันเท่านั้น หากยังกินลึกไปถึงความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำเก่าจากภาครัฐกับชนชั้นนำใหม่ที่โตมาจากภาคเอกชน และขึ้นสู่อำนาจโดยผ่านการเลือกตั้ง โดยฝ่ายแรกกุมกลไกรัฐราชการ ฝ่ายหลังมีมวลชนเรือนล้านเป็นฐานเสียงสนับสนุน

ถ้าเราวาง concept ไว้เช่นนี้ ก็จะเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นความขัดแย้งที่ใหญ่โตเกินเรื่องราวของบุคคลและคณะบุคคล มันเป็นความขัดแย้งที่สะท้อนความไม่ลงตัวในโครงสร้างอำนาจในสังคมไทย ซึ่งนำไปสู่การเบียดขับแย่งยึดพื้นที่ของกันและกันในระดับระบอบต่อระบอบ ความขัดแย้งที่ลงลึกขนาดนั้นคงไม่ใช่เรื่องที่แก้ไขได้ง่ายๆ ด้วยวิธีจับมือปรองดองกันของบรรดาแกนนำสีเหลืองสีแดง ในขณะที่ตัวละครเอกจริงๆ ถูกจัดไว้นอกสมการ

ชนชั้นนำภาครัฐ จะกุมอำนาจอีกไม่ต่ำกว่า 9-10 ปี

เราสังเกตได้ว่าหลังรัฐประหารปี 2557 แทนที่รัฐบาลทหารจะรีบแก้ไขความขัดแย้งระหว่างมวลชนเสื้อสี กลับเดินหน้ากำหนดนโยบายต่างๆ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้เพื่อขับเคลื่อนและผลักดันให้ประเทศไทยเป็นไปตามวิสัยทัศน์ของตน

การทำสิ่งต่างๆ ดังกล่าวไม่ใช่ลักษณะของรัฐบาลที่ขึ้นมารักษาการชั่วคราว หากเป็นลักษณะของผู้ปกครองที่มีชุดความคิดของตัวเอง และประสงค์จะดัดแปลงโลกให้เป็นไปตามนั้น

รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 อันเป็นผลงานของรัฐบาลปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นอย่างแจ่มชัดว่า ชนชั้นนำภาครัฐต้องการทวงคืนและรักษาพื้นที่ส่วนใหญ่ในเวทีอำนาจไว้อย่างถาวร อีกทั้งจำกัดพื้นที่ของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง โดยไม่ให้อยู่ในฐานะผู้กุมอำนาจนำอีกต่อไป

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้เปลี่ยนระบบเลือกตั้งแบบเดิมให้เป็นระบบใหม่ที่เรียกว่าจัดสรรปันส่วนผสม ระบบดังกล่าวจะทำให้การได้เสียงข้างมากของพรรคเดียวเป็นไปได้ยาก และรัฐบาลที่ตั้งขึ้น อาจจะต้องเป็นรัฐบาลผสม ซึ่งไม่ค่อยมีเสถียรภาพ … ผลทางอ้อมของระบบเลือกตั้งเช่นนี้ย่อมทำให้การเสนอนโยบายในระดับชาติของพรรคการเมืองถูกลดความสำคัญลง

รัฐธรรมนูญยังเปิดพื้นที่ทางการเมืองใหม่ๆ ให้ชนชั้นนำภาครัฐอย่างเต็มที่ โดยกำหนดให้ข้าราชการชั้นสูงเป็นทั้งกรรมการสรรหาและเป็นผู้รับการสรรหามาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระและกลไกควบคุมต่างๆ และที่น่าสนใจก็คือ ในกระบวนการดังกล่าว บทบาทและอำนาจของฝ่ายตุลาการถูกยกระดับให้สูงขึ้นและแผ่ขยายออกไปมาก

ประเด็นสำคัญที่สุด บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภาชุดแรกมาจากการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และกำหนดให้มีอำนาจร่วมกับสภาผู้แทนราษฎรในการรับรองหรือไม่รับรองผู้ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เรื่องนี้เมื่อบวกรวมกับบทบัญญัติที่ให้นายกรัฐมนตรีเป็นบุคคลนอกรายชื่อของพรรคการเมืองได้ ก็ทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอยู่ตรงไหน

ประการสุดท้าย ถ้าดูบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ก็จะพบว่าพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศกับพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งคณะรัฐมนตรีส่งร่างเข้าสภาฯ แล้ว จะต้องออกมาภายใน 4 เดือน หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ อันนี้หมายถึงว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแทบจะกำหนดนโยบายเพิ่มไม่ได้เลย และอาจจะต้องกลายเป็นผู้สืบทอดนโยบาย คสช. เสียเอง

ยิ่งไปกว่านี้ รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ยังมีบทบัญญัติต่างๆ ที่ทำให้แก้ไขได้ยาก จนถึงขั้นเกือบเป็นไปไมได้ ซึ่งหมายถึงว่าผู้ร่างมีวัตถุประสงค์จะตรึงโครงสร้างอำนาจดังกล่าวไว้ให้นานแสนนาน

ดังนั้น เมื่อบวกรวมกับช่วงที่รัฐบาลทหารปกครองโดยตรง เราอาจกล่าวได้ว่าการกุมอำนาจของชนชั้นนำภาครัฐคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 9-10 ปี

 

ในยุคที่รัฐชาติเป็นแค่ ‘ผู้จัดการตลาด’

ประเด็นที่ผมคิดว่าน่าสนใจมากก็คือ ทำไมชนชั้นนำภาครัฐและพันธมิตรทางสังคมจึงกล้าร่างรัฐธรรมนูญที่เอียงข้างตนเองออกมาได้ขนาดนี้?

ถ้าเราพักเรื่องผิดถูกดีชั่วเอาไว้ก่อน ก็อาจจะวิจารณ์ได้ในหลายทาง

ในทัศนะส่วนตัวของผม คิดว่าเป็นไปได้ที่พวกเขาอาจจะรู้สึกว่าฐานะชนชั้นนำของตนที่มีมาแต่เดิมกำลังถูกกัดกร่อนคุกคามทั้งโดยกลุ่มนักการเมืองที่โตมาจากภาคเอกชน และโดยระบอบประชาธิปไตยที่ผนวกมวลชนชั้นล่างเข้ามาสู่ระดับกำหนดนโยบายยิ่งขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ก็กำลังแปรรูปรัฐชาติให้เป็นแค่ผู้จัดการตลาด ซึ่งเป็นตลาดที่ในแต่ละวันมีแต่จะย่อยสลายวัฒนธรรมจารีต และทุบทำลายค่านิยมที่ฝ่ายอนุรักษ์ยึดถือ

ด้วยเหตุดังนี้ ชนชั้นนำภาครัฐจึงต้องการกลับมามีฐานะนำในการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐไทยกับทุนนิยมโลกให้เป็นไปตามแนวทางที่ตนเองยังคงมีบทบาท และมีที่อยู่ที่ยืนครบถ้วน ซึ่งจะทำเช่นนั้นได้ ก็ต้องคงฐานะทางการเมืองของรัฐชาติกึ่งจารีตไว้ให้ได้ ภายใต้เงื่อนไขที่เปลี่ยนไป

ด้วยเหตุดังนี้ วาทกรรมเรื่องความดีจึงผูกติดอยู่กับวาทกรรมเรื่องความเป็นไทย

และด้วยเหตุดังนี้ จึงมีการกำหนดทิศทางของประเทศโดยผ่านยุทธศาสตร์ชาติเอาไว้ก่อนการเลือกตั้งครั้งหน้า

ไทยแลนด์ 4.0 และกลไกประชารัฐ

อะไรที่ทำให้ผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกล้าทำเกินดุลกำลังเปรียบเทียบระหว่างผู้สนับสนุนกับผู้คัดค้านอำนาจนำของชนชั้นนำภาครัฐ โดยบัญญัติให้เสียงของประชาชนมีผลน้อยที่สุดต่อการจัดตั้งรัฐบาลและการกำหนดนโยบาย

ในความเห็นส่วนตัวของผม คำตอบน่าจะอยู่ที่นโยบายสองประการ หนึ่งคือการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อยกระดับประเทศไทยไปสู่ประเทศรายได้สูง หรือที่เรียกกันว่านโยบายไทยแลนด์ 4.0 และสอง นโยบายขับเคลื่อนจุดหมายทางเศรษฐกิจดังกล่าวด้วยกลไกประชารัฐ

แม้ว่าโดยภายนอก ทั้งสองนโยบายดูเป็นเรื่องเศรษฐกิจ แต่ผมคิดว่านี่เป็น master plan ในการช่วงชิงมวลชนและสร้างความชอบธรรมใหม่ของชนชั้นนำภาครัฐที่แยบยลมาก มันเป็นส่วนสำคัญของยุทธการยึดพื้นที่ทางการเมืองเพื่อสถาปนาอำนาจนำ ซึ่งเป็นการวางแผนที่เป็นระบบและบูรณาการการโจมตีจากทุกมิติเข้าด้วยกัน

กล่าวสำหรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 รัฐบาลชุดนี้ยังคงยึดโยงอยู่กับระบบทุนโลกาภิวัตน์ ซึ่งดำเนินไปภายใต้แนวทางเสรีนิยมใหม่ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพอเศษตามแนวชายแดน 10 แห่ง รวมทั้งการจัดตั้งระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ล้วนเป็นโครงการที่จะใช้ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติและทุนในประเทศ

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructures) ซึ่งคิดเป็นงบประมาณถึง 2.4 ล้านล้านบาท มีการขยายระบบโลจิสติกส์ในระดับอภิมหาโครงการหลายอย่าง ตั้งแต่เพิ่มเส้นทางขนส่งในระบบราง ไปจนถึงการสร้างสนามบินและท่าเรือน้ำลึก ทั้งหมดนี้เพื่อเพิ่มความโยงใยอันแน่นแฟ้นระหว่างประเทศไทยกับทุนนิยมโลกทั้งสิ้น

แต่การอาศัยระบบทุนนิยมที่ไร้ชาติมาสนองผลประโยชน์แห่งชาตินั้น นับเป็นเรื่องที่มีปัญหาย้อนแย้งกันอยู่ ปัญหาดังกล่าวไม่ได้เพิ่งเกิดในรัฐบาลนี้ แต่มีมาพักใหญ่แล้ว

จริงอยู่ การลงทุนจากต่างชาติอาจจะช่วยทำหน้าที่เป็นหัวรถจักรฉุดลากเศรษฐกิจไทยให้เติบโตในอัตราที่สูงขึ้น แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ได้นำไปสู่การกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำโดยอัตโนมัติ กระทั่งสวนทางกันในหลายๆ กรณี

การที่รัฐไทยต้องลดภาษีนิติบุคคลให้กับบรรดาผู้ประกอบการในเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นเวลา 5 ปี อนุญาตให้เช่าที่ดินใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นได้ในระยะยาว และลดเงื่อนไขอีกหลายๆ อย่างให้นักลงทุนพอใจ ย่อมหมายถึงว่าผลประโยชน์สูงสุดจะต้องตกเป็นของฝ่ายทุนอย่างแน่นอน

ฝ่ายรัฐไม่ได้อาศัยการลงทุนจากต่างชาติเป็นแรงขับเศรษฐกิจ 4.0 แต่อย่างเดียว หากยังคิดยุทธศาสตร์ที่เรียกว่ากลไกประชารัฐขึ้นมาเป็นเครื่องจักรใหญ่อีกตัวหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

จุดที่น่าสนใจที่สุดของนโยบายหรือกลไกประชารัฐก็คือมันไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อการเติบโตของจีดีพีเท่านั้น หากยังมีเป้าหมายลดความเหลื่อมล้ำและกระจายรายได้ไปพร้อมๆ กัน

ตามนโยบายประชารัฐ รัฐราชการเสนอตัวเป็นแกนนำประสานความร่วมมือระหว่างทุนใหญ่กับธุรกิจรายย่อย หรือแม้แต่เกษตรกรในท้องถิ่นต่างๆ ทั้งนี้ โดยมีเครือข่ายภาคประชาสังคมเป็นภาคีขับเคลื่อน

ด้วยเหตุดังนี้ นโยบายประชารัฐจึงมีนัยทางการเมืองสูงมาก เพราะเป็นการจับมือกันระหว่างภาครัฐกับภาคประชาสังคมและภาคธุรกิจเอกชน เคลื่อนไหวลงสู่มวลชนระดับฐานรากซึ่งทับซ้อนกับฐานเสียงของนักการเมือง ถ้าเรื่องนี้ทำสำเร็จ ก็อาจจะส่งผลให้การเมืองภาคตัวแทนกลายเป็นโมฆะได้

พูดอีกแบบหนึ่ง มันก็คือความพยายามที่จะแปรความขัดแย้งทางชนชั้นที่หลายท่านเกลียดและกลัว มาเป็นความร่วมมือทางชนชั้น ภายใต้การนำของรัฐราชการ ดังนั้น กลไกประชารัฐจึงมีกลิ่นอายของ ‘ความรักความสามัคคีของคนในชาติ’ อยู่พอสมควร

สิ่งที่เราไม่รู้คือนโยบายนี้มุ่งลอยแพตัดตอนนักการเมืองมาตั้งแต่แรก ด้วยการทำให้พวกเขาเป็นคนนอกกระบวนการพัฒนาประเทศ หรือเป็นแค่ผลพลอยได้ของสูตรแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แต่ที่แน่ๆ คือในทางนโยบาย มันถูกออกแบบมาหักล้างตอบโต้นโยบายประชานิยมโดยตรง

การเมืองในยุคไทยแลนด์ 4.0

ในสายตาของผม โอกาสเดียวที่พรรคการเมืองจะต่อรองกับพรรคราชการได้ คือต้องร่วมมือกันอย่างเหนียวแน่น และตอบคำท้าของชนชั้นนำภาครัฐในทุกประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องตอบคำท้าใหญ่ด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาและการปฏิรูปตามครรลองประชาธิปไตย ที่พิสูจน์ได้ว่าเหนือกว่า ดีกว่า เป็นจริงและเป็นธรรมมากกว่า

ดังนั้น การเมืองในยุคไทยแลนด์ 4.0 จึงมีแนวโน้มที่จะไปได้ทั้งสองทาง ทางแรก นักการเมืองเล่นบทหางเครื่อง คอยผัดหน้าทาแป้งให้กับชนชั้นนำภาครัฐที่จะกุมอำนาจต่อในฐานะรัฐบาลประชาธิปไตย กลายเป็นการเมืองแบบที่ท่านอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรียกว่าระบอบ ‘เกี้ยเซี้ย’ หรือ ‘เกี้ยซิยาธิปไตย’

ทางที่สอง พรรคการเมืองส่วนใหญ่ผนึกกำลังกันทำหน้าที่ฝ่ายค้านที่สร้างสรรค์ โดยมีข้อเสนอแนะหรือข้อโต้แย้งเชิงนโยบายที่แตกต่างจากแนวคิดของฝ่ายอนุรักษนิยม

ถ้าสิ่งนี้เกิดขึ้นจริงก็จะเป็นปรากฏการณ์ที่เร้าใจยิ่ง และเป็นการสมทบส่วนที่สำคัญให้กับพัฒนาการทางการเมืองในประเทศของเรา

สำหรับภาคประชาชนโดยทั่วไป ฐานะของพวกเขาจะเป็นเช่นใดภายใต้เงื่อนไขไทยแลนด์ 4.0 และกลไกประชารัฐ ตลอดจนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน?

อันดับแรก ถ้าพูดเฉพาะเรื่องเลือกตั้ง เสียงของพวกเขาคงจะมีน้ำหนักลดลง ทั้งนี้เพราะระบบเลือกตั้งใหม่และอำนาจของวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งจะทำให้ไม่มีพรรคการเมืองไหนตั้งรัฐบาลได้โดยพรรคเดียว และเมื่อเป็นเช่นนั้น ทางเลือกในระดับนโยบายของผู้ลงคะแนนเลือกตั้งก็ดูจะหายไปด้วย

แม้แต่ในเรื่องนี้ ชนชั้นนำภาครัฐและมวลชนห้อมล้อมก็ได้ขับเคลื่อนวาทกรรมดักหน้าไว้แล้วว่าการเลือกตั้งไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดในระบอบประชาธิปไตย วาทกรรมดังกล่าวใช้ประโยชน์ได้ถึงสองทาง คือด้านหนึ่งลดทอนเครดิตของการเมืองแบบเลือกตั้ง ขณะเดียวกันก็คล้ายว่าจะหันเหความสนใจของประชาชนจากประเด็นที่เสียงของพวกเขามีน้ำหนักน้อยลง

กระนั้นก็ตาม ที่ผ่านมา เสียงของประชาชนเคยมีน้ำหนักมากในการจัดตั้งรัฐบาลและเลือกนโยบายที่พวกเขาพอใจ คนเหล่านี้ถูกทำให้เงียบสนิทมาตลอดระยะเวลา 3 ปี ถึงวันนี้ก็ยังไม่มีใครรู้ชัดว่าพวกเขาคิดอย่างไร และจะแสดงออกทางการเมืองแบบไหนเมื่อมีการเลือกตั้งครั้งต่อไป

ในอดีต ชาวนาไทยเคยเจอสภาพที่ถูกทอดทิ้งให้จมปลักอยู่กับความเสียเปรียบและไม่ถูกนับในทางการเมืองอยู่เป็นเวลานาน ด้วยเหตุนี้ เมื่อพรรคการเมืองหนึ่งเข้ามาเสนอแนวทางประชานิยมหนุนช่วยพวกเขาในเรื่องหนี้สินและราคาผลผลิต บรรดาเกษตรกรจึงหันมาสนับสนุนพรรคนี้อย่างท่วมท้น และกลายเป็นพวกที่ตื่นตัวทางการเมืองแบบเฉียบพลัน

จึงน่าสนใจว่าเมื่อแนวทางประชานิยมถูกปิดกั้น ชะตากรรมของพวกเขาจะเป็นเช่นใด

 

 

Tags: , , , , , , ,