วันนี้ (17 สิงหาคม 2565) ศาลปกครองสูงสุดนัดอ่านคำพิพากษาคดีเขื่อนไซยะบุรี (Xayaburi Dam) แขวงจำปาสัก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) จากคำอุทธรณ์ของเครือข่ายคนลุ่มน้ำโขง 8 จังหวัด ที่ยื่นฟ้อง 5 หน่วยงานรัฐบาลเกี่ยวกับสัญญาการซื้อขายไฟฟ้าที่มีความผูกพันการซื้อขายจากเดิม 29 ปี ขยายเป็น 31 ปี นอกจากนี้ยังเป็นการอนุมัติลงนามซื้อขายไฟฟ้าอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขาดการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ ทั้งในประเทศไทยและลาว นับเป็นผลกระทบข้ามพรมแดน จึงขอให้ศาลยกเลิกสัญญาการซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าว ด้านศาลปกครองพิพากษาไม่รับคำร้อง โดยให้เหตุผลว่าผู้ฟ้องคดีไม่มีอำนาจฟ้องเกี่ยวกับสัญญาซื้อขาย

มูลเหตุการฟ้องร้องคดีนี้มาจากอะไรบ้าง?

1. สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยกับบริษัท ไซยะบุรีพาวเวอร์ จำกัดนั้นไม่สมบูรณ์ เพราะละเลยการปฏิบัติตามกระบวนการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลงแม่น้ำโขง ปี 2538 รวมทั้งการปฏิบัติตามกฎหมายในประเทศ และการอนุมัติของคณะรัฐมนตรีให้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเครือข่ายภาคประชาชนเห็นว่า สัญญาซื้อขายไฟฟ้าเป็นการลงนามระหว่าง กฟผ. และบริษัท ไซยะบุรีพาวเวอร์ จำกัด เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2554 โดยการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าไม่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีและรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยความตกลงการร่วมมือพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงแบบยั่งยืน หรือความตกลงแม่น้ำโขง ซึ่งรวมถึงระเบียบปฏิบัติเรื่องการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลง

2. ผู้ฟ้องคดีมีความเป็นห่วงต่อผลกระทบที่ตามมาภายหลังการก่อสร้างเขื่อนไชยะบุรี เช่น การสูญพันธุ์ของปลาตะกอนดินและแร่ธาตุ ผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ความมั่นคงทางอาหาร น้ำแล้ง เกษตรกรรม และอุทกภัย

‘เขื่อนไซยะบุรี’ สร้างที่ สปป.ลาว แต่ทำไมคนไทยจึงเดือดร้อน?

ในหลายช่วงอายุคน แม่น้ำโขงถือเป็นแม่น้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิต เป็นแม่น้ำสายสำคัญของคนลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งไหลผ่าน 6 ประเทศ ได้แก่ จีน ลาว พม่า ไทย กัมพูชา และไหลลงทะเลที่เวียดนาม เป็นแม่น้ำที่อุดมสมูบรณ์ไปด้วยความหลากหลายของนานาพืชพันธุ์และสัตว์น้ำหลากชนิด โดยเป็นสายน้ำที่มีการวางไข่ของปลาอพยพกว่า 400 สายพันธุ์

ในปี 2553 รัฐบาลลาวเสนอสร้างเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งตั้งห่างจากเมืองหลวงพระบาง 80 กิโลเมตร โดยมีเป้าหมายจะใช้เป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าขนาด 1,285 เมกะวัตต์ มีมูลค่าลงทุนประมาณ 1.5 แสนล้านบาท ผ่านการลงทุนของกลุ่มบริษัท ช.การช่าง (CK Power) ด้วยสินเชื่อจาก 6 ธนาคารไทยได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า (Exim) ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารทิสโก้

กลุ่มนักเคลื่อนไหวระบุว่า การสร้างเขื่อนครั้งนี้ทำให้เกิดผลกระทบไปทั่วแม่น้ำโขง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และการดำรงชีวิตของคนลุ่มแม่น้ำโขง เช่น ฤดูกาลของแม่น้ำโขงเปลี่ยนไป ฤดูกาลน้ำไม่เป็นธรรมชาติเพราะการเกิดขึ้นของเขื่อนส่งผลต่อระบบนิเวศในหลายด้าน ทั้งพืชน้ำและสัตว์น้ำใกล้สูญพันธุ์

นอกจากนี้ ประเทศไทยได้ทำสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรีคิดเป็น 95 เปอร์เซ็นต์ของการผลิตไฟฟ้า มีสัญญาผูกพันยาวนานกว่า 31 ปี โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ประกันการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าถึง 5,709 ล้านหน่วยต่อปี คิดเป็นเงินที่จะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าประมาณ 13,257 ล้านบาทต่อปี

การที่ประเทศไทยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าผูกพันกว่า 31 ปี ส่งผลกระทบอะไรบ้าง?

กลุ่มนักเคลื่อนไหวและผลการวิจัยหลายชิ้นระบุว่า การทำสัญญาผูกพันยาวนานขนาดนั้นจะส่งผลต่อค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้น และเป็นการผลักภาระให้ประชาชนต้องแบกรับผ่านค่าของต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่การไฟฟ้าไม่สามารถควบคุมได้ (FT) เพราะหากโรงไฟฟ้าที่ สปป.ลาว สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตามที่กำหนด กฟฝ. ต้องจ่ายเงินค่าไฟฟ้า แม้ว่าประเทศไทยจะนำไฟฟ้าตรงนี้ไปใช้หรือไม่ก็ตาม นอกจากนี้ยังมีผลกระทบด้านอื่นๆ เช่น หลังจากทดลองผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรีส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงทางท้ายน้ำของเขื่อนไซยะบุรีลดลงในระดับรุนแรงกว่า 3-4 เมตร ภายในระยะเวลา 1 สัปดาห์ เหล่านี้กระทบต่อฤดูอพยพของปลา และส่งผลให้ต้นไคร้น้ำที่ขึ้นตามเกาะแก่งแห้งตายเป็นจำนวนมาก

ต่อมา สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้ส่งหนังสือถึงรัฐบาลลาวให้ชะลอการผลิตไฟฟ้า พบว่าในช่วงที่หยุดผลิตไฟฟ้า ชาวบ้านในลุ่มแม่น้ำโขงพบปลาหรือสัตว์น้ำขนาดเล็กตายเป็นจำนวนมาก เนื่องจากระดับแม่น้ำโขงลดลงอย่างรวดเร็ว สัตว์น้ำบางส่วนไม่สามารถเคลื่อนย้ายหรือว่ายไปตามระดับน้ำที่ลดลงได้ทัน จึงตายและตกค้างตามแอ่งน้ำ

ภายหลังการผลิตไฟฟ้าอย่างเป็นทางการของเขื่อนไซยะบุรี ส่งผลให้แม่น้ำโขงเกิดปรากฏการณ์ ’หิวตะกอน’ ของแม่น้ำ หรือภาวะที่แม่น้ำไร้ตะกอนในฤดูน้ำหลาก ส่งผลให้แม่น้ำโขงกลายเป็นสีฟ้า

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 ได้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่แขวงไซยะบุรี ซึ่งมีขนาด 6.2 ตามมาตราริกเตอร์ โดยส่งผลกระเทือนไปหลายจังหวัดของประเทศไทย และแผ่นดินไหวครั้งนี้ส่งผลให้โรงไฟฟ้าในแขวงไซยะบุรีได้รับความเสียหาย แม้ว่ารัฐบาลลาวจะออกตัวว่าไม่ส่งผลกระทบต่อเขื่อนไซยะบุรี แต่ชาวบ้านในแขวงไซยะบุรีและลุ่มแม่น้ำโขงในประเทศไทย ก็ยังมีความกังวลว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวอาจส่งผลให้เกิดภัยพิบัติจากเขื่อนตามมาได้

เป็นอีกครั้งที่เสียงของประชาชนชาวลุ่มแม่น้ำโขง ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการสร้างเขื่อนไซยะบุรีถูกปัดตก สืบเนื่องจากวันที่ 7 สิงหาคม 2555 ที่กลุ่มประชาชนลุ่มน้ำโขง 8 จังหวัดได้ยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครองเป็นครั้งแรก จนมาถึงวันนี้ที่มีการนัดอ่านคำพิพากษาจึงนับเป็นการต่อสู้เพื่อปกป้องแม่น้ำโขงมายาวนานกว่า 10 ปี

 

อ่าน ตะกอนในแม่น้ำสำคัญอย่างไร ทำไมน้ำสีฟ้าใสจึงหมายถึงไร้ชีวิต ทาง https://themomentum.co/hungry-water/

อ่าน หลากเครือข่ายเรียกร้องธนาคารไทยในฐานะนายทุนเงินกู้ กดดันเขื่อนไซยะบุรีให้เปิดเผยข้อมูลสำคัญ ทาง https://themomentum.co/fair-finance-thailand-statement-to-banks-on-xayaburi-hydropower-plant-project/

อ่าน เขื่อน: อดีตนวัตกรรมที่ปัจจุบันกลายเป็นปัญหา ทาง https://themomentum.co/dam-controversy/

Tags: , , , , ,