มนุษยชาติกับแม่น้ำมีประวัติศาสตร์ด้วยกันมาอย่างยาวนาน เขื่อนเป็นนวัตกรรมแรกๆ ที่มนุษย์ดัดแปลงแหล่งน้ำเพื่อให้มีน้ำใช้เพื่อการเกษตร แต่เขื่อนขนาดยักษ์ซึ่งเป็นต้นแบบของเขื่อนคอนกรีตสมัยใหม่ถือกำเนิดขึ้นไม่นานนัก โดยอาจถือว่าเขื่อนฮูเวอร์ (Hoover Dam) ในสหรัฐอเมริกาซึ่งมีความสูงราว 220 เมตรซึ่งเริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. 2484 เป็นการเปิดศักราชของเขื่อนขนาดใหญ่ นวัตกรรมที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และชัยชนะของมนุษย์ในการควบคุมธรรมชาติ

ศักราชของเขื่อนขนาดใหญ่ดำเนินต่อเนื่องร่วม 50 ปี โดยมีจุดสูงสุดในช่วงคริสตทศวรรษที่ 1970s ซึ่งมีเขื่อนขนาดใหญ่เกิดขึ้นใหม่บนโลกราว 2 ถึง 3 แห่งต่อวัน เม็ดเงินมหาศาลไหลเข้าสู่ธุรกิจการก่อสร้างเขื่อน และการดัดแปลงแม่น้ำก็ประสบความสำเร็จอย่างมาก ทั้งในการป้องกันอุทกภัย จัดการปริมาณน้ำในช่วงหน้าแล้ง และผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยรายงานล่าสุดซึ่งเผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2554 ระบุว่าพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนนั้นคิดเป็นถึงร้อยละ 16 ของการผลิตไฟฟ้าทั่วโลก

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อราว 50 ปีก่อนคือยุคทองของเขื่อน กระทั่งผลกระทบทางสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจจากการก่อสร้างเขื่อนถูกตั้งคำถาม องค์กรโลกบาลอย่างธนาคารโลก (World Bank) ก็ชะลอการลงทุนในเขื่อนขนาดใหญ่ ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีถูกเชิดชูไม่ต่างจากยาวิเศษแก้จนสำหรับประเทศกำลังพัฒนา

อย่างไรก็ดี รายงานโดยคณะกรรมการเขื่อนโลก (World Commission on Dams) ซึ่งเผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2543 ตีแผ่ว่าการสร้างเขื่อนนั้นอาจไม่ได้สวยหรูอย่างที่ใครหลายคนคิด รายงานดังกล่าวทำให้ทั่วโลกมองเขื่อนด้วยมุมมองใหม่และฉายภาพผลกระทบจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างชัดเจน ทำให้ปัจจุบัน กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเกิดเทรนด์การทำลายเขื่อนเพื่อฟื้นฟูแม่น้ำให้กลับมาไหลอย่างอิสระอีกครั้ง

ตัวแทนจากมูลนิธิสืบนาคะเสถียรนำขบวนประท้วง EIA เขื่อนแม่วงก์ก้าวเข้าสู่จุดหมายบริเวณหอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพฯ ภาพโดย กานตชาติ เรืองรัตนอัมพร เผยแพร่ครั้งแรกที่เว็บไซต์มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

หันกลับมาที่ประเทศไทย เรายังคงยึดติดกับนวัตกรรมในอดีตอย่างไม่ลืมหูลืมตา ถึงขั้นปัดฝุ่นโครงการอย่างเขื่อนแม่วงก์ซึ่งเสนอครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2525 สวนกระแสโลกที่ตั้งคำถามกับการก่อสร้างเขื่อนและสร้างความไม่พอใจกับสาธารณชนจนทำให้โครงการต้องพับลงไปอีกครั้ง

อย่างไรก็ดี กลุ่มประเทศฝั่งเอเชียดูจะไม่ค่อยเรียนรู้จากประสบการณ์โลกตะวันตกสักเท่าไร นำโดยพี่ใหญ่อย่างประเทศจีนที่ตั้งหน้าตั้งตาก่อสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำโขง แถมยังเอื้ออาทรขนาดสนับสนุนเงินทุนให้กับประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนไทยเองก็ทำตัวเป็น ‘เพื่อนที่ดี’ ในลุ่มน้ำโขงตอนล่างเช่นกัน โดยเป็นทั้งแหล่งเงินทุนและผู้รับเหมาโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ที่กั้นขวางทางไหลของแม่น้ำโขงเส้นหลัก ยังไม่นับสัญญาซื้อไฟร่วม 30 ปีมาให้คนไทยใช้กันอย่างชื่นบาน เข้าทางกับสำนวนไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา

ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการก่อสร้างเขื่อน

เขื่อนแต่ละแห่งมีลักษณะการก่อสร้างและรูปแบบแตกต่างกัน แต่เขื่อนแบบมาตรฐานที่เราคุ้นชินกันคือโครงสร้างคอนกรีตขนาดใหญ่ที่กั้นขวางทางไหลธรรมชาติของแม่น้ำ ทำให้เกิดผืนน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้นด้านหลังสันเขื่อนหรือที่เรียกว่าอ่างเก็บน้ำ (Reservoir) นอกจากเขื่อนมาตรฐานในลักษณะนี้ ยังมีเขื่อนประเภทที่น้ำไหลผ่านตลอดปี (Run-of-the-river) ซึ่งจะไม่มีอ่างเก็บน้ำและมีจุดประสงค์หลักคือผลิตกระแสไฟฟ้า แต่ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนรูปแบบใด การตั้งโครงสร้างขวางกั้นแม่น้ำตามธรรมชาติย่อมส่งผลต่อการไหลของแม่น้ำอย่างแน่นอน

ระบบนิเวศที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ลักษณะการไหลของแม่น้ำหรือระดับน้ำตามฤดูกาล ย่อมส่งผลต่อแหล่งที่อยู่อาศัยของปลาหลากชนิด ที่สำคัญ โครงสร้างดังกล่าวจะเป็นสิ่งกีดขวางเส้นทางอพยพของปลาที่ต้องการว่ายขึ้นไปเหนือน้ำเพื่อไปยังแหล่งผสมพันธุ์และวางไข่ตามธรรมชาติ เขื่อนจะเป็นการ ‘ฆ่าตัดตอน’ ชนิดพันธุ์เหล่านั้นโดยปริยาย

หลายคนอาจเถียงคอเป็นเอ็นว่าเรามีนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหาเหล่านั้น เช่น การปล่อยน้ำให้สอดคล้องตามธรรมชาติ หรือการสร้างบันไดปลา (fish ladder) เพื่อให้ปลาอพยพ แค่นี้ก็น่าจะเพียงพอแล้วไม่ใช่หรือ?

ในประเด็นการปล่อยน้ำ เราก็เพิ่งมีข่าวไม่นานมานี้ที่ระดับน้ำโขงเปลี่ยนแปลงผิดปกติจากการปล่อยน้ำของเขื่อนจีน สะท้อนให้เห็นว่าผลกระทบดังกล่าวไม่ได้จำกัดอยู่กับสัตว์น้ำเท่านั้น แม้แต่เกษตรกรซึ่งทำมาหาเลี้ยงชีพที่ต้องพึ่งพาแม่น้ำต่างก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน

ส่วนเรื่องบันไดปลานั้น แม้จะมีบางกรณีที่ประสบความสำเร็จ เช่น ในประเทศโคลอมเบีย แต่บันไดปลาก็ไม่ได้เหมาะกับปลาทุกชนิดพันธุ์ นอกจากนี้ ปลาอพยพสำหรับกรณีประเทศโคลอมเบียมีเพียง 5 ชนิดพันธุ์เท่านั้น และคงไม่สามารถนำมาใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐานว่าบันไดปลาประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะการจะนำมาประยุกต์ใช้ในเขื่อนซึ่งกั้นแม่น้ำโขงที่มีปลาอพยพกว่า 140 ชนิดพันธุ์

เขื่อน Baglihar ประเทศอินเดีย (ภาพ: REUTERS/Amit Gupta/File Photo)

อีกประเด็นที่หลายคนมักมองข้ามคือปริมาณตะกอนซึ่งถูกกักเก็บไว้เหนือสันเขื่อน ตะกอนเปรียบเสมือนสารอาหารสำหรับระบบนิเวศแม่น้ำ เมื่อตะกอนที่เคยมีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ถูกลิดรอนจากเขื่อน ปลายน้ำก็ย่อมเกิดปัญหาหิวตะกอน (Sediment Starvation) เมื่อวัฏจักรการเติมสารอาหารตามธรรมชาติถูกกีดกัน สิ่งที่ตามมาคือการพังทลายของตลิ่ง ร่องน้ำที่ลึกขึ้น พื้นที่ราบน้ำท่วมซึ่งเคยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำย่อมสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ ผลกระทบดังกล่าวล่วงไปถึงการสูญเสียพื้นที่ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำและชายฝั่งทะเลที่ค่อยๆ หดหายอีกด้วย

ไม่ต้องมองไปที่ไหนไกลครับ ผลกระทบดังกล่าวเกิดขึ้นที่ปากแม่น้ำแม่โขงซึ่งเป็นอู่ข้าวของประเทศเวียดนามที่นับวันพื้นที่ดังกล่าวจะหดหายลงเรื่อยๆ เนื่องจากตะกอนจากแม่น้ำแม่โขงตามธรรมชาติที่แรกเริ่มมีอยู่ราว 160 ล้านตันลดลงกว่าครึ่งหนึ่งหลังมีการก่อสร้างเขื่อน และหากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ผนวกกับเขื่อนใหม่ที่กำลังจะผุดขึ้น สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงจะหายไปภายในอีก 20 ปีข้างหน้า

แน่นอนครับ เรามีทางออกที่ไม่ต้องทำลายเขื่อนทิ้ง นั่นคือการสร้างตะกอนเพื่อลอกเลียนธรรมชาติเช่นเดียวกับการแก้ปัญหาผืนดินหดหายที่ปากแม่น้ำมิสซิสซิปปี ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่โครงการดังกล่าวใช้เงินทุนมหาศาลซึ่งแน่นอนว่ากลุ่มประเทศกำลังพัฒนายากที่จะควักกระเป๋าสตางค์จ่าย ไม่ต้องพูดถึงว่าใครควรจะเป็นคนรับผิดชอบ

ปัญหาดังกล่าวยังไม่รวมถึงการสูญเสียพื้นที่ธรรมชาติของอ่างเก็บน้ำ การแพร่ระบาดของโรคที่เกิดจากน้ำนิ่ง อีกทั้งยังเป็นแหล่งปล่อยแก๊สเรือนกระจก ประเด็นเหล่านี้ทำให้เกิดการตั้งคำถามเป็นวงกว้างว่ายังคุ้มค่าหรือไม่ในการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ และเรามีทางเลือกอื่นใดบ้าง

ความคุ้มค่าและทางเลือกเพื่อทดแทนเขื่อนขนาดใหญ่

แน่นอนว่าตัวเลขการวิเคราะห์ผลประโยชน์และต้นทุนจากการก่อสร้างเขื่อนขนาดยักษ์ในรายงานศึกษาความเป็นไปได้ย่อมออกมาคุ้มค่าคุ้มทุน แต่รายงานโดยคณะกรรมการเขื่อนโลก (World Commission on Dams) พบว่าตัวเลขดังกล่าวมักแสดงต้นทุนต่ำกว่าความเป็นจริง และผลประโยชน์ที่มากกว่าความเป็นจริง

โครงการก่อสร้างเขื่อนโดยเฉลี่ยจะเผชิญปัญหาค่าก่อสร้างบานปลาย (cost overrun) ร้อยละ 56 นั่นหมายความว่า หากในรายงานการศึกษาระบุว่าจะใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 100 ล้านบาท การดำเนินการจริงโดยเฉลี่ยจะใช้ต้นทุน 156 ล้านบาท ยังไม่นับสารพัดปัญหาที่ทำให้การก่อสร้างส่วนใหญ่มักล่าช้ากว่ากำหนด ในแง่ผลประโยชน์ทั้งการผลิตไฟฟ้าและการชลประทานก็มักไม่ได้เต็มประสิทธิภาพดังที่คาดหวัง ด้วยสาเหตุเช่นตะกอนที่มีคุณค่าอย่างมากกับระบบนิเวศปลายน้ำกลับกลายเป็นตัวทำลายประสิทธิภาพเนื่องจากถูกกักไว้ที่หลังสันเขื่อน เป็นต้น

ที่สำคัญ รายงานดังกล่าวยังระบุเพิ่มเติมว่าผู้ได้ประโยชน์จากเขื่อน ไม่ว่าจะได้ไฟฟ้าหรือน้ำชลประทาน มักจะไม่ใช่กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อน เช่น กลุ่มประชาชนที่ถูกบังคับให้ย้ายถิ่นฐาน ปัญหาดังกล่าวทำให้ความไม่เท่าเทียมถ่างกว้างขึ้นแทนที่จะทำให้ความยากจนลดลงดังที่ตั้งใจไว้

ตัวอย่างล่าสุดของโครงการเขื่อนที่กลายเป็นหายนะคือเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ในประเทศลาวซึ่งทลายลงเนื่องจากไม่สามารถรับมือกับปริมาณน้ำฝนที่มากผิดปกติผนวกกับการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้หลายชีวิตต้องสูญหายในกระแสน้ำ ผ่านไปหนึ่งปีก็ยังไม่มีการแสดงความรับผิดชอบที่ชัดเจนและชาวลาว 5,000 ชีวิตซึ่งสูญเสียทุกอย่างในชั่วข้ามคืนก็ยังต้องอยู่ในที่พักชั่วคราวภายใต้การดูแลของรัฐบาล

รวมถึงอีกโครงการอย่างเขื่อนไซยะบุรี เขื่อนขนาดยักษ์แห่งแรกที่กั้นขวางลำน้ำโขงสายหลักที่อาจพูดได้เต็มปากว่าเป็นเขื่อนสัญชาติไทย กล่าวคือลงทุนโดยธนาคารไทย สร้างโดยบริษัทไทย และซื้อไฟฟ้าโดยรัฐบาลไทย ที่อยู่ในประเทศลาว โดยรายงานจากคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission) ระบุว่า หากมีการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำตามแผนที่วางไว้ จะทำให้พันธุ์ปลาอพยพในแม่น้ำโขงส่วนใหญ่สูญพันธุ์ และสูญเสียปริมาณสัตว์น้ำที่หล่อเลี้ยงประชาชนหลายสิบล้านชีวิตไปราวร้อยละ 26 – 42 หรือคิดเป็นปริมาณเนื้อสัตว์เทียบเท่ากับ 1.1 เท่าของปริมาณปศุสัตว์ที่ผลิตได้ในประเทศลาวและกัมพูชาใน พ.ศ. 2543

นี่คือปัญหาที่จะตามมาจากโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ ทั้งที่เรามีทางเลือกอื่น เช่น การบริหารจัดการด้านชลประทานโดยการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำขนาดเล็กซึ่งมีการศึกษาว่าราคาถูกกว่าและได้ผลตอบแทนดีกว่า หรือทางเลือกอื่นในการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนไม่ว่าจะเป็นจากลมหรือแสงอาทิตย์ซึ่งราคาถูกลงอย่างมาก

น่าเสียดาย ที่ผู้มีอำนาจยังคงยึดติดกับภาพจำยุครุ่งโรจน์ของเขื่อนในอดีตที่เป็นสัญลักษณ์ของความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ แต่ปัจจุบัน นวัตกรรมดังกล่าวได้ถูกวิพากษ์อย่างเข้มข้มว่าเป็นตัวการทำลายล้างระบบนิเวศแม่น้ำ เป็นภัยคุกคาสัตว์น้ำหลากชนิดพันธุ์ ซึ่งจะส่งผลต่อมนุษย์ในท้ายที่สุด

 

เอกสารประกอบการเขียน

Dams: What They Are and What They Do

Southeast As a is betting on hydropower, but there are risks of economic damage

Dam the consequences

The ups and downs of dams

Riverine Ecosystem Management: Science for Governing Towards a Sustainable Future

Environmental Impacts of Dams

DAMS AND DEVELOPMENT: A NEW FRAMEWORK FOR DECISION-MAKING

STRATEGIC ENVIRONMENTAL ASSESSMENT OF HYDROPOWER ON THE MEKONG MAINSTREAM

Tags: , , , , ,