หลังจากการเริ่มต้นขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการของโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ดำเนินการโดยบริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา 

ล่าสุด (7 พ.ย.) องค์กรที่ทำงานในประเด็นสิ่งแวดล้อมหลายองค์กร นำโดยแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมแห่งประเทศไทย (Fair Finance Thailand) ออกแถลงการณ์เรียกร้องต่อธนาคารไทยทั้งหกแห่งที่ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด อันได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM) และธนาคารทิสโก้ ให้ดำเนินการตามข้อเรียกร้องห้าข้อ เพื่อแสดงถึงความรับผิดชอบทางสังคม 

แถลงการณ์ระบุว่า โครงการไซยะบุรีเป็นเขื่อนแห่งแรกในลุ่มน้ำโขงตอนล่างและเป็นเขื่อนแรกที่ผ่านกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าของคณะกรรมการแม่น้ำโขง ตามสัญญาที่ประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างสี่ประเทศ ได้แก่ ไทย กัมพูชา เวียดนาม และลาว ลงนามร่วมกัน โครงการดังกล่าวถูกตั้งคำถามและคัดค้านตลอดมาในหลากหลายระดับในช่วงก่อสร้าง โดยเสียงคัดค้านล้วนเสนอในทิศทางเดียวกันว่า การสร้างเขื่อนไซยะบุรีมีแนวโน้มจะก่อ ‘หายนะทางระบบนิเวศ’ ครั้งใหญ่ งานวิจัยอิสระหลายชิ้นชี้ว่าไซยะบุรีจะก่อให้เกิดปัญหาข้ามพรมแดนที่เยียวยายากยิ่ง จากการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำในแม่น้ำ กีดกันการไหลของตะกอน และกีดขวางเส้นทางอพยพของปลา ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรกว่า 60 ล้านคนที่พึ่งพาแม่น้ำโขงทั้งทางตรงและทางอ้อม นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องความไม่โปร่งใสและจุดอ่อนในกระบวนการประเมินผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม

“เฉพาะประเด็นเส้นทางอพยพของปลา นักวิทยาศาสตร์หลายคนวิจารณ์ตลอดมาว่า เทคโนโลยีทางปลาผ่านในโครงการนี้ เป็นเทคโนโลยีของอเมริกาและยุโรป ใช้ได้กับปลาเพียง 5-8 ชนิด เช่น ปลาแซลมอน และปลาเทราท์ ไม่เหมาะสมกับแม่น้ำโขงซึ่งมีปลาสำคัญทางเศรษฐกิจมากกว่า 50 ชนิดที่อพยพตามลำน้ำ นอกจากนี้ ปัจจุบันยังไม่มีเทคโนโลยีใดสามารถแก้ปัญหาการอพยพของปลาจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงได้ แต่บริษัทกลับใช้แม่น้ำโขงเป็น ‘ห้องทดลอง’ เทคโนโลยีใหม่ที่ไม่เคยมีข้อพิสูจน์ถึงประสิทธิผล โดยมีระบบนิเวศของแม่น้ำเป็นเดิมพัน”

แถลงการณ์จึงเรียกร้องต่อธนาคารไทยทั้งหกแห่ง ให้ดำเนินการเร่งรัดให้บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด เปิดเผยข้อมูลสำคัญดังต่อไปนี้ต่อสาธารณะ ก่อนการขอเบิกเงินกู้ (drawdown) งวดต่อไป ได้แก่ ข้อมูลทางปลาผ่านของบริษัท (ชนิดพันธุ์ จำนวน) ตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 ถึงปัจจุบัน, ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำเหนือเขื่อนและใต้เขื่อน ตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 ถึงปัจจุบัน เนื่องจากบริษัทได้เริ่มขายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยอย่างไม่เป็นทางการในเดือนเมษายน 2562 ที่ผ่านมา และข้อมูลกลไกรับเรื่องร้องเรียน และมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการ

นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้ธนาคารทั้งหกแห่งประกาศรับหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGP) ขององค์การสหประชาชาติ และกำหนดให้บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ในฐานะลูกหนี้ของธนาคาร ประกาศรับหลักการดังกล่าวด้วย พร้อมกับเปิดช่องทางรับเรื่องร้องเรียนจากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการไซยะบุรี ตามหลักการชี้แนะ UNGP

แถลงการณ์ระบุด้วยว่า ขอให้ธนาคารทั้งหกแห่ง ประกาศว่าจะไม่ให้การสนับสนุนทางการเงินใดๆ แก่โครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำที่สร้างในแม่น้ำสายหลัก (mainstem) ของลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ที่มีแผนจะก่อสร้างในอนาคต (exclusion list) อย่างน้อยเป็นเวลา 10 ปี ตามข้อเสนอของผู้มีส่วนได้เสียในกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าของคณะกรรมการแม่น้ำโขง และประกาศรับชุดหลักการอีเควเตอร์ (Equator Principles) มาตรฐานสากลของการปล่อยสินเชื่อโครงการขนาดใหญ่ด้วย

“แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมแห่งประเทศไทย คาดหวังและเชื่อมั่นว่า การดำเนินการตามข้อเรียกร้องทั้งห้าข้อข้างต้นนั้น นอกจากจะช่วยให้ธนาคารรับมือกับความเสี่ยงทางสังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social, Governance: ESG risks) อันอาจเกิดจากโครงการไซยะบุรีในอนาคตได้แล้ว จะยังเป็นการแสดงความรับผิดชอบทางสังคม และเปิดศักราชใหม่ให้กับวงการธนาคารพาณิชย์ไทย ให้ก้าวเข้าสู่ ‘การธนาคารที่ยั่งยืน’ อย่างเป็นรูปธรรม สมดังเจตนารมณ์ที่ธนาคารแทบทุกแห่งได้ประกาศต่อสาธารณะ” 

 

ที่มา 

https://fairfinancethailand.org/bank-guide/news/2019/fair-finance-thailand-statement-on-the-responsibility-of-bank-for-xayaburi-hydropower-plant-project 

ภาพ: HANDOUT / CK POWER / AFP

Tags: ,