ฉันเป็นติ่งค่ะ ไม่ใช่หลงรักเกิร์ลกรุ๊ป หรือบอยแบรนด์ที่ไหนเป็นพิเศษหรอกนะคะ แต่ในที่นี้ฉันขอเรียกตัวเองว่าเป็นติ่งของศิลปินชาวเบลเยี่ยม ยุคเหนือจริง (Surrealism) อย่าง เรอเน มากริต (René Magritte) ที่เมื่อได้มาเยือนบรัสเซลส์ แล้วต้องตามมากรี๊ดชมงานศิลปะของเขาถึงที่
The Lovers (1928)
พูดถึง เรอเน มากริต หลายคนอาจจะไม่ทราบว่าเขาคือใคร แต่ถ้าได้เห็นภาพผลงานอย่าง The Lovers (1928) Golconda (1953) The Son of Man (1964) และ The Treachery of Images (1948) กับรูปไปป์ที่มีข้อความเขียนว่า This is Not a Pipe ก็น่าจะผ่านตาอยู่บ้าง ซึ่งศิลปินยุคเหนือจริงหลายคนมักสร้างผลงานที่เหมือนหลุดออกมาจากความฝัน แต่ผลงานของ เรอเน มากริต มักเอาความประหลาดจากความปกติทั่วไปมานำเสนอแบบแปลกสุดๆ ซึ่งดูขัดกับกฏวิทยาศาสตร์ ความจริง และอาจไม่มีความหมายตายตัว
The Son of Man (1964) ที่มากริตไม่เคยตอบว่า ผู้ชายคนนี้คือใคร
บรัสเซลส์มีพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับเขาอยู่ 2 แห่ง ได้แก่ Magritte Museum ใจกลางเมืองเขต Sablon กับ Rene Magritte Musuem อยู่ชานเมืองเขต Jette ว่ากันว่าการจะเข้าใจบรัสเซลส์ในด้านความเป็นเมืองแห่ง Surrealism ก็ต้องเริ่มจากการทำความรู้จัก เรอเน มากริต นี้แหละ ซึ่งพิพิธภัณฑ์ทั้งสองแห่งแม้ชื่อจะดูคล้ายกัน แต่มีความต่างกันอยู๋ไม่น้อย
บรรยากาศระหว่างทางไป Magritte Museum
Magritte Museum
เริ่มกันที่ มากริต มิวเซียม (Magritte Museum) เขต Sablon ที่ตั้งอยู่ ณ โรงแรมเก่ารูปแบบสถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิก โดยพิพิธภัณฑ์อย่างเป็นทางการของมากริตช์แห่งนี้ คือหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ Royal Musuem of Fine Arts ที่รวบรวมผลงานกว่า 200 ของศิลปินชาวเบลเยี่ยมผู้นี้เอาไว้ ตั้งแต่ยุคตามล่าความฝันที่ปารีส โดยยังวาดภาพในแบบอิมเพรสชันนิสม์ (impressionism) สมัยหาเลี้ยงชีพจากการเป็นกราฟฟิก ดีไซเนอร์ที่เขาชิงชังศิลปะเพื่อการค้าพวกนี้เหลือเกิน (แต่ก็ผลิตผลงานโฆษณาไว้มากมายดังที่นำมาจัดแสดง) ต่อด้วยยุคของการเป็นศิลปินในลัทธิเหนือจริงอย่างเต็มตัว รวมถึงผลงานอื่นๆ ทั้ง บทประพันธ์เพลง ภาพยนตร์ และภาพถ่าย ที่ส่วนใหญ่มาจากคอลเล็กชั่นของ จอร์เจ็ตตา มากริตช์ (Georgette Magritte) ภรรยาของเขา และไอรีน แฮร์มัว (Irène Scutenaire-Hamoir) รวบรวมเอาไว้
หน้าพิพิธภัณฑ์
ระหว่างทางไปพิพิธภัณฑ์จะผ่านจัตุรัส Mon Des Art และผ่านแกลอรีและร้านหนังสือต่างๆ ที่มีรูปของ เรอเน มากริต และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวเขา
ผลงานต่างๆของมากริต ที่มีคำบรรยายถึง 3 ภาษา
เราไปถึงมากริต มิวเซียมในช่วงบ่าย วิธีการเดินชมผลงานค่อนข้างมีความซับซ้อนชวนให้ใช้ความคิด คล้ายกับการเดินวนในเขาวงกต เริ่มจากซื้อตั๋วที่ชั้นล่างสุด (ประมาณ 10€ ไม่รวมคอลเล็กชั่นอื่นๆ) ก่อนที่จะขึ้นลิฟต์ไปชั้น 3 เพื่อเริ่มชมผลงานที่มี 3 ภาษาในการบรรยายได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส และ ดัตช์ (เบลเยี่ยมใช้ภาษาฝรั่งเศสและภาษาดัตช์เป็นภาษาหลัก) แต่ตัวอักษรเหล่านี้แทบไม่มีประโยชน์ในการดูงานของเรอเน มากริต เท่าไรนัก เพราะผลงานกับชื่อภาพจะไม่สัมพันธ์กันแม้แต่น้อย
จอร์เจ็ตตา มากริตช์ (Georgette Magritte) ภรรยาของเขา
ชั้นล่างสุด มีห้องชมภาพยนตร์
เราเดินลงบันไดไปเรื่อยๆ จนกลับมาชั้นล่างสุดเพื่อชมภาพยนตร์ที่มีความยาวชั่วโมงกว่าๆ เนื้อหาเหมือนเดินตามรอยเท้าของเรอเน มากริตในแต่ละยุคสมัย และตามเหตุการณ์สำคัญในชีวิตของเขาเพื่อเข้าใจตัวศิลปินมากขึ้น
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้นำเสนอให้เห็นทั้งสองมุมมอง หากคุณไม่รู้จักเรอเน มากริต มาก่อนแล้วสนใจที่จะทำความรู้จักเขาผ่านผลงานเลยก็สามารถทำได้เพียงเเค่เดินชมภาพไปเรื่อยๆ หากคุณอยากรู้จักเขาก่อนสักหน่อย เพื่อใช้เป็นแนวทางในการถอดรหัสความลึกลับผลงานของเขา พิพิธภัณฑ์ก็มีการแทรกประวัติย่อๆ เรียงตามปีให้สอดคล้องกับผลงานที่แสดงในห้องนั้นๆ อีกด้วย ส่วนตัวฉันคิดว่าพิพิธภัณฑ์ค่อนข้างนำเสนอให้เราเห็นภาพรวมของผลงานของเขามากกว่าที่จะโฟกัสไปที่ตัวของเขา
ร้านขายของที่ระลึก
ระหว่างทางไป Rene Magritte Museum
Rene Magritte Musuem หรือพิพิธภัณฑ์บ้านมากริต
บางคนอยากเข้าใจ เรอเน มากริตให้มากขึ้น ก็ต้องนั่งรถจาก Central Station ไปเขตชานเมือง Jette ประมาณ 30 นาทีได้ วิวสองข้างทางจากความเป็นเมืองค่อยๆ เปลี่ยนฉากเป็นบ้านเรือนอยู่อาศัย และชวนให้หลงทางเพราะไม่มีอะไรเป็นจุดสังเกต จนฉันเห็นภาพโมเสกของเรอเน มากริต อยู่ตรงกำแพงแต่ไกล จึงได้เดินเลี้ยวเข้าซอยไปจนเจอสแตนดี้หน้าบ้านเลขที่ 135 ซึ่งประตูทางเข้ามีข้อความเขียนไว้ว่า ‘กดกริ่ง 2 ครั้ง เพื่อเข้าชมพิพิธภัณฑ์’
หน้าบ้านหมายเลข 135
ไม่กี่อึดใจหลังกดกริ่ง เสียงฝีเท้าค่อยๆใกล้เข้ามา คนดูแลพิพิธภัณฑ์เปิดประตูต้อนรับเราและพาเราเข้าไปข้างใน เพื่อจ่ายค่าเข้าชม (8€) “ที่นี่ไม่ใช่มากริตมิวเซียมที่รวมผลงานของเขาไว้นะ” เธอบอกเรา ฉันพยักหน้า ถ้ามากริต มิวเซียมที่กลางเมืองโฟกัสที่ผลงานของเขา ที่นี่ก็คือพิพิธภัณฑ์ที่โฟกัสที่ตัวของเขา เพราะ เรอเน มากริต อาศัยอยู่ที่ชั้นล่างสุดของแฟลตหลังนี้เป็นเวลากว่า 24 ปี แม้เเรกเริ่มจะย้ายมาอยู่ย่านนี้เพราะฐานะการเงินที่ไม่สู้ดี แต่เมื่อเริ่มมีชื่อเสียงเจ้าตัก็ยังพำนักอยู่ในแฟลตหลังน้อยนี้จนถึงปี 1954
ชั้นล่างของแฟลตหลังนี้รักษาไว้เหมือนกับตอนที่ เรอเน และ จอร์เจ็ตตา มากริต ยังอยู่ ชั้นสองและสามจะเป็นประวัติ ไดอารี่ รูปวาดขีดๆ เขียนๆ จดหมาย รูปถ่าย และของส่วนตัวที่หลายชิ้นไปปรากฏในผลงานของเขา เธอยื่นกระดาษแข็ง 2 ใบเพื่อเป็นแนวทางในการเข้าชมผลงาน โดยให้เดินตามเข็มนาฬิกา ในกระดาษจะบรรยายสิ่งที่จัดแสดงในตู้กระจก บนผนัง ที่นี่ค่อนข้างต้องใช้สมาธิในการเข้าชมมากกว่าที่แรก
ชั้นล่างของแฟลตที่รักษาไว้เหมือนตอนมากริตยังอาศัยอยู่
“คุณอยากมาเดินทัวร์กับเราก่อนไหม แล้วค่อยกลับมารู้จักเรอเน มากริต ต่อก็ได้” สาวผมบลอนด์ผู้ดูแลถามเรา และพาฉันลงไปชั้นล่างเพื่อดูแต่ละห้อง ฉันรู้สึกว่าห้องต่างๆ ดูคุ้นตาทั้งๆ ที่ฉันมาเป็นครั้งแรก เธอเปิดผลงานของเรอเน มากริต จากแฟ้มรวบรวมภาพและอธิบายว่า ความคุ้นตาที่ฉันรู้สึกมันมีที่มาที่ไป เพราะ เรอเน มากริต ก็ดึงเอาแต่ละส่วนของบ้านมานำเสนอในมุมมองเหนือจริงผ่านผลงานของเขา ตั้งแต่ผนังห้องนั่งเล่นที่ทาเป็นสีฟ้า เหมือนในรูป Personal Values (1952) ทุกอย่างในรูปเหมือนห้องนั้นหมด เว้นแต่ขนาดใหญ่กว่า บันไดที่อยู่กลางห้องก็เหมือนกันบันไดในภาพ La Lecture Denfendue (1936) เหลือเกิน
ในห้องนอนยังมีสุนัขสตัฟฟ์วางไว้บนเตียง ชื่อว่า ลูลู่ (Loulou) ซึ่งเป็นสุนัขที่เรอเน มากริต รักมาก แม้ลูลู่จะตายไปก็ยังตั้งชื่อลูก ชื่อหลาน ชื่อเหลนของมันว่าลูลู่ทุกตัว และในหลายงานของเขาก็มีเจ้าลูลู่นี่แหละโผล่มา หนึ่งในส่วนที่ฉันชอบในห้องนี้ คือพรมที่สะท้อนถึงสภาพขัดสนทางเงินทองของเขา เพราะแทนที่จะเป็นพรมนุ่มๆในห้องนอน กลับใช้พู่กันเพ้นสีเอาไว้แทน
เรามีเวลาเดินเล่นนอกบ้านไปตรงสวนมีสตูดิโอเก่าของเขา ที่ เรอเน มากริต ใช้เป็นที่ตั้งเอเจนซีโฆษณาของตัวเอง ฉันเดินขึ้นไปชมประวัติอื่นๆ ของเขา นอกจากสิ่งของใกล้ตัวที่เขานำไปวาด เช่น ไปป์ นก สุนัข บานประตู ก็มี จอร์เจ็ตตา ภรรยาผู้ร่วมทุกข์และร่วมสุขของเขานี่แหละที่เป็นแรงบันดาลให้เรอเน มากริต นำไปวาดบ่อยๆ
ควรไปที่ไหนก่อน
สำหรับฉันแนะนำให้ไป René Magritte Museum ที่ Jette ก่อน เพื่อนจะได้เข้าใจความเป็นตัวของ เรอเน มากริต มากขึ้น และต่อด้วย Magritte Museum แต่ในความรู้สึกของผู้เขียน คิดว่าควรเว้นระยะเวลาในการเข้าชมในแต่ละที่ไว้สัก 1-2 วัน อย่างฉันที่มุ่งมั่นที่ว่าใช้เวลาทั้งวันที่มีกับการคลุกตัวอยู่ในมิวเซียมทั้งสองแห่ง เอาให้เมาศิลปะกันไปข้างก็ประสบกับความล้มเหลว ด้วยผลงานของ เรอเน มากริต ที่มีเนื้อหาเสียดสี ขบคิด จนต้องใช้เวลาละเลียดผลงานของเขาในแต่ละที่
บรัสเซลส์เมืองแห่งความเซอเรียล
ศิลปะเหนือจริงเมคเซนต์ขึ้นมาเมื่ออยู่ในเมืองแห่งความเซอเรียลอย่างบรัสเซลส์ ด้วยตึกรามบ้านช่องของที่นี่ ดูผสมรวมกันในรูปแบบแปลกแบบเหนือจริง และมีพิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวกับงานศิลปะแบบ Surrealism เต็มไปหมด โดย เรอเน มากริต อาจจะเป็นหนึ่งในปัจจัยหลัก เพราะเขาเปรียบเสมือนผู้ปลุกกระเเสความเหนือจริงให้เป็นที่รู้จัก เรอเน มากริตและศิลปินอีกหลายท่านรวมกลุ่มกันเป็น Belgian Surrealism ที่มีคอนเซ็ปต์ในการท้าทายรูปแบบความคิดเดิมๆ ชอบนัดเล่นหมากรุกกันทุกสัปดาห์ ณ ผับ Greenwich หากอยากเดินตามรอยพวกเขา และทำความรู้จักว่าร้านอาหาร คาเฟ่ ผับ และพิพิธภัณฑ์ไหนในบรัสเซลส์ให้ความเป็นเซอเรียลลิสติกแบบเพียวๆ ได้บ้าง ก็ลองเข้าไปดูเพิ่มเติมได้นะคะ
แต่ส่วนตัวฉันเอง ขอเลือกจบวันเเบบกลับมาสู่โลกความจริง ซื้อเบียร์สักกระป๋องที่ป็อปอัพบาร์แถวๆ Mon Des Art มานั่งจิบ แล้วคิดเล่นๆ ว่าถ้า เรอเน มากริต มานั่งอยู่ตรงนี้เขาจะคิดอย่างไรกับวิวพระอาทิตย์ตกเหนือเมฆบรัสเซลส์ทั้งเมืองที่อยู่ตรงหน้า แล้วถ้าวันดีคืนดี เรอเน มากริต มาดังในยุคนี้
Fact Box
- ลัทธิเหนือจริง (Surrealism) ศิลปะที่เน้นการถ่ายทอดที่เหนือจริง คล้ายกับมาจากจิตใต้สำนึก ความฝัน ความประหลาด คือความจริงทั่วไปแต่นำมาสร้างในมุมมองที่ดูยังไงก็ขัดกับความเป็นจริง ศิลปินที่มีชื่อเสียงได้แก่ เรอเน มากริต และซัลวาดอร์ ดาลี เป็นต้น ขณะที่อิมเพรสชันนิสม์ (impressionism) เป็นลัทธิศิลปะที่เกิดขึ้นมาก่อน เน้นความงามจากสิ่งสามัญ เนื้อหาคือเรื่องราวทั่วไปแต่มีมุมมองที่พิเศษ ศิลปินที่มีชื่อเสียง ได้แก่ โมเน่ต์ และเรนัวร์ เป็นต้น