ฉันเป็นคนชอบเดินตลาดค่ะ ความทรงจำแรกที่ประทับใจย้อนไปตอนประถมที่คุณครูศิลปะให้วาดภาพหัวข้อตลาด ครูบอกว่าเอกลักษณ์ที่สำคัญของตลาดคือ ‘ความวุ่นวาย’ บังเอิญโจทย์นี้เหมาะกับคนวุ่นวายอย่างฉันพอดีเลยฟาดคะแนนจากภาพวาดนั้นไปเต็มสิบคะแนน 

บ่อยครั้งที่ไปต่างประเทศ ตลาดมือสอง หรือ Flea Market เป็นสถานที่แรกๆ ที่ฉันมองหา เช่นคราวก่อนก็ได้พูดถึงตลาดที่สวีเดนไปแล้ว ตลาดมือสองทุกที่เหมือนกันคือ ตาดีได้ตาร้ายเสียใช่ไหมคะ แต่มากกว่านั้น ที่ทำให้เสน่ห์แต่ละที่ต่างกันคือ ค่านิยมผ่านของที่ขาย, การตกแต่งร้านและวัฒนธรรมบางอย่างที่อาศัยการสังเกตจากความสัมพันธ์ของคนขายและคนซื้อ 

ระหว่างทางกับผนังรูปการ์ตูนที่เห็นทั่วไปในบรัสเซลส์

เขาเรียกบรัสเซลส์ว่าเมืองหลวงของยุโรป เนื่องจากเป็นที่ตั้งของรัฐสภาแห่งสหภาพยุโรป ขนาดสนามบินบรัสเซลส์ยังต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองว่า “ยินดีต้อนรับสู่ยุโรปจ๊ะ” สำหรับฉัน บรัสเซลส์ควรเป็นเมืองหลวงของตลาด ทั้งตลาดมือหนึ่งและมือสอง ไม่ว่าคุณจะมาเยือนบรัสเซลส์วันไหน คุณก็มีตลาดให้เดิน

บรรยากาศของตลาดเก่าแก่ที่ Place du Jeu de Balle

ตินตินและตลาดมือสอง 

มาคราวนี้ฉันปักหมุดเลือกตลาด ที่ตั้งอยู่ใจกลางเขต Marrolles ณ  Place du Jeu de Balle ตลาดมือสองที่เก่าแก่ของเบลเยียม ฉันและเพื่อนร่วมทางอีก 2 คนเดินมุ่งหน้าจากบริเวณ     กรองด์ ปลาซ (Grand Place) กลางเมืองไปแถวๆ มาร์โคล ประมาณ 15 นาที บรัสเซลล์ขึ้นชื่อเรื่องกราฟิตี้ที่ไม่เหมือนใคร ผนังบ้านเรือนที่นี่อุทิศให้กับภาพการ์ตูนจากหนังสือต่างๆ ช่วยเพิ่มความน่ารักให้ตัวเมืองไปอีกแบบ หนึ่งในการ์ตูนที่โด่งดังที่สุดของเบลเยียมคงหนีไม่พ้น การผจญภัยของตินติน (The Adventurous of Tintin)  ตลกดีที่ว่าตอนหนึ่งของหนังสือ ตินตินได้มาเยือนที่ Place de Jue de Balle ตลาดที่เรากำลังจะไปพอดี ในตอนเริ่มต้นของตอน The Secrets of Unicorn อีกด้วย 

โบสถ์คาทอลิก Church of Immaculate Conception

วางของขายคล้ายๆ กับคลองถามบ้านเรา

ตลาดเก่าแก่ทับศัพท์ตามที่ตั้ง ณ Place de Jeu du Balle

ตลาดที่ Place du Jeu de Balle ไม่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการ นอกจากเรียกตามที่ตั้งหรือเรียกว่า ตลาดเก่า (Old Market) ไปเลย ตลาดที่นี่ตั้งอยู่บนเวิ้งกว้างที่ในอดีตคือสนามเล่น Balle Pelote (กีฬาคล้ายๆ แฮนด์บอลสมัยก่อน) ปัจจุบันมีพ่อค้าแม่ค้ามาตั้งแผงขายมากกว่า 50 แผงต่อวัน ตลาดรายล้อมด้วยร้านอาหารและบาร์ในบรรยากาศคึกคัก ด้านหนึ่งมีโบสถ์คาทอลิก Church of Immaculate Conception เป็นฉากหลัง อีกด้านมีอาคารที่ตั้งของสถานีดับเพลิงเก่าของบรัสเซลส์บรรยากาศเก่าๆ แบบนี้สมกับความเก่าแก่ของตลาดที่เปิดมาตั้งแต่ปี 1873 ซึ่ง Flea Market ทั่วไปมักเปิดตามฤดูกาลแต่ Place du Jeu de Balle กลับสวนกระแสเปิดทุกวันไม่เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ แม้แต่วันคริสมาสต์ก็ยังขาย แท้จริงแล้วตลาดมือสองแห่งนี้เคยตั้งขายอยู่ที่ Anneessens Square ซึ่งอยู่ย่านกลางเมือง แต่จำเป็นต้องย้ายออกมาเพราะไม่เข้ากับภาพลักษณ์ของเมือง

ที่นี่จำหน่ายแค่ของวินเทจและของโบราณเท่านั้น ไม่มีของกิน

เหมือนคลองถมในเวอร์ชั่นฝรั่ง 

เราคิดว่า ‘คลองถม’ น่าจะช่วยอธิบาย Place du Jeu de Balle ให้คุณเห็นภาพมากที่สุด ใครที่เคยเดินคลองถมหรือตลาดมือสองกลางแจ้งที่ไทยมาแล้ว น่าจะทราบดีว่ารูปแบบการจัดหน้าร้านคือการแบของไว้ที่พื้น และวางกองสุมๆ ให้เราเดินเลือกและคุ้ยไปเรื่อยๆ เช่นกันที่ตลาดแห่งนี้ สินค้าทุกประเภทจะเป็นของเก่าและวินเทจเท่านั้น เท่าที่เดินสำรวจดู เราคิดว่า เครื่องประดับและของตกแต่งบ้านคือนางเอกของที่นี่ ขณะที่เสื้อผ้าสวมบทเป็นนางรองแทนค่ะ สินค้าไล่ระดับความเก่าแก่ตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป บางชิ้นอาจมีอายุ 100 ปีก็มี (ถ้าดูจากสภาพและอายุของคนขาย) 

เกร็ดการซื้อขายสไตล์ Place du Jeu de Balle  

เมื่อคำว่าวินเทจมาเป็นเกณฑ์การตั้งราคา การต่อรองราคาจึงเป็นเรื่องปกติของที่นี่ แม้คนขายอาจจะไม่ได้เข้าหาเรามากจนเกินไป แต่พอเราเริ่มต่อราคา ทุกคนดูจริงจังจนต้องงัดทุกสเต็ปมาฟาดฟันกันกับของแค่ชิ้นเดียว ตั้งแต่ภาพเขียน จานชาม กล้องประเภทต่างๆ พรมแบบแอฟริกัน เครื่องทำกาแฟโบราณที่คนขายเดินมาบดกาแฟโชว์แบบทีวีไดเร็ค รวมถึงเครื่องประดับต่างๆ ที่อย่างหลังสุดดูเป็นสิ่งที่เข้าถึงผู้ซื้อได้ง่ายที่สุด ด้วยเทรนด์แฟชั่นปัจจุบันที่เอื้อให้เราปัดฝุ่นเอาเครื่องประดับและเสื้อผ้าที่ดูมีกลิ่นอายวินเทจสมัยเก่ามาเป็นแฟชั่นสมัยใหม่ได้ 

อย่างไรก็ตาม ของบางอย่างดูยังไงก็เหมือนพึ่งจะทำมาเมื่อไม่กี่ปีก่อน การมาเดินตลาดเก่าที่ Place du Jeu de Balle จึงยังต้องถือคติ ‘ตาดีได้ ตาร้ายเสีย’ เพราะคุณต้องคุ้ยต้องหา ว่าของที่คุณถืออยู่ในมือ เป็นมรดกล้ำค่าหรือว่าขยะกันแน่ 

นอกจากนี้ บรัสเซลส์ใช้ภาษาฝรั่งเศสในการสื่อสารเป็นหลัก การต่อรองและสอบถามสินค้าที่นี่จึงใช้ภาษาฝรั่งเศส เช่น คุณลุงคนขายสร้อย ที่คอยยื่นเครื่องประดับมาให้ฉันลองดูเรื่อยๆ แล้วบอกว่า Beautiful! Beautiful! ซ้ำไปซ้ำมา จากที่ขายตรงก็กลายเป็นขายขำ เพราะลุงพ่นฝรั่งเศสรัวๆ แต่เราก็พูดอังกฤษใส่ จับใจความสำคัญของการขายไม่ได้ นอกจากคำว่าคิกบ๊อกซิ่ง แล้วก็โบกมือลากันด้วยดีโดยไม่ได้ซื้อของจากร้านลุงมาเลย 

ถ้าตลาดวายแล้ว ไปไหนต่อดี?

Marrolles เป็นย่านที่รวมร้านอาหารราคาน่ารัก คาเฟ่ และรวมร้านขายของวินเทจไว้มากมาย โดยเฉพาะถนน Rue Haute และ Rue Blaes ในอดีตที่นี่คือย่านคนทำงานในสมัยยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ปัจจุบันย่าน Marrolles ผสมผสานความเป็นเบลเยียมกับคนต่างเชื้อชาติที่อพยพมาตั้งรกราก การมาเดินตลาดที่ Place du Jeu de Balle ที่จะเริ่มวายในช่วงบ่ายนั้น เหมาะแก่การเดินเล่นต่อเพื่อสัมผัสความเป็นบรัสเซลส์ด้านสถาปัตยกรรมดั้งเดิมที่มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 12  ก่อนที่จะมีการบุกเบิกความเคลื่อนไหวของสถาปัตกรรมแบบอาร์ต นูโว (Art Nuveu) ในช่วงราวปี 1890 จนอาคารหลายที่ได้รับอิทธิพลดังกล่าว อยากให้คุณลองเดินจาก Marrolles ไปย่านใกล้กันอย่าง ซาบลอง (Sablon) เหลือเกิน มันน่าจะทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นของการเป็นโลกคู่ขนาน เพราะซาบลองคือย่านฮิปของคนมีอันจะกิน บ้านเรือนคนละแบบ เต็มไปด้วยคาเฟ่และร้านอาหารไฟน์ไดนิง ที่ซาบลองเองก็ขึ้นชื่อเรื่องการมีร้านขายของวินเทจเช่นกัน กล่าวกันว่า Marrolles อาจะเป็นส่วนขยายของซาบลองในด้านร้านค้าของวินเทจ 

ตลาดเปิดทุกวันและมีคนเดินตลอด

แม้จะผ่านมาเกือบศตวรรษ แต่ Place du Jeu de Balle ยังเป็นตลาดเช้าตรู่ที่คนนิยมมาเดินกันจนปัจจุบัน เพราะนอกจากจะขายของแล้ว เขายังขายบรรยากาศอีกด้วย สินค้าบางอย่างตามจริงฉันว่าคุณภาพอาจไม่เหมาะกับราคาไปบ้าง แต่บรรยากาศอาจเป็นข้ออ้างให้เราซื้อได้ (แต่ยังไงก็ต้องต่อราคา) หนึ่งในเสน่ห์ของบรรยากาศที่นี่ คือนักเดินตลาดหลากหลายเชื้อชาติ บ้างเตรียมกระเป๋าลากใบใหญ่มาเพื่อช้อปโดยเฉพาะ บ้างเดินโฉบมาเดินชมของเล่นๆ ก่อนจะเดินกลับไปตามทางของตน ฉันรู้สึกว่าเราต่างเป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์ในการล่าสมบัติตามตลาดมือสอง เพราะมันไม่จำเป็นจะต้องจบด้วยการซื้อ แต่เป็นการได้เฝ้าสังเกตและเฝ้ามองด้วยความอดทน 

ไม่แน่ใจว่าคำว่า ‘นักเดินตลาด’ เป็นคำที่อยู่จริงๆ หรือไม่ ฉันชอบคำนี้จังค่ะ หากอาชีพนี้มีอยู่จริง คงเดินตลาดเลี้ยงปากเลี้ยงท้องไปจนตาย แต่คอนเซ็ปต์ของงานคือการว่าจ้างเพื่อได้ผลตอบแทนเป็นเงินใช่ไหมคะ เดินตลาดนี่คือการเอาเงินที่ได้รับการว่าจ้างไปจ่ายแทน แค่คิดก็ขาดทุนเเล้วค่ะ แหม่!  

Fact Box

  • ตลาดเปิดตอนเช้าตรู่ตั้งแต่ 6.00-14.00 ของดีๆ จะหาได้ตั้งแต่คนเริ่มมาตั้งแผงขายประมาณเช้าๆ ช่วง 5.30 เป็นต้นไป ขณะที่กลางสัปดาห์คือช่วงเวลาที่เหมาะในการมาเดินตลาดที่ Place du Jeu de Balle ที่สุด ส่วนสุดสัปดาห์จะมีของแปลกให้เลือกมากที่สุด 
  • นอกจากตลาดที่ Place du Jeu de Balle  แล้ว บรัสเซลส์ยังมีตลาดอีกหลายแบบ เช่น ตลาด Sablon ที่ Place du Grand Sablon ที่ขายของวินเทจ หนังสือ และของกินในรูปแบบร้านน่ารักเฉพาะเสาร์-อาทิตย์  Marche du Midi ตลาดที่เปิดเฉพาะวันอาทิตย์ใกล้สถานีรถไฟเป็นต้น อยากรู้ว่าตลาดไหนอีก ลองหาข้อมูลเพิ่มเติมดูนะ 
Tags: ,