พี่อ้อย หญิงมุสลิมชาวพม่าอายุ 40 กว่าๆ นั่งคุยกับผู้เขียนซึ่งตอนนั้นยังเป็นนักศึกษามานุษยวิทยาที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เธอเล่าเป็นภาษาไทยว่า ก่อนที่เธอจะย้ายกลับมาอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยแห่งนี้ เธอเคยไปทำงานที่กรุงเทพฯ มาก่อน ตอนนั้นเธอขายโรตีอยู่แถวสะพานสูงอยู่ประมาณ 5 ปี
เธอคุ้นเคยกับสังคมไทยจนมีชื่อเล่นเป็นภาษาไทยและสื่อสารเป็นภาษาไทยอย่างคล่องแคล่ว แต่สุดท้ายเธอตัดสินใจย้ายกลับมาชายแดนแม่สอด เธอบอกว่า “เหมือนกลับมาเกษียณ” พักผ่อนจากการไปทำงานหนักในเมืองและหาทางกลับมาอยู่ในค่ายฯ เพื่อหาโอกาสย้ายไปอยู่ประเทศที่สามเหมือนกับผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ
ความเป็นศาสนิก
ระหว่างนั้น ผู้เขียนขอสัมภาษณ์พี่อ้อยเรื่องพื้นที่ศาสนา (religious space) และเครือข่ายของกลุ่มมุสลิมย้ายถิ่นจากพม่า การลงพื้นที่วิจัยในตอนนั้น ส่วนใหญ่ได้คุยแต่กับผู้ชายมุสลิมที่เกาะกลุ่มพูดคุยเรื่องศาสนาในมัสยิดจำนวน 5-6 แห่งในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เมื่อเก็บข้อมูลสนามผ่านไปกว่า 3 เดือน ก็เกิดข้อสงสัยขึ้นมาว่า ทำไมพื้นที่ศาสนาจึงมีแต่ผู้ชาย แล้วผู้หญิงไม่มามัสยิดเพื่อละหมาดเหมือนมุสลิม (ผู้ชาย) คนอื่นๆ หรือ
ความสงสัยได้รับการคลี่คลายเมื่อพี่อ้อยบอกว่า “ผู้หญิงเขาไม่ไปมัสยิดกัน”
ว่าแต่อะไรคือสิ่งที่พี่อ้อยพยายามจะบอก?
นักมานุษยวิทยา เกอร์ฮาร์ด ฮอฟฟ์สแตดเตอร์ (Gerhard Hoffstaedter) ซึ่งศึกษาการเมืองเรื่องอัตลักษณ์และศาสนาในมาเลเซีย เขาทำความเข้าใจเรื่องความเป็นศาสนิก (religiosity) ว่ามักถูกวัดจาก (1) วิธีคิด (2) การปฏิบัติ (3) ความรู้สึก
หรือที่ผู้คนมักอธิบายความเป็นศาสนิกของคนๆ หนึ่งว่า ต้องดูจาก ‘ความถี่’ ในการไปมัสยิด
แต่กับเรื่องนี้ ผู้เขียนตั้งคำถามว่า กริยาของการเป็นศาสนิกจำเป็นต้องผูกติดกับพื้นที่ศาสนาที่ถูกมองในความหมายของ ‘พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์’ (sacred space) แค่ไหน เพราะบางสังคมวัฒนธรรมก็มีเส้นแบ่งทางเพศที่บอกว่า ผู้หญิงควรเลี้ยงลูก ทำงานอยู่ในบ้าน และละหมาดที่บ้านแทน
พี่อ้อยกำลังนั่งไกวเปลลูกชายที่ยังแบเบาะ อธิบายเหตุผลว่า “ผู้หญิงคนหนึ่ง หากเธอไปละหมาดที่มัสยิด ใจของเธอจะมัวแต่คำนึงถึงแต่ลูกๆ ที่บ้าน เธอจะกังวลถึงลูกที่อยู่บ้านตลอดเวลาที่เธอมามัสยิด จนไม่มีสมาธิปฏิบัติศาสนกิจ และทำให้ไม่สมบูรณ์ครบถ้วน ซ้ำร้ายความกังวลของเธอที่มีต่อลูกๆ ที่บ้านยิ่งทำให้สมาธิผู้ชายที่มาละหมาดในมัสยิดต้องเสียไปด้วย”
องค์ประธานเชิงศีลธรรม
แล้วคำตอบของพี่อ้อยที่บอกว่าผู้หญิงพม่าไม่ไปละหมาดที่มัสยิดแต่จะละหมาดที่บ้านและเลี้ยงลูกนั้น ถือเป็นความพอใจและเป็นทางเลือกของพวกเธอหรือไม่ ถ้าหากมองว่าเป็นวาทกรรมเรื่องเพศที่มักเกิดในกรณีของศาสนาในแต่ละบริบทแล้ว กรณีนี้สามารถมองผ่าน “อัตบุคคล” (subjectivity) ของผู้หญิงมุสลิมได้อย่างไร
ก่อนจะพิจารณาเรื่องความไม่เทียมทางเพศที่อยู่ในขอบเขตของศาสนา ถ้ามองผู้หญิงมุสลิมเป็นอัตบุคคลที่มีเชื่อในเหตุผลที่บอกว่า ผู้หญิงไม่จำเป็นต้องไปมัสยิด ถ้าอย่างนั้นแล้ว ‘พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์’ สามารถเป็นที่อื่นได้หรือไม่? พื้นที่ที่ว่านี้ อาจสามารถนำมาตีความกับความหมายใหม่ที่ผู้หญิงรู้สึกสบายใจมากกว่า
หนังสือ “ประวัติศาสตร์แห่งเพศวิถี” เล่ม 2 The Historical of Sexuality: The Use of Pleasure (1985) ของ มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) อธิบายการสร้างความคิดให้อัตบุคคลในฐานะ ‘องค์ประธานเชิงศีลธรรม’ (as ethical subject) ว่าหมายถึงกระบวนการที่คนสร้างตัวเองให้เป็นองค์ประธานเชิงศีลธรรมในการกระทำของตัวเอง เเสดงผ่านมุมมองสี่ลักษณะ คือ
(1) บุคคลเป็นคนนิยามเกี่ยวกับเนื้อหาเชิงศีลธรรมคำสอน
(2) วิถี/รูปแบบ/วิธีการ นำเอาตัวเองเข้าไปเป็นอัตบุคคล หรือสยบยอมต่อพันธะทางศีลธรรม
(3) รูปแบบการลงรายละเอียดในความหมายต่อการจัดการกับตัวเอง
(4) ให้ความสำคัญกับเป้าหมายต่อสิ่งที่ปัจเจกบุคคลต้องการจะเป็น
นอกจากพี่อ้อยจะเลี้ยงลูกอยู่บ้าน เธอยังอ่านหนังสือศาสนาและคัมภีร์อัล–กุรอ่านที่บ้านอยู่เป็นประจำ เธอมีเพื่อนแวะเวียนมาคุยเรื่องครอบครัวและศาสนาอยู่เป็นครั้งคราว ในวันหนึ่ง เพื่อนของพี่อ้อยเพิ่งเดินกลับมาจากมัสยิด แน่นอนว่าเธอไม่ได้ไปละหมาดที่มัสยิด แต่ไปช่วยเตรียมขนมไว้ให้เด็กนักเรียนมุสลิมที่มาเรียนอ่านคำภีร์กับครูสอนศาสนา
เพื่อนของพี่อ้อยบอกว่า เธอต้องคอยช่วยมัสยิดเตรียมขนมไว้ให้เด็กๆ เพราะไม่ค่อยมีผู้ชายมุสลิมคนอื่นๆ ช่วยทำงานประเภทนี้ ผู้ชายมุสลิมถ้าไม่มาละหมาดที่มัสยิดวันละ 5 เวลา ก็จะอยู่ร้านน้ำชาเพื่อดูแข่งขันฟุตบอลและภาพยนตร์ พวกเขาจึงอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยแค่ไม่กี่ที่ ไม่เป็นมัสยิดก็เป็นร้านน้ำชา
“พื้นที่ศาสนา” ในบ้าน / ตลาด / ชมรม
พี่อ้อยและเพื่อนบอกว่า ในทุกสัปดาห์ผู้หญิงมุสลิมจะเชิญครูสอนศาสนามาที่บ้านหลังหนึ่ง และจัดให้เป็นพื้นที่ส่วนกลางลักษณะคล้ายเป็นชมรมเรียกว่า “บ้านตะห์ลิม” เพื่อให้ผู้หญิงมุสลิมที่ย้ายมาจากพม่าได้มาพบปะและแลกเปลี่ยนเรื่องราวปัญหาที่แต่ละคนกำลังประสบ บางครั้งประธานกลุ่มจัดให้มีการฝึกอาชีพ รวมถึงการเรียนรู้หลักการศาสนาอิสลามเบื้องต้น นอกเหนือไปจากเวลาส่วนใหญ่ที่พวกเธอทำงานบ้าน เลี้ยงลูก และขายของที่ตลาดนัดภายในค่ายผู้ลี้ภัย
ผู้เขียนสังเกตว่า ตลาดภายในค่ายฯ ไม่ว่าเป็นร้านขายของชำและแผงลอยในช่วงที่มีตลาดนัด แม่ค้าเกือบทั้งหมดเป็นผู้หญิงมุสลิมพม่า ส่วนกลุ่มผู้ชายอยู่รวมตัวกันอยู่ร้านน้ำชา ผู้หญิงมุสลิมค้าขายของให้กับมุสลิมและคนกะเหรี่ยงที่เป็นประชากรหลักของค่ายผู้ลี้ภัย จนในบางครั้งก็ดูเหมือนว่า ผู้หญิงมุสลิมเข้าไปสานต่อเส้นแบ่งทางวัฒนธรรมกับผู้คนในค่ายฯ ที่ต่างศาสนาและชาติพันธ์ุ แม้จะมีอคติต่อความแตกต่างกันทางความเชื่อ โดยเฉพาะกรณีมุสลิมในประเทศพม่าที่ถูกสร้างภาพลบเป็นอย่างมาก ซึ่งจากสังคมในค่ายผู้ลี้ภัยแห่งนี้ พบว่าความสัมพันธ์ของมุสลิมพม่าและกะเหรี่ยงพุทธ/คริสต์ในค่ายผู้ลี้ภัยอยู่ในลักษณะความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดมากกว่า
เมื่อกลับมาพิจารณาสถานภาพของผู้หญิงมุสลิมพม่า แม้พวกเธอจะถูกแบ่งให้ออกไปจากพื้นที่ศาสนาในมัสยิด แต่ผู้หญิงมุสลิมไม่ได้ถูกขังให้อยู่ในบ้าน พวกเธอมีอิสระกับพื้นที่อื่นๆ อย่างพื้นที่สาธารณะของสังคมด้วย การเข้ามาอยู่ในพื้นที่การค้าจึงทำให้ผู้หญิงมีอำนาจต่อรองอยู่บ้างในครอบครัว ด้วยเป็นคนหลักที่หาเลี้ยงครอบครัว
การเข้าใจถึง “การทำบุญ” ของผู้หญิงมุสลิมจึงไม่ใช่แค่การละหมาดและสวดมนต์ แต่รวมถึงการอ่านเรียนความรู้ศาสนาที่เธอทำได้ทั้งในบ้าน แผงตลาด และชมรม
ดังนั้น พื้นที่ศาสนาจึงตีความใหม่ให้เป็นไปมากกว่าแค่พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ แต่ขยายรวมไปถึงพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ความสัมพันธ์ของคนกลุ่มต่างๆ ด้วย
“ผู้ชาย คือ หัว, ผู้หญิง คือ คอ”
เอกสารรายงานของ Thailand Burma Border Consortium (2010) ชื่อว่า “3 Sides to Every Stories” อธิบายถึงชีวิต วัฒนธรรม ศาสนา และความเป็นอยู่ของกลุ่มมุสลิมที่ย้ายถิ่นเข้ามาในค่ายผู้ลี้ภัย ประเด็นหนึ่งที่ผู้เขียนอยากเอามาทิ้งท้ายคือประโยคที่บอกว่า “The man is the head, but the woman is the neck”
กลุ่มผู้ชายมุสลิมพม่าต่างพากันออกเดินทางไปชุมชนชายแดนทุกเดือน การเคลื่อนย้ายไปตามจุดต่างๆ ในชายแดนจำเป็นต้องใช้อัตลักษณ์ทางศาสนามาอ้างเพื่อสามารถผ่านด่านทหารและตำรวจไปได้ แต่บางกรณีผู้หญิงที่เป็นภรรยาต้องเดินทางไปด้วย บางคนบอกว่า “ไปส่งสามีออกดะวะห์” (เผยแผ่ศาสนา) เพราะส่วนใหญ่ผู้หญิงมุสลิมมีบัตรประจำตัวของค่ายฯ แต่ผู้ชายมักเป็นกลุ่มที่มาใหม่และไม่มีบัตร เธอจึงต้องออกมาส่งผู้ชายไปทำงานศาสนาและครองตนอยู่ในพื้นที่ศาสนา ระยะเวลาแต่ละครั้งประมาณ 40 วัน เธอมองว่าตัวเองไปส่งสามีร่วมกิจกรรมศาสนา เธอคงได้ส่วนบุญไปด้วยทางหนึ่ง และบางกรณีที่ภรรยาติดตามสามีออกเผยแผ่ศาสนาและร่วมคุยเรื่องศาสนา จึงเห็นว่ามีผู้หญิงมาร่วมขบวนการ ‘ดะวะห์ตับลีฆ’ นี้ด้วย
ผู้ชายอาจถูกมองว่าเป็น ‘หน้าตา’ ในฐานะส่วนของหัว แล้วผู้หญิงเป็นคอที่ทำหน้าที่ ‘สนับสนุน’ เป็นฐานให้ตั้งหัวเอาไว้ แต่ก็อาจมองกลับกันได้ว่า การเป็นคอของผู้หญิงหมายถึง ‘ส่วนที่บังคับ’ ให้ส่วนหัวทำตามที่คอกำหนด มากกว่าที่จะเป็นคอที่แบกรับหัว ผู้หญิงเป็นคอที่มีอำนาจ ‘กำหนด’ และเป็นฝ่ายที่มีอำนาจบังคับได้
การอุปมาอุปมัย หัว และ คอ จึงอธิบายการช่วงชิงพลวัตของอำนาจที่สามารถขยับสลับเปลี่ยนได้
อ้างอิง:
- Hoffstaedter, Gerhard. 2008. Muslim Malay Identity Formation and Its Articulation in Peninsular Malaysia: An Ethnographic Study in Identity Politics. Ph.D. diss., La Trobe University.
- Foucault, Michel. 1985. History of Sexuality, Vol.2.: The Use of Pleasure.(trans. Robert Hurley) New York: Pantheon Books.
- TBBC. 2010. 3 Sides to Every Stories. Thailand Burma Border Consortium.