การประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 5 มิถุนายน ที่ผ่านมา จบลงด้วยชัยชนะของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยการสนับสนุนของพรรคการเมืองหลักอย่างพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย พร้อมด้วยเสียงสนับสนุนสำคัญจากสภาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามีปัจจัยสำคัญในการกำหนดชัยชนะของพลเอกประยุทธ์ในครั้งนี้คือกติกาในรัฐธรรมนูญทั้งการคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อและบทเฉพาะกาลที่ให้สมาชิกวุฒิสภาที่มีเสียงมากถึงหนึ่งในสามของรัฐสภามีสิทธิโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

ผลแพ้ชนะในการเลือกนายกรัฐมนตรีจึงอาจถูกกำหนดมาแล้วตั้งแต่วันลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ดังนั้นการพิจารณาความสัมพันธ์ของผลการลงประชามติ กับผลการเลือกตั้งจะสามารถสะท้อนความนิยมใน คสช. ได้ในระดับหนึ่ง

จากประชามติ 2559 สู่การเลือกตั้ง 2562

คะแนนเสียงที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในการลงประชามติปี 2559 สามารถตีความได้ชัดว่าส่วนใหญ่คือไม่เห็นดีเห็นงามกับ คสช. รวมถึงร่างรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการคิดคำนวณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อที่เผยนัยที่ชัดเจนว่าเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคขนาดกลางที่ไม่ค่อยชนะการเลือกตั้งระดับเขต ดังนั้นฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยที่ดูจะเสียประโยชน์จากระบบนี้ น่าจะโหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

ในขณะที่คะแนนเสียงของกลุ่มที่รับร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนหนึ่งชัดเจนว่าคือผู้ที่สนับสนุน คสช. อีกส่วนหนึ่งก็คือกลุ่มที่คิดว่าการรับร่างรัฐธรรมนูญน่าจะเป็นหนทางที่จะทำให้เกิดการเลือกตั้งที่เร็วที่สุด เพราะทาง คสช. ไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการลงประชามติจะเกิดอะไรขึ้นในลำดับถัดไป ซึ่งแตกต่างจากการลงประชามติในปี 2550 ที่มีการระบุไว้อย่างชัดเจนว่าถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่านการลงประชามติ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ที่นำโดยพลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน จะเลือกรัฐธรรมนูญที่ได้เคยประกาศใช้บังคับมาแล้ว ฉบับใดฉบับหนึ่งมาปรับปรุงให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันออกเสียงประชามติ

เมื่อผลการลงประชามติที่เกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2550 ออกมาว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งทั่วไปก็เกิดขึ้นระยะเวลาไม่นานหลังจากนั้นคือในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน กลุ่มผู้ลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญในปี 2559 จำนวนไม่น้อยจึงมุ่งหวังว่าการรับร่างรัฐธรรมนูญจะนำไปสู่การเลือกตั้งโดยเร็ว

ทั้งนี้ในการลงประชามติรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ประกอบด้วย 2 ส่วน ส่วนแรกคือการลงมติเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ โดยมีผู้เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญร้อยละ 61.35 และไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญร้อยละ 38.65

ตัวเลขเบื้องต้นของผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับ คสช. มีอย่างน้อยร้อยละ 38.65 เพราะอาจมีบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับ คสช. แต่รับร่างรัฐธรรมนูญเพราะต้องการให้มีการเลือกตั้ง ตามที่ได้อธิบายไปแล้ว

สำหรับในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 คะแนนเสียงที่ชัดเจนว่าไม่สนับสนุน คสช. ก็คือกลุ่ม 7 พรรคการเมืองที่เรียกตัวเองว่า ‘ฝั่งประชาธิปไตย’ อันได้แก่พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคเพื่อชาติ และพรรคพลังปวงชนไทย ซึ่งได้คะแนนเสียงรวมกันราว 16.5 ล้านเสียงหรือคิดเป็นร้อยละ 46.4 ของคะแนนเสียงทั้งหมด

ภาพประกอบแรก ภาพซ้ายแสดงให้เห็นว่าสัดส่วนคะแนนเสียงของ 7 พรรคประชาธิปไตยต่อคะแนนเสียงทั้งหมด (แกนตั้ง) แปรผกผันกับสัดส่วนผู้เห็นชอบกับรัฐธรรมนูญในการลงประชามติ (แกนนอน) โดยแยกเป็นรายจังหวัด แต่ละจุดบนแผนภาพแทนความสัมพันธ์ของแต่ละจังหวัดทั้ง 77 จังหวัด ในทางตรงกันข้าม ภาพด้านขวามือแสดงให้เห็นว่าคะแนนเสียงไม่เห็นชอบกับรัฐธรรมนูญจะแปรผันตรงกับคะแนนเสียงที่สนับสนุน 7 พรรคประชาธิปไตย

นอกจากการเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่แล้ว การลงประชามติในครั้งนั้นยังมีคำถามพ่วงที่ว่า

“ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนด ไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”

ซึ่งสรุปแบบง่าย โดยไม่ต้องใช้ประโยคจูงใจว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า สมาชิกวุฒิสภาควรมีสิทธิออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี” ซึ่งผลก็คือมีผู้เห็นชอบคิดเป็นร้อยละ 58.07 และมีผู้ไม่เห็นชอบร้อยละ 41.93 ซึ่งมีคนไม่เห็นชอบกับคำถามพ่วงในสัดส่วนที่สูงกว่าคำถามในข้อแรกว่าเห็นชอบกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ และจากผลการลงประชามติคำถามพ่วงในครั้งนั้นก็กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ชี้ขาดผลการเลือกนายกรัฐมนตรีที่ผ่านมา เมื่อสมาชิกวุฒิสภาทั้ง 249 คนพร้อมเพรียงกันสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ให้เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีเพียงประธานวุฒิสภาเพียงหนึ่งคนที่งดออกเสียง

จากภาพประกอบแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ในรูปแบบเดียวกับคำถามในข้อแรก โดยสัดส่วนคะแนนเสียงของ 7 พรรคประชาธิปไตยจะแปรผกผันกับคะแนนเสียงเห็นชอบกับคำถามพ่วง (รูปซ้าย) และแปรผันตรงกับคะแนนไม่เห็นชอบ (รูปขวา)

สรุปคือจังหวัดที่โหวตไม่รับรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงในปี 2559 มีแนวโน้มสูงที่จะโหวตให้กับผู้สมัครจากพรรคการเมืองที่ยืนตรงข้ามกับ คสช.

ผลดังกล่าวก็ไม่น่าแปลกใจอะไร เพราะรัฐธรรมนูญนั้นค่อนข้างชัดเจนว่าเอื้อไปทางการสืบทอดอำนาจของ คสช. แม้ว่าการลงประชามติและการเลือกตั้งจะห่างกันราวสองปีครึ่ง แต่คะแนนนิยมของ คสช. ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงในแต่ละพื้นที่ คนที่รักก็ยังรัก คนที่ชังก็ยังชัง ถ้าเช่นนั้นแล้วก็หมายความว่านโยบายของรัฐบาลในช่วงเวลาดังกล่าวไม่ได้ส่งผลต่อความนิยมทางการเมืองเลยหรือ

 

นโยบายสำคัญของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์คงหนีไม่พ้น ‘บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ’ หรือที่บางคนเรียกว่า ‘บัตรคนจน’ ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 โดยผู้ที่ได้ประโยชน์จากโครงการนี้คือผู้มีรายได้น้อยราว 12 ล้านคน หรือราวร้อยละ 23 ของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง

แต่เมื่อนำสัดส่วนของผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐต่อจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งมาพิจารณากับคะแนนเสียงที่สนับสนุน 7 พรรคประชาธิปไตยก็ไม่พบว่ามีความสัมพันธ์กัน นั่นคือ ในจังหวัดที่มีสัดส่วนผู้ได้รับประโยชน์จากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมากก็ไม่ได้โหวตสนับสนุนรัฐบาลมากตามไปด้วย รวมถึงก็ไม่ได้มีแนวโน้มที่จะสนับสนุน 7 พรรคประชาธิปไตยมากเป็นพิเศษ นอกจากนี้ผมยังได้ลองนำคะแนนเสียงที่สนับสนุน 7 พรรคการเมืองฝั่งประชาธิปไตยไปพิจารณากับสัดส่วนคนจนซึ่งหมายถึงร้อยละของคนจนที่อยู่ใต้เส้นความยากจนในแต่ละจังหวัดก็พบว่าไม่มีความสัมพันธ์กัน

ประเด็นที่น่าสนใจถัดมาคือระดับรายได้มีผลต่อความนิยมทางการเมืองหรือไม่

แผนภาพต่อมาแสดงให้เห็นว่าคะแนนเสียงของ 7 พรรคประชาธิปไตยแปรผกผันกับระดับรายได้ (ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในจังหวัดต่อประชากร ปี 2559) นั่นคือจังหวัดที่มีรายได้เฉลี่ยน้อยมีแนวโน้มที่จะไม่สนับสนุน คสช. ในทางกลับกันจังหวัดที่มีรายได้สูงก็มีแนวโน้มที่จะสนับสนุน คสช.  

ดังนั้นเมื่อนำข้อมูลเรื่องระดับรายได้ และคะแนนเสียงเลือกตั้งมาแสดงในรูปแบบของแผนที่ โดยจังหวัดสีแดงคือระดับรายได้น้อยและไม่สนับสนุน คสช. ส่วนจังหวัดสีเขียวคือระดับรายได้สูงและสนับสนุน คสช. จะเห็นได้ว่าแผนที่ทั้งสองมีสีที่ใกล้เคียงกันมาก อาจจะมีแตกต่างกันบ้างในพื้นที่ภาคกลางและกรุงเทพมหานคร แต่โดยรวมก็สะท้อนถึงความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาว่าไม่ได้มีแค่มิติการเมืองหากแต่ยังมีมิติเศรษฐกิจรวมถึงมิติอื่นๆ ที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยากจะแก้ได้โดยง่ายเพียงการเป่านกหวีด ปรี๊ดดดดด

 

แหล่งที่มาของข้อมูล

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง

  • ผลการเลือกตั้งทั่วไปสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  2562
  • ผลการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559

กระทรวงการคลัง

  • จำนวนผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ตามที่อยู่ทะเบียนบ้าน

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

  • สัดส่วนคนจนวัดด้านรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค จำแนกตามจังหวัด 2559
  • ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในจังหวัดต่อหัว ปี 2559
Tags: , , , ,