อนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 ให้คำนิยามและความหมายของสถานภาพผู้ลี้ภัยไว้ว่า ‘ผู้ลี้ภัย’ หมายถึงบุคคลที่จำเป็นต้องทิ้งประเทศบ้านเกิดของตนเอง เนื่องจากความหวาดกลัวการถูกประหัตประหารหรือได้รับการคุกคามต่อชีวิตเนื่องจากสาเหตุข้อหนึ่งข้อใด เช่น เชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ สมาชิกภาพในกลุ่มทางสังคม และสมาชิกภาพในกลุ่มความคิดทางการเมือง

จากข้อมูลปี 2560 ทั่วโลกมีผู้ลี้ภัย 17.187 ล้านคน มีผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ 36.627 ล้านคน ผู้ขอที่ลี้ภัย 2.826 ล้านคน และผู้ที่อยู่ในสถานการณ์เป็นผู้ลี้ภัย 803,134 คน

สำหรับคนทั่วไป หากนึกถึงผู้ลี้ภัย ภาพของผู้ลี้ภัยจากซีเรีย อิรัก อัฟกานิสถาน ปาเลสไตน์ หรือชาวโรฮิงญา คงเป็นภาพที่คนส่วนใหญ่นึกถึง แต่ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยคงมีเพียงไม่กี่คนที่สนใจรับรู้และทำความเข้าใจ

‘โรยทราย วงศ์สุบรรณ’ คือคนไทยคนหนึ่งที่ทำงานใกล้ชิดกับผู้ลี้ภัย ด้วยประสบการณ์การทำงานรณรงค์นโยบายด้านผู้อพยพมามากกว่าสิบปี สิ่งที่เธอบอกกับเราตั้งแต่ประโยคแรกของการพูดคุยก็คือ “เราคิดว่าสังคมไทยเข้าใจเรื่องการอพยพ แต่ที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ คือคำว่า ‘ผู้ลี้ภัย’”

สังคมไทยต้องเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย หรือกระทั่งจำเป็นหรือไม่ที่เราจะต้องทำความรู้จักผู้ลี้ภัย นี่อาจเป็นหัวข้อที่ดูจะอยู่ห่างไกลจากชีวิตของคนส่วนใหญ่ แต่จริงๆ แล้วมันอาจอยู่ไม่ไกลอย่างที่เราคิด

ผู้ลี้ภัยคือภาระ?

โรยทรายเริ่มทำงานกับผู้ลี้ภัยในปี 2552 ในฐานะเจ้าหน้าที่ของ Jesuit Refugee Service ซึ่งเป็นองค์กรของนักบวชคณะเยสุอิตที่มีปรัชญาในการดำเนินงานว่า ผู้ลี้ภัยคือผู้อพยพเนื่องจากประสบความยากลำบากในชีวิต นั่นเป็นครั้งแรกที่เธอได้รู้จักกับผู้ลี้ภัย

“ก่อนหน้านั้นเราทำงานเรื่องแรงงานข้ามชาติ เรื่องการค้ามนุษย์ และเราก็ไม่เคยรู้ว่าผู้ลี้ภัยคือใคร การทำงานกับผู้ลี้ภัยจึงเป็นการเปิดโลกให้กับเราอย่างมาก ถ้าไม่ได้ทำงานกับองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัย เราก็อาจไม่รู้ว่าผู้ลี้ภัยคือใคร”

ในฐานะคนทำงาน ปัญหาแรกที่เจอ คือความไม่เข้าใจของคนในสังคม “พอเราบอกคนอื่นว่าเราทำงานเรื่องผู้ลี้ภัย คนส่วนใหญ่จะไม่เข้าใจว่าเขาคือใคร มาอยู่ทำไม มาอยู่กันเยอะไหม หนีมาด้วยเหตุผลอะไร”

ตอนที่เริ่มทำงานกับผู้ลี้ภัย โซเชียลมีเดียยังมีบทบาทไม่มาก โรยทรายจึงมีโอกาสไม่มากนักสำหรับการรับรู้ว่าสังคมไทยคิดอย่างไรกับผู้ลี้ภัย แต่ 3-4 ปีที่ผ่านมา จนเมื่อโซเชียลมีเดียมีบทบาทมากขึ้น เธอจึงได้รู้ว่าคนส่วนหนึ่งในสังคมไทยมีความรู้สึกว่าผู้ลี้ภัยเป็นปัญหาหรือเป็นภาระ “เราเข้าใจนะเวลาที่คนพูดว่า ‘คุณใจดีนัก คุณก็เอาผู้ลี้ภัยไปไว้ที่บ้านของคุณสิ’ แต่คำพูดแบบนี้คือสิ่งที่สะท้อนว่าเจ้าของคำพูดมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย”

ผู้ลี้ภัยเป็นใคร มาจากไหน และเป็นภาระของสังคมไทยจริงหรือไม่ โรยทรายเริ่มต้นตอบคำถามด้วยการบอกเล่าข้อมูลพื้นฐานว่า ปัจจุบัน ผู้ลี้ภัยในเมืองไทยแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวเก้าแห่งบริเวณชายแดนไทย-พม่า ซึ่งตอนนี้ตัวเลขของข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Refugees: UNHCR) มีอยู่ประมาณ 99,904 คน ส่วนกลุ่มที่สองคือ ผู้ลี้ภัยในเขตเมือง (urban refugee) หรือคนที่มาขอสถานภาพผู้ลี้ภัยกับ UNHCR ประเทศไทย ตอนนี้มีราว 4,000-5,000 คน และที่กำลังดำเนินเรื่องขอสถานภาพผู้ลี้ภัยอีก 3,000 กว่าคน และมีคนที่เคยขอสถานภาพผู้ลี้ภัย แต่ไม่ได้สถานภาพผู้ลี้ภัย หรือคนที่เลือกไม่ไปลงทะเบียนและอาศัยอยู่แบบวีซ่าเกินกำหนดอีกประมาณ 2,000 คน รวมแล้วก็ประมาณ 10,000 คน

นักเรียนชาวกะเหรี่ยงในค่ายผู้ลี้ภัยแม่ลา อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ภาพนี้ถ่ายเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2551 ค่ายผู้ลี้ภัยแม่ลาก่อตั้งเมื่อปี 2527 และเป็นค่ายผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดในค่ายผู้ลี้ภัยเก้าแห่งบริเวณชายแดนไทย-พม่า ในเวลานั้น ค่ายแห่งนี้มีผู้อยู่อาศัยราว 48,000 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยง (ที่มาภาพ: REUTERS/Chaiwat Subprasom)

“ตัวเลขก็ไม่ได้เยอะมาก ถ้าเทียบกับประชากรไทย 66 ล้านคน หรือถ้าเทียบกับแรงงานข้ามชาติสามสัญชาติ (กัมพูชา ลาว และพม่า) ที่ทำงานในเมืองไทยทั้งถูกและผิดกฎหมาย ซึ่งมีอยู่ 3-4 ล้านคน เพราะฉะนั้น จำนวนคนต่างชาติที่เป็นผู้ลี้ภัยในเมืองไทยไม่ได้มีเยอะมาก” โรยทรายกล่าว

ในฐานะที่เคยทำงานใกล้ชิดกับผู้ลี้ภัย โรยทรายบอกว่า นอกจากการลี้ภัยทางการเมือง ผู้ลี้ภัยจากประเทศอื่นที่อยู่ในไทยมีหลายกรณีมาก “ในบางประเทศมีการขลิบอวัยวะเพศของผู้หญิง แล้วสามีต้องการขลิบอวัยวะเพศของภรรยาเพื่อเป็นการลงโทษหรืออะไรก็ตาม ภรรยาก็ต้องหนี หรือบางคนเป็นภรรยาน้อยของนักการเมือง แล้วพอภรรยาหลวงรู้ก็ส่งคนมาทำร้าย เขาก็ต้องหนี”

การลี้ภัยจึงไม่ได้มีที่มาจากเหตุการณ์ใหญ่ๆ อย่างสงครามหรือความขัดแย้งทางการเมืองเสมอไป แต่เรื่องราวในชีวิตประจำวันก็ผลักดันให้คนจำนวนหนึ่งต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัย

ปัญหาของผู้ลี้ภัยในประเทศไทย

สำหรับขั้นตอนการขอสถานภาพผู้ลี้ภัย โรยทรายอธิบายว่า “ในกรณีผู้ลี้ภัยในเมือง UNHCR ประเทศไทยจะเปิดให้ลงทะเบียน และคุณต้องอธิบายว่า ทำไมคุณต้องได้สถานะผู้ลี้ภัย ซึ่งไม่ใช่ได้โดยอัตโนมัติ แต่คุณต้องมีเหตุผลว่า คุณหนีออกจากประเทศของคุณเพราะอะไร หรือมีเหตุการณ์อะไรที่ทำให้คุณกลับประเทศของคุณไม่ได้ หลังจากนั้น UNHCR จะประเมินว่าสิ่งที่คุณพูดนั้นจริงหรือไม่จริง มีหลักฐานน่าเชื่อถือหรือไม่”

หลังจาก UNHCR ยอมรับก็จะให้สถานะ แต่เอกสารที่ UNHCR ออกให้จะเรียกกลุ่มนี้ว่า ‘กลุ่มคนในความห่วงใย’ ซึ่งไม่มีสถานะในทางกฎหมายของประเทศไทย แต่ถ้าตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเห็น ก็จะเป็นที่รับรู้กันว่าคนเหล่านี้ลงทะเบียนเป็นผู้ลี้ภัยกับ UNHCR แล้ว ดังนั้น คนกลุ่มนี้ก็ยังคงอาศัยอยู่ในเมืองไทยอย่างผิดกฎหมาย

“ประเทศไทยไม่ให้วีซ่าผู้ลี้ภัย ถ้าวีซ่าหมดอายุ ต่อให้ได้สถานะผู้ลี้ภัย ก็ยังถือว่าอาศัยอยู่ในเมืองไทยอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งถ้าเจ้าหน้าที่จะจับก็จับได้ และมันก็เกิดเหตุการณ์ที่ผู้ลี้ภัยถูกจับ แล้วถูกส่งไปอยู่ในห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ห้องกักสวนพลู) ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อให้คนต่างชาติที่ทำผิดกฎหมายเข้าเมืองอาศัยอยู่ชั่วคราวก่อนจะเนรเทศกลับไปยังประเทศต้นทาง”

ตั้งแต่ในอดีต รัฐบาลไทยมีนโยบายอนุญาตให้ผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่แค่ชั่วคราว แต่ไม่ยอมรับให้เป็นพลเมือง จึงพยายามส่งไปประเทศที่สาม ซึ่งตอนนี้ ประเทศที่เปิดรับผู้ลี้ภัยก็มีน้อยลง เมื่อผู้ลี้ภัยถูกจับฐานเข้าเมืองผิดกฎหมาย ศาลอาจให้ประกันตัว แต่ต้องมีเงินประกันตัวซึ่งอาจสูงถึง 50,000 บาทต่อคน

“ลองคิดดูว่าในสภาพที่คุณหนีมาอยู่เมืองไทยโดยไม่ได้ทำงาน คุณก็ไม่มีเงิน คุณก็ต้องรอไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้ไปประเทศที่สาม ซึ่งนี่คือปัญหา เพราะห้องกักไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อการใช้ชีวิตอยู่นานๆ”

โรยทรายบอกว่า ห้องกักที่สวนพลู “กลิ่นเหม็นมาก ไม่มีที่ให้ซักผ้าและตากผ้าห่ม ข้อจำกัดด้านสถานที่ส่งผลต่อการดูแลสุขอนามัยขั้นพื้นฐาน”

เด็กๆ ชาวกะเหรี่ยงในค่ายผู้ลี้ภัยแม่ลา ภาพนี้ถ่ายเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2553 ในเวลานั้นมีผู้ลี้ภัยราว 140,000 คนอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยเก้าแห่งบริเวณชายแดนไทย-พม่า (ที่มาภาพ: REUTERS/Damir Sagolj)

ผู้ลี้ภัยไม่ใช่เรื่องใหม่

ผู้ลี้ภัยเกิดขึ้นบนโลกใบนี้มานานแล้ว แต่การปรากฏคำว่าผู้ลี้ภัยในกฎหมายระหว่างประเทศนั้น เริ่มต้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อเกิดการอพยพลงเรือเดินสมุทรเพื่อเดินทางจากยุโรปไปยังสหรัฐอเมริกาเพื่อหนีภัยกองทัพนาซี

สำหรับประเทศไทย ภาพของผู้ลี้ภัยที่เห็นได้ชัดเกิดขึ้นในช่วงสงครามเย็น โดยจุดเริ่มต้นของนโยบายต่อผู้ลี้ภัย คือนโยบายที่มีต่อการอพยพเข้ามาของกองกำลังทหารจีนคณะชาติ ซึ่งหนีพรรคคอมมิวนิสต์จีนร่นลงมา และถูกพม่าผลักดันออกจากประเทศในปี 2493 ถัดจากนั้นคือกลุ่มผู้ลี้ภัยจากสงครามอินโดจีน โดยหลังจากกองทัพประชาชนเวียดนามและแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติยึดกรุงไซ่ง่อนได้เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2518 ทำให้มีผู้ลี้ภัยชาวเวียดนามเดินทางออกนอกประเทศ และหลังจากนั้นก็มีกลุ่มผู้ลี้ภัยที่เดินทางออกจากกัมพูชา หลังจากกองทัพแห่งชาติกัมพูชาประชาธิปไตย (เขมรแดง) ปกครองกัมพูชาในช่วงปี 2518-2522

โรยทรายให้ข้อมูลว่าในตอนนั้น ประเทศไทยมีจุดที่ให้กลุ่มผู้ลี้ภัยพักอาศัยอยู่ตามแนวชายแดนภาคอีสานและภาคตะวันออก โดยเงินช่วยเหลือผู้ลี้ภัยมาจากรัฐบาลและองค์กรระหว่างประเทศ และทางออกของปัญหานี้คือการส่งผู้ลี้ภัยไปยังประเทศที่สาม ซึ่งในเวลานั้นหลายประเทศยังต้องการผู้อพยพ

นอกจากนี้ นโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้าของรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ก็ช่วยทำให้ปัญหาผู้ลี้ภัยคลี่คลายไปได้มาก จนกระทั่งค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศไทยถูกปิดในที่สุด

“นโยบายการต่างประเทศของพลเอกชาติชายพิสูจน์ว่า การจัดการกับปัญหาด้านความมั่นคงไม่จำเป็นต้องใช้นโยบายด้านการทหารเพียงอย่างเดียว พลเอกชาติชายใช้นโยบายการต่างประเทศเพื่อสร้างความมั่นคงในภูมิภาคนี้ ซึ่งมันก็เป็นความจริงว่า ถ้ากัมพูชา ลาว หรือเวียดนามไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ประเทศไทยในตอนนั้นก็ต้องเผชิญปัญหาแน่ๆ เพราะฉะนั้น สิ่งที่พลเอกชาติชายทำคือการทำให้คนอาศัยอยู่ในประเทศของตัวเองได้ ทำให้รัฐบาลพลเรือนเข้มแข็ง ทำให้รัฐบาลทำงานในฐานะผู้ที่ต้องดูแลและส่งเสริมความอยู่ดีกินดีของประชาชนในประเทศได้” โรยทรายกล่าวย้อนไปถึงนโยบายในอดีต

สำหรับคนไทย ผู้ลี้ภัยจากพม่าน่าจะเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยที่สุด

Hong Chau เป็นบุตรสาวของผู้ลี้ภัยชาวเวียดนาม เธอเกิดที่ประเทศไทยเมื่อปี 2522 ก่อนจะอพยพไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ในการประกาศรางวัลลูกโลกทองคำประจำปี 2018 เธอได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์เรื่อง Downsizing (ที่มาภาพ: REUTERS/Danny Moloshok)

ความขัดแย้งในพม่า กับบทบาทที่ไทยจำเป็นต้องข้องเกี่ยว

การต่อต้านรัฐบาลพม่าของกองกำลังชนกลุ่มน้อยเกิดขึ้นหลังการทำรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาล อู นุ ของนายพล เน วิน เมื่อปี 2505 ซึ่งตามมาด้วยการลิดรอนสิทธิของชนกลุ่มน้อยในรูปแบบต่างๆ จนกระทั่งเกิดปฏิกิริยาตอบโต้จากชนกลุ่มน้อยแทบทุกกลุ่มที่ต่างก็จัดตั้งกองกำลังของตนเพื่อสู้รบกับรัฐบาล

นโยบายของรัฐบาลทหารภายใต้การนำของนายพล เน วิน (ดำรงตำแหน่งผู้นำกองทัพพม่าจนถึงปี 2531) คือการปราบปรามชนกลุ่มน้อย ในช่วงเวลานั้น เราจึงได้เห็นภาพทหารพม่าบุกเข้าเข่นฆ่าและเผาทำลายบ้านเรือนของชนกลุ่มน้อย หนึ่งในความทรงจำทางประวัติศาสตร์อาจมองเห็นได้ผ่านฉากในภาพยนตร์เรื่อง Rambo (2551) ซึ่งถ่ายทำที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

โรยทรายบอกว่า นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับชนกลุ่มน้อยในพม่าในยุคหนึ่ง

“ชนกลุ่มน้อยในพม่ากับรัฐบาลพม่าทำสงครามกันมาอย่างยาวนาน แต่การปกครองโดยทหารยิ่งทำให้ความขัดแย้งรุนแรงขึ้น ตอนนั้น รัฐบาลพม่าถือว่าพม่ามีหนึ่งเดียว เขาไม่อยากปกครองแบบสาธารณรัฐ เขาไม่อยากกระจายอำนาจการปกครอง เพราะฉะนั้น เขาก็ต้องปราบปรามกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่ไม่เห็นด้วยกับการปกครองของเขา ตอนนั้นชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดนก็ทำสงครามในรูปแบบกองโจร เขามีความเชี่ยวชาญในพื้นที่ที่เขาอาศัยอยู่ เขารู้ว่าเขาจะสู้รบอย่างไร อาจจะมีการรุกเข้ามาของทหารพม่า แต่เขาก็ตอบโต้ได้ และเขาก็รักษาพื้นที่เอาไว้ได้”

ในช่วงเวลานั้น รัฐไทยใช้พื้นที่ของชนกลุ่มน้อยเป็นกันชนระหว่างไทยกับพม่า และตั้งค่ายผู้ลี้ภัยขึ้นตามแนวชายแดน โดยได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลและองค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงการจัดหาอาหาร ยารักษาโรค การศึกษา และระบบสาธารณูปโภค

สำหรับโรยทราย เธอคิดว่าการที่รัฐบาลไทยจัดการกับผู้ลี้ภัยในรูปแบบค่ายผู้ลี้ภัยมาโดยตลอด คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหา “การที่เราจัดการกับผู้ลี้ภัยในรูปแบบค่ายผู้ลี้ภัยมาโดยตลอด มันทำให้คนมีความทรงจำว่าเป็นผู้ลี้ภัยก็ต้องทำงานไม่ได้ พอทำงานไม่ได้ จะกินจะใช้ก็ต้องขอเงินจากคนอื่น ต้องรอให้ฝรั่งมาช่วยแจกข้าวแจกน้ำ และยิ่งไปกว่านั้นคือคนไม่รู้ว่าที่มาของเงินซึ่งใช้ในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยมาจากที่ไหน คนก็มองว่าผู้ลี้ภัยเป็นภาระของประเทศไทย เวลาเราพูดถึงผู้ลี้ภัย สิ่งที่เป็นปฏิกิริยาโต้กลับจึงเป็นไปในทำนองที่ว่า ‘คุณก็เอาผู้ลี้ภัยไปเลี้ยงดูที่บ้านของคุณสิ’”

สำหรับสถานการณ์หลังการเลือกตั้งในปี 2558 และพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของ ออง ซาน ซูจี ขึ้นสู่อำนาจ โรยทรายบอกว่า มีความพยายามจัดโครงการนำร่องเพื่อให้ผู้ลี้ภัยเดินทางกลับประเทศของตัวเอง แต่ตอนนี้จำนวนผู้ลี้ภัยที่กลับไปอยู่ในพม่ามีน้อยมาก โดยตัวเลขที่เป็นทางการอยู่ที่ 71 คน

ทำไมตัวเลขจึงน้อยขนาดนี้ คำตอบก็คือ “เราคิดว่าสำหรับชนกลุ่มน้อย ถ้าเขาจะกลับไปพม่า เขาต้องกลับโดยผ่านการช่วยเหลือของรัฐบาลพม่า ซึ่งความไว้วางใจระหว่างชนกลุ่มน้อยบางส่วนกับรัฐบาลพม่ายังไม่เกิดขึ้น ขณะเดียวกัน แรงจูงใจที่จะให้คนกลับไปก็ยังไม่มี เช่น ถ้าเราจะกลับไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ เราก็ควรจะมีเงินทุนหรือมีที่ดินทำกิน แต่เนื่องจากสงครามในพม่าเป็นสงครามที่ยาวนาน บางพื้นที่ยังมีกับระเบิด บางพื้นที่ก็ยังไม่มีกระบวนการจัดการ ผู้ลี้ภัยบางคนเขากลับไปดูที่ดินของตัวเองก็พบว่าคนอื่นเอาไปแล้ว ยังไม่ต้องพูดถึงที่ดินซึ่งอาจจะถูกยึดโดยรัฐบาลหรือกองกำลังใดๆ ก็ตาม เพราะฉะนั้น ถ้าคุณกลับไป คุณก็ไม่รู้ว่าจะทำมาหากินอย่างไร จึงทำให้มีผู้ลี้ภัยจากพม่ากลับสู่มาตุภูมิน้อยมาก”

โรยทรายบอกว่า ตอนนี้กำลังมีการพูดคุยกันว่าทำอย่างไรผู้ลี้ภัยจึงจะเดินทางกลับประเทศ และไม่ต้องกลับเข้ามาเป็นแรงงานอพยพที่เมืองไทย โดยสิ่งที่เธอคิดว่าจะดึงดูดให้คนกลับไปได้คือการสร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้คนทำมาหากินได้ และมีความมั่นใจว่าจะไม่พบเจอกับความรุนแรงจากทหารฝ่ายตรงข้าม

เรือบรรทุกผู้อพยพชาวโรฮิงญาถูกเรือของกองทัพเรือไทยลากออกจากน่านน้ำไทยบริเวณใกล้กับเกาะหลีเป๊ะ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2558 ก่อนจะได้รับความช่วยเหลือจากเรือสัญชาติมาเลเซียในวันถัดไป (ที่มาภาพ: REUTERS/Olivia Harris)

ปัญหารอบด้านของชาวโรฮิงญา

สำหรับกรณีโรฮิงญา โรยทรายบอกว่าสิ่งที่ทำให้ปัญหานี้ซับซ้อนและรุนแรงมากยิ่งขึ้น คือคนพม่าไม่ยอมรับว่าโรฮิงญาเป็นหนึ่งในชาติพันธุ์ของพม่า ในขณะที่ยอมรับว่าชนกลุ่มน้อยอื่นๆ เป็นส่วนหนึ่งของพม่า

“เพราะฉะนั้น ความชอบธรรมของกองกำลังที่ใช้ปราบปรามหรือการปฏิบัติการทางทหารต่อชนกลุ่มน้อยอื่นๆ กับชาวโรฮิงญาจึงมีไม่เท่ากัน มันก็เป็นธรรมดาที่พลเรือนพม่าบางส่วนจะเห็นด้วย เพราะเขามองว่าโรฮิงญาคือคนอื่น ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของประเทศ เราคิดว่านี่คือสิ่งที่ทำให้ปฏิบัติการของทหารพม่าเกิดขึ้นได้ และมีระดับความรุนแรงสูงกว่าปฏิบัติการที่เกิดขึ้นกับชนกลุ่มน้อยอื่นๆ”

จุดเริ่มต้นของความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญาเกิดขึ้นในปี 2559 ภายหลังการถือกำเนิดของกองทัพปลดปล่อยโรฮิงญาแห่งอาระกัน (Arakan Rohingya Salvation Army)

“ผู้ก่อตั้งกองกำลังนี้บอกว่า เขาเป็นชาวโรฮิงญาที่ไปอยู่ที่ปากีสถาน และเขาไม่พอใจนโยบายของพม่าที่มีต่อชาวโรฮิงญามาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกสิทธิพลเมือง การจำกัดการเดินทาง พื้นที่ที่ชาวโรฮิงญาอยู่อาศัยก็เป็นพื้นที่ที่เสี่ยงต่อพายุไซโคลน และเวลาปลูกข้าวหรือปลูกอะไรก็ต้องจ่ายภาษีในอัตราสูง ผู้คนไม่เคยลืมตาอ้าปากได้ เพราะฉะนั้น เขาจึงรู้สึกโกรธแค้นกับสิ่งที่เกิดขึ้น เขาก็เลยอยากจะตอบโต้รัฐบาลพม่าโดยการใช้กำลัง”

แต่โรยทรายบอกว่า ชาวโรฮิงญาไม่ได้เห็นด้วยกับกองกำลังนี้ทั้งหมด และการเกิดขึ้นของกองกำลังนี้ก็ทำให้ชีวิตของชาวโรฮิงญาเลวร้ายยิ่งขึ้น เพราะเมื่อรัฐบาลพม่าใช้กำลังอย่างเบ็ดเสร็จและไม่แยกแยะระหว่างพลเรือนกับผู้ติดอาวุธ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือชาวโรฮิงญาจำนวนมากต้องลี้ภัยไปอยู่ในบังกลาเทศ

“สิ่งที่เราคิดว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่รออยู่ คือคนโรฮิงญาที่หนีออกไปจะมีชีวิตอย่างไรในอนาคต พม่าก็ไม่มองว่าเขาเป็นพลเมือง และบังกลาเทศก็เป็นประเทศที่ค่อนข้างยากจน ความสามารถในการจัดการกับคนกลุ่มนี้และการจัดสรรทรัพยากรให้อยู่ได้อย่างยั่งยืนในอนาคตจะเป็นอย่างไร นอกจากนี้ ขนาดของปัญหาก็ใหญ่มาก เพราะจำนวนคนที่อพยพออกจากพม่ามีมากกว่าหกแสนคน”

เรือบรรทุกผู้อพยพชาวโรฮิงญาและชาวบังกลาเทศจากประเทศไทยลำนี้ถูกทิ้งร้างที่บริเวณชายฝั่งของจังหวัดอาเจะฮ์ ประเทศอินโดนีเซีย ถูกพบเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2558 นี่คือสภาพภายในเรือและสิ่งที่ผู้อพยพใช้ประทังชีวิต (ที่มาภาพ: REUTERS/Beawiharta)

วิกฤตขบวนการค้ามนุษย์

เราถามโรยทรายว่าประเทศไทยกับชาวโรฮิงญามาเจอกันได้อย่างไร เธอบอกว่า ครั้งแรก อาจมาจากตอนที่ แดน ริเวอร์ส อดีตผู้สื่อข่าวของสำนักข่าว CNN ทำข่าวเรื่องการผลักดันเรือที่ชาวโรฮิงญาโดยสารมาในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยครั้งนั้น กษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออกมาบอกว่า เนื่องจากชาวโรฮิงญาคือผู้ลี้ภัย และมาตรการของประเทศไทยคือผลักดันเรือออกจากน่านน้ำไทย ซึ่งแดน ริเวอร์ส ก็ได้ภาพข่าวนี้ และนั่นเป็นครั้งแรกที่ทำให้สังคมไทยพูดถึงชาวโรฮิงญา

“แต่ที่มีชาวโรฮิงญาเข้ามาในจำนวนที่มากขึ้น คือเข้ามาในรูปแบบของกระบวนการขนคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย”

ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในรัฐยะไข่เมื่อสิงหาคม 2560 ชาวโรฮิงญาจำนวนหนึ่งเดินทางออกจากพม่าเพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าในฐานะแรงงานมาหลายปีแล้ว และมาเลเซียก็เป็นหนึ่งในจุดหมายหลักของแรงงานชาวโรฮิงญา ขณะเดียวกัน ในภาคใต้ของไทยก็มีชาวโรฮิงญาบางส่วนอาศัยอยู่ บางคนมีบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยแต่ผ่อนผันให้อยู่อาศัยชั่วคราว ขณะที่บางคนก็อาจมีบัตรประจำตัวประชาชน

ในเวลาต่อมา เมื่อเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในรัฐยะไข่ ชาวโรฮิงญาที่ต้องการเดินทางไปมาเลเซียจึงมีจำนวนมากขึ้น ซึ่งโรยทรายบอกว่า มันทำให้เกิดช่องทางในการแสวงประโยชน์จากคนที่เดือดร้อน

“เมื่อก่อน นายหน้าขนคนเข้าเมืองจะส่งเรือไปรับมาอยู่ที่เมืองไทยเพื่อเดินทางเข้าไปในมาเลเซีย แต่เนื่องจากเงินมันดีมาก ก็เลยกลายเป็นว่า เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน แทนที่จะเก็บเฉพาะค่าเดินทาง พอชาวโรฮิงญาลงเรือมาแล้ว เราก็ติดต่อญาติที่มาเลเซียให้จ่ายเงินค่าไถ่ คือถ้าคุณอยากได้ตัวญาติของคุณ คุณต้องจ่ายเงินเท่านั้นเท่านี้ จนกระทั่งนานวันเข้า มันก็กลายเป็นกระบวนการจนถึงขั้นลักพาตัวคนที่อยู่ที่ชายหาดขึ้นเรือ เพื่อที่จะเอาไปขายต่อ อาจจะเรียกค่าไถ่ให้ญาติจ่ายเงิน หรืออาจจะขายเข้าสู่ธุรกิจที่ต้องการแรงงานไปทำงาน เป็นการค้ามนุษย์”

การกวาดล้างขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาเกิดขึ้นเมื่อ 2558 หลังจากมีชาวโรฮิงญาแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่ามีขบวนการนำพาชาวโรฮิงญาส่งไปยังมาเลเซีย และมีการเรียกค่าไถ่จากญาติคนละเกือบหนึ่งแสนบาท หลังจากนั้น การตรวจค้นพื้นที่บนเทือกเขาแก้ว ตำบลปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เจ้าหน้าที่ก็พบค่ายกักกันและหลุมฝังศพ 32 หลุม ซึ่งผลการชันสูตรระบุว่าส่วนใหญ่เสียชีวิตจากอาการป่วย อดอาหาร และบางส่วนมีร่องรอยถูกทำร้ายจนเสียชีวิต

หลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจสรุปสำนวนคดีส่งให้อัยการพิจารณาเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2558 อัยการได้ยื่นฟ้องผู้ต้องหา 103 คน และเริ่มสืบพยานในเดือนมีนาคม 2559

จนกระทั่งวันที่ 19 กรกฎาคม 2560 ศาลอาญาแผนกคดีค้ามนุษย์ใช้เวลาถึง 13 ชั่วโมงในการอ่านคำพิพากษาความยาว 540 หน้า โดยศาลตัดสินให้มีความผิด 62 คน จากจำเลยทั้งหมด 103 คน ในฐานความผิดต่างกัน เช่น เป็นสมาชิกองค์กรอาชญากรรมต่างชาติ สมคบและร่วมกันค้ามนุษย์ นำพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร ความผิดต่อเสรีภาพ เรียกค่าไถ่ และทำร้ายผู้อื่นจนถึงแก่ความตาย โดยให้ลงโทษจำคุกตั้งแต่ 4 ปี ถึง 94 ปี

สภาพค่ายกักกันของขบวนการค้ามนุษย์บนเขาแก้ว อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ค่ายแห่งนี้อยู่ห่างจากเขตแดนของประเทศมาเลเซียประมาณ 300 เมตร ภาพนี้ถ่ายเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2558 (ที่มาภาพ: REUTERS/Surapan Boonthanom)

เจ้าหน้าที่กำลังขุดหลุมฝังศพที่พบอยู่ใกล้กับค่ายกักกันบนเขาแก้ว ภาพนี้ถ่ายเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2558 ที่บริเวณนี้ เจ้าหน้าที่พบร่างของผู้เสียชีวิต 6 คน (ที่มาภาพ: REUTERS/Surapan Boonthanom)

โรยทรายเล่าถึงขั้นตอนการนำคนเข้ามาในไทยว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คนจะถูกพาขึ้นเรือเล็กเพื่อออกจากฝั่งในบังกลาเทศหรือพม่า แล้วเรือเล็กก็พาไปขึ้นเรือใหญ่ บนเรือใหญ่ก็จะมีการใส่สายรัดข้อมือเป็นสีๆ เพื่อจำแนกว่าคนไหนจะไปที่ไหนต่อ แล้วเรือใหญ่ก็จะพามาส่งลงเรือเล็กอีกรอบ เรือเล็กก็จะส่งคนไปตามค่ายต่างๆ ในไทย ซึ่งตามค่ายต่างๆ ก็จะมีคนเฝ้า จากนั้นก็จะมีคนติดต่อไปยังญาติที่มาเลเซีย พม่า หรือบังกลาเทศ ว่าจ่ายเงินมาซะ แล้วจึงจะปล่อยตัวคนที่ถูกกักอยู่ในค่าย”

ทำไมการลี้ภัยของชาวโรฮิงญาจึงนำไปสู่คดีค้ามนุษย์ และกลายเป็นสิ่งที่บ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศ เพราะมีเจ้าหน้าที่รัฐหรือคนในพื้นที่เกี่ยวข้องกับการรับสินบนหรือก่ออาชญากรรมร่วมกันอย่างเป็นระบบ

คำตอบจากผู้ที่รับรู้นโยบายด้านผู้อพยพของรัฐบาลไทยมามากกว่าสิบปีก็คือ เพราะรัฐบาลไทยไม่มีนโยบายว่าจะจัดการคนที่เขาหนีเข้ามาในประเทศเพื่อขอความช่วยเหลืออย่างไร มันจึงทำให้คนเหล่านั้นต้องเลือกใช้ช่องทางที่ผิดกฎหมาย

“ถามว่าทำไมผู้ลี้ภัยถึงอยู่เกินวีซ่า เขาอยากเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายหรือ แต่เพราะเราไม่มีวีซ่าผู้ลี้ภัยให้เขาขอไง ก็ลองคิดดูว่า ถ้าคุณไปที่สถานทูตไทยและบอกว่าฉันอยากมาประเทศไทยเพราะจะมาขอเป็นผู้ลี้ภัยกับ UNHCR คุณก็ไม่มีทางได้วีซ่าอยู่แล้ว และในประเทศที่มีสงคราม คุณจะทำพาสปอร์ตและออกจากประเทศนั้นได้อย่างไร เมื่อไม่มีช่องทางให้คนขอลี้ภัยได้ เขาก็เลยต้องใช้ช่องทางอะไรก็ได้เพื่อออกจากประเทศหรือสถานการณ์ที่ทำให้เขาลำบากและเดือดร้อน”

แม้ตอนนี้จะมีมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นถึงความสำคัญของการบริหารจัดการและการคุ้มครองผู้ลี้ภัยในประเทศไทย แต่ก็ยังไม่มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนออกมา

โรยทรายทิ้งท้ายว่าถ้าเธอเป็นคนที่ต้องลี้ภัย เธอก็คงยอมทำอะไรก็ได้เพื่อพาตัวเองออกจากสถานการณ์เลวร้ายเช่นเดียวกับผู้ลี้ภัยอีกหลายล้านคนทั่วโลก

 

  • ร่วมบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาได้ที่นี่

Fact Box

โรยทราย วงศ์สุบรรณ ทำงานรณรงค์นโยบายด้านผู้อพยพมามากกว่าสิบปี เพิ่งจบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านการย้ายถิ่น (MA Migration Studies) จาก University of Sussex ภายใต้ทุนการศึกษาของรัฐบาลอังกฤษ (Chevening Scholarship) และโครงการ Summer School on Forced Migration จาก Oxford University

Tags: , , , , ,