เป็นเวลาเกือบสี่ปีแล้วที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินหน้า “ปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทําลายทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่ต่างๆ” และ “ลดผลกระทบที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ของประเทศโดยรวม” ด้วยการออกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 64/2557 เรื่อง การปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทําลายทรัพยากรป่าไม้ หรือที่รู้จักในชื่อ ‘นโยบายทวงคืนผืนป่า’
โดยใน ‘แผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน’ กำหนดเป้าหมายไว้ว่าคือ “การพิทักษ์รักษาพื้นที่ป่าไม้ให้มีสภาพป่าที่สมบูรณ์ให้ได้พื้นที่ป่าไม้อย่างน้อย 40 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ประเทศภายใน 10 ปี”
ภาพถ่ายโดย ชเลฝัน ดิษฐ์ผู้ดี
จากข้อมูลการสำรวจของกระทรวงมหาดไทยในปี 2551 ระบุว่า มีผู้บุกรุกที่ดินของรัฐทั่วประเทศรวม 370,000 ราย เนื้อที่กว่า 6 ล้านไร่ แยกเป็นการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ 58,000 ราย เนื้อที่ 1.5 ล้านไร่ พื้นที่อุทยานแห่งชาติ 37,000 ราย เนื้อที่กว่า 6 แสนไร่ ที่ดินราชพัสดุ 190,000 ราย เนื้อที่ 2.1 ล้านไร่ ที่ดินสาธารณประโยชน์ 55,000 ราย เนื้อที่ 1.1 ล้านไร่ และบุกรุกที่ดินรัฐประเภทอื่นๆ เช่น ที่ดิน ส.ป.ก. 25,000 ราย เนื้อที่ 490,000 ไร่
ขณะที่ในแผนแม่บทฯ ระบุว่า พื้นที่ป่าภาคเหนือเป็นพื้นที่ที่มีการบุกรุกรุนแรงที่สุด รองมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคกลาง โดยพื้นที่วิกฤตรุนแรง 12 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก สุโขทัย น่าน ลำปาง อุบลราชธานี นครราชสีมา เลย กระบี่ เชียงใหม่ ตาก และแม่ฮ่องสอน
ทว่าตลอดห้วงเวลาดังกล่าว สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นควบคู่กันคือความเดือดร้อนของชาวบ้านทั่วทั้งประเทศ
จากข้อมูลของกรมป่าไม้ หลังการประกาศนโยบายทวงคืนผืนป่า คดีที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ดำเนินการกับชาวบ้านนั้นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งศึกษาผลกระทบและเครื่องมือในการปฏิบัติตามนโยบายทวงคืนผืนป่าของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พบว่าในช่วงปี 2552-2556 กรมป่าไม้ดำเนินคดีกับชาวบ้านจำนวน 6,656 คดี แต่ในช่วงปี 2557-2558 มีจำนวนคดีถึง 9,231 คดี ส่วนการดำเนินคดีกับชาวบ้านของกรมอุทยานฯ ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือในช่วงปี 2552-2556 ดำเนินคดีกับชาวบ้านในเขตอุทยานแห่งชาติและเขตอนุรักษ์ประมาณ 5,000 คดี ขณะที่ในช่วงปี 2557-2559 มีประมาณ 6,000 คดี
สรุปก็คือการดำเนินคดีของกรมป่าไม้เพิ่มขึ้น 38 เปอร์เซ็นต์ และกรมอุทยานฯ เพิ่มขึ้น 18 เปอร์เซ็นต์
หลังการประกาศนโยบายทวงคืนผืนป่า คดีที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ดำเนินการกับชาวบ้านนั้นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ในการเสวนาวิชาการ ‘ตุลาการธิปไตย ศาล และรัฐประหาร’ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2561 ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สงกรานต์กล่าวถึงสิ่งที่เกิดขึ้นว่า “มีคนบอกว่าการดำเนินคดีอาจจะไม่กระทบกับชาวบ้าน เพราะท้ายสุดศาลอาจยกฟ้องก็ได้ แต่ขอชี้แจงว่า ถ้าใครเป็นจำเลยคดีอาญา ผลกระทบเชิงลบและการจำกัดสิทธิก็เริ่มแต่วันที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหา ผลสุดท้ายในทางคดีอาจไม่สำคัญเท่าผลระหว่างทาง ซึ่งเขาจะถูกกระทบสิทธิในหลายแง่ ทั้งให้ออกจากพื้นที่ ภาระการประกันตัว การจับกุม และต้องต่อสู้ดิ้นรนพยายามปกป้องตัวเอง รวมทั้งสูญเสียทรัพยากรของตัวเองในการต่อสู้คดี”
ความเดือดร้อนที่ ‘ห้วยน้ำหิน’
วันที่ 7 กรกฎาคม 2559 นางบุญมา คำอ้ายล้าน และสามี เข้าไปตัดหญ้าในพื้นที่ทำกิน ก่อนจะได้ยินเสียงของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ตะโกนไล่ให้ออกจากพื้นที่ นางบุญมาและสามีจึงวิ่งหนีไปคนละทิศทาง โดยระหว่างที่วิ่งหนี ได้ยินเสียงปืนดังขึ้นหนึ่งนัด
เมื่อกลับถึงบ้าน นางบุญมามีอาการแข้งขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด ซึ่งแพทย์ลงความเห็นว่าเป็นผลมาจากเส้นเลือดในสมองตีบ โดยสันนิษฐานว่าเกิดจากการตกใจกลัวอย่างรุนแรง
นางบุญมาใช้เวลาหลายเดือนในการฟื้นฟูสมรรถภาพของร่างกาย แต่สิ่งที่ซ้ำเติมชะตากรรมของเธอและครอบครัวคือการไม่สามารถทำกินในพื้นที่ได้ดังเดิม
“สองปีนี้ไม่ได้ทำไร่เลย ก่อนจะทำไร่ก็กู้เงินมาสองหมื่น ปกติเป็นหนี้ ธกส. อยู่แล้ว ไม่มีที่ให้กู้แล้ว ก็ไปกู้เงินจากกองทุนหมู่บ้านมาสองหมื่น ก็เอามาซื้อปุ๋ย ซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด เอามาลงทุน ทุกวันนี้ทั้งปุ๋ยทั้งเมล็ดพันธุ์ก็ยังอยู่ ผลกระทบคือไม่ได้ทำการทำงานเลย ลุงก็อายุ 64 แล้ว ป้าอายุ 57 ลูกสองคน มีหลานสามคน ไม่ได้ทำงานเลย ตอนนี้ไม่มีรายได้ กินหน่อไม้ กินเห็ด ไม่มีรายได้เลยตลอดสองปี”
พื้นที่ปลูกข้าวโพดจำนวน 20 ไร่ของครอบครัวคำอ้ายล้าน เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนห้วยน้ำหินซึ่งอยู่ในตำบลสถาน อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน พื้นที่แห่งนี้ปรากฏชื่อในเนื้อข่าวเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2559 หลังจาก พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. พร้อมคณะ ลงตรวจสอบพื้นที่ป่าสงวนในจังหวัดน่าน หลังได้รับแจ้งว่ามีการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน
ภาพถ่ายโดย ชเลฝัน ดิษฐ์ผู้ดี
พล.ต.อ.ศรีวราห์กล่าวในวันนั้นว่า จากการนั่งเฮลิคอปเตอร์บินสำรวจพื้นที่และข้อมูลการสืบสวน พบว่ามีการรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติบริเวณป่าฝั่งแม่น้ำน่านตอนใต้ หรือป่าห้วยน้ำหิน โดยพบว่ามีนายทุนร่วมกับชาวบ้านบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนจำนวน 10 แปลง เนื้อที่ 7,820 ไร่ ในพื้นที่โครงการปลูกป่าทดแทน ซึ่งพบว่ามีการเบิกจ่ายงบประมาณ แต่ไม่พบการปลูกป่าทดแทน และตนสั่งการให้สืบสวนสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหากับผู้บุกรุกป่าสงวนและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง
ในวันนั้น พล.ต.อ.ศรีวราห์มอบนโยบายไว้สามเรื่องคือ หนึ่ง ให้ดำเนินคดีกับนายทุนผู้บุกรุก สอง ให้เอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับแปลงปลูกป่าทดแทน ซึ่งมีการเบิกจ่ายงบประมาณ แต่ไม่มีการปลูกป่า และสาม อนุญาตให้ราษฎรผู้ยากไร้ทำกิน โดยให้ดูพฤติกรรมการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ว่าเป็นนายทุนหรือไม่
ขณะที่ในวันเดียวกันก็มีคำสั่งจากหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ 33 (สถาน) ห้ามชาวบ้านชุมชนห้วยน้ำหินเข้าไปในพื้นที่ทำกินซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่อ้างว่าเป็นแปลงปลูกป่าจำนวน 10 แปลง
หลังจากวันที่ 30 มีนาคม 2559 เจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจภูธร (สภ.) นาน้อย จังหวัดน่าน ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากอำเภอนาน้อยและเจ้าหน้าที่ทหารก็เข้าตรวจสอบพื้นที่ โดยมีลำดับเหตุการณ์ดังนี้
- วันที่ 22 เมษายน 2559 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.อ.นาน้อยแจ้งให้ชาวบ้านไปรวมตัวที่แปลงปลูกป่าเพื่อชี้จุดพื้นที่ทำกินของตนเอง โดยสนธิกำลังระหว่างเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตำรวจ และทหาร มีการจับพิกัด ทำบันทึกข้อมูลเนื้อที่/จำนวนไร่ ซึ่งตำรวจและเจ้าหน้าที่ป่าไม้เป็นผู้เขียนรายละเอียดแล้วให้ชาวบ้านถือไว้ที่หน้าอก แล้วถ่ายภาพเพื่อแสดงข้อมูล (ชื่อ นามสกุล และจำนวนที่ทำกิน)
- วันที่ 16 พฤษภาคม 2559 มีหมายจาก สภ.นาน้อยให้ชาวบ้าน 298 รายไปให้ปากคำเพิ่มเติมต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยแจ้งว่าแต่ละรายจะถูกกันไว้เป็นพยาน ไม่ใช่การดำเนินคดี
- วันที่ 14-15 กุมภาพันธ์ 2560 ตำรวจและเจ้าหน้าที่ป่าไม้ประมาณ 100 คน เรียกชาวบ้านให้ไปชี้ที่ดินทำกินของตน ซึ่งทราบในภายหลังว่าเป็นการจับพิกัดพื้นที่เพื่อคำนวณค่าเสียหาย โดยจะให้ชาวบ้านเป็นผู้ชดใช้ แต่ชาวบ้านไม่ไป เจ้าหน้าที่จึงยกเลิกภารกิจ
ประยงค์ ดอกลำไย รองผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ซึ่งรับรู้ความเดือดร้อนของชาวบ้านมาตั้งแต่ต้น สรุปปัญหาของเรื่องที่เกิดขึ้นว่า เมื่อมีการสั่งการ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็ไปแจ้งความว่ามีการบุกรุกพื้นที่ 7,000 กว่าไร่ โดยไม่มีผู้กระทำความผิด
“แต่กระบวนการต่อมาคือ มีการประสานงานให้เจ้าของพื้นที่ไปแสดงตน โดยให้ข้อมูลว่าถ้าไปแสดงตนจะจัดพื้นที่ให้ ชาวบ้านก็นึกว่า ถ้าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ เขาทำกินในพื้นที่มานาน เจ้าหน้าที่บอกว่าจะจัดพื้นที่ให้ ชาวบ้านก็ไปรอ แล้วก็ให้ชาวบ้านไปยืนกลางแปลงแล้วจับพิกัด ถือป้ายชื่อถ่ายรูป
“ก็กลายเป็นว่าพิกัดนั้นแหละที่ชาวบ้านคนนั้นครอบครองอยู่ ตำรวจก็เอาข้อมูลกลับไปที่ สภ. หลังจากนั้น ก็ระดมพนักงานสอบสวนจากหลาย สภ. แล้วเรียกชาวบ้านที่ถ่ายรูปไปให้ปากคำ ชาวบ้านถามว่า ให้ปากคำเรื่องอะไร ตำรวจก็บอกว่าจะกันไว้เป็นพยานเรื่องการตรวจสอบว่าไม่มีการปลูกป่าในพื้นที่ปลูกป่าทดแทน ชาวบ้านก็ไปให้ปากคำ พอไปถึงก็ไปให้ปากคำว่า ครอบครองที่ดินตรงนี้ตั้งแต่เมื่อไร ไม่เห็นมีการปลูกป่า แต่คำให้การนั้นกลายเป็นสำนวนการสอบสวน กลับกลายเป็นการยอมรับว่าตัวเองอยู่ในพื้นที่”
สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นก็คือ ชาวบ้าน 298 ราย มีรายชื่อเป็นผู้ต้องหาที่ สภ.นาน้อย และตลอดสองปีที่ผ่านมา ชาวบ้านไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินทำกินได้ โดยต้องเผชิญกับความเดือดร้อนทั้งกายและใจจากการตกเป็นผู้ต้องหาและการสูญเสียรายได้
ทวงคืนแบบใช้ ‘คำสั่ง’
จากข้อมูลของกรมป่าไม้ ในปี 2543 มีครอบครัวในพื้นที่ป่าชุมชนซึ่งเป็นป่าสงวนแห่งชาติประมาณ 450,000 ครอบครัว ครอบคลุมเนื้อที่ประมาณ 6.4 ล้านไร่ และมีครอบครัวในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ ประมาณ 186,000 ครอบครัว ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 2.2 ล้านไร่ หากครอบครัวไทยมีสมาชิกโดยเฉลี่ย 4 คน ก็จะมีผู้คนราว 2 ล้านคนที่อาจได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า
ข้อมูลจากองค์กรพัฒนาเอกชน The Center for People and Forests (RECOFTC) ระบุว่าในปี 2557 ประเทศไทยมีป่าชุมชนประมาณ 10,000 แห่ง มีการขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานรัฐ 8,800 หมู่บ้าน แต่มีมากถึง 10,726 หมู่บ้านที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนป่าชุมชน เพราะอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ จากข้อมูลดังกล่าว กลุ่มคนที่จะได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่ามากที่สุดคือผู้ที่อยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ซึ่งไม่สามารถขึ้นทะเบียนป่าชุมชนได้
ข้อมูลจากคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ประเมินว่า นโยบายทวงคืนผืนป่าจะมีหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบอย่างน้อย 9,000 หมู่บ้าน แบ่งเป็นภาคเหนือ 5,000 หมู่บ้าน ภาคอีสาน 2,000 หมู่บ้าน ภาคใต้ 1,000 หมู่บ้าน และภาคกลาง 1,000 หมู่บ้าน
จากข้อมูลทั้งหมด จะเห็นได้ว่า นโยบายทวงคืนผืนป่าส่งผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมหาศาล และสิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 64/2557 ก็คือการถูกแย่งยึดที่ทำกินและการมีคดีติดตัวของ ‘ประชาชนผู้ยากไร้’ ทั่วประเทศ ขณะที่แทบจะไม่ปรากฏข่าวคราวการจับกุมนายทุนและเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการบุกรุกผืนป่า
สิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 64/2557 ก็คือการถูกแย่งยึดที่ทำกินและการมีคดีติดตัวของ ‘ประชาชนผู้ยากไร้’ ทั่วประเทศ
สำหรับความเดือดร้อนที่ชุมชนห้วยน้ำหิน สิทธิพล สอนใจ ตัวแทนชาวบ้าน สรุปสาเหตุแบบสั้นๆ ว่า “เพราะไม่มีการตรวจสอบว่า ชาวบ้านเป็นนายทุนหรือเป็นผู้ยากไร้”
นอกจากคำสั่งที่ 64/2557 สิ่งหนึ่งที่ชาวบ้านผู้ได้รับความเดือดร้อนเรียกร้อง คือการปฏิบัติตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 66/2557 ซึ่งระบุให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดําเนินการใดๆ โดย “ไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทํากิน ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้นๆ ก่อนคําสั่งนี้มีผลบังคับใช้”
ทว่าสำหรับผู้ที่ติดตามสถานการณ์ระหว่าง ‘คนกับป่า’ ในประเทศไทย โดยเฉพาะผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับป่า คำสั่งลักษณะดังกล่าวไม่ใช่หลักประกันว่า ผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกินจะไม่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นกับชุมชนห้วยน้ำหินและพื้นที่อื่นๆ ตลอดสองปีที่ผ่านมาคือบทพิสูจน์ว่า ‘คำสั่ง’ ไม่น่าจะใช่ทางออกของการเพิ่มพื้นที่ป่า กระทั่งซ้ำเติมความเดือดร้อนและความขัดแย้งที่ยังคงมีอยู่ในแต่ละพื้นที่
อีกหนึ่งภาพสะท้อนของผลกระทบที่เกิดขึ้นคือ ข้อร้องเรียนจากประชาชนอย่างน้อย 18 พื้นที่ ซึ่งถูกส่งให้กับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หลังจากมีเจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้าไปติดป้ายหรือปักหลักหมุดในพื้นที่ทำกิน มีการไล่ประชาชนออกจากพื้นที่พร้อมกับรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของประชาชน และห้ามทำกินในพื้นที่ดังกล่าว โดยขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติช่วยประสานงานแก้ไขปัญหานี้โดยเร่งด่วน
เพิ่มอำนาจรัฐ ลดอำนาจประชาชน
จากการศึกษาของ สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ พบว่า คสช. ผลักดันนโยบายทวงคืนผืนป่าโดยใช้ทั้งกฎหมายที่มีอยู่แล้วและคำสั่ง คสช. แต่สิ่งที่แตกต่างจากในอดีตคือ ประกาศสองฉบับกับแผนแม่บทหนึ่งแผน ทำให้การบังคับใช้กฎหมายมีความรุนแรงมากขึ้น
คำสั่ง คสช. ได้เพิ่มตำรวจ ทหาร กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และฝ่ายปกครอง เป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย จากเดิมที่มีกรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติฯ เป็นสองหน่วยงานหลัก
ขณะเดียวกัน คำสั่ง คสช. คาดโทษเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการไม่มีประสิทธิภาพหรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่ารัฐบาลจากเลือกตั้ง เพราะเจ้าหน้าที่ไม่มีช่องทางในการปกป้องตัวเอง ทำให้การคาดโทษมีประสิทธิภาพ
สงกรานต์สรุปข้อค้นพบจากการศึกษานโยบายทวงคืนผืนป่าของ คสช. ไว้ว่า “สิ่งที่ คสช. ทำ ถ้าเราดูเทียบกับงานศึกษากฎหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนในสมัยก่อน รูปแบบหลักๆ ของรัฐบาลเผด็จการในการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนคือการตรากฎหมายโดยตรง จำกัดเสรีภาพโดยตรง ซึ่งมีในยุค คสช. เช่นกัน แต่สำหรับกฎหมายทวงคืนผืนป่า ไม่ได้ตรากฎหมายสารบัญญัติขึ้นมาเพิ่มโทษ หรือกำหนดสิทธิหน้าที่เพิ่มเติม สิ่งที่ทำคือ จัดโครงสร้างการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานรัฐใหม่ โดยเพิ่มอำนาจให้กับรัฐ และใช้กลไกและอำนาจที่มีอยู่ไปลดอำนาจประชาชน พอทำสองอันนี้ได้ ก็ทำให้การบังคับใช้กฎหมายเดิมที่มีอยู่แล้วส่งผลกระทบมากยิ่งขึ้น”
ที่มา:
- https://www.tcijthai.com/news/2014/29/scoop/5043
- https://prachatai.com/journal/2018/02/75535
- http://www.nakornnanonline.com/?p=143
- https://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=1459352879
- https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_498099
ภาพเปิด โดย ชเลฝัน ดิษฐ์ผู้ดี
Tags: กฎหมาย, สิ่งแวดล้อม, ป่า, กรมป่าไม้, นโยบายทวงคืนผืนป่า, ศรีวราห์, พล.ต.อ.ศรีวราห์, น่าน, ป่าน่าน, คสช.