ดิฉันจำได้ว่าดิฉันเริ่มเรียนวิชากวีนิพนธ์ภาษาอังกฤษด้วยความเจ็บปวด เพราะดิฉันรู้สึกว่ามันยากเหลือเกิน ทำไมมันไม่ง่ายเหมือนกวีนิพนธ์ภาษาไทยที่เรียนตอนมัธยมปลายหรือตอนปีหนึ่งก็ไม่รู้ กลอนบทแรกๆที่เรียนชื่อ “This is Just to Say” ของวิลเลียม คาร์ลอส วิลเลียมส์ (William Carlos Williams) ซึ่งมีลักษณะเหมือนโน้ตติดตู้เย็น กลอนบทนี้บอกผู้อ่าน ว่าขอโทษด้วย เผลอกินเบอรี่ที่เธอจะเก็บไว้กินเป็นข้าวเช้าไปแล้ว หวานมากแล้วก็เย็นมากด้วย (So Sweet and So Cold) อาจารย์ให้เราลองตอบคำถามง่ายๆเกี่ยวกับกลอนบทนี้ โดยให้ลองเขียนโน้ตแปะตู้เย็นบอกเพื่อในกรณีที่เรากินอาหารของเพื่อนในตู้เย็น จากนั้นอาจารย์ก็ถามเราว่าผู้พูดอยากจะขอโทษจริงไหม ตอนนั้นดิฉันก็นั่งเกาคาง สงสัยอยู่อย่างนึงในใจว่า กะอีแค่เรื่องของกินนี่มันเป็นกลอนได้เลยเหรอ แล้วมันเขียนไปทำไมตอนนั้นมีพี่อีกคนที่เหมือนจะมาจากคณะอื่นแต่มาเรียนด้วย และเคยอ่านกลอนบทนี้มาแล้วก็มาบอกเราว่า ผลไม้หมายถึงพรหมจรรย์ของผู้หญิง กลอนบทนี้พูดถึงการพรากพรหมจรรย์ผู้หญิง ตอนนั้นก็นั่งเกาหัวแกรกๆ กะอีแค่ตู้แช่เย็น (สมัยนั้นไม่มีตู้เย็น แต่มีตู้เก็บความเย็นที่เรียกว่า Icebox) กับลูกเบอรี่แค่นี้ กลายเป็นพรหมจรรย์และเซ็กซ์ได้ยังไง พอเริ่มเรียนมากเข้าก็เริ่มเข้าใจสำนวน forbidden fruit หรือผลไม้ต้องห้าม ซึ่งสัมพันธ์กับสวนอีเดนในพระคัมภีร์ไบเบิล ผลไม้ต้องห้ามที่อาดัมกับอีฟกินเข้าไปนั้นทำให้ทั้งสองคนได้ตระหนักรู้เรื่องเพศ ย้อนกลับไปตอนนั้น เราฟังพี่เขาและเข้าใจไปว่า การเรียนวรรณคดีเหมือนการไขรหัสอย่างหนึ่ง อะไรสักอย่างต้องหมายถึงอะไรอีกอย่างแน่ๆ 

วิลเลียม คาร์ลอส วิลเลียมส์ กวีอเมริกันศตวรรษที่ยี่สิบ

ตอนนั้นเราเครียดมาก คิดอยู่ว่า เราชอบวรรณกรรม เรามีความสุขที่ได้อ่าน ได้จินตนาการไปตามเรื่องราวต่างๆ แต่เราไขรหัสไม่เป็น ต้องอ่านอะไร หรือต้องท่องอะไรเหรอถึงจะอ่านได้แบบพี่คนนั้น มีหนังสือที่รวมสัญลักษณ์ไหม เผื่อจะได้เข้าใจมากขึ้น เราคิดแบบนั้นอยู่พักใหญ่เลย และกังวลมากว่าเราจะเรียนวรรณคดีไม่รอด เราคงไม่ค่อยต่างจากตัวละครตัวหนึ่งในห้องเรียนในมีม ครูบอกว่าเสื้อสีแดงในวรรณกรรมเป็นตัวแทนของความโกรธ แต่นักเขียนบอกว่าเสื้อสีแดงเฉยๆซึ่งเราพูดถึงไปเมื่อคราวที่แล้ว แต่เราโทษตัวเอง และไม่ได้คิดจะเลิกเรียนวรรณคดีแล้วไปสร้างไทม์แมชชีน คิดว่าวันหนึ่งเราคงมีวิธีอ่านสัญลักษณ์อะไรสักอย่าง เราเคยทำตาปริบๆมองเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่เขาตีความอะไรได้น่าสนใจมากๆ อยากจะแกะสัญลักษณ์เหล่านั้นได้

เมื่อเราโตขึ้น ทำงานตีความ เขียนเปเปอร์วรรณคดีมากขึ้น เราได้เรียนรู้ว่าการตีความวรรณคดีมันอาจจะไม่ได้ตรงไปตรงมา สัญลักษณ์หนึ่งอย่างไม่จำเป็นต้องมีความหมายเหมือนที่ครูบอก และไม่จำเป็นต้องมีความหมายเดียว การไขรหัสได้ว่าสัญลักษณ์นี้แทนอะไรอาจเป็นเพียงแค่ขั้นตอนเล็กๆในการเริ่มต้นวิเคราะห์วิจารณ์ท้องเรื่องที่กว้างกว่านั้น การพูดว่าเสื้อสีแดงของตัวละครสื่อถึงอารมณ์ของตัวละครเนี่ยจะนำไปสู่อะไร หลายคนชอบมองวรรณคดีวิจารณ์ว่าเหมือนเกมไขรหัส เราก็ชอบมองแบบนั้น แต่สุดท้ายแล้วการตีความวรรณคดีมันจะทำแค่นั้นไม่ได้ เคยมีอาจารย์คนหนึ่งเคยวิจารณ์งานลูกศิษย์ (ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่นของดิฉันเอง) ว่า งานวิจารณ์เหมือนรายชื่อของต้องซื้อ นักศึกษาคนนี้เก่งมาก แกะสัญลักษณ์ต่างๆมากมาย เช่น นกพิราบบินเป็นตัวแทนของความรักที่จากไป ร่มเป็นตัวแทนของชีวิตอันมั่นคง หนูในบ้านเป็นตัวแทนของความสกปรกในจิตใจ แต่คำถามคือไอ้สามสี่อย่างที่แกะออกมาได้มันประกอบกันเป็นองค์รวมได้ยังไง มันเกี่ยวอะไรกับสิ่งที่เรามองว่าหนังสือต้องการจะสื่อไหม ถ้านี่เป็นเกมถอดรหัส การตีความสัญลักษณ์เป็นชุดก็ไม่ได้นำไปสู่ประโยคอะไรที่จะเป็นข้อความที่สื่อสารได้เลย (เช่นตีความภาษาต่างดาวเป็น ปลา” “นกยูง” “ความอับอาย” “ตลกมากๆฟังดูไม่ค่อยรู้เรื่องอยู่ดี)

สุดท้ายเราก็ต้องยอมรับว่าเราสร้างความหมายที่สอดคล้องกันเพื่ออธิบายเรื่องราว เราไม่ได้ถอดรหัส ไม่ได้มีความจริงแท้อยู่เบื้องหลังสัญลักษณ์ต่างๆ เราแค่หาคำตอบมาเชื่อมโยงกับ ปริศนาโดยไม่มีถูกหรือผิด บางคนอาจจะเชื่อนักเขียนที่บอกไว้ในจดหมายหรือบทสัมภาษณ์ว่าเขามองสัญลักษณ์เหล่านี้ยังไง บางคนอาจจะเน้นที่บริบทสังคมซึ่งให้ความหมายกับสัญลักษณ์นั้นๆ แต่ไม่มีใครถูก  ถึงแม้เราจะบอกว่า วรรณกรรมเรื่องนี้เขียนขึ้นเพื่อสะท้อนเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์ เราไม่ได้ค้นพบความจริง แต่เรากำลังสร้างคำตอบให้แก่คำถามที่เราได้จากการอ่านวรรณกรรม  สร้างความเชื่อมโยงของความหมายที่เราหาได้จากตัวบท เราต้องยอมรับว่าเราสร้างความหมายนั้นขึ้นมาเสมอจากประสบการณ์ชีวิตของเรา (ซึ่งแน่นอนว่ารวมประสบการณ์การอ่านด้วย) เราจะไปอ่านเอาความหมายเป็นมั่นเป็นเหมาะไม่ได้ ถึงเราเจอความหมายผ่านกรอบการตีความอะไรสักอย่าง ไม่มีอะไรมายืนยันว่าเราจะเป็นฝ่ายถูก (เพราะอย่างที่เคยบอก เสียงของผู้เขียนก็เป็นเพียงเสียงหนึ่งที่คุณจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ได้) นวนิยายเรื่อง The Picture of Dorian Gray ของ ออสการ์ ไวลด์ (Oscar Wilde) บอกไว้ในบทนำว่า ศิลปะทุกชนิดเป็นทั้งสิ่งที่เห็นบนพื้นผิวและสัญลักษณ์ของมัน (All art is at once surface and symbol.) นั่นหมายความว่า การชมงานศิลปะเป็นการแปลงานศิลปะไปโดยปริยาย เพราะการอ่านงานจาก พื้นผิวภายนอกด้วยสายตาของเรานั้น ก็อาจมองเห็น สัญลักษณ์ที่เราได้สร้างขึ้นจากประสบการณ์การอ่านของเราไปแล้ว การอ่านวรรณกรรมจึงไม่ใช่การลอกสัญลักษณ์ออกเพื่อหาความจริงที่อยู่ข้างใต้ แต่เป็นการมองเห็นประสบการณ์ของเราในงานเขียน ซึ่งช่วยให้เราพอจะเข้าใจศิลปะและวรรณกรรมชิ้นนั้นๆได้ การตีความคือการพยายามทำความเข้าใจตัวบทด้วยประสบการณ์ของเราด้วยการปะติดปะต่อประสบการณ์ของเราเข้าก้บตัวบท 

เรื่องสั้นเรื่องหนึ่งซึ่งพอจะอธิบายปรากฏการณ์การตามหาความหมายเบื้องหลังสัญลักษณ์ได้ คือ “The Figure in the Carpet” ของ เฮนรี เจมส์ (Henry James) เรื่องสั้นเรื่องนี้เล่าเรื่องนักวิจารณ์คนหนึ่งที่ชื่นชมงานของนักเขียนนวนิยายคนหนึ่งมาก แต่นักเขียนคนนี้บอกว่า นักวิจารณ์ชอบพลาดประเด็นหนึ่งของเขาไป ประเด็นนี้เป็นปริศนาเหมือนลายบนพรมเปอร์เซียนั่นแหละ อีตานักวิจารณ์ก็หาคำตอบจนหัวแทบระเบิด เพื่อนนางก็บอกว่าเหมือนจะได้คำตอบแล้ว แต่เพื่อนนางตาย สุดท้ายจนจบก็ไม่มีใครรู้ว่าความลับของลายบนพรมคืออะไร ในแง่หนึ่ง เราอาจกล่าวได้ว่า เรื่องสั้นเรื่องนี้กำลังล้อวิธีการวิจารณ์ที่ชอบตามหาความหมายของทุกสิ่งทุกอย่าง การตีความและอธิบายความหมายของสัญลักษณ์ต่างๆในตัวบท (text) ต่างๆ ไม่ใช่เรื่องต้องห้าม แต่เราต้องตระหนักรู้ว่าเรากำลัง สร้างความหมายจากการอ่านตัวบท ไม่ได้มีคำตอบที่ถูกต้อง หรืออาจจะไม่มีคำตอบเลย ขึ้นอยู่กับการพินิจพิจารณาตัวบทของเรา ไม่ว่าวิธีการตีความวรรณกรรมของเราจะเป็นแบบไหน ผลของการตีความคือการเสนอความคิดของเราที่มีปฏิสัมพันธ์กับตัวบท เราไม่ได้จะหาความจริงจากตัวบท

ถึงแม้เราอาจจะกล่าวว่า วรรณกรรมบางเล่มเขียนขึ้นโดยดัดแปลงจากเหตุการณ์จริง หรืออิงบริบทสังคมที่เรื่องนั้นเขียนขึ้นมา การอธิบายเรื่องราวในวรรณกรรมเล่มนั้นด้วยบริบทประวัติศาสตร์ก็ไม่ใช่การค้นพบความจริงแท้ที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใต้ เรื่องแต่งเราแค่นำเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ (ซึ่งในแง่หนึ่งก็ผ่านการตีความของเราเองหรือของนักประวัติศาสตร์) มาเทียบประกอบ ถึงแม้ว่าผู้เขียนจะบอกเราว่าเขาเขียนวรรณกรรมเรื่องหนึ่งโดยดัดแปลงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่เขาประสบหรือค้นคว้ามา การตามหา ความจริงเบื้องหลัง เรื่องแต่งไม่จำเป็นต้องมีแง่มุมเดียวเสมอไป วรรณกรรมหนึ่งเล่มอาจเขียนขึ้นเพื่อสดุดีวีรบุรุษหลังสงคราม การศึกษาบริบทของสงครามนั้น ตามหาว่าใครคือวีรบุรุษที่เป็นต้นแบบให้แก่วรรณกรรมชิ้นนั้นก็ย่อมทำได้ แต่วรรณกรรมเล่มนั้นก็ยังมีเรื่องราวของสิ่งอื่นๆ ตัวละครอื่นๆที่อาจเสริมหรือคัดง้างกับตัวละครเอก สิ่งต่างๆเหล่านั้นย่อมมีประวัติศาสตร์ของตัวเอง 

หากมองว่า เรื่องแต่งบางเรื่องอิงมาจาก เรื่องจริงและเราต้องไขเรื่องจริงนั้นให้เจอ เงื่อนไขหนึ่งที่เราต้องยอมรับคือ เราจะไม่เจอเรื่องจริงเพียงหนึ่งเรื่องเท่านั้น แต่เรากำลังเลือกเรื่องจริงบางเรื่องเพื่อมาอธิบายการตีความของเรา ถ้าเราเอาเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์มาอธิบาย ศัตรูของวีรบุรุษในวรรณกรรมเรื่องนั้นล่ะ เราจะมองวรรณกรรมเรื่องนี้ต่างออกไปอย่างไร และเราจะมองประวัติศาสตร์ที่เราเข้าใจว่าเป็นเรื่องเล่าหลักที่ผู้เขียนใช้อ้างอิงต่างออกไปอย่างไร เราอาจกล่าวได้ว่าวรรณกรรมบางเรื่อง บิดเบือนประวัติศาสตร์ แต่ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ตรงที่ ความจริงคืออะไรเท่านั้น สิ่งที่สำคัญคืออะไรถูกดัดแปลง การดัดแปลงนั้นส่งผลต่อการมองเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์นั้นต่างไปจากเดิมอย่างไร บางทีการเปลี่ยนเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อาจเกิดขึ้นด้วยหลายปัจจัย เช่น ผูกเรื่องราวเพื่อสนับสนุนอุดมการณ์ของตัวเอง หรือใช้พื้นที่ของวรรณกรรมในการสร้างตัวตนของคนที่ไม่อยู่ในบันทึกทางการขึ้นมา การค้นพบว่าวรรณกรรมเหมือนหรือไม่เหมือนเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์จึงควรเป็นจุดเริ่มต้นของการวิเคราะห์วิจารณ์ว่าเหมือนหรือไม่เหมือนอย่างไร ความเหมือนหรือต่างนี้เชื่อมโยงกับอุดมการณ์ใดบ้าง การยอมรับว่าความเหมือน ความต่าง ตลอดจนความหลากหลายของเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ในวรรณกรรมหนึ่งเรื่องจะมองข้ามวิธีการไขรหัสตามหา ความจริงแบบตรงไปตรงมาได้ 

วรรณกรรมทุกเล่มไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่แห่งการถอดรหัส หาข้อความจริงทางวิชาการหรือปรัชญาคมคายอย่างเอาเป็นเอาตาย ถ้าคุณมีความสุขกับการถอดรหัส คุณก็จะรู้ว่าการถอดรหัสในวรรณกรรมไม่ได้มีคำตอบเดียว และคุณจะรู้ว่าเราก็ต่างสร้างเรื่องราวเพื่ออธิบายการไขรหัสของเราเสมอ ถ้างานนั้นอ่านยาก ซับซ้อน หรือท้าทายวิธีคิดเดิมๆของเรา การไขรหัสนั้นก็ยิ่งเป็นไปเพื่อให้เราได้ปรับมุมองของเราเอง และตั้งคำถามกับตัวเอง จนในที่สุดเราอาจปรับความคิดของเราจนเราพอจะเข้าใจวรรณกรรมเล่มนั้นตามแบบของเรา ถ้าคุณอยากอ่านให้รู้เรื่องและคิดเองไม่ออก ยังมีสังคมนักอ่านดีๆที่พร้อมช่วยเหลือและให้ข้อเสนอแนะกับคุณมากมาย (ซึ่งคุณไม่จำเป็นต้องเชื่อ) 

ดิฉันขอพาคุณกลับไปที่นายมิ่ง ปัญหา นิสิตปีสองที่กำลังปวดหัวกับกลอนภาษาอังกฤษ ชั้นเรียนวิชากวีนิพนธ์ภาษาอังกฤษเบื้องต้นเปลี่ยนชีวิตดิฉันมาก ดิฉันยังจำได้ว่า กลอนบทแรกๆที่เรียน หลังจากได้พบเจอกับกลอนลูกพลัมแล้วน้ำลายฟูมปาก คือกลอนชื่อ “Introduction to Poetry” (กวีนิพนธ์เบื้องต้น) ของบิลลี คอลลินส์ (Billy Collins) ผู้พูดในกลอนบอกคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งน่าจะเป็นนักอ่าน นักศึกษา หรือนักวิจารณ์ ให้ลองเอากลอนไปส่องกับไฟบ้าง หรือให้ลองเดินเข้าไปในกลอนเพื่อหาสวิตช์ไฟบ้าง (คุณสามารถอ่านกลอนฉบับเต็มได้ตามลิงค์นี้ https://www.poetryfoundation.org/poems/46712/introduction-to-poetry กลอนไม่ยาว) แต่แล้วตอนท้ายของกลอนบทนี้กลับบอกเราว่า

But all they want to do

is tie the poem to a chair with rope

and torture a confession out of it.

They begin beating it with a hose

to find out what it really means.

ซึ่งพอจะแปลได้ว่า

แต่สิ่งที่เขาอยากทำ

คือจับกลอนผูกเชือกกับเก้าอี้

แล้วทรมานเพื่อให้กลอนสารภาพ

เขาเริ่มเฆี่ยนตีมันด้วยสายยาง

เพื่อหาคำตอบให้ได้ว่ากลอนบทนี้หมายความว่าอะไร

กลอนบทนี้ยังคงอยู่ในใจดิฉันเสมอมา เมื่อดิฉันหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านแล้วเกิดคำถามหลายอย่างที่ยังตอบไม่ได้ หรือหยิบกลอนขึ้นมาอ่านแล้วไม่เข้าใจ ดิฉันเริ่มเรียนรู้ที่จะชื่นชมหรือเสพความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการอ่านมากกว่าจะพยายามแก้ความงุนงงที่ดิฉันพบปะปราย กลอนบางบทให้ภาพที่สวยงามมากๆ กลอนบางบทมีเสียงไพเราะ กลอนบางบทมีภาพที่ชวนให้ดิฉันเศร้า (แต่คนอื่นอาจจะไม่) เมื่อเราได้เสพวรรณกรรม เราได้รู้สึก ตีความและตัดสินไปแล้วไม่มากก็น้อย ไม่ว่าเราจะรู้เรื่องหรือไม่ (คุณอาจจะขยะแขยงฉากบางฉากในภาพยนตร์ แต่คุณไม่จำเป็นต้องเข้าใจว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไรหรือทำไม) การอ่านไม่รู้เรื่องบ้างก็ไม่เป็นไร การพบเจอ คำตอบมากกว่าหนึ่งข้อก็เป็นเรื่องปกติ การประทับใจโดยไม่เข้าใจก็เกิดขึ้นได้เสมอ การไขรหัสเพื่ออธิบายสัญลักษณ์ต่างๆในวรรณกรรมดูเหมือนเป็นกระบวนการสำคัญในการอ่านวรรณกรรม แต่การพบปะของเรากับวรรณกรรมนั้นมีหลายรูปแบบมากกว่านั้น และไม่มีรูปแบบไหนที่ผิด 

คำถามของอาจารย์ภัคพรรณ ทิพยมนตรี ที่ถามดิฉันและเพื่อนๆเกี่ยวกับกลอน “This is Just to Say” ในตอนต้นบทความไม่ใช่คำถามถามหาสัญลักษณ์เลยแม้แต่ข้อเดียว อาจารย์ถามพวกเราว่าเรารู้สึกอย่างไร และถ้าเราเป็นตัวละครในสถานการณ์เดียวกันกับผู้พูดในกลอนบทนั้น เราจะพูดอย่างไร ถึงแม้ว่าสัญลักษณ์ผลไม้ต้องห้ามจะอธิบายกลอนบทนี้ได้ แต่การอธิบายภาษาของกลอนและความรู้สึกของเรา ซึ่งเชื่อมโยงกับจริยธรรมก็ใช่ว่าจะไม่มีคุณค่า คำถามในการอ่านวรรณกรรมไม่ใช่แค่การถามว่าสิ่งของในวรรณกรรมแทนที่ชุดความคิดอะไร แต่ยังมีคำถามอื่นๆถึงความรู้สึกนึกคิดของเราในฐานะผู้อ่านอีก นอกจากนี้ หากเราตอบคำถามได้ว่าเราพอใจหรือไม่พอใจเมื่ออ่านกลอนบทนี้จบ เราก็ได้ตีความกลอนบทนี้ในแบบของเราเรียบร้อยแล้ว การตีความจึงไม่ใช่การไขกุญแจไปพบความจริง แต่เป็นการทำให้ตัวของเราเองพูดคุยและอธิบายตัวบทได้ในแบบที่เราและคนอื่นๆพอจะเข้าใจได้ 

 ดิฉันคิดว่าเมื่อคุณอ่านบ้านทรายทอง คุณไม่ได้ไขกุญแจ เปิดหนังสือนวนิยายเรื่องบ้านทรายทองเพื่อไปเจอพจมาน ซึ่งซ่อนอยู่หลังตัวหนังสือ แต่คุณเข้าไปช่วยตัวหนังสือในนวนิยายสร้างพจมานด้วยความคิดและความรู้สึกของคุณมากกว่า