จากมุมคนนอก การบัญชีดูเป็นศาสตร์ที่แข็งกระด้างจนนักบัญชีมักถูกแซวว่าเป็นมนุษย์หัวสี่เหลี่ยม ทำงานตามกรอบหรือมาตรฐานการบัญชีกำหนดไว้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานสักเท่าไร ก็แค่บันทึกรายการสิ่งที่เกิดขึ้น ซื้อมา ขายไป ลงเดบิต เครดิต สองข้างให้เท่ากันก็เพียงพอ

หากได้ยินคำพูดดังกล่าว นักบัญชีก็คงยักไหล่ แล้วตอกกลับไปว่าผู้พูดนั้นไม่เข้าใจอะไรเลย!

แน่นอนครับว่าการทำบัญชีคงเป็นเรื่องที่ตรงไปตรงมาหากทุกอย่างบันทึกด้วยเกณฑ์เงินสด (Cash Basis) แต่มาตรฐานการบัญชีในปัจจุบันใช้เกณฑ์คงค้าง (Accrual Basis) ซึ่งหลายต่อหลายครั้ง ธุรกรรมทั้งรายได้และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจะลงบัญชีโดยใช้ ‘วิจารณญาณ’ ของนักบัญชี โดยมีผู้ตรวจสอบบัญชีที่ทำหน้าที่ยืนยันให้ผู้ถือหุ้นรวมถึงนักลงทุนมั่นใจได้ว่าการลงบัญชีนั้นเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีที่ยอมรับโดยทั่วกัน

อย่าลืมนะครับว่ามาตรฐานการบัญชีนั้นออกแบบมาคล้ายกับเสื้อฟรีไซส์ ไม่มีทางเขียนให้ครอบคลุมธุรกรรมทุกรูปแบบของกิจการทุกประเภท ธุรกิจที่มีการรับรู้รายได้หรือค่าใช้จ่ายซึ่งซับซ้อนกว่าการซื้อมาขายไป การลงบัญชีแต่ละครั้งอาจต้องใช้ข้อคิดเห็นจากทั้งผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญ และนักบัญชี นั่งสุมหัวเพื่อให้ตัวเลขในงบการเงินออกมาน่าพึงพอใจมากที่สุด แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่กระโตกกระตากจนผู้ตรวจสอบบัญชีรับไม่ได้

การบัญชีจึงเป็นการประสานประโยชน์ของทุกฝ่าย ภายใต้กรอบการทำงานที่ระบุไว้ในมาตรฐานการบัญชี เป็นงานศิลปะที่เรียกได้ว่าเสี่ยงคุกตะราง เพราะการเล่นมายากลบนหน้างบการเงิน บางครั้งอาจแค่เข้าข่ายผิดจรรยาบรรณ แต่หลายครั้งก็อาจเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

ในบทความนี้ ผมขอพาผู้อ่านไปรู้จักเทคนิคพื้นฐานในการตกแต่งบัญชี และข้อควรระวังสำหรับนักอ่านงบการเงินมือใหม่ที่อาจหลงไปในภาพลวงตาของตัวเลขบนหน้างบการเงิน

เทคนิคสร้างรายได้ให้ลื่นไหล

 สิ่งสำคัญที่นักลงทุนมองหาจากงบการเงินคืออัตราการเติบโต (Growth Rate) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่นักวิเคราะห์สายพื้นฐานใช้ในการประเมินมูลค่า แน่นอนว่าบริษัทส่วนใหญ่จึงหาทางทำอย่างไรก็ได้ให้ยอดขายหรือกำไรสุทธิเติบโต ในขณะเดียวกัน บริษัทก็ไม่อยากให้ธุรกิจถูกมองว่าเป็นพวกขึ้นเร็วลงแรง ทางออกหนึ่งคือการใช้เทคนิคทางบัญชีกำหนดเวลาที่เหมาะสมในการรับรู้รายได้หรือรายจ่ายเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการเกลี่ยกำไร

 เทคนิคดังกล่าวเรียกว่าการบัญชีแบบโหลคุกกี้ (Cookie Jar) คือบริษัทอาจปรับรายได้ให้เป็นสินทรัพย์ หรือปรับค่าใช้จ่ายให้เป็นหนี้สิน แล้วจึงเลือกระยะเวลาที่เหมาะสมในการรับรู้รายได้เหล่านั้นในงบกำไรขาดทุน

    ตัวอย่างที่ดังกระฉ่อนไปทั่วโลกของการบัญชีแบบโหลคุกกี้คือบริษัทคอมพิวเตอร์ยักษ์ใหญ่อย่าง Dell ซึ่งสร้างความประทับใจให้กับนักลงทุนด้วยการทำกำไรทะลุเป้าต่อเนื่องกว่า 5 ปี ก่อนที่ความจะแตกหลังจากที่คณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกาพบว่ากำไรที่ทะลุเป้านั้นมาจาก ‘โหลคุกกี้’ ซึ่ง Dell ได้จาก Intel ภายใต้ข้อตกลงที่ว่าบริษัท Dell นั้นจะต้องใช้ไมโครชิปของ Intel เท่านั้น โดยหากหักลบรายได้จากโหลคุกกี้ ประวัติศาสตร์กำไรทะลุเป้า 5 ปีติดของ Dell จะสลายเป็นอากาศธาตุ ราคาของภาพลวงตาทางบัญชีครั้งนี้คิดเป็นค่าปรับ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งบริษัทยอมจ่ายแต่โดยดี

  อีกเทคนิคหนึ่งซึ่งเป็นที่นิยมคือการอาบน้ำครั้งใหญ่ (Big Bath) ซึ่งเป็นการตัดสินใจของทีมผู้บริหารในไตรมาสหรือปีที่บริษัทมีผลกำไรไม่ดีนัก โดยนักบัญชีจะทำการซ้ำเติมปีนั้นให้เลวร้ายลง เช่น ดึงค่าใช้จ่ายในอนาคตให้มาเป็นค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน หรือชะลอการรับรู้รายได้ออกไป เพื่อให้ผลประกอบการงวดถัดไปดูดีขึ้นแบบถล่มทลาย ส่วนเหล่าผู้บริหารก็หน้าชื่นตาบานรับโบนัสงามๆ จากผลงานการบริหารตัวเลขบนหน้างบการเงิน

เทคนิคซ่อนหนี้สินนอกงบการเงิน

   นอกจากรายได้ นักลงทุนก็ให้ความสนใจกับอัตราส่วนทางการเงิน โดยมีพระเอกที่แสดงให้เห็นถึงความมั่นคงของบริษัทอย่างอัตราหนี้สินต่อทุน ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่ต้องการให้ตัวเลขนั้นยิ่งต่ำยิ่งดี เพราะนอกจากแสดงให้เห็นว่าธุรกิจมีโอกาสหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมจากการขอสินเชื่อแล้ว ยังแสดงให้เห็นว่าบริษัทมีสภาพคล่องที่สูงกว่าความเป็นจริง

    แล้วบริษัทเขาทำกันอย่างไร?

    คำตอบก็ไม่ยากครับ แทนที่บริษัทจะต้องกู้เงินมาซื้อที่ดิน อาคาร หรือเครื่องจักร ก็แค่เปลี่ยนรายละเอียดในสัญญาเป็นการเช่าเพื่อใช้ดำเนินธุรกิจในระยะยาว เพียงเท่านี้ก็ไม่มีหนี้สินก้อนโตมาโผล่ในงบดุล โดยจะไปปรากฏเป็นค่าใช้จ่ายที่เรียกว่าค่าเช่าในงบกำไรขาดทุนแทน

  อีกเทคนิคที่ได้รับความนิยมคือการตั้งนิติบุคคลใหม่ ซึ่งอาจอยู่ในรูปบริษัทย่อย หรือนิติบุคคลเฉพาะกิจ แล้วให้บริษัทเหล่านั้นเป็นท่อน้ำเลี้ยงหาสินเชื่อมาป้อนให้กับบริษัทแม่ โดยอาจกลบเกลื่อนความสัมพันธ์ระหว่างสองบริษัท และให้นักบัญชีใช้ดุลพินิจว่าทั้งสองบริษัทไม่มีอำนาจในการควบคุมทำให้ไม่จำเป็นต้องทำงบการเงินรวม อย่างไรก็ดี เทคนิคทางบัญชีดังกล่าวถูกควบคุมอย่างเข้มข้นหลังจากบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Enron ล้มเพราะซุกหนี้มหาศาลผ่านหลากหลายช่องทาง

ศิลปะการเฉลี่ยเกลี่ยกำไร และการซ่อนหนี้สินไว้นอกงบการเงิน เป็นเรื่องสีเทาที่การกระทำบางครั้งอาจถึงขั้นผิดกฎหมาย แต่หลายครั้งกรอบเกณฑ์ทางบัญชีก็อนุญาตให้ทำได้ แต่ต้องมีการเปิดเผยไว้อย่างละเอียดในหมายเหตุประกอบงบการเงินที่นักลงทุนรายย่อยอย่างเราๆ ท่านๆ อาจเปิดข้ามไปอย่างรวดเร็ว

อย่ามองแค่ปริมาณแต่ต้องมองถึงคุณภาพ

 ถ้าการอ่านงบการเงินว่ายากแล้ว การวิเคราะห์คุณภาพงบการเงินนั้นนับว่าปราบเซียน แต่ผู้เขียนมีกฎจำง่ายสำหรับนักอ่านงบการเงินมือใหม่ที่ควรท่องไว้ให้ขึ้นใจเสมอเมื่อเห็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ทำผลงานดีจนน่าประหลาดใจ นั่นคือ

  • รายได้ทำซ้ำได้หรือไม่?

บางบริษัทอาจมีผลประกอบการดีขึ้นทันตา แต่หากวิเคราะห์เจาะลึกกลับพบว่ารายได้ดังกล่าวเป็นรายได้ที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว เช่น การขายสินทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็น เงินลงทุน หรือที่ดินของบริษัท รวมทั้งการทำข้อตกลงต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานปกติ เหตุการณ์เหล่านี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นนานๆ ครั้ง และจะไม่เกิดขึ้นอีกในไตรมาสหน้า ดังนั้นจึงควรตัดผลกำไรจากเหตุการณ์ดังกล่าวออกจากการวิเคราะห์งบการเงิน

แต่ก็อย่ามองโลกในแง่ร้ายเกินไปนะครับ เพราะบางครั้งการตัวเลขดังกล่าวสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง เช่น การออกผลิตภัณฑ์นวัตกรรมใหม่อย่างสมาร์ตโฟน หรือการลดรายจ่ายอย่างสุดขั้วของหลายบริษัท การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวย่อมส่งผลต่อตัวเลขบนหน้างบการเงินในอนาคต

  • รายได้มาจากฝีมือใคร?

หลายครั้งบริษัทมีผลประกอบการดีเกินหน้าเกินตาเพราะความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น บริษัทเคมีภัณฑ์ที่กำไรพุ่งพรวดเพราะราคาน้ำมันและแก๊สธรรมชาติลดต่ำที่สุดในรอบทศวรรษ หรือธนาคารที่ได้กำไรมหาศาลเพราะลงทุนตราสารต่างประเทศแล้วอัตราแลกเปลี่ยนเป็นใจ สิ่งเหล่านี้คือปัจจัยที่บริษัทไม่สามารถควบคุมได้โดยประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่ดีเกินหน้าเกินตานั้นเกิดจากความฟลุ๊กล้วนๆ ประมาณว่าอยู่เฉยๆ แต่ดวงดีตัวเลขในงบการเงินก็ดีไปเอง

ประเด็นนี้อาจมีตัวช่วยโดยการเปรียบเทียบอัตราการเติบโตหรือการเปลี่ยนแปลงของผลประกอบการบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกัน หากทุกบริษัทต่างเฉิดฉายในไตรมาสไม่แตกต่างกัน ก็เป็นไปได้ว่าผลประกอบการงามๆ นั้นมาจากตลาดพาไปไม่ใช่เรื่องฝีมือหรือนวัตกรรมจริงๆ

  • รายได้ทางบัญชีจะสามารถเก็บเงินได้จริงๆ ใช่ไหม?

เกณฑ์คงค้าง (Accrual Basis) เปิดโอกาสให้บริษัทรับรู้รายได้ก่อนที่เงินสดจะถูกส่งมาถึงมือ ตัวอย่างเช่น บริษัทขายเครื่องใช้ไฟฟ้าเงินผ่อนอาจปรากฏยอดขาย 10 ล้านบาทต่อเดือน แต่ในยอดหนี้ดังกล่าวมีลูกค้าเบี้ยวไม่ยอมจ่ายราวร้อยละ 15 แต่ในหน้างบการเงินอาจมีการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญมากกว่าหรือน้อยกว่าขึ้นอยู่กับการประมาณการและวิจารณญาณของนักบัญชี การเปิดช่องว่างให้ตีความอาจนำไปสู่การใช้สมมติฐานที่ไม่สมเหตุสมผล ทำให้งบการเงินไม่ได้สะท้อนฐานะและผลประกอบการของบริษัทจริงๆ

วิธีเช็คสำหรับข้อนี้ก็ไม่ยาก โดยอาจพิจารณาว่ายอดขายและกำไรที่เติบโตขึ้นมานั้น ส่วนใหญ่บริษัทเก็บเงินได้หรือไม่ อย่างไร และอัตราการเติบโตของบรรทัดลูกหนี้นั้นเป็นไปในอัตราส่วนที่เหมาะสมหรือไม่ หากพบว่าลูกหนี้บวมมากกว่าอัตราการเติบโตของยอดขายก็ถือว่าเป็นสัญญาณอันตรายเพราะบริษัทอาจทำเพียงเพื่อผักชีโรยหน้าโดยลูกหนี้ที่บวมขึ้นมานั้นอาจเป็นหนี้ที่ไม่สามารถเก็บเงินได้จริง

สิ่งสำคัญสำหรับการวิเคราะห์งบการเงินคือการเป็นคนขี้สงสัยอย่าเชื่ออะไรง่ายๆ แม้ว่างบการเงินดังกล่าวจะได้รับการรับรองโดยผู้ตรวจสอบบัญชีจากบริษัทชื่อดังก็ตาม เพราะในอดีตก็เคยมีกรณีศึกษาที่ทำให้บริษัทตรวจสอบบัญชียักษ์ใหญ่ล้มไปไม่นานหลังจากเหตุการณ์ฉ้อฉลครั้งใหญ่ที่เป็นข่าวอื้อฉาวไปทั่วโลก

หากเจอบรรทัดไหนในงบการเงินแปลกๆ แปร่งๆ ก็อย่าลืมเปิดรายงานประจำปี หรือหมายเหตุประกอบงบการเงินเพื่อขุดคุ้ยก่อนปักใจเชื่อนะครับ

 

เอกสารประกอบการเขียน

What is earnings management?

Taking away Dell’s cookie jar

Earnings: Quality Means Everything

รูปแบบการจัดแต่งงบการเงินของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพยUnderstanding Off-Balance Sheet Financing

 

Tags: ,