ย้อนไปเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ ฉากแก้แค้นในโรงฆ่าสัตว์จากเรื่อง ล่า เปิดหราในร้านอาหารที่เรากินมื้อดึก ขณะคีบเนื้อหมูสับละเอียดเข้าปาก มีฉากความสารเลวของเหล่าทรชนแทรกเข้ามาให้รู้สึกว่า สมควรแล้วมึง!
แต่แวบหนึ่งนั้น อีกความคิดก็แย้งขึ้นมาว่า สมควรแล้วจริงเหรอ? เชื่อว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นบ่อยๆ กับใครที่เสพงาน rape-revenge (ข่มขืน-ล้างแค้น) ซึ่งแรกเริ่มเดิมที มันสร้างขึ้นเพื่อสนองความรุนแรงเป็นที่ตั้ง
เราผ่านยุคต้นกำเนิดของมันมานานแล้ว ผู้คนเริ่มครุ่นคิดในเชิงมนุษยธรรมกันมากขึ้น รวมถึงมีการนำเสนอเรื่องการข่มขืนในแบบที่ต่างออกไป เช่นหนังว่าด้วยการข่มขืนและแก้แค้นในเพศอื่นๆ หรือหนังที่ลองให้ผู้หญิงเป็นผู้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากเซ็กซ์หรือกระทั่งการข่มขืน แต่ถึงอย่างนั้น งาน rape-revenge แบบเดิมๆ ก็ยังคงผุดขึ้นมาได้เรื่อยๆ จึงเป็นที่น่าสนใจว่า อะไรที่ทำให้มันยังคงดำรงอยู่ได้ในหลายๆ สังคม
ต้นกำเนิดของหนัง rape-revenge และปัญหาของมัน
โดย genre แล้ว หนัง rape-revenge ผูกติดกับภาพของเพศหญิงที่ถูกกระทำจากเพศชายแล้วลุกขึ้นมาแก้แค้น (หนังแก้แค้นจากเพศอื่นๆ ก็มี แต่มักไม่ใช่ภาพจำว่าเป็น rape-revenge) หนังยังถูกบรรจุให้อยู่ในกลุ่มของหนังสยองขวัญ ดังนั้น จุดเริ่มต้นของมันจึงแทบไม่มีการถามหาความถูกต้องทางการเมืองอะไรทั้งสิ้น นอกจากผูกโยงกับหนังสยองขวัญแล้ว rape-revenge ยังเป็น sub-genre ของ exploitation film ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนังเกรดบีที่นิยมเล่นกับความรุนแรงหรือประเด็น controversial ที่ป็อปสุดๆ ในยุค ’70s
ถึงต้นกำเนิดจะมาอย่างนั้น แต่เมื่อหนังถูกฉายต่อสาธารณชน มันได้ถูกตั้งคำถามถึงศีลธรรมในการนำเสนอ มากพอๆ กับที่เรียกผู้ชมให้ซื้อตั๋วเข้าไปเสพความรุนแรง
ตัวอย่างคลาสสิกที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ I Spit on Your Grave โดยผู้กำกับ Meir Zarchi เมื่อปี 1978 ที่ถือเป็นหนัง rape-revenge ขึ้นหิ้ง ว่าด้วยนักเขียนหญิงที่ถูกรุมโทรมอย่างทารุณและตามแก้แค้นชายที่ข่มขืนเธอทีละคนๆ
หนังเป็นที่กล่าวขวัญจากคอหนังแนวนี้ว่าทำได้ ‘ถึง’ ที่สุด ขณะที่ก็ถูกโจมตีจากนักวิจารณ์จำนวนไม่น้อย เช่นนักวิจารณ์ชื่อดังชาวอเมริกันอย่างโรเจอร์ อีเบิร์ต (Roger Ebert) ได้รีวิวถึงหนังและบรรยากาศในการดูหนัง ที่สะเทือนใจเขาเอามากๆ
—ชายวัยกลางคนที่นั่งใกล้ๆ พูดถึงซีนข่มขืนว่า “นี่มันเจ๋งไปเลย” ส่วนซีนแก้แค้นก็ “โห มันเจ๋งยิ่งกว่า” หรือผู้หญิงในโรงหนังก็เชียร์ตัวละครหญิงที่แก้แค้นลั่น “ตัดไอ้นั่นของมันเลย” กระทั่งฉากต่อสู้ ก็มีผู้ชมเพศชายไม่น้อยที่เชียร์ให้ชายปัญญาอ่อนที่กำลังโดนแก้แค้นจัดการผู้หญิงคนนั้นคืน—โรเจอร์พบว่า หนังสร้างอารมณ์ร่วมที่น่าขยะแขยงเป็นบ้า
บทความในปี 2015 ของผู้เขียนเคลลี่ แมคนามารา จาก broadly.vice.com ก็ตั้งข้อสงสัยว่า หนัง rape-revenge กำลังแสดงให้เห็นว่า การข่มขืนนั้นคืออาชญากรรมร้ายแรง หรือแค่ทำให้มันกลายเป็นเรื่องธรรมดาจากการคลี่คลายเบ็ดเสร็จในตัวหนังเองกันแน่ โดยเธอมองว่า หนัง genre นี้ใช้ฉากข่มขืนเป็นเพียงเครื่องมือที่ทำให้ฉากแก้แค้นอันรุนแรงทั้งหมดในเรื่องเป็นที่ยอมรับได้ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการข่มขืนในฐานะปัญหาสังคม และไม่ได้สร้าง awareness ในการพยายามลดปัญหานี้แต่อย่างใด อีกทั้งโยนคำถามว่า ฉากข่มขืนควรเป็นส่วนหนึ่งของความบันเทิง (entertainment) หรือไม่
และก็แทบจะทุกครั้ง แม้ rape-revenge จะเรียกผู้ชมได้ แต่มันก็มีเสียงก่นด่าตามมาเสมอในแง่การขายความรุนแรงและใช้ฉากข่มขืนเป็นเครื่องมือ แต่ในบางครั้ง เพศหญิงหลายคนก็เต็มใจจะเสพมัน ไม่ว่าด้วยความสะใจหรืออารมณ์แบบเฟมินิสม์ๆ ก็ตาม
คือหนังพลังหญิง?
เมื่อหนังว่าด้วยการทวงคืนความแค้นของผู้หญิงหลายครั้งมาจากพลังของผู้หญิงเอง จึงมักจะถูกหยิบเอาแนวคิดแบบเฟมินิสม์มาจับด้วย ง่ายๆ ก็เช่นว่า โดยพื้นฐานแล้วนี่คือหนังสำหรับผู้หญิงที่จะปลดปล่อยความเกรี้ยวกราดจากการถูกกดทับในสังคมชายเป็นใหญ่ หรือคือหนังที่สื่อสารเรื่องการปลดแอกผู้หญิงจากอำนาจของเพศชาย
แต่แท้จริงแล้วคำถามที่ว่าการทำหนัง rape-revenge ขึ้นมาสักเรื่อง มันเป็นไปเพื่อตอบสนองอะไรเป็นสำคัญนั้น เราคงไม่อาจรู้แน่ชัด แต่ก็มีผู้กำกับหลายคนออกมาแจงเกี่ยวกับเรื่องนี้
แอเบล เฟอรารา (Abel Ferrara) พูดถึงหนังเรื่อง Ms.45 ของเขาในปี 1981 ว่า “เราไม่ได้รับอิทธิพลจากเฟมินิสม์ เราเพียงได้รับอิทธิพลจากผู้หญิง” เขาปฏิเสธที่จะให้หนังของตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการต่อสู้ของใครกลุ่มไหน เพียงแต่อยากเสนอภาพของผู้หญิงที่ถูกกระทำอย่างทารุณและลุกขึ้นมาสู้เองเท่านั้น ขณะที่อีกรายอย่าง เควนติน ทารันติโน่ พูดถึง Kill Bill ว่า เป็น “หนังที่ว่าด้วยพลังหญิง” แล้วก็ไม่ได้ติดอะไรถ้าคนจะดึงหนังของเขาไปเข้าพวกกับเฟมินิสม์
แต่ทั้งหมดทั้งมวลแล้ว เราจะเรียกหนัง rape-revenge ทั้งหมดว่าหนังเฟมินิสม์ได้เต็มปากหรือเปล่า—ก็อาจจะไม่ เมื่อมันถูกสร้างโดยผู้หญิงอยู่น้อยครั้ง แต่เป็นผู้กำกับชายที่พาตัวละครหญิงให้เร่ไปเผชิญสิ่งนั้นสิ่งนี้จนจบเรื่อง เกลือกกลั้วกับความรุนแรงเต็มพิกัดทั้งถูกกระทำและกระทำเอง ซึ่งเป็นที่สังเกตได้ว่างาน rape-revenge ที่สร้างโดยผู้หญิงนั้น มีน้ำเสียงที่ต่างออกไป
เช่น คาลลี คูรี ที่เขียนเรื่อง Thelma & Louise เธอไม่ได้ใส่ฉากข่มขืนโต้งๆ เข้าไปในตัวบท เพียงแต่ให้มันเป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีตแล้วยังส่งผลมาถึงปัจจุบัน หรือหนังเรื่อง The Ladies Club โดยเจเน็ท กรีค ก็มีฉากข่มขืนตอนต้นเรื่องเพียงหน่อยเดียวเท่านั้น จากนั้นหนังก็บรรยายภาวะของผู้หญิงหลังจากถูกข่มขืน จนถึงตอนที่เธอเริ่มฟอร์มทีมจากเหยื่อรายอื่นๆ และครอบครัวเหยื่อ เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมคืนมาด้วยวิธีใดๆ ในตัวอย่างที่ยกมานี้ ฉากข่มขืนแทบไม่ได้ถูกฉายให้กลายเป็นซีนเรียกคน แต่การที่มันเกิดขึ้นก็ส่งผลต่างๆ ตามมาได้เหมือน rape-revenge ฝีมือผู้ชาย เหล่านี้จึงอาจจะใกล้เคียงกว่าหน่อย ถ้าใครจะบอกว่ามันเป็นงานเฟมินิสม์
แค่ขายความรุนแรง หรือสะท้อนสังคม?
ท่ามกลางความเห็นต่างๆ ก็ยังมีผู้ที่เห็นว่าหนัง rape-revenge รุ่งเรืองขึ้นได้เพราะสังคมมองว่าการข่มขืนเป็นปัญหาสำคัญ และมีผู้ทำงานวิจัยเพื่อศึกษาว่าสิ่งที่เล่าออกมาในหนัง genre นี้ ก็คือภาพสะท้อนด้านร้ายๆ ในสังคมนั่นเอง
ในงานวิจัยเรื่อง ‘Day of The Women?: Feminism & Rape-Revenge Films’ โดยเคย์ลี แอนน์ วิทิโอ แห่งมหาวิทยาลัยเวสต์เทิร์นออนทาริโอ ประเทศแคนาดา ให้คำอธิบายของหนังสยองขวัญ (ซึ่งมี rape-revenge บรรจุอยู่ภายใน) ว่ามันมีอยู่เพื่อพาคนออกจากสภาพชีวิตปกติสุข โดยพาเราไปเจอกับประสบการณ์วิญญาณหลอน สัตว์กระหายเลือด หรือฆาตกรต่อเนื่องที่เก่งกาจผิดมนุษย์ และหนัง rape-revenge ก็เป็นอย่างนั้น ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่ มันสะท้อนภาพความหวั่นกลัวลึกๆ ในใจผู้คน ซึ่งบังเอิญว่าการข่มขืนดันมีอยู่จริงกว่าผีหรือวิญญาณเสียด้วย
ประเด็นเฟมินิสม์ก็เช่นกัน ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ หนัง rape-revenge ก็มักจะเสนอประเด็นสังคมแบบเดียวกับที่เฟมินิสม์ในยุคสมัยนั้นๆ พยายามเล่า
ในมุมมองของเคย์ลี แอนน์ หนัง rape-revenge จึงไม่ได้น่ารังเกียจหรือควรหมดไปจากโลกนี้เสียทีเดียว ซึ่งเรา—ผู้เขียนก็เห็นอย่างนั้น การมีอยู่ของหนังไม่ได้เป็นปัญหาเท่ากับสิ่งที่ผู้ชมรู้สึกรู้สาหรือคิดเห็นหลังจากดูมันจบ แล้วก็ไม่ได้มีมุมมองแบบไหนที่ผิดด้วย
ส่องหนัง rape-revenge ใกล้บ้านเรา
ถ้าจะว่ากันที่การเป็นหนังเพื่อสะท้อนสังคม งาน rape-revenge ในบอลลีวูดน่าจะเข้าเค้า อย่างที่เราทราบกัน อินเดียคือประเทศที่สถานการณ์เกี่ยวกับการข่มขืนออกจะเลวร้าย โดยแทบยังไม่ต้องถามคำถามมนุษยธรรมว่า ‘ข่มขืน=สมควรตาย’ อย่างที่หลายสังคมถกกันหรือไม่ เพราะส่วนใหญ่แล้วการข่มขืนในอินเดียยังไม่ค่อยถูกนำมาเป็นคดีความ หรือถ้าเป็นคดีความ การพิพากษาก็มักจะเข้าทางฝ่ายชายเสียส่วนใหญ่ เช่นกรณีลือลั่นในปี 1972 ที่นางสาวมธุราถูกข่มขืนโดยตำรวจสองคน ศาลพิพากษาว่า “เธออาจจะเป็นผู้เชื้อเชิญให้นายตำรวจที่กำลังเมา มีเซ็กซ์กับเธอ”
ประโยคนี้สร้างรอยแผลให้กับสังคมอินเดียจนถึงตอนนี้ และหนัง rape-revenge ในบอลลีวูดก็มักจะเล่าเรื่องความพังของกระบวนการยุติธรรม หรือการโทษเหยื่อ ขณะที่บางเรื่องก็ไม่พูดเรื่องกฎหมายให้มากความแต่โฟกัสที่การแก้แค้นอย่างสาสม ซึ่งคราวนี้ดูจะมีจุดประสงค์ในการปลดปล่อยความโกรธเกรี้ยวของสังคม แต่ก็ยังใช้วิธีการเดียวกับหนัง rape-revenge ที่เคยมีมาในยุคก่อนๆ (ไม่ใช่ว่าการข่มขืนไม่ได้เกิดขึ้นจริงในสังคมตะวันตก เพียงแต่หนัง rape-revenge ยุคแรกไม่ได้เกิดขึ้นมาโดยตั้งใจให้เล่าปัญหาจริงจังนักอยู่แล้ว)
Devashish Makhija’s Ajji (2017) คือหนัง rape-revenge เรื่องที่ 5 ของบอลลีวูด พาผู้ชมย้อนไปในห้วงอารมณ์แบบยุค ’80s-’90s ที่คนทำหนัง rape-revenge สนุกกับการเอาคืนนักข่มขืน และเสนอภาพตัวละครนักข่มขืนที่สมควรตายด้วยประการทั้งปวง โดยฉากพีคในหนัง คือตัวละครชายมีเซ็กซ์กับตุ๊กตายางอย่างเหี้ยมโหดโดยฉีกตุ๊กตา (ที่เป็นตัวแทนของร่างกายมนุษย์) จนขาดเป็นชิ้นๆ
หนัง rape-revenge จากบอลลีวูดยังน่าสนใจที่ตัวผู้แก้แค้นด้วย เว็บไซต์ openthemagazine.com ซึ่งเป็นสื่อของอินเดียเอง ตั้งข้อสังเกตว่าในหนัง rape-revenge อินเดียเรื่องแรกๆ การแก้แค้นมาจากผู้ชายที่แค้นแทนเหยื่อซึ่งเป็นคนรักหรือคนในครอบครัว ซึ่งสะท้อนว่าผู้หญิงยังคงอ่อนแอบอบบาง ถูกเพศชายกระทำและก็ยังต้องการความช่วยเหลือจากเพศชายอีก
ขณะที่งาน rape-revenge เรื่องหลังๆ แม้ผู้แก้แค้นจะเป็นผู้หญิง แต่ก็ยังต้องได้รับความช่วยเหลือจากผู้ชายวันยังค่ำ ในเรื่อง Devashish Makhija’s Ajji ตัวละครยายที่แก้แค้นแทนหลานสาว ก็ได้เรียนรู้วิธี ‘สับ’ หรือ ‘ชำแหละ’ จากพ่อค้าเนื้อผู้เชี่ยวชาญการชำแหละสัตว์
จึงแอบน่าเสียดายนิดๆ เมื่อที่สุดแล้ว หนังพยายามสะท้อนปัญหาสังคมแต่ก็ยังคงหนีไม่พ้นการเป็นผลผลิตของสังคมชายเป็นใหญ่อยู่ดี
‘ล่า’ ตัวบท rape-revenge ในบ้านเรา
สังเกตว่าหนังแก้แค้นของหญิงสาวที่ถูกทารุณทางเพศในบ้านเราจะไปทางสยองขวัญเป็นหลัก การแก้แค้นมักเป็นเรื่องของผีมากกว่าคนเป็นๆ อย่างเช่น บุปผาราตรี หรือ ชัตเตอร์ฯ ดูเหมือนว่าในโลกของหนังไทย อำนาจของเพศหญิงจะเพิ่มพูนได้ก็ต่อเมื่อกลายเป็นวิญญาณร้ายเท่านั้น
เพราะอย่างนั้นงานที่เป็น rape-revenge ที่สุดก็น่าจะเป็น ล่า โดยทมยันตี ที่เพิ่งถูกนำมารีเมคจนดังทั่วบ้านทั่วเมือง และน่าจะเป็นที่จดจำไปอีกนาน น่าสนใจที่ว่านี่คืองาน rape-revenge ที่สร้างขึ้นโดยผู้หญิง แล้วนำมาตีความใหม่โดยผู้กำกับชาย ซึ่งพอตัวบทกลายเป็นละครที่มีเวลาในการเล่าเรื่องเยอะกว่าหนังมากๆ มันจึงมีมิติอื่นๆ ที่มากกว่าแค่ความรุนแรง (ถึงแม้คนดูบางส่วนจะรอดูเฉพาะฉากรุนแรงก็เถอะ)
เป็นเหตุให้ ล่า ฉบับรีเมคปี 2017 ที่ฉายยาวมาถึง 2018 นี้ กลายเป็นรสชาติใหม่สำหรับตลาดละครไทยยุคปี 2000 ผู้กำกับโยนคำถามโครมใหญ่กลับมาหาคนดู ทั้งในบทพูดโต้งๆ ของตัวละครลุงป้า หรือการใช้ฉากศาลมาเสนอเป็นแกนหลัก ให้ผู้ชมร่วมเป็นผู้ตัดสินด้วย ละครเลือกข้างความรุนแรงจากมธุสร ว่าไม่ใช่ความผิดของเธอ แต่มาจากหลายปัจจัย ทั้งความรุนแรงในครอบครัวจนถึงกระบวนการยุติธรรมที่พังพินาศจนทำให้คนมีปัญหาทางจิต และยังตั้งคำถามว่า ข่มขืน=ประหาร หรือไม่ ได้อย่างชวนครุ่นคิด
ละครจบไปแล้ว และประสบความสำเร็จในการชวนให้คนเพ่งเล็งปัญหาของกระบวนการยุติธรรม แต่ขณะเดียวกันก็เสนอภาพความรุนแรงออกมาเต็มขั้น โดยที่คนดูบางส่วนก็รับไหว ฉายตามบ้านและร้านอาหารได้ตามปกติ อาจเป็นเพราะเราเองก็พบความเจ็บแค้นจากสังคมไม่แพ้อินเดีย บ่อยครั้งที่อาชญากรข่มขืนก็รอดคุกออกมาก่อเหตุอีกอยู่นั่น แต่ครั้นจะให้ประหาร มนุษยธรรมในใจก็ไม่ได้เห็นด้วยไปทั้งหมด อาจเพราะอย่างนั้น คนดูจึงอินกับประเด็นมากกว่าจะมานั่งพูดถึงความรุนแรงซึ่งเป็นปัญหาของงาน rape-revenge
คำถามคือ แล้วเมื่อไรกันที่ความสาแก่ใจจากหนังตระกูลนี้จะไม่กลายเป็นทางออกให้เราสะใจชั่วครั้งชั่วคราวก่อนจะปล่อยผ่านเลยไป แล้วเมื่อไหร่ที่ความรุนแรงจะเลิกกลายเป็นส่วนหนึ่งของสินค้าความบันเทิง หรือว่าถ้ามันจะเป็นอย่างนั้นต่อก็ไม่ได้ผิดอะไร เพราะลึกๆ แล้วมนุษย์ก็เป็นอย่างนี้ รักความรุนแรงกันอยู่แล้ว?
แต่ที่แน่ๆ ถ้าโรเจอร์ อีเบิร์ตได้มานั่งดู ‘ล่า’ กับเราด้วยคงจะโมโหโกรธาอยู่ไม่น้อย
อ้างอิง
- http://www.openthemagazine.com/article/cinema/rape-revenge-films-a-history-of-violation
- http://www.miskatonic-montreal.com/events/getting-even-a-history-of-the-rape-revenge-film/
- https://www.spectator.co.uk/2017/03/perhaps-im-not-post-feminist-enough-to-comprehend-this-rape-revenge-comedy-elle-reviewed/
- https://ir.lib.uwo.ca/cgi/viewcontent.cgi?referer=https://www.google.co.th/&httpsredir=1&article=2306&context=etd
- https://broadly.vice.com/en_us/article/ezjw3e/making-sense-of-senselessness-the-bloody-history-of-rape-revenge-films
Fact Box
- Red Road (2006) โดยผู้กำกับแอนเดรีย อาร์โนลด์ ฉายภาพเซ็กส์และการข่มขืนในมุมมองแบบเฟมินิสต์ (ส่วนนี้จะเป็นการสปอยล์หนัง*) เนื่องจากตัวละครหญิงใช้เซ็กซ์เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ในการกล่าวหาชายที่สร้างความแค้นในอดีต ว่าเป็นผู้ที่ข่มขืนเธอ
- Elle (2016) โดยผู้กำกับพอล เวอร์โฮเวน คือหนังที่ถูกมองว่าเป็น rape-revenge แบบโพสต์-เฟมินิสม์ เพราะตัวละครหญิงในเรื่องมีท่าทีต่อการถูกข่มขืนในแบบที่ต่างออกไป และตัวเธอเองก็เกี่ยวพันกับการนำเสนอภาพความรุนแรงที่มีต่อเพศหญิงเองด้วย อีกทั้งการข่มขืนก็เป็นการแก้แค้นกลับต่อเธอหญิงด้วยซ้ำ