ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พระพิรุณดูจะขยันเป็นพิเศษ ส่งฝนโปรยปรายลงมาอยู่เนืองๆ โดยเฉพาะช่วงเลิกงาน ราวกับได้รับบรีฟจากบรรดานายจ้างห้างร้านต่างๆ ให้ช่วยกักพนักงานไว้ทำงานต่ออีกสักหน่อย

แม้อังกฤษจะไม่ได้มีฤดูฝนอย่างบ้านเรา แต่ก็เป็นประเทศที่ขึ้นชื่อว่าคุ้นเคยกับฝนเป็นอย่างดีเพราะมีฝนตกอยู่เรื่อยๆ จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ฝนจะแทรกซึมอยู่ในภาษาอังกฤษ อีกทั้งถูกนำไปทำเป็นสำนวนเปรียบเปรยต่างๆ ที่สามารถใช้ได้แม้ในเวลาที่ไม่ได้มีฝนกำลังตกอยู่จริงๆ

ดังนั้น ในสัปดาห์นี้ เราจะไปดูกันว่ามีสำนวนภาษาอังกฤษอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับฝนและนำไปใช้ได้แม้ฝนไม่ได้กำลังตกอยู่

Right as rain

สำนวนนี้หมายถึง กลับมาแข็งแรงเป็นปกติ ส่วนใหญ่แล้วมักจะใช้ในกรณีที่เพิ่งเจ็บไข้ได้ป่วย ตัวอย่างเช่น สมมติว่าเรามีอาการอาหารเป็นพิษแล้วไปหาหมอ ถามหมอว่ากี่วันถึงจะหายดี หมอก็อาจจะบอกว่าน่าจะหายเป็นปกติในเจ็ดวัน หลังจากนั้นจะทานอะไรก็ทานได้ แบบนี้ก็อาจจะพูดเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า You’ll be right as rain in a week. 

ทั้งนี้ สำนวนนี้เป็นสำนวนฝั่งอังกฤษ จึงอาจจะไม่ได้ยินในฝั่งอเมริกันเท่าไร หากเป็นชาวอเมริกันก็อาจจะพูดว่า You’ll be good as new. แทน

นอกจากจะใช้ในความหมายว่าหายป่วยไข้จนแข็งแรงดีแล้ว right as rain ยังอาจจะใช้อธิบายว่าสิ่งสิ่งหนึ่งอยู่ในสภาพที่ดี หรือสถานการณ์เรียบร้อยดี ไปได้สวย เช่น หากเราเพิ่งเป็นพ่องานจัดงานเลี้ยงฉลองไป แล้วมีคนมาถามว่างานเป็นอย่างไรบ้าง เราก็อาจพูดว่า Everything was right as rain. ก็คือ ทุกอย่างเรียบร้อยดีไม่มีปัญหาอะไร

When it rains, it pours.

คำว่า pour ที่แปลว่า เท ในที่นี้ แน่นอนว่าไม่ได้หมายถึง รินน้ำ แต่หมายถึง ฝนเท ฝนตกหนัก เหมือนที่เราพูดว่า It’s pouring. เวลาที่ฝนตกหนักๆ และเรียกฝนตกห่าใหญ่ว่า downpour 

สำนวนนี้หากจะแปลแบบค่อนข้างตรงตัว ก็อาจจะแปลได้ทำนองว่า เวลาฝนจะตกทีก็ไม่ใช่แค่ตกเฉยๆ นะ ตกเป็นห่าเลย มีความหมายในเชิงเปรียบเปรยว่า เวลาเกิดเรื่องร้ายเนี่ย เรื่องร้ายต่างๆ ก็จะพากันประดังประเดเข้ามา พูดอีกอย่างก็คือ เวลาซวยทีคือซวยหนัก เคราะห์ซ้ำกรรมซัด ตัวอย่างเช่น หากร้อยวันพันปีเราไม่เคยลืมกุญแจบ้านเลย แต่ปรากฏว่าวันนั้นลืมกุญแจบ้านแล้วทำให้เข้าบ้านไม่ได้ พอจะโทรหาคนมาช่วยปรากฏว่าโทรศัพท์ดันแบตหมด มิหนำซ้ำยังไม่มีเงินสดติดตัวอีก แบบนี้ก็อาจรำพึงรำพันในความซวยซ้ำซวยซ้อนว่า When it rains, it pours

ทั้งนี้ When it rains, it pours. เรามักจะได้ยินในฝั่งอเมริกา ทางอังกฤษจะพูดว่า It never rains, but it pours. แทน

Rain on someone’s parade

ปกติแล้วขบวนพาเหรดหรืองานแห่แหนก็มักจะเดินกันกลางแจ้ง หากฝนดันตกขึ้นมา ผู้คนที่กำลังเฮฮาปาร์ตี้เฉลิมฉลองกันอยู่ก็อาจจะแตกกระเจิงพากันหลบเข้าร่ม ทำให้ต้องพับขบวนไปในที่สุด 

ด้วยเหตุนี้ สำนวน rain on someone’s parade จึงหมายถึง ทำให้หมดสนุก เสียแผน ทำให้กร่อย ตัวอย่างเช่น เพื่อนเราคนหนึ่งหมายตาไว้นานแล้วว่าจะต้องไปซัดยำกุ้งสดที่ร้านแห่งหนึ่งที่เป็นที่กล่าวขวัญกันในโลกอินเทอร์เน็ตให้จงได้ ปรากฏว่าวันนี้เกิดสบโอกาสขึ้นมา ก็เลยรีบแต่งองค์ทรงเครื่องเตรียมจะมุ่งหน้าไปร้านนี้ แต่บังเอิญเรารู้ว่าวันนี้ร้านนี้ปิดพอดี เลยต้องเป็นคนบอกข่าวร้ายเพื่อน ก็อาจจะพูดว่า I hate to rain on your parade, but it’s closed today. ก็คือ โทษด้วยนะที่ทำให้ฝันสลาย แต่วันนี้ร้านปิดว่ะ

Save something for a rainy day

สำหรับคนส่วนมากแล้ว ฝนมักจะทำให้การใช้ชีวิตของเราลำบากขึ้น เช่น ทำให้ออกไปข้างนอกไม่ได้ สัญจรลำบาก วันไหนท้องฟ้าอึมครึมมีฝนตก เราก็จะเรียกว่าเป็นวันที่อากาศไม่ดี ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่วันที่มีฝนตกจะถูกนำมาใช้เปรียบกับวันที่เราต้องเผชิญความยากลำบากหรือปัญหาต่างๆ (เช่น เพลงฤดูที่แตกต่าง ของบอย โกสิยพงษ์ ที่มีท่อนหนึ่งบอกว่า อดทนเวลาที่ฝนพรำ)

เพราะอย่างนี้ สำนวน save something for a rainy day จึงหมายถึง สำรองไว้ยามยาก เก็บไว้ใช้ยามคับขัน ปกติมักใช้กับเงิน คือเก็บหอมรอมริบไว้เผื่อวันไหนลำบากขึ้นมานั่นเอง ตัวอย่างเช่น หากเราถูกหวยได้เงินมาก้อนหนึ่งแต่ไม่นำไปใช้ เลือกเก็บไว้เผื่อวันไหนจำเป็นขึ้นมา ก็อาจจะบอกว่า I’m saving this for a rainy day. หรือจะไม่ใช้กับเงินก็ได้เช่นกัน เช่น หากเราเป็นคนชอบกินช็อกโกแลตย้อมใจเวลาชีวิตเจอศึกหนัก เลยแอบตุนช็อกโกแลตสำรองไว้ในออฟฟิศที่จะเอาออกกินเฉพาะตอนคับขันเท่านั้น เราก็อาจจะบอกว่า This is my chocolate stash for a rainy day.

Rain or shine

สำนวนนี้ฝั่งอเมริกันจะพูดว่า rain or shine แต่ฝั่งอังกฤษมักจะได้ยินพูดว่า come rain or shine หรือ come rain, come shine แปลตรงตัวหน่อยก็คือ ไม่ว่าจะฝนตกหรือแดดออก นั่นเอง

สำนวนนี้ใช้ได้ทั้งแบบความหมายตรงตัวและแบบเปรียบเปรย  ถ้าใช้แบบตรงตัวหน่อยก็จะหมายถึงสภาพอากาศ เช่น He always goes for a walk in the evening, rain or shine. ก็คือ ไม่ว่าฝนตกแดดออกยังไง ก็จะไปเดินตอนเย็นเสมอ แต่ถ้าหากใช้ในเชิงเปรียบเทียบ ก็จะหมายถึง ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม ปกติใช้เมื่อจะบอกว่าสิ่งสิ่งหนึ่งจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ตัวอย่างเช่น Our party is happening, rain or shine! ก็คือ ยังไงปาร์ตี้ของเราก็จะไม่ล่ม! 

Take a rain check

ย้อนกลับช่วงหลังของศตวรรษที่ 19 เวลาที่คนไปดูการแข่งเบสบอลแล้วฝนดันตกขึ้นมาทำให้แข่งขันต่อไม่ได้ ทางผู้จัดจะมีการแจกตั๋วให้กลับมาดูในวันหลังได้ เรียกว่า rain check

ทำไปทำมา คำว่า rain check นี้ก็ถูกยืมจากวงการกีฬาเอามาใช้ในชีวิตประจำวัน หมายถึง การผัดผ่อนออกไปก่อน ปกติมักจะพูดว่า take a rain check คือ ขอผัดไปเป็นวันหลัง มักจะในกรณีที่มีการเชิญชวนแล้วอีกฝ่ายหนึ่งไม่สะดวกในวันเวลานั้น หรือนัดกันไปแล้วแต่เกิดเหตุจำเป็นที่ทำให้อีกฝ่ายไปตามนัดไม่ได้แล้ว ตัวอย่างเช่น สมมติเพื่อนชวนเราไปกินข้าวตอนเย็น แต่เราไม่สะดวกเพราะว่าติดธุระ ก็อาจจะตอบไปว่า Can I take a rain check? คือ ไว้วันหลังนะ

Not know enough to come in out of the rain 

โดยทั่วไปแล้ว คนมีสติสัมปชัญญะที่ไหนเห็นเริ่มฝนตกเปาะแปะก็คงหนีหลบเข้าร่มกันหมด ดังนั้น หากใครเซ่อซ่าไปยืนตากฝนให้เนื้อตัวเปียกปอน ไม่รู้จักหาที่หลบ คนก็คงสันนิษฐานว่าไม่บ้าก็โง่ ด้วยเหตุนี้ not know enough to come in out of the rain จึงหมายถึง โง่ ขาดคอมมอนเซ้นส์ มักใช้ในกรณีที่ต้องการบอกว่าคนคนหนึ่งไม่รู้จักวิธีรับมือกับสถานการณ์ยากลำบากหรือวิธีแก้ปัญหา (ทั้งนี้ จะพูดว่า not have enough sense to come in out of the rain ก็ได้เช่นกัน) ตัวอย่างเช่น เพื่อนเราโดนหลอกไปฟังขายตรง ทั้งที่ตงิดเบาๆ แต่ก็ยังหลงเชื่อไปอยู่ดี แถมไปนั่งฟังอยู่สามชั่วโมง จะบอกไปตรงๆ ว่าไม่สนใจแล้วลุกหนีก็ไม่กล้า แบบนี้เราก็อาจพูดว่า You didn’t know enough to come in out of the rain. ก็คือ แกมันโง่เอง

แต่หากพูดว่า come in out of the rain (ซึ่งปกติแล้วใช้เรียกให้คนเข้ามาหลบฝนในที่ร่ม) ก็จะกลายเป็นการพูดเรียกสติ ทำนองว่า ให้ลืมตาตื่นขึ้นมาดูความเป็นจริง ตัวอย่างเช่น Come in out of the rain! Can’t you see your boyfriend is an asshole? Dump him! ก็คือ ตื่นซะทีแม่คุณ แฟนแกมันเฮงซวย ทิ้งมันได้แล้ว

บรรณานุกรม

Ammer, Christine. The American Heritage Dictionary of Idioms: American English Idiomatic Expressions & Phrases. 2nd ed. Houghton Mifflin Harcourt: Boston, 2013.

American Heritage Dictionary of the English Language

Ayto, John. Oxford Dictionary of English Idioms. OUP: Oxford, 2009.

Cambridge Advanced Learners’ Dictionary

Flavell, Linda, and Roger Flavell. Dictionary of Idioms and Their Origins. Kylie Cathie: London, 2011.

Gulland, Daphne M., and Hinds-Howell, David. The Penguin Dictionary of English Idiom. Penguin Books: London, 2002.

Longman Dictionary of Contemporary English

Longman Idioms Dictionary. Pearson: Essex, 2010.

Merriam-Webster Dictionary

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

Oxford Idioms Dictionary for Learners of English. OUP: New York, 2006.

Taggart, Caroline. An Apple a Day: Old-fashioned Proverbs and Why They Still Work. Michael O’ Mara Books: London, 2009.

Tags: , , ,