ช่องโหว่ในชั้นโอโซนเหนือแอนตาร์กติกาที่อยู่สูงจากพื้นผิวโลกราว 10-20 กิโลเมตร กำลังฟื้นฟูตัวเอง และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของการหมุนเวียนของบรรยากาศที่เป็นการไหลของอากาศเหนือพื้นโลกซึ่งเป็นที่มาของการเกิดกระแสลม

แอนทารา บาเนอร์จี และทีมนักวิจัยจาก University of Colorado Boulder ใช้ข้อมูลจากดาวเทียมสำรวจ และแบบจำลองสภาพอากาศ เพื่อออกแบบโมเดลรูปแบบของลมที่เปลี่ยนแปลงไปจากการฟื้นตัวของชั้นโอโซน ซึ่งเป็นผลจากการแบนการใช้สารที่ทำลายชั้นโอโซนตามข้อตกลงในพิธีสารมอนทรีออล เมื่อปี 1987

ก่อนปี 2000 กระแสลมกรดในซีกโลกใต้ซึ่งเป็นอากาศที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงไปรอบโลกมีการเปลี่ยนแปลงทิศทางไปทางขั้วโลกใต้ ขณะที่กระแสลมกรดเขตร้อนอีกอันที่ชื่อ Hadley ที่มีผลต่อลมค้า (ลมประจำทิศที่พัดจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก) วงแหวนฝนเขตร้อน เฮอริเคน และทะเลกึ่งเขตร้อน กำลังขยายตัวกว้างขึ้น

บาเนอร์จีและทีมงานพบว่าการเปลี่ยนแปลงของลมกรดทั้งสองหยุดลง และเริ่มกลับสู่ภาวะปกติอย่างช้าๆ ในปี 2000 การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของสภาพอากาศโลก และบาเนอร์จีพบว่า มันเป็นผลโดยตรงจากการฟื้นตัวของชั้นโอโซน

การเปลี่ยนแปลงของกระแสลมกรดจะส่งผลต่อสภาพอากาศด้านอุณหภูมิ และ ปริมาณฝน ที่อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิของมหาสมุทร และความเข้มข้นของเกลือ

ตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงของกระแสลมกรดก่อนหน้านี้ เช่นที่เกิดในออสเตรเลีย มันจะเพิ่มความเสี่ยงการเกิดภัยแล้งเนื่องจากฝนถูกพัดไปจากพื้นที่ชายฝั่ง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงกระแสลมกรดที่กำลังเกิดขึ้นนี้ อาจจะทำให้ฝนกลับมาอีกครั้ง

เอียน แร นักเคมีชีวภาพจาก University of Melbourne ซึ่งไม่ได้เป็นคณะนักวิจัยในทีมนี้ กล่าวว่า “วงแหวนของอากาศที่เป็นแนวต้านความหนาวเคยแคบลงไปทางขั้วโลกใต้ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมทางใต้ของออสเตรเลียถึงมีปริมาณน้ำฝนน้อยลงมากว่า 30 ปี ถ้าชั้นโอโซนที่กำลังฟื้นตัวทำให้กระแสอากาศเบนกลับขึ้นทางทิศเหนือ นั่นก็ถือเป็นข่าวดี”

ด้าน มาร์ติน ชิปเปอร์ฟิลด์ จาก University of Leeds ซึ่งไม่ได้อยู่ในคณะนักวิจัยเช่นเดียวกัน กล่าวว่า “เราพ้นขีดอันตรายแล้ว” โดยเขาระบุว่า เราได้เห็นสัญญาณของชั้นโอโซนที่ฟื้นตัว และการศึกษานี้ได้เปิดเผยให้เห็นก้าวต่อไปว่าผลกระทบที่มีต่อสภาพอากาศโลกจากการฟื้นตัวนี้จะเป็นอย่างไร เขายังระบุเพิ่มเติมว่า เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลกที่เกิดจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่กำลังเพิ่มขึ้น และ การสูญเสียชั้นโอโซนที่กำลังยุติ และ ฟื้นตัวมีผลอย่างไร

แม้ว่าจะมีการยกเลิกการใช้สารที่ทำลายชั้นโอโซนแล้ว แต่สารเคมีเหล่านั้นก็มีอายุยืนมากในชั้นบรรยากาศ ดังนั้น ชั้นโอโซนจะยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ไปอีกหลายทศวรรษ

“มีการพยากรณ์ว่าชั้นโอโซนในเขตร้อนที่เบาบางลง จะทำให้เรายังคงต้องต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลกต่อไป” ชิปเปอร์ฟิลด์กล่าวสรุป

อ้างอิง

https://www.sciencealert.com/the-ozone-layer-is-healing-and-that-s-good-news-for?fbclid=IwAR0Y684A_z89iQl-zMQzGmCX76HrxGLx4H4CxT_qaZrAH1iHNNnIHHbanSI

https://www.theguardian.com/environment/2020/mar/25/global-efforts-on-ozone-help-reverse-southern-jet-stream-damage

https://www.nature.com/articles/d41586-020-00787-x

https://www.newscientist.com/article/2238542-the-ozone-layer-is-healing-and-redirecting-wind-flows-around-the-globe/?fbclid=IwAR2UDIXwRVyKvl5IGlQBaxF6zAjq5prh4KY9XWPdnPVIax0I5Ow02f607C8 

ภาพ : NASA