นักวิทยาศาสตร์พบว่าอาณานิคมเพนกวินในบางส่วนของแอนตาร์กติกา มีจำนวนลดลงอย่างมากจากการสำรวจครั้งก่อนเมื่อเกือบ 50 ปีที่แล้ว โดยเฉพาะสายพันธุ์ชินสแตรป (ซึ่งมีแถบสีดำใต้คาง) ซึ่งเป็นเพนกวินที่มีจำนวนประชากรเยอะที่สุดในโลก รวมไปถึงอาณานิคมเพนกวินสายพันธุ์อื่นๆ ที่มีจำนวนลดลงด้วยเช่นเดียวกัน

จากการสำรวจมื่อปี 1971 มีเพนกวินจำนวน 122,550 คู่ทุกอาณานิคมทั่วทั้งเกาะช้าง (Elephant Island) ในแอนตาร์กติกา แต่จากการสำรวจครั้งล่าสุดนี้พบว่าเหลือเพียง 52,786 คู่ ซึ่งลดลงเกือบ 60% เลยทีเดียว โดยอาณานิคมเพนกวินที่ลดจำนวนลงมากที่สุดก็คือสายพันธุ์ชินสแตรป ซึ่งลดลงไปมากถึง 77%

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศนำไปสู่การลดลงของน้ำแข็งในทะเลและมหาสมุทร และทำให้น้ำอุ่นขึ้น ซึ่งทำให้สัตว์ทะเลตัวเล็กๆ (เช่น ตัวเคย)  อันเป็นอาหารของเพนกวินนั้นลดลงไปด้วย ซึ่งก็ตรงตามข่าวที่ออกมาก่อนหน้านี้ ที่มีการบันทึกอุณหภูมิ ณ ยอดเหนือสุดของคาบสมุทรแอนตาร์กติกา ได้ที่ 18.3°C ร้อนที่สุดเท่าที่เคยบันทึกมา

เพนกวิน แมวน้ำ และวาฬ ทั้งหมดอยู่ได้ด้วยอาหาร ซึ่งเป็นสัตว์ทะเลเล็กๆ อย่างพวกเคย ซึ่งสัตว์ทะเลเหล่านี้ก็ขึ้นอยู่กับน้ำแข็ง และอุณหภูมิของน้ำ ดังนั้นหากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อน้ำแข็ง มันก็จะส่งผลกระทบต่อทุกสิ่ง” โนอา สไตร์เกอร์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสโตนีบรูก กล่าว 

แต่ในขณะเดียวกันก็มีข่าวดี ในการสำรวจครั้งนี้พบว่า เพนกวินสายพันธุ์เจนทู (ซึ่งมีแถบสีขาวคาดตาและมีปากสีส้ม) มีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในเกาะใกล้เคียงกันกับเกาะช้าง 

โครงการการสำรวจในครั้งนี้ เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิทยาศาสตร์และองค์กรกรีนพีซ โดยใช้เรือเอสเปอแรนซ่า ขับเข้าไปและใช้โดรนในการบินสำรวจอีกที โดยนอกจากเกาะช้างแล้ว ยังมีการสำรวจประชากรเพนกวินในเกาะใกล้เคียงอย่างเกาะโลว์ (Low Island) และเกาะเซาท์เชตแลนด์ (South Shetland Ialnd) อีกด้วย แต่ยังไม่มีการเปิดเผยผลการสำรวจในเกาะอื่นๆ ออกมา 

อ้างอิง

https://edition.cnn.com/2020/02/10/world/chinstrap-penguin-decline-scli-intl-scn

https://www.theguardian.com/world/2020/feb/11/antarctic-alarm-collapse-chinstrap-penguin-numbers-global-heating

https://time.com/5781302/climate-change-is-decimating-the-chinstrap-penguins-of-antarctica/

ภาพ : Alexandre Meneghini/REUTERS

 

Tags: , ,