ปลายเดือนตุลาคม ต้นเดือนพฤศจิกายน ผู้คนมากมายต่างหลั่งไหลไปเมืองพุชการ์ (Pushkar) เมืองศักดิ์สิทธิ์แห่งรัฐราชาสถานของอินเดีย เพื่อเข้าร่วมเทศกาลพุชการ์ (Pushkar Fair) เทศกาลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเทศกาลหนึ่งของอินเดีย เช่นเดียวกันกับฉัน ที่กำลังมุ่งหน้าไปที่นั่น
พุชการ์เป็นหนึ่งในเมืองที่เก่าแก่ที่สุดของอินเดีย เป็นเมืองเล็กๆ ตั้งอยู่โอบล้อมทะเลสาบศักดิ์สิทธิ์ หรือทะเลสาบพุชการ์ ที่เชื่อกันว่าเกิดจากหยาดน้ำตาของพระศิวะที่ร้องไห้ออกมาหลังการจากไปของพระนางสตีอันเป็นที่รัก หรือเรื่องเล่าอีกแบบบอกว่าทะลาบสาบนี้เกิดจากกลีบดอกบัวที่พระพรหมทิ้งลงมา จึงเชื่อว่าน้ำในทะเลสาบแห่งนี้มีความศักดิ์สิทธิ์ สามารถรักษาโรค และชำระบาปได้ ประหนึ่งแม่น้ำคงคาขนาดย่อม
นี่คงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผู้คนมากมายหลั่งไหลแวะเวียนกันมาที่นี่ไม่ขาดสาย แม้ไม่ใช่ช่วงเทศกาล
ในส่วนของเทศกาลพุชการ์ หรืออีกชื่อหนึ่งที่คนรู้จักกันว่า เทศกาลอูฐ (Camel Fair) เป็นเทศกาลที่จัดขึ้นมามากกว่าร้อยปีแล้ว งานจะมีขึ้นช่วงเทศกาลศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาฮินดู ตั้งแต่ช่วงการ์ติก เอกาดาศี (Kartik Ekadashi) ถึงการ์ติกปูรณิมา (Kartik Poornima) โดยปีนี้ตรงกับวันที่ 23 ต.ค. – 4 พ.ย.
แต่เดิม เทศกาลอูฐจัดขึ้นเพียงเพื่อดึงดูดพ่อค้าอูฐให้มาซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน แต่ปัจจุบัน มีการเพิ่มกิจกรรมดนตรีและงานสังสรรค์ขึ้นมาเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว
ฉันออกเดินทางด้วยเที่ยวบินกลางคืน ไปลงที่สนามบินเมืองชัยปุระ (Jaipur) แล้วนั่งรถไฟในตอนเช้าต่อไปยังเมืองอัจแมร์ (Ajmer) อีก 2 ชั่วโมง จากนั้น ต่อรถเมล์ท้องถิ่นอีกราวหนึ่งชั่วโมงไปยังพุชการ์
ผู้คนมากมายยืนรอที่ท่ารถ แทบจะไม่รู้เลยว่ารถคันไหนเดินทางไปไหน จนกระทั่งคนขับตะโกนขึ้นมาว่า ‘พุชการ์’ คนที่ยืนรออยู่ต่างรีบกรูกันเข้ามา ฉันที่ยืนอยู่ตรงนั้นพอดีจึงโชคดีได้ขึ้นคนแรกๆ และได้ที่นั่งไปครอง ผู้คนมากมายแน่นขนัด เบียดเสียดกันเข้ามาจนเต็มคัน รถเริ่มวิ่งออกไปขณะที่ผู้หญิงคนหนึ่งที่ไม่ได้แต่งกายด้วยเครื่องแบบอะไรเริ่มทำหน้าที่กระเป๋ารถเมล์ เรียกเก็บเงินฉันด้วยราคาเพียง 12 รูปี (ประมาณ 7 บาท) นับว่าถูกและเป็นมิตรมากกับนักเดินทางสายประหยัดอย่างฉัน ที่อาจต้องทนความเบียดเสียดบ้างแต่ก็คุ้มกว่านั่งแท็กซี่ราคา 300 รูปี
รถเมล์วิ่งลัดเลาะ สองข้างทางไม่มีอะไรมากนอกจากภูเขาและทุ่งโล่งกว้างของทะเลทรายธาร์ ไม่ถึงหนึ่งชั่วโมงก็มาถึงท่ารถเมืองพุชการ์ เดินเท้าต่อไปเล็กน้อยก็เข้าสู่ตัวเมือง ทันทีที่ได้เห็น ฉันก็รู้สึกรักมันขึ้นมาทันใด ทะเลสาบเล็กๆ และอาคารบ้านเรือนหลังน้อยๆ รายรอบ เสียงบทสวดมนต์แผ่วเบา ผู้คนหลากหน้าหลายตา ทั้งคนพื้นถิ่น นักเดินทาง โยคี และชีเปลือยมาทำกิจกรรมที่ทะเลสาบ เข้าใจแล้ว ทำไมทุกคนต่างหลั่งไหลมาที่นี่ ทุกอย่างมันพอเหมาะพอเจาะไปหมด
ฉันเดินลัดเลาะเข้าไปในซอยหนึ่ง เพราะเดินทางคนเดียวจึงเลือกพักในโฮสเทลชื่อว่า Pappi Chulo ที่พักของนักเดินทางจากทุกทวีป ทั้งเอเชีย ยุโรป รวมถึงคนอินเดียเอง ภายในมีสวนเล็กๆ ให้ได้นั่งชิลระหว่างวัน รอเวลายามเย็นเพื่อจะได้เดินไปเที่ยวเมืองและเทศกาลอูฐกัน
ตอนบ่าย แดดร่มลมตก จึงออกมาเดินเล่นสำรวจเมือง ไม่มีอะไรมากมายนอกจากวัดริมน้ำและร้านค้า แต่เป็นร้านที่เห็นแล้วจะล้มละลาย เป็นเมืองที่เหมาะแต่การช็อปปิ้งอย่างแท้จริง เพราะเต็มไปด้วยของพื้นเมือง ทั้งสินค้าหนังอูฐ ร้านผ้า ร้านกระเป๋าแฮนด์เมดที่ยิ่งใหญ่อลังการ มีผ้าปักและผ้าถักเป็นร้อยแบบที่ไม่ซ้ำกันเลย นอกจากนั้นยังมีร้านขายของเล่นไม้ เครื่องประดับหิน เซรามิก ในราคาที่ไม่จำเป็นต้องต่อ แต่ถ้าต่อรองได้ก็จะดีไปอีก
ขณะเดียวกัน เดินพ้นเขตตัวเมืองไปไม่ไกลนัก ก็จะเจอลานกว้างที่เต็มไปด้วยเตนท์และอูฐนับร้อยตัว บ้างก็ตกแต่งด้วยสีสัน ผ้าสวยงาม และเทียมเกวียนให้นักท่องเที่ยวนั่ง บางส่วนก็เป็นฝูงอูฐขนาดใหญ่ที่พ่อค้าเอามาซื้อขายกัน
มีเด็กชายคนหนึ่งเดินอาสามาเป็นไกด์ให้ เรื่องนี้ต้องระวัง เพราะจะมีคนบางกลุ่มมักทำตัวเป็นมิตรกับเราเสมอเพื่อพยายามหาเงิน หรือพาเราไปร้านค้าต่างๆ เพื่อโน้มน้าวให้ซื้อสินค้า แต่ก็มีเด็กที่เป็นมิตรจริงๆ ที่อยากคุยกับนักท่องเที่ยวเพื่อฝึกภาษาอังกฤษ คราวนี้ฉันโชคดี ได้ไกด์ฟรีเดินพาไปดูส่วนต่างๆ
เทศกาลอูฐ ยังมีม้าและวัวอีกด้วย บ้างก็เอามาขายไว้ใช้งาน บ้างก็เอามาแสดงโชว์ความสวยงามเท่านั้น นักท่องเที่ยวมากมายเดินกันขวักไขว่ถือกล้องกันคนละตัว ต่างตื่นเต้นกับภาพตรงหน้าที่เห็น
และด้วยความที่พ่อค้ามาจากทั่วทุกสารทิศ จึงมีชนพื้นเมืองมากมาย ในนั้นยังมีหมองูมาเป่าปี่แสดงโชว์ซึ่งปัจจุบันนี้นับว่าหาดูได้ยากแล้ว เพราะรัฐบาลอินเดียมีมาตรการจัดการไม่ให้หมองูมาเร่รอนหากินในเมืองได้เหมือนแต่ก่อนแล้ว หมองูส่วนใหญ่เป็นชาวคาเบลเลีย ซึ่งเป็นชนเผ่าเร่ร่อน
บางครั้ง ถ้าไปเดินเล่นในเมือง จะเจอกลุ่มชาวเด็กชาวคาเบลเลียแต่งหน้าแต่งกายด้วยสีสัน เดินตามท้องถนนเรี่ยไรเงินจากผู้มาถ่ายภาพ คนท้องถิ่นบางคนก็ไล่เด็กๆ บ่นว่าพ่อแม่ของพวกเขาไม่ยอมส่งไปเรียนหนังสือ แต่จะว่าแบบนั้นก็คงไม่ได้ ชนเผ่าเร่ร่อนไม่มีบ้านพักเป็นหลักเป็นแหล่ง ฉันเห็นพวกเขานอนกันอยู่ที่ข้างถนน นั่งกินดอกกระหล่ำสดๆ ไม่ได้กินอาหารเป็นมื้อด้วยซ้ำ
ถัดมาอีกนิด มีลานกว้างที่มีอัฒจันทร์รายล้อม เรียกกันว่า Mela ground เป็นที่สำหรับกิจกรรมต่างๆ ทั้งช่วงกลางวันและกลางคืน บ้างก็มีการแสดงพื้นเมือง บ้างก็มีการคอนเสิร์ตจากศิลปินร่วมสมัย และยังมีลานเด็กเล่นที่เต็มไปด้วยม้าหมุน เครื่องเล่นต่างๆ และคณะละครสัตว์ให้เด็กๆ ได้สนุกอีกด้วย ในลานเด็กเล่นจะเต็มไปด้วยผู้คนมากมาย ทั้งเด็กท้องถิ่นและเด็กต่างถิ่นทั้งหลายที่เดินทางมากับคณะพ่อค้า บ้างก็มาขอให้นักท่องเที่ยวซื้อตั๋วให้ โดยปกติแล้วเราก็ไม่ค่อยอยากให้เงินกับเด็กที่เดินมาเรี่ยไร แต่ก็อดสงสารไม่ได้ เมื่อเด็กๆ ได้ตั๋วจากนักท่องเที่ยวใจดี ทุกคนต่างยิ้มอย่างมีความสุข เพราะอาจเป็นช่วงเดียวของปีที่เขาจะได้รับโอกาสแบบนี้
นอกจากการการโชว์อูฐแล้ว ในเทศกาลนี้ ยังมีการประกวดหนวดและเคราสวยงาม (Mustache Contest) เป็นอีกกิจกรรมที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวมากเลยทีเดียว มีทั้งผู้เข้าประกวดชาวอินเดียและฝรั่ง แต่งกายจัดเต็มมาประชันหนวดกัน ถัดจากนั้นยังมีการแข่งการผูกผ้าโพกหัว (Turban Tying Contest) โดยผู้หญิงจะเป็นคนผูกให้ผู้ชาย เป็นกิจกรรมที่เรียกเสียงหัวเราะสนุกสนานให้ทั้งผู้ชมและผู้แข่งขันเลยทีเดียว
ถัดจากตัวเทศกาลและกิจกรรมต่างๆ แล้ว ฉันเดินไปนั่งเล่นริมทะเลสาบศักดิ์สิทธิ์ มีป้ายบอกให้ถอดรองเท้าเมื่อเข้าไปใกล้เพื่อไม่ให้นำความสกปรกลงไป ชาวเมืองก็เคร่งครัดกันอย่างดี ถ้าใครย่างกรายเข้าไปในระยะห้าเมตรโดยไม่ถอดรองเท้าก็จะโดนเตือน แม้จะเป็นทางเดินที่หินตำเท้าได้ก็ตาม
ที่ทะเลสาบ มีเป็ดฝูงหนึ่งว่ายน้ำวนไปวนมา ขณะที่รอบๆ ก็มีผู้คนทำกิจกรรมกันมากมาย ทั้งคนที่มาอาบน้ำ มีโยคีแต่งกายด้วยชุดสีส้มสีเหลือง บ้างสวดมนต์ บางเอาหัวก้มจรดพื้นบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยแววตาศรัทธา มีกลุ่มคนเล่นโยคะ ขณะที่อีกมุมหนึ่ง มีกลุ่มนักตีกลอง นำโดยคนพื้นเมืองและสมาชิกหลายชนชาติ ทั้งที่ตีจนดูเชี่ยวชาญและที่เป็นขาจร ตีวนเป็นจังหวะ จนราวหนึ่งทุ่มของทุกวัน ที่ริมทะเลสาบจะเป็นเวลาของพิธีอาร์ติ (Aarti) พิธีหนึ่งของศาสนาฮินดูที่บูชาพระพรหม ทำให้บทสวดกังวานขึ้นทั่วทั้งทะเลสาบ
ทุกชีวิต ทุกกิจกรรมดำเนินไปพร้อมๆ กันจนกระทั่งแสงสุดท้ายของวันหมดลง ทุกวันเคลื่อนไหวเป็นเช่นนี้ ฉันใช้ชีวิตอย่างเอื่อยเฉื่อยในพุชการ์อย่างมีความสุข จนเผลอมองปฏิทินอีกครั้งจึงรู้ตัวว่าได้ใช้ชีวิตอยู่เมืองนี้มาเกือบสัปดาห์หนึ่งแล้ว
Tags: อินเดีย, Pushkar, Camel Fair, เทศกาลอูฐ, ท่องเที่ยว, INDIA, Travel