ความโชคดีของคนที่เกิดมาในยุคนี้คือเรามีทรัพยากรมากเพียงพอให้ใช้อย่างฟุ่มเฟือย แต่โชคร้ายที่จะเกิดขึ้นกับคนยุคหลังจากนี้ต่อไปคือ เขาจะไม่มีทรัพยากรให้ใช้ได้เพียงพอ และเราก็เริ่มเห็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่าคำพูดเหล่านี้เป็นความจริงมาหลายปีแล้วเช่นกัน
ความไม่เพียงพอที่ว่านี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากการบริโภคที่ผิดสมดุล การใช้ทรัพยากรอย่างไม่คุ้มค่าโดยไม่สร้างขึ้นใหม่เพื่อทดแทนนั้น ค่อยๆกร่อนโลกไปทีละน้อย ความต้องการที่มากขึ้น ทำให้เกิดกระบวนการผลิตที่มากขึ้น ซึ่งกระบวนการผลิตจำนวนมากในระดับอุตสาหกรรมนั้นสร้างผลกระทบทางตรงต่อสิ่งแวดล้อม และพลังงานจะถูกใช้ไปอย่างสิ้นเปลือง หากสิ่งที่ผลิตขึ้นมานั้นไม่ได้ผ่านการใช้งานอย่างคุ้มคุณค่า และเหลือทิ้งเป็นขยะที่การจัดการอย่างเกิดประสิทธิภาพนั้นยังไม่เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง
ผลกระทบที่ชัดเจนจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้คนจำนวนหนึ่งเห็นความสำคัญในการที่จะช่วยลดการใช้พลังงานและทรัพยากร ด้วยการหาแนวทางในการนำสิ่งเหลือใช้จากภาคการผลิต ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ผลิตภัณฑ์ที่ไม่อาจย่อยสลาย ไปจนถึงกากจากสิ่งเหลือใช้ ไปสร้างมูลค่าใหม่ด้วยไอเดียและนวัตกรรม ที่หวังจะช่วยให้โลกทุเลาปัญหาลงได้แบบคนละไม้ละมือ
สิ่งที่เราจะพูดถึงกันต่อจากนี้ไม่ใช่สิ่งใหม่ เพราะหากจะนับเป็นเทรนด์ ก็เป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว เพียงแต่เราอยากย้ำชวนให้ตระหนักกันอีกครั้ง เพื่อที่เทรนด์เหล่านี้จะไม่ได้เพียงแค่ผ่านมาแล้วผ่านไป แต่กลายเป็นเรื่องปกติในวิถีปัจจุบันที่ใคร ๆ ก็ทำกัน
การสร้างมูลค่าให้กับของที่ (ดูเหมือนว่า) ไร้ประโยชน์นี้ เกิดขึ้นแทบจะในทุกมิติและทุกอุตสาหกรรม ในภาคอุตสาหกรรมแฟชั่น มีเสื้อผ้าหลายแบรนด์ที่ใช้ประโยชน์จากขยะพลาสติกและเสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้วให้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเป็นเครื่องนุ่งห่มชิ้นใหม่ ขยะพลาสติก PET ถูกนำไปแปรรูปเป็นเม็ดพลาสติก เพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตเส้นด้ายสังเคราะห์ ที่ผ่านการพัฒนามาจนสามารถทำให้เส้นใยนั้นมีความใกล้เคียงเส้นใยธรรมชาติเพื่อความสบายในการสวมใส่
แฟชั่นแบรนด์ไฮสตรีต เก็บเอาไนลอนจากแหที่กลายเป็นขยะใต้ทะเลมาแปลงร่างเป็นผ้าลูกไม้ เสื้อผ้าเหลือค้างสต็อกถูกนำมาออกแบบใหม่ เพื่อให้ได้ชุดที่ไม่ต้องผ่านกระบวนการทางเคมีอีกครั้ง หรือเกิดการรวมตัวกันของกลุ่มคนรักเสื้อผ้ามือสอง ที่จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเสื้อผ้ากันใส่ เพื่อลดจำนวนการบริโภคสินค้าชิ้นใหม่และส่งแรงกระเพื่อมไปถึงภาคการผลิตว่าที่ผ่านมาเรามีการผลิตล้นความจำเป็นมากแค่ไหน
เมื่อหันมามองภาคอุตสาหกรรมอาหาร สิ่งที่เกิดขึ้นจากการผลิตที่ล้นตลาดและมากเกินจำเป็น ทำให้เกินสินค้าเหลือขายจากซูเปอร์มาร์เก็ต จึงเกิดแบรนด์อาหารรักษ์โลก ที่วางคอนเซ็ปต์เก็บกวาดวัตถุดิบที่ต้องทิ้งจากการค้างเชลฟ์ มาต่อยอดเป็นอาหารแปรรูป เช่น น้ำผลไม้บรรจุขวด ไอศกรีมที่รสชาติขึ้นกับการผสมผสานกันของวัตถุดิบที่ได้มา และไม่ได้เกิดขึ้นแต่ในต่างประเทศเท่านั้น เพราะเดี๋ยวนี้ร้านอาหารหรือบาร์เครื่องดื่มในไทยเริ่มนำไอเดียวัตถุดิบเหลือจากห้องครัว มาเป็นเครื่องดื่มแก้วใหม่หรืออาหารจานใหม่ โดยการสร้างสรรค์ของคนในแวดวงอาหารที่เข้าใจวัตถุดิบเป็นอย่างดี
เศษอาหารจากห้องครัวเป็นได้มากกว่าปุ๋ย เช่นเดียวกับน้ำมันที่เหลือจากการทำอาหาร ก็เป็นได้มากกว่าการนำมาแยกเศษแล้วเคี่ยว เพื่อเป็นวัตถุดิบในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดหรือซักล้าง ด้วยมีการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลจากน้ำมันพืช เพื่อใช้กับเครื่องยนต์ดีเซล ที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศ
นวัตกรรมนำสิ่งเหลือใช้อย่างเศษอาหาร หรือปฏิกูลที่ไม่เกิดประโยชน์ มาผลิตเป็นพลังงานทดแทน เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่ได้รับความสนใจในภาคพลังงาน เพื่อให้เกิดทางเลือกใหม่ในการใช้พลังงานสะอาดในภาคครัวเรือน ทดแทนการใช้พลังงานฟอสซิลแบบเดิม เช่น โครงการระบบก๊าซชีวภาพจากฟาร์มสุกรสู่ชุมชน ที่ ปตท. ได้นำองค์ความรู้ในการผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อใช้ร่วมกันในชุมชน โดยการส่งเสริมให้ชาวบ้านรวมกลุ่มการผลิต จากการใช้มูลของสุกรหรือมูลสัตว์อื่น ๆ ซึ่งเคยสร้างมลภาวะทางกลิ่นให้ชุมชนเป็นวัตถุดิบในการผลิต และต่อท่อส่งจ่ายไปยังครัวเรือนสมาชิกในชุมชน ที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซื้อก๊าซหุงต้ม และยังช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อีกทางหนึ่ง โดยล่าสุด ปตท. ได้รับมอบรางวัล Asia Responsible Enterprise Awards 2020 หรือ AREA 2020 ประเภท Green Leadership ซึ่งถือเป็นสิ่งยืนยันถึงความสำเร็จ ความมุ่งมั่นในการสานพลังของทั้ง ปตท. และชุมชน ในการส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานทดแทน และการใช้ประโยชน์ของพลังงานอย่างครบวงจรในระดับชุมชน
การนำสิ่งเหลือใช้มาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ตอนนี้ขยายวงไปสู่ภาคการผลิตมากขึ้น เชื่อว่าเมื่อไรก็ตามที่แนวทางนี้ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคในวงกว้างขึ้น สิ่งไร้ค่าที่เราเคยมองว่าไร้ประโยชน์ จะกลายเป็นอีกหนึ่งทรัพยากรที่เป็นที่ต้องการ ที่นอกจากจะสร้างมูลค่าใหม่แล้ว ยังช่วยเซฟโลกไปในตัว
Fact Box
โครงการ ‘หมู่บ้านก๊าซชีวภาพ’ ที่อำเภอหนองแสง จังหวัดอุดรธานี โดย ปตท. คือ ตัวอย่างของการถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องพลังงานจากของเสียอย่างเศษขยะและมูลสัตว์ ผ่านกระบวนการแปรรูปเป็นแก๊สสำหรับหุงต้มสำหรับใช้งานภายในครัวเรือน เพื่อลดค่าใช้จ่ายและลดปัญหาด้านมลภาวะต่อสิ่วแวดล้อม ซึ่งสามารถทำได้จริงและดำเนินโครงการมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 จวบจนถึงปัจจุบัน