เรื่องของ ‘ความยั่งยืน’ ค่อยๆ เขยิบเข้ามาอยู่ในกระแสหลักของยุคนี้ ที่ทุกมิติของโลกล้วนแล้วแต่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จนพาให้ระบบต่างๆ ที่ขับเคลื่อนโดยธรรมชาตินั้นแปรปรวนกันไปหมด ทุกๆ ภาคอุตสาหกรรมการผลิตจึงต้องระดมสมองคิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อสร้างทางเลือกใหม่ที่จะช่วยยืดเวลาของโลกมนุษย์ไม่ให้เดินเข้าสู่จุดที่จะวิกฤติหนักไปกว่านี้
ในภาคพลังงานซึ่งหากมองย้อนกลับไปในอดีต มนุษย์พึ่งพาพลังงานฟอสซิลเป็นหลัก ซึ่งพลังงานประเภทนี้เมื่อใช้ไปก็มีแต่จะหมดไป เพราะการเกิดขึ้นใหม่กว่าจะทดแทนกันได้นั้นต้องใช้เวลานับล้านปีกว่าการทับถมของซากพืชซากสัตว์จะสะสมกลายเป็นน้ำมันหรือถ่านหิน พลังงานหลักที่เราเคยได้พึ่งพาจึงเป็นพลังงานที่ไม่ยั่งยืน และคำว่าไม่ยั่งยืนของพลังงานนี้ก็ถูกแก้ปัญหาด้วยนวัตกรรมพลังงานทางเลือก ที่ได้จากลม น้ำ และแสงอาทิตย์ ซึ่งเกิดใหม่ได้ทุกวัน และไม่มีวันหมดไป ทั้งยังสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่ากระบวนการผลิตพลังงานแบบเดิมด้วย
(ภาพ แผงนวัตกรรมโซลาร์ลอยน้ำ)
พลังงานโซลาร์ หรือพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นพลังงานทางเลือกที่ยั่งยืน ได้รับความนิยมที่แพร่หลายมากขึ้นกว่าในอดีต เพราะด้วยนวัตกรรมที่พัฒนาต่อเนื่องจนเทคโนโลยีมีประสิทธิภาพสูงขึ้นกว่าเดิม และทำราคาได้ถูกลงตามการผลิตที่มีจำนวนมากขึ้น ทั้งข้อกังวลเรื่องการสร้างมลพิษก็มองเห็นทางออก โดยวัสดุหลักในการประกอบแผงโซลาร์เซลล์อย่างกระจกใส อะลูมิเนียม สายไฟ เหล่านี้ล้วนรีไซเคิลได้ตามปกติ ส่วนเซลล์รับแสงที่ยังเป็นข้อกังวลเพราะยังไม่มีการรีไซเคิลในประเทศไทยและต้องส่งไปรีไซเคิลที่โรงงานในต่างประเทศนั้น ก็กำลังได้รับการแก้ปัญหาโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมที่กำลังผลักดันโครงการก่อตั้งโรงงานรีไซเคิลซากโซลาร์เซล ที่หากมีการก่อตั้งได้จริงเมื่อไร คนที่เป็นห่วงเรื่องการกำจัดซากโซลาร์เซลล์ก็คงเบาใจขึ้น
ด้วยเหตุผลที่เล่ามาข้างต้นนี้เองที่ทำให้เดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะไปที่ไหน เรามักเห็นการติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคากันมากขึ้น องค์กรภาคเอกชนไปจนถึงหน่วยงานรัฐบางแห่ง เลือกใช้พลังงานแสงอาทิตย์ผลิตพลังงานไฟฟ้าในช่วงเวลากลางวัน ทำให้ลดค่าใช้จ่ายไปมากกว่าเดิม ที่แม้จะดูว่ามีราคาที่ต้องจ่ายสูงในการติดตั้ง แต่ระยะคุ้มทุนก็นานพอที่จะทำให้เราได้ใช้ไฟฟ้าฟรีอยู่อีกนับสิบปี จากอายุการใช้งานของแผงผลิตพลังงานที่มีการรับประกันอยู่ที่ 25 ปีเป็นอย่างน้อย
นอกจากแผงผลิตโซลาร์บนหลังคา แหล่งน้ำจืดก็เป็นแหล่งสำคัญในการติดตั้งแผงโซลาร์ลอยน้ำบนทุ่นลอยน้ำ ซึ่งการติดตั้งบนผืนน้ำ ทำให้ช่วยลดพื้นที่การติดตั้งบนดินในกรณีที่บริเวณนั้นไม่มีหลังคาอาคาร เขื่อนบางแห่งในประเทศไทยอย่างเขื่อนศรีนครินทร์ ซึ่งเป็นเขื่อนที่ใช้พลังงานน้ำในการผลิตกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ ก็มีการติดตั้งโซลาร์ลอยน้ำอยู่เหนือเขื่อนด้วยเช่นกัน
หลายคนอาจสงสัยว่า ในเมื่อเราติดตั้งโซลาร์เซลล์บนแหล่งน้ำจืดได้ หากจะติดตั้งโซลาร์เซลล์ในน้ำทะเลเล่าจะเป็นไปได้ไหม เราเองก็เคยมีความสงสัยในข้อนี้ เพราะด้วยคุณสมบัติของน้ำทะเล และระดับน้ำทะเลที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทั้งยังมีปัจจัยของความสูงคลื่น ความเร็วลมอีก จะสร้างความเสียหายต่อวัสดุที่ใช้ประกอบการติดตั้งหรือเปล่า กระทั่งได้เห็นโครงการนำร่องการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดลอยน้ำทะเลของ กลุ่ม ปตท. ก็กระจ่างในคำตอบ
(ภาพ แผงนวัตกรรมโซลาร์ลอยน้ำ ที่นำมาติดตั้งยังกลางทะเล)
เพราะการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในทะเลครั้งแรกนี้ ได้มีการพัฒนานวัตกรรมเม็ดพลาสติกเกรดพิเศษเพื่อนำมาผลิตทุ่นลอยน้ำ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสัตว์ทะเลด้วย โดยเม็ดพลาสติกชนิดนี้มีชื่อว่า InnoPlus HD8200B มีความแข็งแรงทนทานต่อแรงกระแทกและขึ้นรูปได้ง่าย มีการเพิ่มสารต้านการยึดเกาะและลดการสะสมของเพรียงทะเล แต่ก็มีความปลอดภัยเพราะเป็นวัสดุที่ได้รับรองตามมาตรฐานการสัมผัสอาหาร และทนทานต่อการใช้งานกลางแจ้งด้วยสารเติมแต่งที่ป้องกันรังสียูวี ทำให้อายุการใช้งานของทุ่นซึ่งทำหน้ารองรับระบบการผลิตไฟฟ้าที่ต้องลอยอยู่กลางทะเลนี้ มีอายุการใช้งานนานอย่างน้อย 25 ปี ซึ่งนานเทียบเคียงกับอายุของแผงผลิตที่มักจะมีอายุการใช้งานรับประกันที่ 25 ปีเช่นกัน
นับจากนี้ไปสู่อนาคต หากเราจะได้เห็นระบบการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งอยู่กลางแหล่งน้ำหรือกลางทะเลมากขึ้นก็คงไม่ใช่เรื่องชวนประหลาดใจกันอีกต่อไป เพราะนวัตกรรมพลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คือสิ่งที่ตอบโจทย์สถานการณ์ของโลกปัจจุบันได้ดีอย่างไม่ต้องหาเหตุผลใดมาทัดทาน
Tags: PTT, LiveForEnergy, floatingsolar