แม้ว่าไม่ใช่ทุกเหตุการณ์ในอดีตที่เราจะสามารถจดจำ หรือบันทึกเป็นความทรงจำในระยะยาวได้ แต่เคยสังเกตหรือไม่ว่า หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแบบกะทันหันโดยไม่ทันตั้งตัว กลับเป็นสิ่งที่เราจดจำได้อย่างแม่นยำ ถึงขั้นจำบรรยากาศและความรู้สึกขณะนั้นได้ทุกครั้งที่ย้อนนึกถึง

จากข้อสงสัยดังกล่าว มีงานวิจัยที่ชื่อ ‘Spatiotemporal dynamics of noradrenaline during learned behaviour’ โดยสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) เปิดเผยว่า สาเหตุเป็นเพราะเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดหรือเกิดอย่างกะทันหัน จะส่งผลให้ร่างกายหลั่งสารนอร์อิพิเนฟริน (Norepinephrine) ซึ่งส่งผลต่อการจดจำเหตุการณ์ในอดีตโดยตรง

ทั้งนี้ นอร์อิพิเนฟริน คือสารเคมีที่เป็นทั้งฮอร์โมนและสารสื่อประสาทในกลุ่มแคตทีโคลามีน (Catecholamines) ซึ่งจะกระตุ้นประสาท เพิ่มความตื่นตัว เพิ่มความสนใจ โดยสารดังกล่าวจะผลิตจากก้านสมองโลคัสคอรูลีอัส (Locus Coeruleus) เป็นบริเวณที่เชื่อมต่อกับสมองส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องกับการตอบสนองทางอารมณ์และความเครียด และส่งไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย

งานวิจัยดังกล่าว ได้ทำการทดลองกับหนูทดลองจำนวนหนึ่ง โดยหากพวกมันดันคันโยกเมื่อได้ยินเสียงที่แหลมสูง ก็จะได้รางวัลตอบแทนเป็นอาหาร แต่หากดันคันโยกหลังได้ยินเสียงต่ำทุ้ม จะถูกลมเป่าใส่หน้ากะทันหันและไม่มีรางวัลตอบแทน ซึ่งจากการทดลองและสังเกตพฤติกรรมระยะหนึ่ง พบว่า หนูเหล่านี้เริ่มจดจำเหตุการณ์และเรียนรู้ อันนำไปสู่การดันคันโยกเฉพาะเมื่อได้ยินเสียงสูงเพียงเท่านั้นได้อย่างรวดเร็ว

“หนูพวกนั้นต้องการอาหาร อีกทั้ง เมื่อร่างกายเริ่มตอบสนองต่อสิ่งเร้า (ลมที่กระแทกเข้าหน้า) ก้านสมองโลคัสคอรูลีอัสเริ่มกระตุ้นความรู้สึกทางร่างกายให้เกิดการจดจำ เพื่อหลีกเลี่ยงการเจอพฤติกรรมนั้นอีก ทำให้พวกมันเรียนรู้ได้เร็วมากขึ้นว่า หากจะได้อาหารและไม่ถูกลมเป่าหน้า ต้องดันคันโยกหลังได้ยินเสียงแหลมสูงเท่านั้น” มริกานกา ซูร์ (Mriganka Sur) หนึ่งในทีมวิจัยกล่าวถึงผลการทดลองที่เกิดขึ้น

สิ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อทำการทดลองต่อไป แต่เปลี่ยนให้ก้านสมองโลคัสคอรูลีอัสถูกบล็อกโดยวิธีทางชีววิทยาแบบพันธุศาสตร์เชิงแสง (Optogenetics) ส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถหลั่งสารนอร์อิพิเนฟรินได้ ผลปรากฏว่าหนูทดลองนั้นไม่ได้เกิดการเรียนรู้ และยังดันคันโยกหลังจากได้ยินเสียงที่ทุ้มต่ำต่อไป

รูปแบบการทำงานของร่างกายในส่วนนี้จึงอาจเป็นหนึ่งหนทางที่ช่วยพัฒนาการเรียนรู้ของมนุษย์ในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งขณะนี้สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ ก็ได้ทำการศึกษาผ่านอีกงานวิจัยที่ชื่อ ‘Locus Coeruleus Norepinephrine in Learned Behavior: Anatomical Modularity and Spatiotemporal Integration in Targets’ เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างการทำงานของระบบ LC-NE (Locus coeruleus-Norepinephrine) โดยการศึกษาดังกล่าวจะครอบคลุมไปถึงการหลั่งสารกระตุ้นและฮอร์โมนชนิดอื่นๆ เพิ่มเติมเช่น สารโดพามีน (Dopamine)

หากการวิจัยเหล่านี้พัฒนามากขึ้น ก็อาจนำไปสู่การปรับปรุงวิธีเรียนและสอน รวมถึงเสริมสร้างทักษะการจดจำของมนุษย์ในระดับที่ก้าวกระโดดในอนาคตข้างหน้าได้

ที่มา:

https://www.psychologytoday.com/…/surprise-why…

https://www.frontiersin.org/…/fncir.2021.638007/full

https://www.nature.com/articles/s41586-022-04782-2

Tags: , ,