เจ้าของสุนัขส่วนใหญ่มักจะมีภาพจำว่าสัตว์เลี้ยงตัวโปรดภายในบ้าน คือสิ่งมีชีวิตขี้เซาที่มีกิจวัตรเป็นการนอนที่ค่อนข้างมากในแต่ละวัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะมีงานวิจัยพยายามหาคำตอบจนค้นพบว่า สาเหตุที่พวกมันนอนหลับได้อย่างสบายใจเช่นนี้ เป็นเพราะพวกมันผูกพันและไว้วางใจว่าเจ้าของจะสามารถคุ้มครองและดูแลพวกมันได้

อ้างอิงจากงานวิจัย ‘Attachment towards the Owner Is Associated with Spontaneous Sleep EEG Parameters in Family Dogs’ จากมหาวิทยาลัย Eötvös Loránd ประเทศฮังการี ระบุว่า ความผูกพันและความไว้วางใจของสุนัขต่อเจ้าของ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพในการนอนหลับ เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับพ่อแม่

งานวิจัยได้ใช้รูปแบบการทดสอบ Strange Situation Test ซึ่งคิดค้นโดย แมรี เอนสเวิร์ท (Mary Ainsworth) ในปี 1970 เพื่อสังเกตความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ดูแล โดยการทดลองแบ่งเป็น 2 ช่วง ในตอนแรกจะให้เด็กเข้ามาอยู่ในห้องแคบพร้อมกับผู้ดูแล จากนั้นจึงจะให้คนแปลกหน้าเข้ามาพูดคุยโต้ตอบกับเด็ก และทำการทดลองอีกครั้งหนึ่ง โดยคราวนี้เด็กจะต้องอยู่ในห้องเพียงลำพัง ก่อนจะให้คนแปลกหน้าเข้ามาพูดคุยโต้ตอบกับเด็กอีกครั้ง ซึ่งตลอดการทดลองจะมีการบันทึกวิดีโอเพื่อสังเกตพฤติกรรมของเด็ก และประมวลผลออกมา

ผลปรากฏว่า ในการทดลองครั้งแรก เด็กมีปฏิกิริยาที่เต็มใจในการสื่อสาร รวมไปถึงการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การเล่นของเล่นภายในห้องมากกว่าการต้องอยู่กับคนแปลกหน้าเพียงลำพัง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการมีผู้ดูแลอยู่จะทำให้เด็กรู้สึก ‘อุ่นใจ’ เป็นพิเศษ และเมื่อทีมวิจัยนำรูปแบบการทดลองมาใช้กับสุนัข ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็เป็นไปในลักษณะเดียวกันอย่างน่าประหลาด

การทดลองกับสุนัข 42 ตัวในงานวิจัยครั้งนี้ นอกจากจะประเมินจากพฤติกรรมแล้ว ทีมวิจัยยังได้ติดตั้ง Electroencephalography (EEG) หรือเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าสมอง โดยการทดลองครั้งแรก สุนัขกับเจ้าของจะต้องทดสอบกิจวัตรต่างๆ ในห้องแล็บ รวมถึงการนอนหลับ ส่วนการทดลองอีกครั้งพวกมันต้องทำกิจกรรมและหลับนอนเพียงลำพัง

เมื่อพิจารณาจากบันทึกคลื่นไฟฟ้าสมอง พบว่าคลื่นไฟฟ้าสมองมีการสั่น 8-12 รอบต่อวินาที ซึ่งหมายถึงอาการนอนหลับที่ไม่ลึก ไปไม่ถึงขั้น REM หรือ NREM ที่ช่วยให้ร่างกายได้รับการฟื้นฟูอย่างเต็มประสิทธิภาพ

ทีมวิจัยระบุว่า การทดลองที่เกิดขึ้นสอดคล้องกับความสัมพันธ์กับเจ้าของอย่างมีนัยสำคัญ เพราะเทียบจากการทดลองครั้งแรกที่พวกมันสามารถหลับได้ลึกมากกว่า อาจเป็นเพราะสุนัขเหล่านี้รู้สึกปลอดภัยที่มีเจ้าของอยู่เคียงข้าง กลับกัน ในการทดลองครั้งที่ 2 พวกมันไม่สามารถหลับได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากมีความกังวลว่าจะมีภัยอันตรายเกิดขึ้นระหว่างนอน ร่างกายจึงต้องเตรียมพร้อมที่จะตื่นอยู่ตลอดเวลา

ที่มา:

https://www.psychologytoday.com/…/can-poor-relationship…

https://www.mdpi.com/2076-2615/12/7/895/htm

Tags: , , ,