มนุษย์มักกำหนดมาตรฐานความสวยงาม (Beauty Standard) เพื่อกำหนดว่าหน้าตาใดหรือมีลักษณะอย่างไรจึงจะสวยงามและน่ารักตรงตามมาตรฐานของสังคม หากไม่ตรงกับมาตรฐานความสวยงามก็อาจจะถูกประณาม ล้อเลียน และถูกเลือกปฏิบัติได้ ในเวลาเดียวกัน สายตาของมนุษย์ที่มองต่อสัตว์สายพันธุ์ต่างๆ ก็มีความลำเอียงในด้านศีลธรรมและมักเลือกปฏิบัติต่อสัตว์ที่มีลักษณะน่ารักและสวยงามเช่นกัน

เพราะเหตุใดมนุษย์จึงสนใจและต้องการปกป้องสัตว์ที่หน้าตาน่ารักมากกว่าสัตว์ที่หน้าตาน่าเกลียด หนึ่งในคำอธิบายคือ สัตว์น่ารักทำให้เรานึกถึงเด็กทารก มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ชี้ว่าสัตว์ที่มีลักษณะหน้าตาเช่น ตาโตและใบหน้าที่นุ่มนวลน่าสัมผัส จะกระตุ้นสัญชาตญาณการความเป็นพ่อแม่ของมนุษย์

จากงานวิจัยของ แคทารีนา โพสซิโดนิโอ (Catarina Possidónio) จาก ISCTE – University Institute of Lisbon ได้ทำการทดลองโดยให้ชาวโปรตุเกสวัยผู้ใหญ่จำนวน 509 คน ให้คะแนน 1 ถึง 7 ต่อภาพสัตว์ 120 รูปใน 11 ด้าน ได้แก่

  1. การมองในแง่บวก/แง่ลบ 

  2. ความรู้สึกตื่นตัวเมื่อพบเห็น 

  3. ความคุ้นเคย 

  4. ความเหมือนมนุษย์ 

  5. อันตราย 

  6. ความน่ารัก 

  7. การกินได้ 

  8. ความสามารถในการรู้คิด 

  9. ความสามารถในการรับรู้ถึงความเจ็บปวด 

  10. การยอมรับการฆ่าเพื่อการบริโภค

  11. ความรู้สึกห่วงใยและต้องการปกป้อง 

จากงานวิจัยนี้ พบว่าความวิตกกังวลด้านศีลธรรม (Moral Concern) และการปกป้องสัตว์ มีความเกี่ยวข้องกับความน่ารักมากกว่าปัจจัยอื่นๆ เช่น โลมาและโคอาล่าสมควรได้รับการดูแลมากกว่าสัตว์สายพันธุ์อื่นที่หน้าตาน่ารักน้อยกว่า เช่น ค้างคาวและหมูป่า

และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น (University of Melbourne) นำโดย คริสตอฟ เคลเบิล (Christoph Klebl) ได้สำรวจปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อความชอบของมนุษย์ต่อสัตว์บางชนิดที่มีมากกว่าสัตว์ชนิดอื่นๆ โดยปรากฏการณ์นี้เรียกว่า ‘อคติที่น่าดึงดูด’ (Attractiveness Bias) โดยเคลเบิลได้ใช้ภาพถ่ายในฐานข้อมูลของ Animal Images เพื่อดูว่าอคติที่น่าดึงดูดสำหรับมนุษย์สามารถนำมาใช้ในการมองสัตว์ได้หรือไม่

การทดลองครั้งแรกมีจุดมุ่งหมายเพื่อพิจารณาว่า ความสวยงามส่งผลต่อความวิตกกังวลทางศีลธรรม โดยไม่ขึ้นกับความสามารถทางสติปัญญาของสัตว์และความเป็นอันตรายต่อมนุษย์ โดยในการทดลองได้ให้อาสาสมัครเป็นชาวอเมริกันวัยผู้ใหญ่จำนวน 540 คน ให้คะแนนภาพ 10 ภาพจาก 120 ภาพ โดยใช้หลักเกณฑ์คะแนนจาก 0 (ไม่เลย) ถึง 10 (มากที่สุด) แบ่งเป็น 3 ประเภทคือ ความรู้ความเข้าใจ ความอันตราย และความสวยงาม 

นักวิจัยพบว่าความวิตกกังวลทางศีลธรรม ที่มีต่อสายพันธุ์หนึ่งมีความเกี่ยวข้องอย่างมากกับรูปลักษณ์ความสวยงามและมุมมองของเราที่มีต่อศักยภาพด้านการรู้คิด กล่าวโดยสรุปคือ เรามักจะห่วงใยและกังวลกับสัตว์ที่มีความสวยงามมากว่าสัตว์ที่น่าเกลียด แม้ว่าสัตว์ที่น่าเกลียดจะสามารถทนทุกข์และสัมผัสกับความสุขได้ และมีอันตรายต่อมนุษย์ก็ตาม

และในการทดลองครั้งที่ 2 ได้มีการเพิ่มสมมติฐานเพื่อย้ำให้เห็นถึงความชัดเจนว่า ความสวยงามเป็นสาเหตุของการเลือกปฏิบัติในเรื่อง ‘ความกังวลทางศีลธรรม’ (Moral Concern) ในสัตว์สายพันธุ์ต่างๆ โดยวิธีการทดลองได้เลือกภาพ 7 คู่ของสัตว์สายพันธุ์ต่างๆ จากฐานข้อมูลของ Animal Images ในแต่ละคู่จะจับคู่ให้สัตว์ในแต่ละภาพมีความสวยงามและความน่าเกลียดไม่แตกต่างจนเกินไป และนำอาสาสมัครชาวอังกฤษวัยผู้ใหญ่จำนวน 377 คนมาประเมิน โดยอาสาครึ่งหนึ่งจะให้คะแนนสัตว์ที่หน้าตาสวยงาม 7 ตัว และอีกครึ่งจะให้คะแนนกับสัตว์ที่หน้าตาน่าเกลียด 7 ตัว เพื่อจัดอันดับความงามและสถานะทางจริยธรรม อาสาสมัครจะต้องตอบคำถามทางศีลธรรมประกอบอีก 5 ข้อ เช่น จะผิดศีลธรรมขนาดไหน หากต้องฆ่าสัตว์ตัวนี้

ผลวิจัยในครั้งที่ 2 แสดงให้เห็นว่า คะแนนทางศีลธรรมของสัตว์สวยงามทั้ง 7 ตัว สูงกว่าคะแนนของสัตว์น่าเกลียดทั้ง 7 ตัว แม้ว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะมีความฉลาดหรือมีความสามารถในการรับรู้ความเจ็บปวดหรืออันตรายต่อมนุษย์เหมือนกันก็ตาม

การวิจัยนี้ทำให้เกิดคำถามน่าสนใจมากมายตามมา เช่น วัฒนธรรมที่แตกต่างออกไปส่งผลต่อความน่าดึงดูดของสัตว์สายพันธุ์อย่างไร วัวจะถูกมองว่าน่าดึงดูดในอินเดียมากกว่า เพราะเป็นสัญลักษณ์ของความศักดิ์สิทธิ์หรือไม่ หรือการแต่งภาพให้สัตว์ที่น่าเกลียดแต่ใกล้สูญพันธุ์ดูน่ารักหรือสวยขึ้นจะทำให้ผู้คนมีแนวโน้มที่จะบริจาคเงินเพื่อช่วยไม่ให้สัตว์พวกนี้สูญพันธุ์ได้หรือไม่ 

นอกจากนี้ยังทำให้ได้เรียนรู้ว่า มนุษย์ยังคงมีความลำเอียงในการเลือกปฏิบัติต่อสิ่งมีชีวิตที่หน้าตาสวยงามและน่ารักกว่าเสมอ ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์สายพันธุ์ต่างๆ ก็ตาม

Tags: , , ,