“คุณเคยนั่งทำงานอยู่แล้วคิดภาพตัวเองนอนอาบแดดอยู่ที่ฮาวายไหม?”
“จะเป็นอย่างไรถ้าเราบังเอิญติดอยู่ในลิฟต์กับศิลปินที่ชอบ แล้วได้พูดคุยกันจนสนิทสนม”
“สมมติว่ามีเงินในบัญชีสัก 10 ล้าน จะแต่งบ้านเป็นสไตล์นอร์ดิก คลีนๆ วางโซฟาใหญ่ไว้ตรงนี้ ตั้งเตาผิงไฟไว้ตรงนั้น”
พอได้เริ่มต้นคิดแล้วก็เติมเรื่องราวไปได้เป็นฉากๆ ไม่รู้จบ ให้นั่งคิดทั้งวันยังได้ พาตัวเองเข้าไปสู่ห้วงแห่งจินตนาการไร้ขีดจำกัด ที่ไม่มีเงื่อนไขทางการเงิน และความเป็นจริงของชีวิตเข้ามาเกี่ยวข้องให้หงุดหงิด
สิ่งนี้เรียกว่า ‘Daydreaming’ หรือ ‘การฝันกลางวัน’
ดร.แมตทิว เอ. คิลลิงสเวิร์ท (Matthew A. Killingsworth) นักวิทยาศาสตร์ผู้วิจัยด้านพฤติกรรมมนุษย์ นิยามการฝันกลางวันไว้ในงานวิจัยชื่อ ‘จิตใจที่พเนจรล่อยลอย คือจิตใจที่เป็นทุกข์ (A Wandering Mind Is an Unhappy Mind)’ ว่าเป็นอาการที่จิตใจสูญเสียสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่ทำอยู่ เนื่องจากความเบื่อหน่ายหรือหมดความสนใจต่อสิ่งตรงหน้า ระบบความคิดจึงไหลเข้าสู่โหมดหลีกหนีความเป็นจริง โดยท่าทีภายนอกแสดงออกมาในลักษณะเหม่อลอย
งานวิจัยบ่งชี้ว่าอาการฝันกลางวัน อาจเกิดขึ้นเมื่อเซลล์ประสาทในสมองเริ่มทำงานในลักษณะคล้ายกับการนอนหลับ เพราะจากการให้อาสาสมัครรุ่นเยาว์ที่มีสุขภาพแข็งแรง มาทำงานค่อนข้างน่าเบื่อที่ต้องใช้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง พบว่าพวกเขาหันเหความสนใจไปยังสิ่งอื่นอย่างรวดเร็ว
หลังการตรวจสอบคลื่นสมองของผู้ร่วมทดลอง ประกอบกับการจดคำรายงานด้วยตนเองของพวกเขา เกี่ยวกับระดับความจดจ่อต่อสิ่งที่กระทำอยู่ พบว่าในช่วงที่พวกเขาเริ่มสูญเสียสมาธิ สมองบางส่วนจะเข้าสู่โหมดที่เหมือนกับการนอนหลับ เหมือนเป็นสภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่นทางความคิด
ในแง่ดี Daydreaming สามารถใช้เพื่อคลายความเหงา ความเบื่อหน่าย ฝึกฝนความสร้างสรรค์ การวางแผน และการแก้ปัญหาได้ แต่ข้อเสียก็มีอยู่มากเช่นกัน
ข้อมูลในงานวิจัยดังกล่าวระบุว่า มนุษย์ใช้เวลากว่า 30% ในแต่ละวัน ล่องลอยไปคิดเรื่องอื่น ซึ่งนั่นทำให้พวกเขาเสียเวลาทำสิ่งสำคัญในชีวิตประจำวัน และ 2.5% ของผู้ร่วมทดลองมีอาการฝันกลางวันมากจนลดความสามารถในการทำงาน เพราะพวกเขาจะไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งที่ทำได้นาน
งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งชื่อ ‘อาการฝันกลางวันแบบปรับตัวไม่ได้: หลักฐานความผิดปกติทางจิตที่ยังไม่ได้รับการวิจัย (Maladaptive Daydreaming: Evidence for an under-researched mental health disorder)’ เผยแพร่บนเว็บไซต์ของสำนักพิมพ์เอลส์เวียร์ (Elsevier) บอกเล่าถึงอาการฝันกลางวันรุนแรงที่อาจพัฒนาไปเป็นความผิดปกติทางจิตได้ว่า การฝันกลางวันทั่วไปจะเกิดขึ้นเพียงชั่วขณะหรือหลักวินาที
แต่คนที่มี ‘อาการฝันกลางวันแบบปรับตัวไม่ได้’ หรือ Maladaptive Daydreaming จะใช้เวลาอยู่ในความคิดแฟนตาซีของตนนานเป็นชั่วโมงอย่างหมกมุ่น พวกเขาสามารถสร้างเรื่องราว ตัวละคร รายละเอียดที่ซับซ้อนประหนึ่งการสร้างภาพยนตร์ในหัวของตนเอง และพวกเขาจะรู้สึกหงุดหงิดหากมีใครรบกวนช่วงเวลาการฝันกลางวันนี้
ผลเสียของอาการนี้คือผู้ที่มีอาการดังกล่าวมากจนเกินไปจะไม่สามารถลำดับความสำคัญในชีวิตจริงได้ ขาดความสนใจในการสร้างความสัมพันธ์ในชีวิตจริง ละทิ้งเป้าหมาย เกลียดปัจจุบันของตนเอง ซึ่งสามารถพัฒนาไปเป็นอาการผิดปกติทางจิตได้ เช่น โรคสมาธิสั้น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า และโรคย้ำคิดย้ำทำ ส่วนผลกระทบทางร่างกายคือจะส่งผลกับการนอนหลับ
ในด้านของสาเหตุ ผู้วิจัยได้ข้อสันนิษฐานว่าอาการฝันกลางวันแบบปรับตัวไม่ได้ อาจเกิดขึ้นจากการเสพติด เมื่อจิตใจพบว่าวิธีนี้สามารถหลีกเลี่ยงอารมณ์ด้านลบและความทุกข์ได้ จึงจะเริ่มมีการทำซ้ำเรื่อยๆ จนควบคุมไม่ได้
อย่างไรก็ตาม การฝันกลางวันยังไม่นับว่าเป็นอาการทางจิตเวช แต่สามารถบำบัดได้ด้วยการพูดคุยกับจิตแพทย์ เพื่อให้เข้าใจถึงที่มาของปัญหาที่ทำให้เสพติดการฝันกลางวัน และฝึกสมาธิให้กลับมาจดจ่อกับปัจจุบันขณะให้ดีขึ้นได้
ที่มา
Tags: ฝันกลางวัน