งานศิลปะถือเป็นสื่อที่ช่วยขับกล่อม เยียวยา และบรรเทาจิตใจ พาให้ความรู้สึกและอารมณ์ล่องลอยคล้อยไปตามจุดมุ่งหมายของศิลปินที่สรรค์สร้างงาน จึงเป็นเหตุให้หลายคนมีไลฟ์สไตล์ที่ชื่นชอบการเดินหอศิลป์ (Art Museum) เพื่อซึมซับอารมณ์บวกอยู่บ่อยครั้ง
แต่รู้หรือไม่ว่า นอกจากความสุขทางใจที่เกิดขึ้นแล้ว ร่างกายของมนุษย์ก็ได้รับการเยียวยาผ่านการเสพงานศิลปะโดยตรงด้วยเช่นกัน
อ้างอิงจากงานวิจัยในปี 2006 ที่ชื่อ ‘Normalisation of salivary cortisol levels and self-report stress by a brief lunchtime visit to an art gallery by London City workers’ ที่ได้บันทึกฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) หรือฮอร์โมนแห่งความเครียด ทั้งก่อนและหลังของผู้ที่มาชมงานศิลปะที่หอศิลป์ Guildhall Art Gallery จำนวน 28 คน ผลปรากฏว่ากว่า 45 เปอร์เซ็นต์ มีระดับฮอร์โมนในน้ำลายที่ลดลง
สอดคล้องกับงานวิจัยในปี 2020 ที่ชื่อ ‘Influence of an Art Museum Visit on Individuals Psychological and Physiological Indicators of Stress’ ที่ให้ผู้ทดลองจำนวน 31 คนไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ศิลปะ Bellevue ในเมืองซีแอตเทิล สหรัฐอเมริกา ในช่วงพักกลางวันระหว่างการทำงาน ผลปรากฏว่ากว่า 72 เปอร์เซ็นต์ มีความเครียดในการทำงานช่วงบ่ายลดลง
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยในปี 2019 ที่ชื่อ ‘Visits to figurative art museums may lower blood pressure and stress’ ที่ตรวจสอบความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจของผู้เข้าร่วมทดสอบก่อนและหลังการเข้าชมงานศิลปะในหอศิลป์ จำนวน 77 คน โดยระหว่างการเยี่ยมชมงานศิลปะมีการประเมินความดันเลือดเมื่อหัวใจเต้น (Systolic Blood Pressure) พบว่ามีอัตราที่ลดลง อีกทั้งแรงดันเลือดในขณะที่หัวใจคลายตัว (Diastolic Blood Pressure) ก็มีอัตราที่ลดลงด้วยเช่นกัน ซึ่งแสดงถึงความสงบและปราศจากความเครียดที่เกิดขึ้นในร่างกาย
จากงานวิจัยทั้งสามชิ้น จึงอาจสรุปได้ว่า การเดินหอศิลป์เสพงานศิลปะ นอกจากจะเป็นการสร้างความบันเทิง กระตุ้นความรู้สึกในเชิงศิลป์แล้ว ยังเป็นอีกหนึ่งวิธีในการผ่อนคลายร่างกาย และลดความเครียดที่เกิดขึ้นอยู่ในช่วงขณะนั้นได้เป็นอย่างดี
ที่มา
https://www.psychologytoday.com/…/can-visiting-art…
https://www.researchgate.net/…/252281628_Normalisation…
https://www.washington.edu/…/influence-of-an-art…/
https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/31038442/
Tags: พิพิธภัณฑ์, Psychology, หอศิลป์, Phenomena