การค้าบริการทางเพศในเยอรมนีก้าวมาถึงขีดสุดของความเป็นไปได้ ทั้งแบบเปิดเผยและปิดซ่อน แบบออนไลน์และออฟไลน์ ฟังดูไม่ต่างจากประเทศไทยที่การค้าประเวณีเป็นที่รับรู้ของสังคม เพียงแต่ไม่มีใครใส่ใจในรายละเอียด
จำนวนโสเภณีในเยอรมนี
อย่างน้อยคนเยอรมันก็ตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบ แม้จะเป็นคำตอบที่ไม่เป็นทางการ คาดกันว่ามีโสเภณีทำงานอยู่ในเยอรมนีระหว่าง 100,000-400,000 คน สมาพันธ์แรงงานผู้ประกอบการเกี่ยวกับอีโรติกและเพศสัมพันธ์ (BesD หรือ Berufsverband erotische und sexuelle Dienstleitung e.V.) ให้คำตอบเพิ่มเติมเกี่ยวกับจำนวนโสเภณีด้วยว่า ผู้หญิงหลายคนเคยค้าประเวณีเพียงครั้งสองครั้ง
ตัวเลขจากการคาดเดาเมื่อปี 2013 ระบุจำนวนโสเภณีและแหล่งประกอบการ อาทิ
- ซ่องโสเภณี ราว 89,500 คน (รวมทั้งบาร์ คลับ ซ่อง ห้องนวด และปาร์ตี้ตามนัดหมาย)
- โสเภณีริมถนน ราว 71,600 คน (ในจำนวนนี้รวมถึงผู้ติดยา และโสเภณีชั่วคราว)
- บริการโฮสเตส ราว 60,000 คน (ประกอบด้วยนางและนายทางโทรศัพท์ ซ่องในที่พัก ลงประกาศตามสื่อ)
- และโสเภณีทั่วไป อีกราว 179,000 คน (ให้บริการตามสถานที่และความถนัดแตกต่างกัน เช่น โรงแรม บาร์เต้น โรงหนังเซ็กซ์ หรือเซ็กซ์ทางโทรศัพท์ เป็นต้น)
จำนวนนักเที่ยวผู้ใช้บริการก็เช่นกัน มีตัวเลขจากการคาดเดาจำนวนผู้ซื้อบริการในแต่ละวัน ในปี 2013 พบว่ามีจำนวน 1-1.2 ล้านคน ค่าบริการเฉลี่ย 50 ยูโร (ราว 2,000 บาท) สำหรับการมีเพศสัมพันธ์ในซ่องโสเภณี 25 ยูโร (ราว 1,000 บาท) สำหรับเซ็กซ์ข้างถนนและหมวด ‘โสเภณีอื่นๆ’ ส่วนบริการโฮสเตสอยู่ที่ 100 ยูโร (ราว 4,000 บาท)
กว่าจะมาเป็นโสเภณี
โสเภณีถือเป็นงานอาชีพที่ได้รับการคุ้มครองหรือไม่? ผู้หญิงให้บริการทางเพศด้วยความสมัครใจหรือถูกบังคับให้ทำ? คำถามเหล่านี้คือประเด็นอภิปรายของนักวิชาการ นักการเมือง นักสังคมสงเคราะห์ และนักกิจกรรมในเยอรมนี และประเทศอื่นๆ
Undine de Riviere เจ้าของบล็อก Bizarrlady Undine Hamburg เล่าประสบการณ์ของตัวเองผ่านบล็อก ระหว่างกำลังศึกษาสาขาฟิสิกส์ เธอเริ่มเข้าสู่อาชีพขายบริการทางเพศ ทำไปจนกระทั่งเรียนจบ แต่ก็ยังคงเป็นโสเภณีอยู่ นับถึงวันนี้ก็ 23 ปีแล้ว ปัจจุบันเธอมีสตูดิโอเป็นของตัวเอง รวมทั้งเป็นบล็อกเกอร์ เขียนเกี่ยวกับประเด็นการค้าประเวณีในเยอรมนี และกำลังจะมีผลงานหนังสือ Mein Huren-Manifest: Inside Sex-Business เล่าถึงชีวิตและประสบการณ์ของเธอระหว่างโลดแล่นอยู่ในย่านโคมแดง
เธอยอมรับว่า สาเหตุที่เธอเข้ามาในอาชีพค้าประเวณีเพราะความอยากรู้อยากเห็น และด้วยความสมัครใจ กระทั่งเธอหลงใหลในงานอาชีพจนไม่คิดอยากจะไปทำอะไรอย่างอื่นอีกเลย
Undine de Reviere จัดอยู่ในกลุ่มโสเภณีที่เรียกค่าตอบแทนสูงกว่า 40 ยูโร (ราว 1,600 บาท) ค่าตัวของเธออยู่ที่ 150 ยูโร (ราว 6,000 บาท) ต่อครึ่งชั่วโมง
Undine de Riviere ยอมรับว่า สาเหตุที่เธอเข้ามาในอาชีพค้าประเวณีเพราะความอยากรู้อยากเห็น และด้วยความสมัครใจ กระทั่งเธอหลงใหลในงานอาชีพจนไม่คิดอยากจะไปทำอะไรอย่างอื่นอีกเลย
ส่วนอิงเกบอร์ก เคราส์ (Ingeborg Kraus) สำหรับเธอแล้วเรื่องราคาค่าตัวไม่ใช่ประเด็นสำคัญ นักจิตบำบัดผู้นี้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับสภาพจิตหลอนจากการค้าประเวณี คลินิกของเธอรักษาผู้หญิงโดยเฉพาะ และมีความเห็นว่า ในโลกนี้ไม่มีโสเภณีคนไหนสมัครใจทำอาชีพนี้ แต่มักเกิดจากการถูกข่มขืนกระทำชำเรา เธอจึงไม่เห็นด้วยกับการให้มีการค้าประเวณีในเยอรมนี และควรถือสวีเดนเป็นประเทศตัวอย่าง ที่นั่นมีกฎหมายห้ามค้าประเวณีมานานถึง 20 ปีแล้ว
ผู้หญิงจำนวนเท่าไหร่ที่ถูกบังคับให้ค้าประเวณี – เป็นคำถามที่เคราส์เองก็ไม่สามารถตอบได้ แม้กระทั่งข้อมูลจากหน่วยอาชญากรรมของรัฐ ซึ่งรายงานเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ในเยอรมนีก็ยังไม่สามารถระบุตัวเลขที่แน่ชัดได้ จะมีก็เพียงตัวเลขจากคดีความที่เกิดขึ้น เช่น
- ปี 2016 มีผู้เสียหาย 488 รายจากการค้ามนุษย์เพื่อการค้าประเวณี 95 เปอร์เซ็นต์เป็นเพศหญิง
- ผู้เสียหายส่วนใหญ่มีพื้นเพจากเยอรมนี บัลแกเรีย และโรมาเนีย
- ผู้เสียหายส่วนใหญ่จำเป็นต้องพึ่งพาผู้กระทำผิด ทั้งด้านการเงินและอารมณ์เสน่หา
- ผู้ใช้บริการหลายคนติดต่อโสเภณีผ่านทางอินเทอร์เน็ต จึงเป็นสาเหตุหนึ่งของความเสี่ยงว่าจะเป็นการค้าประเวณีโดยถูกบังคับ รวมถึงผู้เสียหายวัยต่ำกว่า 18 ปีด้วย
- ในปี 2016 ผู้เสียหายถึง 44 เปอร์เซ็นต์อายุต่ำกว่า 21 ปี และมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึงหนึ่งในสี่เมื่อเทียบกับปี 2015 (เพิ่มจาก 77 ราย เป็น 96 ราย)
วิธีปฏิบัติของรัฐบาลเยอรมนีต่อปัญหาโสเภณี
กฎหมายว่าด้วยโสเภณีผ่านมติสภาเยอรมันเมื่อปี 2002 กำหนดให้มีข้อตกลงกันระหว่างโสเภณีและผู้ใช้บริการ กิจกรรมทางเพศที่มีค่าตอบแทนจะต้องเป็นที่พอใจกันทั้งสองฝ่าย หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง ให้ถือว่าฝ่ายนั้นกระทำผิด
แต่ก่อนหน้าปี 2002 นั้นช่างดูแตกต่าง – แม้การค้าประเวณีจะไม่ใช่สิ่งต้องห้ามหรือผิดกฎหมาย ทว่าก็ถือเป็นเรื่องผิดศีลธรรม จึงไม่มีกฎหมายรองรับสิทธิใดๆ ของผู้ที่เกี่ยวข้อง ล่าสุดมีการปรับแก้กฎหมายและมีผลบังคับใช้เมื่อปี 2017 และมีเนื้อหาสรุป เช่น
- การเข้าถึงศูนย์บริการข้อมูลด้านสุขภาพ โสเภณีทุกคนมีสิทธิได้รับคำปรึกษาด้านสุขภาพจากสถานบริการของรัฐ
- การรายงานตัว โสเภณีทุกคนต้องเข้ารายงานตัวต่อหน่วยงานรัฐ ซึ่งต้องแจ้งทั้งชื่อ-นามสกุล และข้อมูลจากศูนย์บริการด้านสุขภาพที่ขึ้นทะเบียนไว้
- ผู้หญิงจะได้รับใบแจ้ง ที่รับรองการทำงาน และจะต้องพกติดตัวไว้ตลอดเวลา หรือที่เรียกว่า ‘บัตรประจำตัวโสเภณี’
- ข้อบังคับใช้ถุงยางอนามัย การมีเพศสัมพันธ์จะต้องใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง
- การขึ้นทะเบียนซ่องโสเภณี ใครก็ตามที่ต้องการเปิดกิจการซ่อง จะต้องขอใบอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐ
- การควบคุมซ่องโสเภณี จากการขึ้นทะเบียนทำให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถตรวจสอบและควบคุมได้ดีกว่า
- มาตรการป้องกัน ข้อกำหนดตามกฎหมายใหม่จะทำให้รัฐสามารถป้องกันการค้าประเวณีที่ผิดกฎหมายได้
ผู้หญิงจะได้รับใบแจ้ง ที่รับรองการทำงาน และจะต้องพกติดตัวไว้ตลอดเวลา หรือที่เรียกว่า ‘บัตรประจำตัวโสเภณี’
การค้าประเวณีในประเทศเพื่อนบ้านของเยอรมนี
สวีเดนออกกฎหมายห้ามการซื้อประเวณีมาตั้งแต่ปี 1998 ผู้หญิงอาจจะเสนอขายบริการทางเพศได้ก็จริง แต่ผู้ชายห้ามซื้อบริการ หากซื้อก็จะมีความผิดตามกฎหมาย ส่วนผู้ขายบริการไม่มีความผิด ดังนั้น ผู้ที่คิดประกอบการค้าประเวณีในสวีเดน จะมีอำนาจต่อรองเหนือกว่าผู้ซื้อ
ฝ่ายไม่เห็นด้วยวิพากษ์ว่า กฎหมายทำให้ตลาดการค้าประเวณีเปลี่ยนไปจากเดิมเท่านั้น แต่ไม่ได้ทำให้หายไป แถมยังทำให้เกิดกระบวนการใหม่ เช่นการเสนอบริการทางเพศให้กับคนต่างชาติผ่านทางอินเทอร์เน็ต และหญิงสาวที่มีปัญหายาเสพติดจะถูกชักจูงเข้ามาในวังวนเพิ่มขึ้น ผู้ซื้อบริการเองก็เปลี่ยนไปจากเดิม ลูกค้านิสัยดีจะหายไป เหลือแต่ลูกค้าที่มีพฤติกรรมน่ารังเกียจ
ส่วนฝ่ายที่เห็นด้วยก็ว่า กฎหมายใหม่ทำให้ตลาดการค้าประเวณีในประเทศหดเล็กลง นอกจากนั้นยังส่งผลทางด้านศีลธรรมด้วย นั่นคือ ทำให้ทัศนคติของประชาชนที่มีต่อโสเภณีเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น
อ้างอิง:
Zeit Online
investigativ.welt.de
blog.bizarrlady-undine-hamburg.de
Tags: เยอรมนี, โสเภณี, การค้าประเวณี