“A house is made of bricks and beams. A home is made of hopes and dreams.”
เชื่อได้ว่าการมีบ้านเป็นของตนเองนั้นเป็นความปรารถนาของคนส่วนใหญ่ แต่ด้วยเงื่อนไขในการดำรงชีวิตและสภาพแวดล้อมต่างๆไป เงื่อนไขของการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองก็แปรเปลี่ยนตามไปด้วย
การมีชีวิตอยู่ในสังคมเมืองไม่ว่าในประเทศไหนในโลกนี้ การมีบ้านสักหลังเป็นของตัวเองเป็นเรื่องยากขึ้นทุกที เพราะที่ดินนั้นต่างได้ถูกจับจองไปมากแล้ว ยิ่งเป็นผืนดินในทำเลใกล้เมืองซึ่งเดินทางสะดวก การแย่งชิงเป็นเข้าของทำให้ราคาที่ดินในเมืองถีบตัวสูงขึ้นไปไกล เกินชนชั้นกลางทั่วไปจะคว้ากรรมสิทธิ์มาครอง
การเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอาคารชุดพักอาศัย ไม่ว่าจะเป็นอพาร์ตเมนต์หรือคอนโดมิเนียมจึงเป็นตัวเลือกที่เป็นที่นิยมสำหรับชนชั้นกลางรุ่นใหม่ แต่ราคาของอาคารชุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคอนโดมิเนียมนั้น ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้การเป็นเจ้าของคอนโดมิเนียมสักห้องของชนชั้นกลางไทยกลายเป็นเรื่องยากกว่าเดิม
และที่สำคัญคือแม้จะเป็นเจ้าของได้ แต่ก็อาจต้องแลกมาด้วยชั่วโมงการทำงานที่แสนยาวนาน
แม้จะเป็นเจ้าของได้ แต่ก็อาจต้องแลกมาด้วยชั่วโมงการทำงานที่แสนยาวนาน
เว็บไซท์ Numbeo ได้ทำการสำรวจและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับค่าครองชีพและสภาพการอยู่อาศัยของประเทศต่างๆ กว่า 8,500 เมืองทั่วโลก ใน 90 ประเทศ และมีผู้ร่วมให้ข้อมูลกว่า 300,000 ราย ผลสำรวจพบว่าราคาต่อตารางเมตรของอาคารชุดในเขตเมืองของไทยอยู่ที่ประมาณ 117,530.82 บาท แพงเป็นอันดับ 27 จาก 90 ประเทศ และราคาของอาคารชุดนอกเขตเมืองของไทยอยู่ที่ประมาณ 61,350.96 บาท แพงเป็นอันดับ 33 ในขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อเดือนหลังหักภาษีของคนไทยในกลุ่มสำรวจอยู่ที่ประมาณ 20,054.43 บาทต่อเดือน ซึ่งเป็นอันดับที่ 55 จาก 90 ประเทศ
ซึ่งตัวเลขนี้แสดงให้เห็นว่าคนไทยไม่ได้มีรายได้ต่อเดือนมากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่น (อันดับอยู่ครึ่งล่างของการสำรวจ) แต่ต้องซื้อที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดในราคาที่ค่อนข้างสูง (ราคาที่อยู่อาศัยอยู่ครึ่งบนของการสำรวจ) เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ
ดังนั้นเมื่อคิดเทียบราคาต่อตารางเมตรของอาคารชุดต่อเงินเดือนหนึ่งเดือน จะพบว่าราคาของอาคารชุดของไทยถือว่าอยู่ในอันดับที่สูงมาก เมื่อเทียบกับรายได้ของคนในประเทศ คืออยู่ในอันดับ 7 ในกรณีของอาคารชุดในเมือง และอยู่ในอันดับ 8 ในกรณีของอาคารชุดนอกเมือง ส่วนประเทศที่มีราคาที่อยู่อาศัยแพงที่สุดในโลกคือ ฮ่องกงและสาธารณรัฐประชาชนจีนตามลำดับ
ตารางที่ 1 ราคาต่อตารางเมตรของห้องชุดเทียบกับเงินเดือน 1 เดือนของประเทศต่างๆ
ประเทศ | ราคาต่อ ตร.ม. / เงินเดือน | ประเทศ | ราคาต่อ ตร.ม. / เงินเดือน | |||
---|---|---|---|---|---|---|
ในเมือง | นอกเมือง | |||||
1 | Hong Kong | 11.40 | 1 | Hong Kong | 7.46 | |
2 | China | 7.60 | 2 | China | 3.84 | |
3 | Sri Lanka | 6.97 | 3 | Sri Lanka | 3.70 | |
4 | Nepal | 6.82 | 4 | Taiwan | 3.60 | |
5 | Taiwan | 6.12 | 5 | Algeria | 3.47 | |
6 | Algeria | 5.92 | 6 | Nepal | 3.37 | |
7 | Thailand | 5.86 | 7 | Colombia | 3.24 | |
8 | Philippines | 5.57 | 8 | Thailand | 3.06 |
|
9 | Singapore | 5.47 | 9 | Brazil | 2.87 | |
10 | Vietnam | 5.18 | 10 | Philippines | 2.83 | |
11 | Serbia | 4.69 | 11 | Uruguay | 2.74 | |
12 | Azerbaijan | 4.62 | 12 | Serbia | 2.73 | |
13 | South Korea | 4.50 | 13 | Singapore | 2.72 | |
14 | Brazil | 4.20 | 14 | Vietnam | 2.53 | |
15 | Iran | 4.19 | 15 | Chile | 2.48 |
ที่มา: Numbeo database คำนวณและจัดอันดับโดยผู้เขียน (มีการตัดประเทศเวเนซูเอลาออกเนื่องจากมีปัญหาวิกฤตค่าเงิน)
เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ผู้เขียนนำข้อมูลชุดเดียวกันนี้มาวิเคราะห์เพิ่มเติม โดยเลือกประเทศตัวอย่าง 17 ประเทศ คละกันจาก 3 กลุ่ม ได้แก่ ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงกับไทย ประเทศในกลุ่มที่พัฒนาแล้ว และประเทศที่ได้ชื่อว่ามีคุณภาพชีวิตของประชากรดีอันดับต้นๆ ของโลก (ดังตารางที่ 2) พบว่าการเป็นเจ้าของอาคารชุดเล็กห้องหนึ่งที่มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 30 เมตรนั้น คนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ต้องจ่ายเงินเท่ากับ 175.82 เท่าของเงินเดือน (ใช้เวลาทำงานประมาณ 14.65 ปี) ในกรณีอาคารชุดในเมือง และต้องจ่ายเงิน 91.78 เท่าของเงินเดือน (ประมาณ 7.65 ปี) ในกรณีอาคารชุดนอกเมือง ซึ่งตัวเลขดังกล่าวนี้สูงเป็นสองเท่าของประเทศเพื่อนบ้างอย่างมาเลเซีย และสูงกว่าหลายๆ ประเทศในโลก ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เยอรมนี ออสเตรเลีย นอร์เวย์ เป็นต้น ในขณะที่ประเทศที่มีราคาที่อยู่อาศัยเทียบกับเงินเดือนสูงกว่าไทย ได้แก่ ฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน และไต้หวัน
ตารางที่ 2 ราคาห้องชุดขนาด 30 ตารางเมตรเทียบกับเงินเดือนหนึ่งเดือนของประเทศต่างๆ
ประเทศ | ราคาห้องชุดในเขตเมือง 30 ตร.ม. (บาท) | ราคาห้องชุดในเขตเมืองต่อเงินเดือน 1 เดือน | ประเทศ | ราคาห้องชุดนอกเขตเมือง 30 ตร.ม. (บาท) | ราคาห้องชุดนอกเขตเมืองต่อเงินเดือน 1 เดือน | |||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|
1 | Hong Kong | 27523178.1 | 342.0674508 | 1 | Hong Kong | 6710.592563 | 223.6864188 | |
2 | China | 6680965.5 | 228.139755 | 2 | China | 3457.537102 | 115.2512367 | |
3 | Taiwan | 7454442.6 | 183.659661 | 3 | Taiwan | 3238.558478 | 107.9519493 | |
4 | Thailand | 3525924.6 | 175.817742 | 4 | Thailand | 2753.300094 | 91.77666979 |
|
5 | Singapore | 15917685.3 | 164.2403163 | 5 | Singapore | 2451.801912 | 81.72673041 | |
6 | Vietnam | 2011541.4 | 155.5351994 | 6 | Vietnam | 2277.431043 | 75.91436809 | |
7 | South Korea | 10516522.5 | 135.1471985 | 7 | South Korea | 2088.739377 | 69.62464589 | |
8 | Indonesia | 1082822.4 | 102.661911 | 8 | Indonesia | 1725.943308 | 57.53144359 | |
9 | Japan | 7779083.4 | 91.71259498 | 9 | Japan | 1342.378935 | 44.74596449 | |
10 | India | 1378476 | 89.02054386 | 10 | United Kingdom | 1324.593612 | 44.15312039 | |
11 | Malaysia | 2072753.1 | 74.08931668 | 11 | Italy | 1319.27461 | 43.97582034 | |
12 | Italy | 4085611.2 | 73.77025151 | 12 | India | 1303.33518 | 43.44450601 | |
13 | Germany | 5261345.1 | 62.52635418 | 13 | Malaysia | 1270.512049 | 42.35040164 | |
14 | United Kingdom | 4820508 | 61.19955758 | 14 | Germany | 1263.96301 | 42.13210033 | |
15 | Norway | 6678668.7 | 59.26599782 | 15 | Norway | 1213.45451 | 40.44848368 | |
16 | Australia | 5268819.6 | 53.75834181 | 16 | Australia | 1142.465269 | 38.08217564 | |
17 | United States | 2440577.7 | 24.45826444 | 17 | United States | 531.7435016 | 17.72478339 |
ที่มา: Numbeo database คำนวณและจัดอันดับโดยผู้เขียน, แปลงเป็นบาทด้วยอัตรา 33 บาทต่อ 1 ดอลลาร์
นอกจากการคำนวณเปรียบเทียบข้างต้นแล้ว ยังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญมากเกี่ยวกับรายจ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งการครอบครองที่อยู่อาศัย นั่นคืออัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งหากนำอัตราดอกเบี้ยมาคำนวณร่วมด้วยจะได้ผลดังตารางที่ 3 กล่าวคือ อันดับของราคาห้องชุดเมื่อรวมดอกเบี้ยแล้วของไทยจะอยู่ในอันดับ 4 เท่าเดิม แต่เมื่อพิจารณาอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ 5.69% พบว่าเมื่อเทียบกับอีก 16 ประเทศที่เหลือในกลุ่มตัวอย่าง ประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยสูงกว่าไทยมีเพียงสามประเทศเท่านั้น ได้แก่ อินเดีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย ซึ่งเมื่อรวมผลของอัตราดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 30 ปีแล้ว จะทำให้ราคาห้องชุดรวมดอกเบี้ยต่อเงินเดือนของไทยในกรณีอาศัยในเขตเมืองสูงกว่ามาเลเซีย 2.7 เท่า, สูงกว่าสิงคโปร์และเกาหลีใต้ 1.6 เท่า สูงกว่าประเทศในแถบยุโรปอย่างอิตาลีและสหราชอาณาจักรกว่าสามเท่า เป็นต้น
ตารางที่ 3 ราคาห้องชุดขนาด 30 ตารางเมตรรวมผลของอัตราดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 30 ปีเทียบกับเงินเดือน 1 เดือนของประเทศต่างๆ
ประเทศ | ดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับที่อยู่อาศัย | ราคาห้องชุดในเขตเมืองรวมดอกเบี้ย ต่อเงินเดือน | ประเทศ | ดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับที่อยู่อาศัย | ราคาห้องชุดนอกเขตเมืองรวมดอกเบี้ย ต่อเงินเดือน | |||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|
1 | Hong Kong | 2.39% | 479.56 | 1 | Hong Kong | 2.39% | 313.59 | |
2 | China | 5.04% | 442.90 | 2 | China | 5.04% | 223.75 | |
3 | Vietnam | 8.70% | 438.50 | 3 | Vietnam | 8.70% | 214.02 | |
4 | Thailand | 5.69% | 366.96 | 4 | Thailand | 5.69% | 191.55 | |
5 | Indonesia | 8.51% | 284.44 | 5 | Indonesia | 8.51% | 159.40 | |
6 | India | 9.41% | 267.37 | 6 | Taiwan | 1.93% | 142.29 | |
7 | Taiwan | 1.93% | 242.08 | 7 | India | 9.41% | 130.48 | |
8 | Singapore | 2.08% | 220.92 | 8 | South Korea | 3.47% | 112.13 | |
9 | South Korea | 3.47% | 217.66 | 9 | Singapore | 2.08% | 109.93 | |
10 | Malaysia | 4.54% | 135.78 | 10 | Malaysia | 4.54% | 77.61 | |
11 | Japan | 1.33% | 111.27 | 11 | United Kingdom | 3.25% | 69.18 | |
12 | Italy | 2.36% | 103.01 | 12 | Australia | 4.46% | 69.14 | |
13 | Australia | 4.46% | 97.60 | 13 | Italy | 2.36% | 61.41 | |
14 | United Kingdom | 3.25% | 95.88 | 14 | Norway | 2.63% | 58.52 | |
15 | Norway | 2.63% | 85.75 | 15 | Germany | 1.89% | 55.23 | |
16 | Germany | 1.89% | 81.97 | 16 | Japan | 1.33% | 54.29 | |
17 | United States | 4.30% | 43.57 | 17 | United States | 4.30% | 31.58 |
ที่มา: Numbeo database คำนวณและจัดอันดับโดยผู้เขียน รายละเอียดการคำนวณดอกเบี้ยอาจมีรายละเอียดบางประการต่างจากการคำนวณของธนาคารในแต่ละประเทศ
บ้านเป็นความปรารถนาของคนส่วนใหญ่ก็จริง แต่ข้อมูลข้างต้นทำให้เห็นว่าการจะซื้อบ้านให้สมปรารถนานั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย โดยเฉพาะในกรณีของคนไทย แม้ว่าบางคนจะทำได้ แต่อาจต้องแลกมาด้วยชั่วโมงการทำงานโดยเฉลี่ยที่สูงกว่าคนอีกหลายๆ ประเทศกว่าจะได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในบ้านหรือห้องชุดสักหลังหนึ่ง
Tags: คอนโดมิเนียม, condominium, ดอกเบี้ย, เงินเดือน, ชนชั้นกลาง, อสังหาริมทรัพย์