Produce x 101 เป็นรายการเซอร์ไววัลที่รวมผู้แข่งขันที่เป็นเด็กฝึกของแต่ละค่ายจำนวน 101 คน มารวมกันเพื่อคัดเกรดความสามารถ A,B,C,D และ X ตามลำดับโดยคณะกรรมการแล้วให้ผู้ชมทางบ้านโหวต เปรียบเสมือนให้ผู้ชมทางบ้านเป็นโปรดิวเซอร์ระดับชาติที่มีหน้าที่ร่วมก่อตั้งวงบอยแบนด์ จากการคัดเลือกเด็กฝึกจากทั้งทางค่ายและเด็กฝึกอิสระ
สำหรับซีซั่นที่ 4 นี้ พิเศษยิ่งขึ้นตรงที่ว่าจะเป็น สมาชิก 10 คนแรกจะมาจากผลโหวตสัปดาห์สุดท้าย ส่วนคนสุดท้ายจะมาจากผลโหวตสะสมที่รวมกันมาตั้งแต่อาทิตย์แรกจนถึงอาทิตย์ประกาศผล (เคยมีกรณีในซีซั่นก่อนๆ ที่ผู้แข่งขันตัวท็อปที่ทุกคนมั่นใจว่าจะได้เดบิวต์แน่ๆ แต่กลับแผ่วปลายในการโหวตรอบสุดท้าย ก่อให้เกิดดราม่ากันยกใหญ่) นั่นยิ่งเป็นการการันตีความดังของวงที่ก่อตั้งใหม่ เพราะมีคนสุดท้ายที่เป็นตัวยืนยันว่าเป็นผู้ที่มีความนิยมจากผู้ชมทางบ้าน จากกระบวนการข้างต้นนั้นทำให้เหมือนกับว่าผู้ชมมีสิทธิตัดสินชะตากรรมของวง ยิ่งส่งผลให้รายการเป็นที่นิยมอย่างมาก
ด้วยความที่รายการเผยให้ผู้ชมเห็นวิธีการผลิตไอดอล อันแทบจะเป็นสูตรสำเร็จของแทบทุกวง นั่นคือต้องมีตำแหน่ง หน้าตาของวง, ความสามารถของวง (ร้อง,เต้น,แรพ) และความสามารถ X (ที่รวมทั้งด้านร้องและแรพ) ซึ่งเพิ่มขึ้นมาในซีซั่นนี้ ทั้งหมดนี้ทำให้ผู้ชมเห็นการผลิต ‘สินค้าบันเทิง’ อย่างเป็นรูปธรรม และก็ต้องยอมรับว่ารูปลักษณ์ภายนอกยังคงเป็นสิ่งแรกที่จะสามารถช่วงชิงแอร์ไทม์อันน้อยนิดจากการหันกล้องไปที่ตัวบุคคลได้ ดังนั้นถ้าหากไม่ใช่เป็นคนหล่อที่จะสามารถสะกดใจโปรดิวเซอร์ระดับชาติก็ต้องมีบุคลิกน่ารักน่ามอง (อ้างอิงจากซีซั่นที่แล้วอย่าง ปาร์คจีฮุน หรือ วิงค์บอย ที่มีกระแสจากการขยิบตาในเพลงแรกของซีซั่นจนสามารถเรียกคะแนนความนิยมได้จนติด 1 ใน สมาชิกวง Wanna One แน่นอนว่าทางรายการตั้งใจตัดต่อให้ผู้ชมได้เห็นภาพนั้น)
สิ่งที่เราเห็นในรายการ Produce x 101 นี้เอง สอดคล้องกับความพยายามของสื่อในการที่จะสร้างภาพลักษณ์ผู้ชายที่มีความอบอุ่น อ่อนหวาน ตั้งแต่เสื้อผ้า หน้า ผม ไปยันบุคลิกและการแสดงออกต่อกันที่สุดแสนจะน่ารักน่าทะนุถนอม ไปจนถึงการดูแลตัวเองอย่างเช่นการหยิบแป้งพัฟ ลิปสติก ออกมาเติมหน้าขณะออกอากาศกันเป็นปกติ รวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างเด็กฝึกด้วยกันเองที่มีลักษณะเป็นเหมือน ‘คู่จิ้น’ ที่มาเซอร์วิสผู้ชมด้วยโมเมนต์หวานๆ ทำให้ผู้ชมรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งในการเฝ้ามองคนเหล่านี้ตลอดรายการ จนสามารถเกิดความรู้สึกร่วมต่อพวกเขาตั้งแต่ในรายการจนกระทั่งจบรายการและออกไปประกอบอาชีพไอดอลในภายภาคหน้า
ความต้องการที่จะเห็นผู้ชายในอุดมคติ ผ่านการตัดสินชะตากรรมเด็กฝึกที่จะเข้ามาเป็นบอยแบนด์ระดับชาตินั้น เป็นหนึ่งในขั้นตอนสำคัญในการสร้างค่านิยมเกี่ยวกับผู้ชายผ่าน soft power ซึ่งหนึ่งในบุคลิกโดดเด่นที่ได้รับความนิยมคือกลุ่ม Flower Boy (kkonminam) ที่เป็นเป็นคำศัพท์เฉพาะที่ใช้ในวัฒนธรรมเกาหลี ไว้ใช้เรียกบุคคลที่มีลักษณะน่าทะนุถนอมทั้งร่างกายที่บอบบางและหน้าตาน่ารักเหมือนกับผู้หญิงจนหลายครั้งแทบแยกไม่ออก แน่นอนว่านิยามนี้ช่างขัดต่อความเป็นชายส่วนใหญ่ในประเทศ รวมถึงแตกต่างโดยสิ้นเชิงจาก ภาพลักษณ์ที่ถูกเหมารวมไว้ว่าผู้ชายเกาหลีมักจะใช้ความรุนแรง ภายใต้ลักษณะบึกบึน ห้าวหาญ ภายใต้สังคมชายเป็นใหญ่อย่างที่เราเห็นข่าวกันมานักต่อนัก
ซึ่งลักษณะของ Flower Boy นี่เองกลายเป็นที่นิยมของเด็กสาวบางกลุ่ม และทำให้อุตสาหกรรมบันเทิงในเกาหลีไม่ว่าจะอุตสาหกรรมดนตรี ซีรี่ส์ หรือ ภาพยนตร์ ผลิต ‘ผู้ชาย’ ในลักษณะนี้ออกมาเรื่อยๆ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ผู้ชายในอุดมคติและภาพจำอีกแบบหนึ่งที่ขัดแย้งต่อภาพจำจริงๆ ของผู้ชายในสังคมอยู่ไม่น้อย
จากการสำรวจเรื่องความรุนแรงในครัวเรือนของผู้ชายเกาหลีใต้ตั้งแต่ปี 1997 แสดงให้เห็นแนวโน้มของผู้เป็นสามีที่จะทำร้ายคนในครอบครัว และถึงแม้ว่าจะผ่านมากว่า 20 ปี การใช้ความรุนแรงในครอบครัวก็ไม่ได้มีทีท่าว่าจะลดลงเลย เห็นได้จากงานวิจัยเมื่อปี 2017 จาก Korean Institute of Criminology พบว่าผู้ชายกว่าเกือบ 80% สารภาพว่าพวกเขาเคยทำร้ายทั้งทางร่างกายและจิตใจของแฟนสาวขณะที่มีความสัมพันธ์กัน
อีกตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดและเป็นข่าวครึกโครมระดับโลกก็คือ การแอบตั้งกล้องถ่ายตามที่สาธารณะไปจนถึงการแอบถ่ายขณะที่มีเพศสัมพันธ์กัน จนถึงกรณี Burning Sun คดีของซึงรี และไอดอลคนอื่นที่เกี่ยวข้องอีกหลายคนกับคดีนี้ ที่ไม่เพียงแต่ทำให้วงการบันเทิงเกาหลีใต้ต้องสั่นสะเทือน มันยังสะท้อนให้เห็นภาพรวมของสังคมเกาหลีใต้ที่มีผู้ชายเป็นใหญ่และกดทับผู้หญิงอยู่ตลอดเวลา แต่เมื่อหันกลับมามองสื่อบันเทิงอย่างเช่นรายการ Produce แห่งนี้ เราแทบไม่เห็นภาพนั้นเลย (เด็กฝึกคนหนึ่งที่มีข่าวลือว่าเคยรังแกเพื่อนขณะที่เรียนไฮสคูล ก็เป็นที่ไม่อาจยอมรับได้ในสังคมจนต้องถูกให้ออกจากรายการและค่ายเพลงที่ตนสังกัดอยู่ แต่สิ่งที่สังคมรับไม่ได้นี่เองกลับดูเหมือนจะเกิดขึ้นทั่วไปในชีวิตจริง)
การสร้างผู้ชายในอุดมคติผ่านสื่อต่างๆ จึงกลายเป็นเหตุผลใหญ่ทางการตลาด ที่ในขณะเดียวกันมันก็เป็นการกู้วิกฤตศรัทธาของผู้หญิงเกาหลีที่มีต่อผู้ชายด้วย สื่อเหล่านี้พยายามหยิบยื่นอุดมคติแบบใหม่เพื่อเยียวยาผู้หญิง และสร้างความหวังให้ผู้หญิงที่ถูกกดทับว่ายังมีผู้ชายใจดีๆ แบบนี้อยู่นะ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นการอยู่ (อย่างมีความหวัง) ไปวันๆ ในสังคมที่ทำอะไรกับอำนาจนั้น (แทบ) ไม่ได้เลย ความพยายามสร้างภาพลักษณ์ของผู้ชายในแบบ Flower Boy ไม่ว่าจะทั้งในวงการไอดอลหรือภาพยนตร์บันเทิงของเกาหลี นัยหนึ่งมันจึงเป็นการสร้างภาพฝันเพื่อให้ผู้หญิงหลบหนีออกจากโลกความเป็นจริง
อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจของรายการ Produce x 101 คือการให้อำนาจกับผู้ชมที่ส่วนใหญ่แล้วเป็นผู้หญิงให้มีสิทธิ ‘เลือก’ ผ่านการโหวตของตนเอง พวกเธอสามารถรู้สึกถึงการมีส่วนร่วมในการสร้างหรือปั้นวงไอดอลระดับชาติด้วยตัวเอง เธอได้กลายเป็นผู้ผลักดันให้ผู้ชายก้าวไปสู่ความสำเร็จได้ พวกเขาต้องพึ่งพาพวกเธอเพื่อจะกลายเป็นไอดอล นั่นหมายถึง นอกจากการเยียวยาจิตใจกันด้วยภาพฝันสวยๆ งามๆ แล้ว รายการยังพยายามเยียวยาจิตใจในขั้นแอดวานซ์โดยให้ผู้หญิงเองรู้สึกได้ถึง ‘อำนาจ’ ที่อาจจะอยู่ไกลห่างสักหน่อยในชีวิตจริง
มองเผินๆ ดูเหมือนว่าผู้หญิงมีอำนาจในการตัดสินว่าพวกเธออยากเห็นผู้ชายแบบไหนเป็น ‘ไอดอล’ ของสังคมได้ แต่แท้ที่จริงแล้วอำนาจนั้นไม่ได้ทรงพลังมากไปกว่าการเลือกจากบรรดาตัวเลือกที่ถูกจัดสรรมาให้แล้ว อีกทั้งที่มาของอำนาจก็ตกอยู่ในกรอบของทุนนิยมอีกทีหนึ่ง (แน่นอนว่าการโหวตนั้นต้องใช้เงิน) ซึ่งทำให้เห็นลักษณะการพยายามหลบหนีที่หนีไม่พ้นของผู้ชม (หรือผู้หญิง) ที่ไม่เพียงแต่ตกอยู่ใต้อำนาจของผู้ชายในโลกความเป็นจริง แต่ยังไปตกอยู่ภายใต้โลกอำนาจทุนนิยมจากนายทุนอีกทีหนึ่งอีกด้วย
ยิ่งช้ำไปกว่านั้น เมื่อที่สุดแล้วไอดอลหลายรายก็ทำให้แฟนคลับอกหักจากข่าวสารพัดที่คอยปรากฏให้เห็น ภาพของไอดอลชายหล่อเท่แถมยังเป็นคนดี —แม้บางคนจะแบดหน่อยๆ แต่เนื้อแท้ก็ยังเป็นคนดี — ภาพเหล่านี้อาจเปรียบเสมือนฟองสบู่ที่รอวันแตกและยิ่งไกลห่างจากความจริงไปเรื่อยๆ …การอยู่รอดของผู้หญิงในสังคมชายเป็นใหญ่มันต้องซับซ้อนขนาดนี้เลยหรือ?
อ้างอิง:
https://mydramalist.com/article/2013/04/19/the-origin-of-the-flower-boy-trend
Tags: TheMoJu