*บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาการ์ตูน

Lookism คือหนึ่งในการ์ตูนยอดนิยมทางเว็บตูน ผลงานของนักเขียนการ์ตูนเกาหลีใต้ ที่ถ้าพูดกันอย่างหยาบๆ คือการ์ตูนที่กลุ่มตัวเอกเต็มไปด้วยคนหน้าตาดี จิตใจดี แถมต่อสู้เก่ง คนธรรมดาในเรื่องก็มักจะหน้าตาธรรมดาๆ ตัวละครที่ดู creepy หน่อย หน้าตาก็จะดูออกไปทำนองนั้น หรือถ้าเป็นตัวร้ายที่หน้าตาดี เขาก็มักจะมีมุมเท่ๆ ให้คนอ่านได้ว้าวได้กรี๊ด นับว่าเป็นอะไรที่ย้อนแย้งกับชื่อเรื่องสุดๆ (แต่ถามว่าอ่านแล้วติดไหม ผู้เขียนเองก็ติดตามรายสัปดาห์มาจนถึงตอนที่ 233 แล้วล่ะ)

เรื่องคร่าวๆ คือ ปาร์คฮยองซอก เด็กหนุ่ม อ้วน เตี้ย บ้านจน หัวไม่ดี ขี้แพ้ โดนบูลลี่อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แต่แล้ววันหนึ่งเขากลับได้รับพรวิเศษ เมื่อหลับไป วิญญาณของเขาจะตื่นขึ้นมาในอีกร่างหนึ่งที่สมบูรณ์แบบในทางกายภาพ การมีสองร่างทำให้เขามีโอกาสได้รับการปฏิบัติเยี่ยงคนหน้าตาดีอย่างที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อนในชีวิต ขณะเดียวกันก็ยังคงถูกมองข้ามเมื่อกลับมาอยู่ในร่างเดิม ในที่สุดเขาจึงได้เริ่มชีวิตใหม่ที่โรงเรียนใหม่ เขาใช้ร่างหล่อไปเรียนในตอนกลางวัน แล้วใช้ร่างเดิมในการทำงานพาร์ทไทม์ที่ร้านสะดวกซื้อตอนกลางคืน ต้องปรับจูนอารมณ์ตัวเองทุกครั้งที่ตื่น ชีวิตกลางวันกลางคืนต่างกันราวฟ้ากับเหว

จากเนื้อเรื่องตอนต้นที่วนเวียนอยู่กับชีวิตในโรงเรียนและการคบเพื่อน หลังๆ เริ่มพัวพันไปถึงเรื่องของแก๊งอันธพาล การต่อยตี และการแย่งชิงอำนาจ ในบทความนี้เราจะขอพูดถึงประเด็นการมีสองร่างของฮยองซอกเป็นหลัก เพราะนี่เป็นทั้งจุดเด่นที่ทำให้เราสนใจอ่านเรื่องนี้ตั้งแต่ต้น แล้วก็พยายามติดตามมาตลอดว่าผู้เขียนจะให้ทางลงกับประเด็นนี้อย่างไรดี เพราะเห็นได้ชัดว่าฮยองซอกร่างหล่อกลายเป็นคุณค่าของตัวตนฮยองซอก (ถ้ามีแต่ฮยองซอกร่างเดิม เขาคงไม่สามารถพัฒนาตัวเองให้ไปถึงจุดที่เป็นอยู่ในเรื่องได้) และร่างหล่อๆ ของฮยองซอกกับผองเพื่อน ก็กลายเป็นจุดขายสำคัญที่ทำให้การ์ตูนเรื่องนี้เป็นที่นิยม เมื่อเป็นเช่นนี้ แล้วผู้เขียนจะกลับมาวิพากษ์ lookism อย่างที่ (เหมือนจะ) ตั้งใจไว้ตอนแรกหรือไม่

‘lookism’ เป็นศัพท์ที่ใช้เรียกการเลือกปฏิบัติกับผู้คน เช่นเดียวกับ racism, sexism ซึ่งถ้าไปดูนิยามแล้ว lookism จะเน้นไปที่การเลือกปฏิบัติในพื้นที่ทำงานหรือในสังคมมากกว่าในเชิงการเลือกคู่ มีหลายทฤษฎีหรือข้อศึกษาที่ระบุว่าคนหน้าตาดีมักจะได้รับโอกาสมากกว่าในการถูกรับเข้าทำงาน ได้รับการเลื่อนตำแหน่ง หรือกระทั่งได้รับเลือกในโอกาสอื่นๆ อย่างในการเลือกตั้งที่ผ่านมา กระแส #ฟ้ารักพ่อ ก็ถูกมองว่าเป็น lookism แบบหนึ่งเหมือนกัน หรืออย่างเมื่อเราเจอยามหน้าตาดี หรือแท็กซี่หน้าตาดี คนก็มักจะตื่นเต้นและกลายเป็นข่าว เนื่องเพราะสังคมส่วนใหญ่มองว่าหน้าตาดีๆ ของพวกเขานั้น contrast กับตำแหน่งหน้าที่ และนั่นก็เป็นการยกยอบางสิ่งและเหยียดบางสิ่งอยู่เห็นๆ

lookism กลายเป็นแรงผลักดันให้ใครหลายคนพยายามทำตัวเองให้ดูดี ไม่ว่าจะในแบบที่สังคมใฝ่หา หรือจะ ‘ในแบบที่เป็นเรา’ ยิ่งในยุคของโซเชียลมีเดียเราก็ยิ่งเห็นภาพเหล่านี้ชัดเจนขึ้น เรามีทางเลือกหลากหลายที่จะนำพาตัวเองไปสู่การดูดี ซึ่งการมีสองร่างของฮยองซอกนี่เอง ที่เรารู้สึกว่ามันก็คล้ายกับการศัลยกรรมแบบยกเครื่อง หรือไม่ก็การสร้างตัวตนอีกหนึ่งทางออนไลน์ ภายนอกเปลี่ยนไป ตัวตนเดิมยังคงมีอยู่ แต่ที่สุดแล้วรูปลักษณ์ใหม่ก็จะมีส่วนสร้างตัวตนใหม่ผ่านประสบการณ์แบบใหม่ๆ และคนคนนั้นก็คงเปลี่ยนไปในที่สุดอย่างที่ฮยองซอกเป็น

ในร่างหล่อ ฮยองซอกได้มีเพื่อนเท่ๆ มีสาวสวยมาหลงรัก เพื่อนรักหล่อรวยมาคอยเปย์ของแบรนด์เนมให้ใช้ กลายเป็นตัวท็อปของโรงเรียน ที่ถ้าหากเป็นร่างเดิมนั้นเขาคงไม่มีทั้งแรงดึงดูดและความมั่นใจมากพอจะทำได้แน่ๆ

การมีสองร่างของฮยองซอกนี่เอง ที่เรารู้สึกว่ามันก็คล้ายกับการศัลยกรรมแบบยกเครื่อง หรือไม่ก็การสร้างตัวตนอีกหนึ่งทางออนไลน์

และเมื่อมันเป็นการ์ตูนแล้ว คงเป็นไปไม่ได้ที่จะบอกว่าผู้เขียนไม่ได้ตั้งใจวาดให้ตัวละครไหนออกมาดูดีหรือดูไม่ดี รูปลักษณ์ของตัวละครนั้นขึ้นอยู่กับการกำหนดของผู้เขียนล้วนๆ และเขาก็เลือกอย่างนั้น ให้ตัวละครหล่อสวยเป็นตัวนำเรื่องแถมพวกเขาและเธอก็ไม่ได้มีดีแค่หน้าตาเสียด้วย อาจจะมีการสร้างสมดุลเสียหน่อยด้วยตัวละครอย่าง ดอกฮวา แรปเปอร์หนุ่มอ้วนเตี้ยที่มีฝีมือสุดๆ หรือ พวกเด็กฝึกเป็นไอดอลที่หน้าตาดีแต่นิสัยเสีย หรือการเผชิญกับความฉาบฉวยหรือภัยอันตรายเพราะความสวยหล่อของตัวละคร แต่ที่สุดมันก็ยังกลับมาจุดเดิมที่ว่าผู้เขียนกำลังเชิดชูเหล่าตัวละครหน้าตาดี ตัวละครอีหรอบอื่นๆ ยังคงเป็นได้เพียงตัวประกอบ ถ้าจะบอกว่าผู้เขียนเป็นพระเจ้า เราไม่รู้เหมือนกันว่าโลกที่เขาสร้างนั้นมันแฟร์แค่ไหน

ในร่างหล่อ ฮยองซอกได้มีเพื่อนเท่ๆ มีสาวสวยมาหลงรัก เพื่อนรักหล่อรวยมาคอยเปย์ของแบรนด์เนมให้ใช้ กลายเป็นตัวท็อปของโรงเรียน ที่ถ้าหากเป็นร่างเดิมนั้นเขาคงไม่มีทั้งแรงดึงดูดและความมั่นใจมากพอจะทำได้แน่ๆ

ตอนที่น่าสนใจคือตอนที่มีสาวโรคจิตตามติดฮยองซอกหล่อ ขณะที่เหตุการณ์กำลังเลวร้าย เธอระเบิดอารมณ์ถามว่า ที่ไม่รับรักเธอเพราะเธอหน้าตาแย่ใช่ไหม คำตอบที่ฮยองซอกให้ไปก็คือ แล้วเธอล่ะ ที่ตามหลงรักฮยองซอกก็เพราะหน้าตาของเขาเหมือนกันไม่ใช่หรือ

เราคงไม่พูดถึงตรงนี้ไม่ได้ ผู้เขียนเอง ปาร์คแทจุน เป็นหนุ่มหล่อสายฟลาวเวอร์บอย และตัวละครต่างๆ ก็มีที่มาจากตัวคนจริงๆ เป็นเพื่อนๆ ของเขาที่ทุกคนก็ล้วนหน้าตาดี ดังนั้นนี่อาจเป็นหนึ่งเสียงจากฝั่งคนหน้าตาดีที่พยายามตระหนักรู้ว่าตัวเองอยู่ในสังคมที่มีการเลือกปฏิบัติ และสิ่งที่พวกเขาตอบกลับมาก็คือ คนหน้าตาดีน่ะไม่ได้ดีแค่หน้าตาเสียหน่อย พวกเขาก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน ที่เลวก็มี ที่ดีก็มาก (กกกกก) คนหน้าตาดีเองเห็นอกเห็นใจคนอื่น และคนหน้าตาดีบางคนก็ไม่ได้จำเป็นต้องถูกเหยียดกลับว่ามีดีแค่รูปลักษณ์ภายนอกและกำลังได้รับผลประโยชน์อย่างไม่เป็นธรรมอยู่

คล้ายผู้เขียนกำลังจะบอกว่าความหน้าตาดี ไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่าง และไม่ได้แปลว่าจะดีหรือโชคดีเสมอไป เราจึงเห็นตัวละครหน้าตาดีที่บ้านรวยแต่ข้างในอ้างว้าง ซึ่งกลับถูกเติมเต็มความอ้างว้างได้ด้วยมิตรภาพแสนจริงใจ (แถมดู Y เอามากๆ) เราจึงเห็นตัวละครหน้าตาดีที่เคยผ่านการเป็นอันธพาลและค่อยๆ เปลี่ยนไปด้วยความรักและมิตรภาพอีกเช่นกัน เราเห็นตัวละครหน้าตาดีที่เคยตัดสินคนที่หน้าตาแต่แล้วความจริงใจของใครบางคนก็ทำให้เธอมองคนที่ข้างในมากขึ้น เรายังเห็นตัวละครที่เลือกละทิ้งรูปลักษณ์ที่ดี เพื่อรักษาพลังอำนาจในการต่อสู้เอาไว้แทน และเราก็เห็นตัวละครที่หน้าตาดีที่เต็มไปด้วยความสามารถอันเหนือกว่าเพื่อจะให้ฮยองซอกได้ก้าวผ่านไปสู่การเป็นพระเอกเต็มตัวในตอนท้ายสุด ขณะที่ตัวละครหน้าตาแย่ ก็มักจะวนเวียนอยู่กับความผิดพลาดซ้ำๆ เดิมๆ ไม่ได้ก้าวข้ามไปไหนสักที บางคนยิ่งถลำลึกลงไปในความเลวร้ายด้วยซ้ำ

ทั้งหมดทั้งมวลแล้ว การ์ตูนเรื่องนี้ขับเคลื่อนไปด้วยคนหน้าตาดี และถ้าจะว่าด้วยความเป็นสื่อบันเทิงของมัน หน้าตาดีก็ย่อมเป็นสิ่งดึงดูดแรกๆ การ์ตูนเรื่องไหนๆ ก็ทำกัน แต่เมื่อโทนเรื่องมันดันถูกตั้งมาให้ค้านกับค่านิยมเหล่านั้น ในที่สุดความย้อนแย้งในตัวเองจึงทำให้ Lookism ชักจะเสียท่า

เราคิดว่าผู้เขียนเองรู้ตัวอยู่ เขาพยายามบาลานซ์น้ำหนักไปทางฮยองซอกร่างเดิมอยู่เนืองๆ การ์ตูนฉายให้เห็นว่าร่างเดิมก็มีคนมารักได้ เขาเองก็พยายามเปลี่ยนแปลงตัวเอง ออกกำลังกาย กล้าเผชิญหน้ากับคนที่บูลลี่เขาจนกลายเป็นปมในใจ ในเรื่องรัก เขาก็เห็นความงามในตัวของ ซูจอง สาวอ้วนเตี้ยอีกคนที่มีร่างใหม่เหมือนกัน ในตอนที่เขายังไม่รู้ว่าทั้งสองร่างเป็นคนเดียวกัน เขากลับชอบคนอ้วนเตี้ยมากกว่า และรู้สึกว่าคนที่สวยๆ นั่นนิสัยไม่ค่อยดีจนกระทั่งได้รู้จักกันถ่องแท้มากขึ้น

เนื้อเรื่องยิ่งชัดเจนเมื่อฮยองซอกร่างหล่อประสบอุบัติเหตุ ถูกผลักตกจากตึกจนกลายเป็นเจ้าชายนิทรา ฮยองซอกน้อยยิ่งเป๋ เมื่อไม่รู้ว่าจะสามารถกลับไปใช้ชีวิตแบบหล่อๆ ได้อีกไหม เขาจมลงไปกับความขี้แพ้ในอดีต และเลือกที่จะหนี จนถึงจุดตกต่ำขั้นที่เป็นคนไร้บ้าน คล้ายว่า self-esteem ทั้งหมดของฮยองซอกไปกองอยู่ในร่างหล่อเกือบจะทั้งหมด จนร่างเดิมกลายเป็นแค่การตอกย้ำอดีตที่ล้มเหลว แม้นั่นจะเป็นการพิสูจน์ตัวเองอย่างที่สุดด้วยการก้าวผ่านช่วงเวลาเลวร้ายนั้นมาด้วยร่างเดิม แต่ผู้เขียนก็เลือกจะให้ฮยองซอกร่างหล่อกลับมา เพื่อผจญภัยในเฟสต่อไปของเรื่อง แล้วก็พาเราออกจากประเด็น ‘หน้าตา’ ไปสู่เรื่องอื่น  

สิ่งที่มาทดแทนประเด็น ‘หน้าตาดี-หน้าตาแย่’ คือความมีดี ซึ่งในข้อนี้ การ์ตูนเลือกจะใช้ทักษะการต่อสู้เป็นมาตรวัด ในเนื้อเรื่องตอนหลังๆ ฮยองซอกต้องพิสูจน์ตัวเองด้วยการจัดการกับแก๊งอันธพาลที่คอยคุมแต่ละโซนในกรุงโซลอยู่ สิ่งที่เขาต้องก้าวผ่านคือตัวบอสสองพี่น้องที่ทำงานให้มาเฟียตัวใหญ่ ทั้งคู่ต่อสู้เก่งขั้นเทพ และมีอีกคนที่ฮยองซอกต้องพิสูจน์ตัวเองเพื่อจะเทียบชั้นได้ก็คือ DG (ไม่ใช่ GD หรอกจ้า) ไอดอลเบอร์ท็อปของประเทศที่มีทั้งชื่อเสียงและอำนาจ

ท้ายที่สุดแล้วการ์ตูนเรื่อง Lookism จึงเชิดชูตัวละครด้วยลักษณะทางกายภาพเป็นหลัก ตามมาด้วยเรื่องของอำนาจ คงไม่ต่างกับการที่นกยูงรำแพนเวลาหาคู่ หรือเวลาที่กอริลล่าต่อสู้กันเพื่อเป็นจ่าฝูง ในทางหนึ่งการ์ตูนเรื่องนี้ทำให้เราย้อนกลับไปชมชอบตัวละครด้วยสัญชาตญาณพื้นฐาน และหนำซ้ำ บางทีเราก็เพลิดเพลินไปกับมันโดยไม่รู้ตัวอีกต่างหาก

แม้ที่สุดมันจะไม่สามารถวิพากษ์ lookism ได้ขนาดนั้น แต่มันก็สะท้อนความจริงบางอย่างที่เราคงต้องยอมรับ อย่างถ้าเราได้รับข้อเสนอแบบนั้นบ้าง เราก็คงไม่ปฏิเสธที่จะใช้ร่างสุดเพอร์เฟ็กต์เป็นตัวละครหลักในการดำเนินชีวิต ร่างเดิมก็เอาไว้ใช้ทำงานหลังม่านอย่างที่ฮยองซอกทำ และก็อาจคล้ายกับที่เราทำกันอยู่ในโลกออนไลน์ เราเสนอภาพบางอย่างออกไป ขณะที่ร่างเดิม-ตัวตนเดิมของพวกเราก็ยังคงเป็นอย่างที่มันเคยเป็น แล้ว self-esteem ที่ได้รับมาจากโลกออนไลน์ก็ทำให้เราเปลี่ยนไปโดยไม่ทันรู้ตัว

อ้างอิง:

https://en.wikipedia.org/wiki/Lookism

https://abovethelaw.com/2017/04/pretty-people-always-win-beauty-bias-in-the-workplace/

https://www.psychologytoday.com/us/blog/ambigamy/201712/will-lookism-ever-end

https://www.psychologytoday.com/us/blog/how-do-life/201405/the-last-acceptable-ism-lookism

Tags: