หลังสวิตเซอร์แลนด์เปิดโอกาสให้ประชาชนได้ลงคะแนนประชามติในหัวข้อ “คุณเห็นด้วยหรือไม่ กับการออกกฎห้ามบุคคลปิดบังหน้าตาในที่สาธารณะ ซึ่งกฎนี้จะครอบคลุมถึงการสวมชุดบุรกาและผ้านิกอบตามหลักศาสนา” ผลประชามติที่ออกมาคือ ‘เห็นด้วย’ ว่าบุคคลไม่ควรปิดบังหน้าตาในที่สาธารณะ ซึ่งก่อให้เกิดความขัดแย้งครั้งใหญ่ต่อผู้นับถือศาสนาอิสลามที่สวมบุรกาและผ้านิกอบปิดบังตั้งแต่หัวจรดเท้า

แล้วสังคมจะทำอย่างไร เมื่อความปลอดภัยอาจจะต้องเข้ามาเบียดสิทธิและเสรีภาพในความเชื่อ การนับถือศาสนา และการแสดงออก?

 

อะไรคือ บุรกา และ นิกอบ

‘บุรกา’ (Burka) ในหลายภูมิภาคมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป ในประเทศอัฟกานิสถานนิยมเรียกว่า ‘จาดรี’ และในแถบเอเชียกลางจะเรียกว่า ‘ปารันจา’ หมายถึงผ้าคลุมร่างกายแบบชิ้นเดียวของสตรีผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม ปกปิดร่างกายมิดชิดและมีช่องตาข่ายบางๆ เฉพาะบริเวณดวงตาเพื่อให้ผู้สวมใส่สามารถมองเห็นได้

ส่วนนิกอบ (Niqab) คือผ้าคลุมศีรษะเพื่อปกปิดบางส่วนของใบหน้า และเว้นรอบดวงตาเอาไว้ ซึ่งทั้งบุรกาและนิกอบถือเป็นผ้าคลุมคนละประเภทกับฮิญาบที่คนไทยส่วนใหญ่รู้จัก

 

ประชามติที่ถูกมองว่าละเมิดเสรีภาพในการนับถือศาสนา

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (7 มีนาคม 2021) พรรคประชาชนสวิส (เอสวีพี) ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นผู้ผลักดันให้เกิดการจัดลงประชามติ ถามความคิดเห็นของประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการห้ามปิดบังใบหน้าในที่สาธารณะ ซึ่งผลคะแนนกว่า 51.2% เห็นด้วยกับการออกกฎ และ 48.8% ลงคะแนนไม่เห็นด้วย

ทันทีที่ได้ผลประชามติอย่างเป็นทางการ สภามุสลิมกลางในสวิตเซอร์แลนด์ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจพร้อมระบุว่า “วันนี้ (วันที่ได้ผลประชามติ) ถือเป็นวันที่มืดมนที่สุดของชาวมุสลิม สิ่งที่เกิดขึ้นคือการเปิดแผล เปิดช่องว่างของความไม่เท่าเทียม บ่งบอกชัดเจนว่ากำลังกีดกันชาวมุสลิมเพราะพวกคุณมองว่าเราคือคนกลุ่มน้อย” ก่อนจะจบแถลงการณ์ด้วยการยืนยันว่าจะเดินหน้าฟ้องร้องต่อศาลเพื่อคัดค้านผลประชามติ เช่นเดียวกับองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนแอมเนสตี้ ที่มองว่าการแสดงความคิดเห็นเพื่อลงประชามติในครั้งนี้ละเมิดสิทธิสตรี และเสรีภาพในการนับถือศาสนา

สำนักข่าวบีบีซีที่ตามข่าวการลงประชามตินี้อย่างใกล้ชิดมองว่า ก่อนหน้านี้ประเด็นการคลุมหน้ายังไม่ถูกพูดถึงเป็นวงกว้าง และแม้สวิตเซอร์แลนด์จะแบนการคลุมหน้าเดินในที่สาธารณะไปแล้ว 2 รัฐ แต่ผลคะแนนที่ได้ในครั้งนี้ยังไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่ของคนทั้งประเทศ แต่ถึงอย่างนั้นการโหวตเห็นชอบของประชาชนก็ออกมาแล้ว และมีโอกาสสูงมากที่การออกกฎหมายห้ามปิดบังใบหน้ารวมถึงห้ามสวมใส่บุรกาและนิกอบจะถูกเขียนลงในรัฐธรรมนูญสวิตเซอร์แลนด์

ปัจจุบัน ความคิดของชาวสวิสแตกออกเป็นสองเสียง ส่วนหนึ่งมองว่าพรรคประชาชนสวิสที่เป็นตัวตั้งตัวตีจัดประชามติ เคยจัดแคมเปญต่อต้านการให้สตรีสวมใส่บุรกาและนิกอบ จึงทำให้การลงคะแนนเสียงครั้งนี้เอนเอียงไปทางการรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคลของชาวมุสลิม หรืออาจมีเรื่องของอคติเข้ามาประกอบด้วย โดยยกกรณีการแสดงความคิดเห็นก่อนลงประชามติของ วอลเตอร์ ว็อบมันน์ (Walter Wobmann) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาชนสวิส และประธานคณะกรรมการประชามติ ที่เคยกล่าวว่า “ผู้คนในหลายประเทศทั่วยุโรปมักเปิดเผยใบหน้าของตัวเอง เพราะสิ่งนี้คือสัญลักษณ์ของเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ปัจจุบันกลุ่มการเมืองอิสลามสุดโต่งพยายามเข้ามามีอิทธิพลในภูมิภาค ซึ่งพวกเขาจะต้องไม่มีที่ยืนในสวิตเซอร์แลนด์”

ขณะที่ชาวสวิสอีกจำนวนหนึ่งมองว่า การผลักดันประชามติของพรรคประชาชนสวิสไม่ได้มีเจตนามุ่งร้ายโจมตีผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามตั้งแต่ต้น และได้เปิดให้คนได้ลงคะแนนเสียงเพราะต้องการหยุดการประท้วงและการก่อความรุนแรงในชุมชน ซึ่งผู้ก่อเหตุมักสวมหมวกกันน็อก ใส่หน้ากาก และคลุมผ้าปิดบังใบหน้า การลงคะแนนเสียงจึงคำนึงถึงความปลอดภัยต่อส่วนรวมเป็นสำคัญ และหากการจัดประชามตินี้ มุ่งเน้นไปยังชาวมุสลิมจริง นั่นหมายถึงกลุ่มก่อการร้ายกับลัทธิหัวรุนแรงมากกว่าโจมตีผู้นับถือศาสนาทั่วไป

 

Privacy or Security

ปัจจุบันมีหลายประเทศบนโลกที่ออกกฎหมายห้ามสวมบุรกาและนิกอบในที่สาธารณะ อาทิ เดนมาร์ก, ฝรั่งเศส, เบลเยียม, เนเธอร์แลนด์, ออสเตรีย, ออสเตรเลีย, สาธารณรัฐคองโก, กาบอง, โมร็อกโก, ทาจิกิสถาน, ลัตเวีย, บัลแกเรีย, แคเมอรูน (ในภูมิภาค Far North),จีน (เฉพาะเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์) และชาด ก่อนจะมีกฎหมายชัดเจน ทุกประเทศต่างต้องเคยผ่านการถกเถียงทางความคิดหลายต่อหลายครั้ง

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2011 ฝรั่งเศสเป็นประเทศแรกในทวีปยุโรปที่ห้ามสวมใส่บุรกาและนิกอบที่ปิดบังใบหน้าในที่สาธารณะ หากฝ่าฝืนจะถูกปรับ 150 ยูโร (ราว 6,500 บาท) โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะถูกอบรมเพิ่มเติมก่อนบังคับใช้กฎหมาย โดยห้ามใช้กำลังให้ผู้หญิงสวมบุรกาหรือนิกอบ ถอดผ้าคลุมออก รวมถึงกฎหมายที่ระบุว่า หากผู้ใดบังคับข่มขู่หรือใช้ความรุนแรงเพื่อกดดันให้ผู้หญิงต้องสวมผ้าคลุมโดยไม่ยินยอม แม้จะเป็นสมาชิกในครอบครัวของหญิงคนนั้นก็ตาม จะถูกจับและจำคุก 1 ปี หรือปรับ 3 หมื่นยูโร (ราว 1.3 ล้านบาท) และหลังจากกฎหมายดังกล่าวบังคับใช้อย่างเป็นทางการ กลุ่มก่อการร้ายต่างชาติได้ออกมาโจมตีฝรั่งเศสว่าต้องการทำสงครามกับอิสลาม และเรียกร้องให้ชาวมุสลิมออกมาต่อสู้กับความอยุติธรรม

ประเทศที่สองในยุโรปที่บังคับใช้กฎหมายห้ามปิดบังใบหน้าในที่สาธารณะคือเบลเยียม ส่วนเนเธอร์แลนด์และชาดเริ่มใช้กฎหมายทำนองเดียวกับฝรั่งเศสในปี 2015 กรณีของประเทศชาด เกิดขึ้นหลังจากเกิดเหตุก่อการร้ายโดยกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงที่ใช้ระเบิดพลีชีพกลางเมืองเมื่อเดือนมิถุนายน ปีเดียวกับที่กฎหมายห้ามปิดบังใบหน้าในที่สาธารณะประกาศใช้อย่างเป็นทางการ

หลายประเทศในยุโรปรวมถึงแอฟริกาเริ่มใช้กฎหมายห้ามปิดบังใบหน้ากันมากขึ้น ในปี 2018 เดนมาร์กออกกฎหมายห้ามสวมชุดบุรกาและผ้านิกอบในพื้นที่สาธารณะ แต่ถึงจะมีกฎหมายห้ามชัดเจน เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่สามารถสั่งให้สตรีที่สวมชุดคลุมเปิดผ้าเพื่อดูใบหน้า แต่จะมีอำนาจในการออกใบสั่งเพื่อแจ้งค่าปรับเพราะผู้สวมชุดคลุมฝ่าฝืนกฎหมาย และอนุญาตให้กลับบ้านได้ โดยค่าปรับจะเริ่มตั้งแต่ 1,000 โครน สำหรับความผิดครั้งแรก และหากทำผิดซ้ำอีก ค่าปรับอาจพุ่งไปถึงหนึ่งหมื่นโครน

เหตุผลตรงกันของหลายประเทศที่บังคับใช้กฎหมายดังกล่าว เกิดขึ้นเพราะความเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยเป็นสำคัญ และไม่ได้มีเจตนาพาดพิงหรือสร้าง ‘ภาพจำ’ ให้ใครเป็นผู้ก่อการร้าย แต่จำเป็นต้องเพิ่มกฎหมายที่เข้มงวดรัดกุมขึ้น เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมา หลายประเทศพบกับปัญหาการก่อการร้ายและสร้างความปั่นป่วนในสังคมบ่อยครั้ง และผู้ก่อเหตุล้วนแต่งกายมิดชิด ปิดบังใบหน้าจนกล้องวงจรปิดหรือพยานในที่เกิดเหตุไม่สามารถแจ้งเบาะแสแก่ทีมสืบสวนได้ ดังนั้นการแก้ปัญหาเรื่องห้ามปิดบังใบหน้าจึงจำเป็นต่อความปลอดภัยของคนในสังคม

ปัญหาระหว่างเรื่องความปลอดภัยกับเรื่องของเสรีภาพ ยังคงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ยังคงต้องถกเถียงกันต่อไป แม้ระหว่างทางที่กำลังหาจุดสมดุลของทั้งสองฝั่งจะเป็นไปได้ยาก แต่การทำความเข้าใจร่วมกันถึงปัญหาที่แต่ละฝ่ายพบเจอ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งกระบวนการที่สำคัญไม่แพ้กัน

 

อ้างอิง

https://www.npr.org/2021/03/07/974630640/switzerland-approves-ban-on-face-coverings-in-public

https://www.bbc.com/news/world-europe-56314173

https://www.ft.com/content/2d576304-c241-422e-84df-b0b647f4eee8  

https://www.theguardian.com/world/2011/apr/11/france-bans-burqa-and-niqab

 

Tags: , , , , , , ,