3 มีนาคม 2523 – 4 สิงหาคม 2531 เป็นระยะเวลา 3,076 วัน (8 ปี 5 เดือน) ที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นตัวกลางระหว่าง 3 เสาหลักของการเมืองไทย อันได้แก่ กองทัพ พรรคการเมือง และสถาบันพระมหากษัตริย์
พล.อ.เปรม เข้ามามีส่วนร่วมกับการเมืองไทยตั้งแต่ช่วงต้นยุครัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยดำรงตำแหน่งในสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 6 ของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2502 สภาดังกล่าวมีหน้าที่ออกกฎหมาย และรักษาเสถียรภาพของรัฐบาล โดยค่อยๆ ใช้เวลากว่า 9 ปี ในการร่างและประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2511 ซึ่งพล.อ.เปรมก็ยังได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาจากรัฐธรรมนูญฉบับที่ตนเองร่างนี้ด้วย รวมถึงต่อมา ก็ยังได้รับตำแหน่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตามธรรมนูญการปกครอง 2515
ในปี 2515-2519 นิสิต นักศึกษา ประชาชนเริ่มลุกขึ้นมาต่อต้านอำนาจการปกครองแบบเผด็จการทหาร ในยุคนั้น พล.อ.เปรมก็ได้เข้าร่วมการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 และเข้าร่วมกับคณะรัฐประหารที่ยึดอำนาจจากรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร ในวันที่ 20 ตุลาคม 2520
ต่อมา พล.อ.เปรม ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรกในวันที่ 3 มีนาคม 2523 ซึ่งแนวทางการบริหารงานของเปรมนั้นเป็นที่มาของระบอบการปกครองที่นักวิชาการเรียกกันว่า ‘ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ’ เนื่องจากในเวลานั้นมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 และมีเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่สุดท้าย นายกรัฐมนตรีกลับถูกเลือกจากบุคลากรในกองทัพ อันนำไปสู่ความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างกองทัพและคณะรัฐมนตรี รวมถึงในเวลานั้นยังมีกฎหมายที่ให้อำนาจทหารในการเข้ามาแทรกแซงการเมือง
พล.อ.เปรม ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรกในวันที่ 3 มีนาคม 2523 ซึ่งแนวทางการบริหารงานของเปรมนั้นเป็นที่มาของระบอบการปกครองที่นักวิชาการเรียกกันว่า ‘ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ’
แนวทางที่สำคัญในยุครัฐบาลพล.อ.เปรม อีกประการหนึ่งคือการดึงเทคโนแครตเข้ามาเป็นแนวหน้าในการกำหนดนโยบายของกระทรวงหลัก อาทิ มหาดไทย กลาโหม คมนาคม เศรษฐกิจ และแบ่งปันกระทรวงที่มีความสำคัญลดหลั่นลงมาให้กับพรรคร่วมรัฐบาลพรรคอื่นๆ
ลักษณะสำคัญอีกประการหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ คือตัวของ พล.อ.เปรม เอง ที่ตรงกับลักษณะของผู้นำที่มีคุณธรรมเป็น ‘คนดี’ ค่อนข้างได้รับความเชื่อถือจากทุกฝ่าย และมีภาพลักษณ์ของการเป็นขุนพลคู่บัลลังก์ ซึ่ง พล.อ.เปรม ก็พิสูจน์ให้เห็นว่าเขาสามารถแบ่งสรรผลประโยชน์ระหว่างกลุ่มการเมืองหลากหลายได้ค่อนข้างราบรื่น รู้จักหลบในเวลาที่จวน และเผชิญหน้าในเวลาที่ควร
ในสมัยรัฐบาลของ พล.อ.เปรม ได้ปรับเปลี่ยนแนวทางการบริหารประเทศให้สอดรับกับความเป็นสากล อาทิ ให้ความสำคัญกับภาคเอกชน มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคเอกชน โดยมีสมาชิกเป็นรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ สมาคมหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารแห่งประเทศไทย ให้นักธุรกิจร่วมเดินทางไปกับคณะรัฐมนตรีเพื่อเชิญชวนให้กลุ่มทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุน รวมถึงการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นทั้งการจัดระบบระเบียบให้แก่โครงการพระราชดำริ ขยายการรับรู้ของประชาชน รวมถึงสร้างชื่อเสียงให้สถาบันกษัตริย์
อย่างไรก็ตาม อำนาจของ พล.อ.เปรม ก็ถูกท้าทายอยู่เรื่อยๆ ทั้งจากความขัดแย้งในกองทัพเอง รวมถึงฟากฝ่ายพรรคการเมือง ซึ่งสาเหตุข้อหนึ่งมาจากการต่ออายุราชการในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในปี 2523 โดยในครั้งนั้น พรรคร่วมรัฐบาลสำคัญต่างแสดงความไม่เห็นด้วย เพราะอาจทำให้เกิดความขัดแย้งภายในสภา หากความขัดแย้งก็สิ้นสุดลง เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้เรียกแกนนำพรรคเข้าเฝ้า ดังที่เป็นข่าวในสื่อเรื่อง ‘ข้อมูลใหม่’
ความขัดแย้งในกองทัพเริ่มเห็นชัดแจ้งขึ้น เมื่อกลุ่มนักเรียนเตรียมทหารรุ่นยังเติร์ก รวมตัวกันภายใต้ชื่อ เมษาฮาวาย ในวันที่ 1-3 เมษายน 2524 บุกจับกุมตัว พล.อ.เปรม แต่ไม่สามารถยึดอำนาจได้สำเร็จ เนื่องจาก พล.อ.เปรม ได้เชิญพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ไปตั้งกองบัญชาการอยู่ที่ค่ายสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา และความพยายามรัฐประหารอีกครั้งของ กลุ่มกบฏ 9 กันยา ในวันที่ 9 กันยายน 2528 ซึ่งก็ไม่สำเร็จเช่นเดียวกัน เนื่องจากความหละหลวมและผิดพลาดภายในคณะรัฐประหารกลุ่มนี้เอง
ท้ายที่สุด การทำงานในฐานะนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.เปรม สิ้นสุดลงในวันที่ 4 สิงหาคม 2531 ด้วยสาเหตุหลายปัจจัย ทั้งความไม่พอใจต่อรัฐบาลทหารที่เริ่มก่อตัวขึ้นเป็นรูปร่างชัดเจนในหมู่ประชาชน การอภิปรายไม่ไว้วางใจเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ภายในสภา โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ การยื่นฎีกาของ 99 นักวิชาการต่อรัชกาลที่ 9 ซึ่งนักวิชาการเหล่านั้น หลายคนเคยสนับสนุนและร่วมทำงานกับคณะรัฐบาล พล.อ.เปรม รวมถึงความพยายามลอบสังหารผู้นำทางการเมืองนับ 9 ครั้งที่เกิดขึ้นระหว่างการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.เปรม
ตลอดระยะเวลาการทำงานทั้งในฐานะนายทหารและนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.เปรม สื่อหลายสำนักได้มอบฉายาให้แก่เขาหลายชื่อ อาทิ ‘ป๋าเปรม’ อันมีที่มาจากแนวการปฎิบัติต่อผู้ใต้บังคับบัญชาแบบพ่อ-ลูก ตลอดจนมีการดูแลครอบครัวผู้น้อยอย่างทั่วถึง ‘เตมีย์ใบ้’ ซึ่งสะท้อนบุคคลิกส่วนตัว รวมถึงการแสดงออกในที่สาธารณชนของ พล.อ.เปรม ที่ตลอดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเพียงน้อยครั้ง ถึง ‘นักฆ่าแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา’ และ ‘ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ’
กล่าวได้ว่า การปกครองในช่วงรัฐบาล พล.อ.เปรม กลายมาเป็นต้นแบบซึ่งกองทัพยุคหลังยึดเอาเป็นเยี่ยงอย่าง สังเกตได้จาก รัฐธรรมนูญ 2521 กำหนดให้วุฒิสภาจำนวน 3 ใน 4 ส่วนมาจากการแต่งตั้ง และมอบอำนาจให้ใกล้เคียงกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในการเสนอชื่อนายกฯ และสามารถลงมติไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรี การจัดสรรผลประโยชน์ให้กลุ่มต่างๆ อย่างหลากหลาย โดยเฉพาะกลุ่มทุนใหญ่และพรรคการเมืองเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น และการให้เทคโนแครตมีอำนาจในการกำหนดนโยบายหลักๆ ของประเทศ เช่นเดียวกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติในรัฐบาล คสช.
การปกครองในช่วงรัฐบาล พล.อ.เปรม กลายมาเป็นต้นแบบซึ่งกองทัพยุคหลังยึดเอาเป็นเยี่ยงอย่าง สังเกตได้จาก รัฐธรรมนูญ 2521 กำหนดให้วุฒิสภาจำนวน 3 ใน 4 ส่วนมาจากการแต่งตั้ง และมอบอำนาจให้ใกล้เคียงกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การจัดสรรผลประโยชน์ให้กลุ่มต่างๆ อย่างหลากหลาย และการให้เทคโนแครตมีอำนาจในการกำหนดนโยบายหลักๆ ของประเทศ
ทั้งนี้ ภายหลังที่ พล.อ.เปรม ประกาศว่า “ผมพอแล้ว” ต่อตำแหน่งนายกรัฐมตรี เขาก็ได้รับตำแหน่งองคมนตรีในเวลาต่อมาในทันที และได้รับตำแหน่งประธานองคมนตรีสูงสุดในวันที่ 4 กันยายน 2541 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 รวมถึงดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรีต่อเนื่องจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสิ้นสุดหน้าที่เมื่อถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2562
ไม่มีใครปฎิเสธได้ว่า พล.อ.เปรม เป็นหนึ่งในบุคคลที่สำคัญอย่างยิ่งต่อหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย และมีความเกี่ยวพันอย่างแน่นแฟ้นต่อพัฒนาการของการเมืองไทย รวมถึงยังมีแง่มุมของชีวิตที่น่าศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมอีกมาก
อ้างอิง:
https://www.the101.world/premocracy-1/
https://www.the101.world/premocracy-2/
https://www.thairath.co.th/news/politic/1501676
https://kukr.lib.ku.ac.th/db/index.php?/BKN/search_detail/dowload_digital_file/197346/69771
https://www.posttoday.com/politic/news/590184
Tags: ประชาธิปไตยครึ่งใบ, การเมืองไทย, พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์