เวลา 14.00 วันที่ 24 มีนาคม พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เตรียมประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในวันพฤหัสบดีที่ 26 มีนาคมนี้ โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการ ศอฉ. โควิด ขึ้นเพื่อทำงานเฉพาะกิจ และดึงอำนาจกฎหมาย 38 ฉบับมาอยู่ที่นายกฯ
พลเอกประยุทธ์ยังเรียกร้องให้ประชาชนรับฟังข้อมูลข่าวสารจากรัฐบาลเป็นหลัก โดยสำหรับมาตรการที่จะออกมาต่อจากนี้ นายกฯ ระบุว่า “อาจมีบังคับบ้างอะไรบ้าง” ขึ้นอยู่กับความร่วมมือจากประชาชนเอง
รวมทั้งขอความร่วมมือให้ประชาชนอย่าเพิ่งเดินทางกลับภูมิลำเนา “หากต้องกลับ ท่านก็จะต้องเจอมาตรการต่างๆ ทั้งการคัดกรองและการตรวจสอบระหว่างทางมากมาย ซึ่งเป็นมาตรการที่เราทำมาตลอดอยู่แล้วในการตรวจสอบคนจากต่างประเทศ” และเสริมว่าหากมีความจำเป็นก็ต้องมีสถานที่กักตัวของรัฐเพิ่มขึ้นด้วย
นอกจากนี้ยังกล่าวถึงเงินช่วยเหลือที่จะส่งถึงประชาชน ทั้งผ่านวันสต๊อปเซอร์วิสที่จะจ่ายเงินตรงถึงประชาชนในสองสามเดือนนี้ และประกันสังคมที่จะครอบคลุมทั้งคนในระบบและคนนอกระบบด้วย
ท้ายที่สุดยังฝากเตือนไปยังสื่อมวลชนและผู้ที่ใช้โซเชียลมีเดียในทางที่บิดเบือน จะได้รับการตรวจสอบทั้งสิ้น จากเจ้าหน้าที่ ที่จะมีอำนาจในทางอาญาด้วย รวมถึงผู้ที่กักตุนสินค้าก็เช่นกัน
โดยในส่วนอำนาจพิเศษตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในรายละเอียดการให้อำนาจการจับกุมผู้ต้องสงสัย มีดังนี้
ผู้มีอำนาจสามารถจับกุมได้โดยต้องมีหมายจับตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ศาลออกให้ ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่สามารถพบผู้พิพากษาได้ สามารถร้องขอให้ศาลหมายจับได้โดยทางโทรศัพท์ โทรสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสารสนเทศประเภทอื่น เพื่อให้ศาลออกหมายจับและส่งทางโทรสารได้
การควบคุมตัวบุคคลจะควบคุมไว้ได้ไม่เกิน 7 วัน แต่สามารถขอขยายระยะเวลาได้ทุก 7 วัน โดยต้องขออนุญาตจากศาล แต่รวมระยะเวลาการควบคุมตัวแล้วต้องไม่เกิน 30 วัน สถานที่ควบคุมตัวต้องไม่ใช่สถานีตำรวจ ที่คุมขัง ทัณฑสถาน หรือเรือนจำ
ทั้งนี้ ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการแสดงหมายจับ การแจ้งเหตุแห่งการจับ หรือแจ้งสิทธิ และไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการแจ้งผู้ปกครอง ญาติ หรือบุคคลที่ผู้ถูกจับไว้วางใจให้ทราบถึงการจับกุมหรือการปล่อยตัว และการขอขยายระยะเวลาควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ไม่จำเป็นต้องนำผู้ถูกควบคุมตัวมาศาลด้วย อีกทั้ง ยังไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการอนุญาตให้ญาติเยี่ยม
ต่อมา รองนายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ยังได้ออกมาแถลงถึงมาตรการการช่วยเหลืออื่นๆ จากทางรัฐบาลโดยมีทั้งเรื่อง มาตรการการชำระภาษี ซึ่งจะขยายระยะเวลาไปถึงเดือนสิงหาคม โดยคาดว่ามีเม็ดเงินสูงถึง 21,000 ล้านบาท การหักลดหย่อนเบี้ยประกันสุขภาพเพิ่มเป็น 25,000 บาท การยกเว้นภาษียกเว้นรายได้บุคคลธรรมดา ในส่วนของบุคลากรทางการแพทย์ให้ทั้งหมด ในส่วนที่เกี่ยวกับค่าตอบแทนเสี่ยงภัย การเลื่อนการยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ต้องยื่นแบบนิติบุคคล สำหรับบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ขยายเวลาไปจนถึงเดือนสิงหาคม และจะมีมาตรการการสนับสนุนปรับโครงสร้างหนี้ ยืดเวลาชำระหนี้ ทั้งหนี้ในระบบและนอกระบบ
สำหรับการเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินในสังคม ก่อนหน้านี้ได้มีมาตรการการลดภาระค่าไฟ ยืดเวลาจ่ายค่าไฟ คืนค่าเช่ามิเตอร์ไฟซึ่งได้ทำไปแล้ว และในเช้าวันนี้รัฐบาลมีมติลดเงินค่าประกันสังคมเหลือเพียง 4% และจะลดลงไปอีก การลดค่าธรรมเนียมค่าเช่าของส่วนราชการรัฐวิหาสกิจ มีการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำวงเงินรวม 150,000 ล้าน ดอกเบี้ย 2% 2 ปี นอกจากนี้ยังมีมาตรการพักเงินต้น ลดดอกเบี้ย พักการชำระหนี้ ของทางธนาคาร และยังมีสินเชื่อจากสำนักงานประกันสังคม วงเงิน 30,000 ล้านบาท และเพิ่มประสิทธิภาพในการเบิกจ่ายงบประมาณปี 63 ด้วยการผ่อนคลายหลักเกณฑ์ การจัดซื้อจัดจ้างในวงเงินที่ต่ำกว่า 500,00 บาท เพื่อให้คล่องตัวมากขึ้น ให้มีกระบวนการแค่ 3 วัน เพื่อให้มีเม็ดเงินเข้าสู่สังคมมากขึ้น
อ้างอิง:
https://www.ilaw.or.th/node/5353
Tags: โควิด-19