เกือบ 2 ปี ที่ผ่านมา การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ขยายภาพความเหลื่อมล้ำ ถ่างเส้นแบ่ง ‘ความยากจน’ (Poverty line) ให้ชัดขึ้น พร้อมกับชี้ให้เราเห็นว่า ไม่ว่าจะยืนตรงไหนของฐานพีระมิด รวยหรือจน ล้วนได้รับผลกระทบจากโรคอุบัติใหม่ทั้งสิ้น แต่บุคคลที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด กลับเป็นกลุ่มคนที่มีต้นทุนในชีวิตต่ำและยากจนที่สุดในประเทศ นอกจากปัญหาทางเศรษฐกิจแล้ว สิ่งที่กระทบไม่แพ้กันก็คือเรื่อง ‘การศึกษา’ ของเด็กยากจน
แม้ว่าทางรัฐบาลจะมีนโยบายเรียนฟรี 15 ปี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ค่าใช้จ่ายที่พ่วงมากับระบบการศึกษาก็เป็นไปตามวลีที่บอกว่า ‘การศึกษาคือการลงทุน’ หลายครอบครัวไม่สามารถสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่ ‘งอก’ มาจากระบบการศึกษาได้ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบ นี่เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของผลผลิตแห่งความเหลื่อมล้ำทางสังคม ที่ส่งผลกระทบในมิติอื่นอย่างเป็นทอดๆ จนกลายเป็นการส่งต่อความยากจน จากรุ่นสู่รุ่น จากพ่อแม่สู่ลูก เพราะไม่สามารถเข้าถึงระบบการศึกษา และทำให้การขยับสถานะทางสังคมที่มีเปอร์เซ็นต์น้อยอยู่แล้ว ยิ่งตกต่ำลงไปอีก
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ให้ข้อมูลว่า จากการติดตามข้อมูลกลุ่มนักเรียนทุนเสมอภาค กลุ่มรอยต่อชั้น อนุบาล 3, ประถมศึกษาปีที่ 6 และมัธยมศึกษาปีที่ 3 พบว่า ในสถานการณ์โควิด-19 จากนักเรียนที่ได้รับเงินสนับสนุน 800 บาท จำนวน 294,454 คน มีนักเรียนที่ระบุว่าจะไม่เรียนต่อจำนวน 5,871 คน ส่วนนักเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 286,390 คน ระบุว่าจะไม่เรียนต่อ 5,654 คน เมื่อเปิดภาคเรียนการศึกษาที่ 1/2564 ที่ผ่านมา กลับพบว่ามีนักเรียนเข้าศึกษาต่อในฐานข้อมูลจำนวน 214,202 คน หรือคิดเป็น 79.8% โดยมีกลุ่มนักเรียนที่ไม่พบข้อมูลในระบบและนักเรียนที่ประสงค์ไม่เรียนต่อจำนวน 57,590 คน หรือ 21.1%
‘ความจน’ กลายเป็นเงื่อนไขขั้นพื้นที่ฐานที่ทำให้เด็กจำนวนมากในประเทศไม่สามารถเข้าสู่ระบบการศึกษา และถูกความเหลื่อมล้ำทางสังคมผลักไสเข้าสู่ตลาดแรงงานตั้งแต่เด็ก ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ได้ให้ความเห็นว่า ระดับชั้นที่มีการหลุดออกจากระบบการศึกษา หรือตัดสินใจไม่เรียนต่อมากที่สุดคือ ช่วงจบการศึกษามัธยมที่ 3 เพราะหลุดจากการศึกษาภาคบังคับแล้ว
แต่กรณีที่น่าเป็นห่วงกว่านั้นคือ ยังมีเด็กอีกจำนวนมากที่เรียนไม่จบระดับประถมศึกษาอยู่ จากการทำแบบสำรวจสอบถามพบว่า ปัญหาความยากจนคือสาเหตุหลักทำให้เด็กต้องออกจากโรงเรียนไปทำงานช่วยเหลือครอบครัว นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่พ่วงจากความยากจนอีก เช่น เรื่องสุขภาพจิต สุขภาพกายของเด็ก หรือสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการเรียนทางไกล
นอกจากผลกระทบจากระบบเศรษฐกิจแล้ว ยังมิติของการศึกษาโดยเฉพาะกลุ่มเด็กยากจน ที่เรียกว่าเป็นกลุ่มอ่อนไหวพิเศษ เมื่อเด็กเหล่านี้ต้องเรียนที่บ้านในระบบ Remote Learning ต่างๆ ก็ส่งผลต่อการเรียนรู้อย่างมาก เพราะเข้าไม่ถึงอุปกรณ์ เครื่องมือการเรียนออนไลน์ ทั้งอินเทอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ บางครอบครัวมีโทรทัศน์ 1 เครื่องต้องใช้ร่วมกัน หรือบางครอบครัวไม่มีเลย
และอีกปัญหาที่ต้องเจอคือ สภาพแวดล้อมของบ้านไม่เอื้อต่อการเรียน การอ่านหนังสือ ทำการบ้าน และบางทีต้องช่วยผู้ปกครองทำงานอีกด้วย รวมถึงเมื่อเรียนออนไลน์แล้วไม่มีอาหารกิน เพราะการไปโรงเรียนยังมีอาหารกลางวัน ผลที่ได้กลับกลายเป็นว่ายิ่งอยู่บ้านยิ่งอดอยากมากขึ้น สิ่งนี้ส่งผลกระทบถึงโภชนาการด้านอาหารของเด็ก เมื่อสารอาหารไม่ครบก็ส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็กตามไปด้วย
ภูมิศรัณย์ยังกล่าวด้วยว่า ปัญหาเหล่านี้ยังไม่รวมเรื่องคนในครอบครัวติดโควิด-19 ที่ส่งผลให้เด็กกลุ่มนี้มีการเรียนรู้ที่ถดถอยมาขึ้น สิ่งที่ควรจะทำมากที่สุดคือ
-
รัฐบาลควรออกนโยบายการเข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ตให้ประชาชนอย่างทั่วถึง โดยอาจให้ กสทช. หรือค่ายอินเทอร์เน็ตต่างๆ ช่วย มากกว่าที่จะให้ ‘ภาคประชาชน’ ช่วย รับบริจาค หาอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือแบบทุกวันนี้
-
รัฐบาลควรออกแบบการเรียนรู้การสอนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และการเรียนแบบ Remote Learning เพราะหลักสูตรเดิมที่ยังยึดติดกับตัวชี้วัด มาตรฐานตามกลุ่มสาระต่างๆ ไม่สามารถนำมาใช้ในสถานการณ์ดังกล่าวได้ ควรมีความยืดหยุ่น เพราะเด็กนักเรียนไม่สามารถเรียนได้เต็มที่
-
รัฐบาลควรสนับสนุนอาสาสมัครในชุมชน ในหมู่บ้าน หรือครูอาสาสมัครต่างๆ ที่ไปช่วยดูแลปัญหาเด็กหลุดออกจากนอกระบบ เช่น ควรสนับสนุนให้มีการติดตามสถานะของเด็กในแต่ละบ้านว่ามีปัญหาอย่างไร ขาดอุปกรณ์เรียนรู้อะไรบ้าง หรืออยากให้สนับสนุนด้านไหน ครอบครัวมีปัญหาอะไรอยู่
-
โรงเรียนหรือพื้นที่ต่างๆ ต้องมีนักจิตวิทยา เพราะตอนนี้ปัญหาสุขภาพจิตของเด็กก็เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ยิ่งในสถานการณ์โควิด-19 ยิ่งสำคัญขึ้นไปอีก เพราะชีวิตถูกบังคับให้อยู่แต่ในบ้าน ไม่ได้ใช้ชีวิตตามวัย ขณะเดียวกัน เมื่อเรียนออนไลน์แล้วไม่เข้าใจบทเรียน เข้าถึงสื่อไม่ได้ ก็ไม่สามารถถามครูผู้สอน เรียนตามเพื่อนไม่ทัน ทั้งยังไม่มีช่องทางให้เด็กปรึกษาเรื่องที่เกี่ยวกับสุขภาพจิต โดยวันนี้ หากโรงเรียนยังเปิดไม่ได้ ก็ควรมีการตั้งศูนย์คอลเซ็นเตอร์ ที่สามารถติดตามพูดคุยกับเด็กและเชื่อมโยงกับสถานศึกษาได้
ขณะที่ อนรรฆ พิทักษ์ธานิน หัวหน้าโครงการสนับสนุนองค์ความรู้และพัฒนาเครือข่ายครูและเด็กนอกระบบการศึกษาในกรุงเทพมหานครบนฐานภาคประชาสังคม กสศ. กล่าวว่า เด็กๆ ในชุมชนเมืองหรือในชุมชนแออัดนั้น ได้รับผลกระทบและออกจากระบบการศึกษาไปตั้งแต่การระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกแรกแล้ว โดยเมื่อผู้ปกครองส่วนใหญ่ที่ทำงานบริการมีรายได้ไม่แน่นอน ก็ทำให้รายได้ครอบครัวหดหาย ส่งผลกระทบต่อมายังการศึกษาของเด็กที่จะต้องเรียนต่อในระยะยาวอย่างเลี่ยงไม่ได้
ส่วนปัจจัยพิเศษที่พบในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 อาทิ การติดเชื้อโควิด-19 ทำให้ต้องกักตัวที่บ้าน หรือต้องใช้เวลารักษา ซึ่งส่วนมากมักจะใช้เวลานานเกิน 14 วัน ทำให้รายได้จากการรับจ้างรายวันหายไปโดยสิ้นเชิง ในเวลาเดียวกับที่ ‘ภาระหนี้สิน’ ต่างๆ ยังคงเดินหน้าต่อ ส่งผลให้เด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษามากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีกรณีอื่น เช่น เมื่อไม่สามารถทำงานในเมืองได้แล้ว หลายคนต้องย้ายกลับภูมิลำเนาหรือกลับไปหาญาติที่ต่างจังหวัด เมื่อย้ายไปแล้ว ก็ตามมาด้วยปัญหาในเรื่องการศึกษาที่ไม่สามารถเชื่อมต่อกันได้ในทันที ปัญหาที่ตามมาคือ แล้วเทอมต่อจากนี้เด็กจะได้เข้าเรียนหรือไม่
เมื่อหนี้สินครัวเรือนเพิ่มมากขึ้นสวนทางกับรายรับ ส่งผลให้เด็กๆ ที่อยู่ในช่วงต่อมัธยมศึกษาปีที่ 3 ขึ้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 หรือ ปวช. เด็กส่วนนี้ต้องออกมาหารายได้เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้ครอบครัว หรือเก็บเงินส่งตัวเองหรือน้องเรียน ขณะที่หลายบ้านต้องนำลูกออกจากระบบการศึกษา เพราะภาระช่วงเปิดเทอมสูงเกินไป โดยเฉพาะการเรียนออนไลน์ ที่มีเรื่องของอุปกรณ์และเครื่องมือดิจิทัลต่างๆ
และอีกปัญหาที่อนรรฆบอกว่าพบมากในช่วงนี้คือ กรณีที่ผู้ปกครองเด็กเสียชีวิตจากโควิด-19 หรือเด็กที่ต้องย้ายไปอยู่กับปู่ย่าตายาย ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กหลุดออกนอกระบบด้วยเพราะการย้ายไปอยู่กับญาติหรือภาคประชาสังคมนั้นมี ‘รอยต่อ’ ขนาดใหญ่อยู่ด้วย
ข้อเสนอแนะของเขาก็คือ ต้องให้สถานศึกษา ชุมชน และเครือข่ายภาคประชาสังคมในการช่วยกันดูแลสังเกตในเชิงลึก และนอกจากโรงเรียนจะทำงานในแง่ของวิชาการแล้ว ยังต้องทำงานในแง่ของ ‘คุณภาพชีวิต’ ไปด้วย
“ยกตัวอย่างเช่น หากเด็กไม่มาเรียน 1 อาทิตย์ ต้องช่วยกันตามแล้วว่าเด็กไปไหน หรือแม้แต่กรณีที่พ่อแม่เด็กติดโควิด-19 ก็ต้องมีการดูแลในเชิงลึก เพราะยังมีผลกระทบจากความตึงเครียดทางเศรษฐกิจต่างๆ อีก ขณะเดียวกันก็ต้องดูในแง่ของสุขภาพจิตใจ ในด้านอารมณ์ด้วย เพราะผลกระทบของโควิด-19 ยังส่งผลในระยะยาว อาจจะเป็นช่วง 1-2 ปี ที่ต้องมาดูแลเด็กนักเรียนในเชิงลึก หรือกรณีที่บ้านมีการย้ายกลับภูมิลำเนาก็ต้องมาออกแบบกันว่า ทำอย่างไรที่จะสามารถติดตามได้ว่าเด็กไปอยู่ไหน สามารถเชื่อมต่อกับระบบการศึกษาได้ทั้งประเทศ เพื่อที่จะสามารถตามสถานะของเด็กให้เข้ามาเรียนต่อได้
ในความเห็นของอนรรฆ ถ้าสังคมจะเผชิญหน้ากับเด็กที่ออกจากระบบยาวนานมากขึ้น หรือมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่จะกระทบตามมาในระยะยาวคือ ‘การขยับสถานะทางสังคม’ เพราะในที่สุด การศึกษากลายเป็นปัจจัยสำคัญที่สามารถยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจทางสังคม ทางครอบครัว ทางครัวเรือนต่างๆ ได้
“แต่พอเด็กไม่ได้รับการศึกษา การขยับสถานะทางสังคมก็จะยากขึ้นเรื่อยๆ และแน่นอนว่าความเหลื่อมล้ำในประเทศก็จะห่างขึ้น เพราะเด็กที่เป็นคนชนชั้นกลางหรือชนชั้นระดับบน สามารถเข้าถึงระบบการศึกษาได้ สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ แต่เด็กที่จนอยู่แล้วกลับต้องตกลงมาอีก มันยิ่งทำให้ช่องว่างระหว่างครอบครัวของประชากรสองกลุ่มมีแนวโน้มที่จะถ่างกันมากขึ้น เพราะการเข้าไม่ถึงการศึกษามันตามมาด้วยเรื่องการทำงาน และไม่สามารถเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีผ่านการทำงานได้ การมีรายได้หลักและหลักประกันทางสังคมต่างๆ อีกด้วย”
“อีกไม่นานเราจะเห็นความเหลื่อมล้ำที่ส่งผลจากความยากจนรุ่นต่อรุ่น”
ภาพ: Reuters, กสศ
Tags: โควิด, ความยากจน, การศึกษาไทย