*มีการเปิดเผยเนื้อหาภาพยนตร์
มารียานออกเดินทางไปยังเกาะไกลลิบเพื่อวาดรูปของเอลูอิส หญิงสาวที่เธอเองไม่รู้จักและไม่เคยเห็นหน้า และเป็นที่รู้กันว่าภาพนั้นจะถูกนำไปเป็นภาพดูตัวของชายหนุ่มคนหนึ่งในมิลาน เงื่อนไขเดียวคือ เอลูอิสไม่ยอมถูกวาดภาพโดยง่าย อันเนื่องมาจากปฏิเสธที่จะถูกจับคลุมถุงชน มารียานจึงต้องแสร้งทำเป็นเพื่อนเดินเล่นของเธอระหว่างที่ติดอยู่ในเกาะโดดเดี่ยวนั้น และจดจำรายละเอียดใบหน้า ท่าทางของเอลูอิสเพื่อกลับมาวาดเพียงลำพังในยามค่ำคืน
ความรู้สึกบางอย่างก่อร้อยเรียงตัวขึ้นมาระหว่างทั้งสอง —จิตรกรที่จับจ้องไปยังนางแบบและนางแบบผู้นั่งนิ่งให้ฝ่ายแรกจับจ้อง— ในเกาะโดดเดี่ยวที่มีเพียงพวกเธอและสาวรับใช้อีกนางหนึ่ง กับปลายทางที่ทุกคนรู้ดีว่า ภาพนั้นถูกวาดขึ้นเพื่ออะไร
Portrait of a Lady on Fire (2019) คือหนังลำดับล่าสุดของ เซลีน เซียมมา ผู้เคยเขย่าโลกภาพยนตร์มาแล้วตั้งแต่หนังเรื่องแรกที่เธอกำกับอย่าง Water Lilies (2007) ที่ว่าด้วยการรับมือวัยแตกเนื้อสาวของสองตัวละครหญิงนักกีฬาว่ายน้ำ, Tomboy (2011) หนังรางวัลเท็ดดี้จากเทศกาลหนังเบอร์ลิน เล่าถึงเด็กชายที่ติดอยู่ในร่างของเด็กหญิง และ Girlhood (2014) กับเรื่องราวของเด็กสาวที่รวมกลุ่มกันเพื่อค้นหาตัวตนและที่ทางของตัวเองในสังคม
คงจะเห็นแล้วว่า องค์ประกอบหลักๆ ในหนังของเซียมมานั้นคือ เพศหญิง ความเลื่อนไหลทางเพศ ตลอดจนการสำรวจความรู้สึกและตัวตนอย่างละเมียดละไม ซึ่งลักษณะเช่นนี้ปรากฏขึ้นอีกครั้งใน Portrait of a Lady on Fire ที่ส่งเซียมมาคว้ารางวัลเขียนบทยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ (และชิงรางวัลปาล์มทองคำซึ่งเป็นรางวัลใหญ่ในฐานะคนทำหนังด้วย)
น่าสนใจว่าเซียมมาเลือกสถานที่ในเรื่องเป็นเกาะห่างไกลผู้คนที่มารียานต้องดั้นด้นมาวาดรูป มิหนำซ้ำ ตัวละครทั้งหมดยังใช้ชีวิตอยู่ในบ้านหลังน้อยและห้องเพียงไม่กี่ห้อง เซียมมาเลือกใช้สภาพการณ์เช่นนี้ในการอธิบายความรู้สึกอัดอั้นและติดอยู่ในกรงของผู้คนได้อย่างชาญฉลาด ไม่ว่าจะเป็นในแง่ความรู้สึกของมารียานกับเอลูอิส, ความเป็นหญิงของ โซฟี สาวรับใช้ที่เป็นเสมือนเพื่อนเล่นและเด็กในอุปถัมป์ของทั้งสอง หรือแม้แต่แม่ของเอลูอิสเองที่ฝันอยากไปใช้ชีวิตให้ไกลจากปารีสด้วยการส่งภาพลูกสาวไปให้หนุ่มมิลานดูตัว ตัวละครหญิงที่ปรากฏในเรื่องจึงต้องเผชิญหน้ากับกรอบกรงทั้งทางสังคม (การจับคลุมถุงชน) และทางร่างกาย (ตั้งท้อง) อย่างที่เธอเลือกปฏิเสธไม่ได้ หากตัวละครใดจะปฏิเสธชะตากรรม ก็ต้องพบกับความเจ็บปวด ทั้งการทำแท้ง หรือลงเอยด้วยความตายแบบเดียวกับพี่สาวของเอลูอิส จนทำให้เธอซึ่งเป็นคนน้องต้องรับชะตากรรมในการถูกจับแต่งงานเป็นรายต่อมา
นี่คือโลกที่เพศชายปรากฏตัวให้เห็นเพียงห้านาทีแรกและห้านาทีสุดท้ายของหนัง ระหว่างตรงกลางเรื่องนั้นล้วนมีแต่ตัวละครผู้หญิงที่แม้จะอยู่ในโลกของพวกเธอ แต่ก็ยังไม่วายต้องได้รับผลกระทบจากแรงระเบิดที่ผู้ชายสร้างไว้ ทั้งการตั้งท้องแบบไม่พึงประสงค์และต้องหาทางเอาออกโดยที่เราไม่มีทางรู้เลยว่าใครคือชายที่เป็นพ่อเด็ก (และหนังก็ไม่ได้มีท่าทีอยากจะกล่าวถึงด้วยซ้ำไป) หรือชะตากรรมหดหู่ของเอลูอิสที่ไม่เพียงแต่ต้องสังเวยชีวิตของพี่สาวที่หลีกหนีการแต่งงานด้วยการโดดผา แต่ยังหมายถึงชีวิตของเธอเองนับไปจากนี้เมื่อต้องเข้าพิธีแต่งงานกับชายแปลกหน้าที่เธอไม่ได้เลือก เพียงเพราะฝ่ายนั้นถูกใจรูปเหมือนจริงของเธอ และเพียงเพราะมันเป็นประตูบานสำคัญที่แม่เธอเชื่อว่าจะทำให้เธอคลายเบื่อ และทำให้แม่ลูกได้มีโอกาสออกไปใช้ชีวิตแดนอื่นที่ห่างไกลจากปารีสที่ทำให้ทั้งสองหวนรำลึกถึงบาดแผลฉกรรจ์ในครอบครัวที่เกิดขึ้นมาแล้ว
พร้อมกันนั้น มารียานสังเกตรูปร่างหน้าตาและบุคลิกของเอลูอิสอย่างละเอียดเพื่อจดจำไปวาดภาพก็จริง แต่ก็เป็นไปได้ว่าเธอนั้นไม่เคย ‘มองเห็น’ เอลูอิสเลย เป็นเหตุให้เมื่อเธอเผยความจริงและภาพที่วาดจนสำเร็จแล้วกับเอลูอิส ฝ่ายหลังจึงเคืองใจเพราะสัมผัสได้ว่าภาพนั้นเป็นภาพที่ปราศจากจิตวิญญาณ —ทั้งของเธอและของคนวาด— จนมารียานลงมือทำลายภาพวาดนั้นด้วยตัวเองเช่นเดียวกับที่เธอจุดไฟเผาภาพวาดแรกที่วาดโดยจิตรกรคนก่อนหน้าเธอ เพราะความล้มเหลวของภาพนั้นไม่เพียงแต่จะเป็นประจักษ์พยานว่าเธอ ‘ไม่เห็น’ เอลูอิสดังที่เจ้าตัวว่าจริงๆ แต่เธอยังไม่ต่างไปจากศิลปินคนก่อนหน้าของเธอ (ที่เป็นผู้ชาย) เลยด้วยซ้ำ มารียานจึงตั้งต้นวาดภาพเอลูอิสใหม่โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากตัวแบบ กับความรู้สึกปนเปถาโถมเมื่อต่างฝ่ายต่างก็รู้ว่าเป้าหมายของภาพนี้นั้นจะตกไปอยู่ในมือของใคร และเพื่อจุดหมายอะไร
แต่สิ่งที่เราสนใจเป็นพิเศษคือภาพที่มารียานวาดเอลูอิสใส่กรอบเล็กๆ ไว้ดูต่างหน้าไว้ให้ตัวเองเพียงคนเดียว เพราะมันไม่เพียงแต่เป็นฉากที่ถูกออกแบบมาอย่างประณีต อ่อนโยนและชวนวาบหวามในเวลาเดียวกันเท่านั้น แต่มันยังเป็นฉากที่สะท้อนให้เห็นถึงวิธีที่มารียาน ‘มองเห็น’ เอลูอิสในแบบที่เธอมองและปรารถนาจะจดจำไว้แต่เพียงผู้เดียว เชื่อมโยงไปยังเรื่องเล่าในหนังที่ตัวละครอ่านตำนานกรีกของ ออร์ฟีอัสกับยูไรดิซ เล่าถึงคู่รักนักพิณกับนางไม้ เมื่อฝ่ายหลังถูกงูกัดตายจนออร์ฟีอัสเดินทางลงไปยมโลก ต่อรองกับเฮเดส เทพแห่งความตายเพื่อขอรับวิญญาณของยูไรดิซคืน และสุดท้าย แม้แต่เฮเดสก็ไม่อาจต้านทานคำรบเร้าและความรักของออร์ฟีอัสได้จึงปล่อยวิญญาณนางยูไรดิซกลับขึ้นมาบนดิน โดยมีเงื่อนไขว่า ออร์ฟีอัสห้ามหันหลังกลับมามองนางจนกว่าจะถึงผิวโลก หากแต่ออร์ฟีอัสกลับเหลียวกลับมามองยูไรดิซก่อนถึงปลายทางเพียงไม่กี่ก้าว เป็นเหตุให้ทั้งสองพลัดพรากจากกันตลอดกาล
อาจจะไม่ต่างอะไรกันกับชะตากรรมระหว่างเธอและมารียาน เมื่อถึงที่สุดแล้วคนทั้งสองต่างรู้ว่าปลายทางย่อมไม่ใช่การอยู่ด้วยกัน และยิ่งกว่านั้น มันย่อมไม่ใช่การครองรัก ทันทีที่ภาพวาดนั้นเสร็จสมบูรณ์ มันจะออกเดินทางไปยังมิลานในฐานะภาพแทนของเอลูอิสเพื่อให้ว่าที่เจ้าบ่าวดูตัว ทั้งสองจึงเลือกใช้เวลาที่เหลืออยู่บนเกาะเล็กๆ แห่งนั้นด้วยกันอย่างคุ้มค่า จดจำทุกกิริยาอาการไว้เพียงเพื่อเป็นน้ำหล่อเลี้ยงใจในวันที่ไม่อาจเห็นกันและกันอีกแล้ว
ชะตากรรม ‘ความเป็นหญิง’ ยังถูกถ่ายทอดอย่างเด่นชัดผ่านฉากที่เอลูอิสตัดสินใจจะให้ตัวเองกับโซฟี —ที่เพิ่งผ่านการทำแท้งมา— เป็นแบบให้มารียานวาด ภาพที่ปรากฏจึงไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือในการหาคู่หรือเก็บสะสมของใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น แต่มันมีความหมายของการต่อสู้กับเรือนร่างและชะตากรรมอันรันทด จนมันกลายเป็นหนึ่งในฉากพลังหญิงที่แสนสะเทือนใจไปพร้อมกับที่ให้ความรู้สึกแข็งแกร่ง
และความที่หนังว่าด้วยเรื่องของงานภาพและการจ้องมอง สิ่งที่ทำให้มันถูกกล่าวถึงอย่างมากคืองานกำกับภาพของ แคลร์ มาธ็อง (กำกับภาพ Stranger by the Lake, My King) ที่จับจ้องไปยังตัวละครและนักแสดง ด้วยสายตาอ่อนโยนและปราศจากท่าทีคุกคามหรือหื่นกระหาย (แบบที่หนังบางเรื่องมักจะ ‘หลุด’ ให้เห็นอยู่บ้างประปราย) ฉากที่เป็นที่กล่าวขวัญอย่างมากคือฉากที่มารียานวาดรูปของเอลูอิสและรูปตัวเองบนเตียงนอน ซึ่งมันจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากปราศจากการออกแบบท่าทางและกำกับที่ดี ตลอดจนการที่หนังวางให้มันเป็นเพียงฉากธรรมดาฉากหนึ่งในหนังที่แสนจะงดงามและกินใจไม่ต่างไปจากฉากอื่นๆ ประสานกันกับงานกำกับอันละเมียดของเซียมมา ที่ถักร้อยความสัมพันธ์ภายใต้ขีดจำกัดมากมายของคนคู่หนึ่งขึ้นมาจนมันกลายเป็นหนังสะเทือนอารมณ์มากที่สุดเรื่องหนึ่งในรอบปี