แม้ทุกวันนี้โลกจะมีเสรี และเปิดกว้างให้กับเพศทางเลือก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความจริงแล้วมันก็ยังมีกำแพงบางอย่างกั้นไว้อยู่ หลายพื้นที่ไม่ให้การยอมรับเลยด้วยซ้ำ ยกตัวอย่างล่าสุด ประเทศบรูไนเริ่มบังคับใช้กฎหมายอาญาภายใต้กฎหมายชารีอะห์ ซึ่งเป็นกฎหมายทางศีลธรรมของศาสนาอิสลาม มีมาตรการลงโทษจากฐานความผิด พฤติกรรม และการกระทำผิด เช่น การหมิ่นศาสนา การกระทำชำเรา และการรักเพศเดียวกัน เป็นต้น โดยบทลงโทษจะมีตั้งแต่การปรับ จำคุก เฆี่ยนตี ไปจนถึงการปาหินและแขวนคอ ซึ่งองค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนก็ออกมาแสดงความวิตกกังวลและไม่เห็นด้วยเป็นอย่างมาก

ขณะที่หลายพื้นที่มีการเรียกร้องและการเดินหน้าเพื่อความหลากหลายทางเพศ แต่ในบางพื้นที่คล้ายกลับจะถอยหลังลงคลอง ความรักเองไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเป็นชายหรือเป็นหญิง หากแต่ขึ้นอยู่กับความเป็นมนุษย์เสียมากกว่า ทุกคนมีคุณค่าในตัวเอง มีความรักที่สามารถมอบให้กับใครก็ได้ และมีหัวใจที่เสรี เพราะฉะนั้นแล้ว เปิดใจให้กว้าง แล้วยินดีให้กับทุกความรักที่เกิดขึ้นกันเถอะ

รายชื่อภาพยนตร์ที่เราจะแนะนำวันนี้ จึงหยิบยกภาพยนตร์หญิงรักหญิง ที่มีทั้งการเชือดเฉือนกับความเป็นชาย การถูกสังคมตีกรอบ สายใยความสัมพันธ์ที่ตัดไม่ขาด และการก้าวผ่านของชีวิต ทั้งหมดล้วนแต่ควรค่าแก่การชม หากสัปดาห์ที่ผ่านมาหนักหน่วงมาพอแล้ว ขอให้ผ่อนคลายกับ The List สัปดาห์นี้

Blue is the Warmest Color (2013)

ภาพยนตร์สัญชาติฝรั่งเศสของผู้กำกับแอบเดลลาทีฟ เคชีช ที่คว้ารางวัลปาล์มทองคำมาไว้ในมือได้ในปีนั้น และเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ให้รางวัลทั้งผู้กำกับและนักแสดงพร้อมกัน ซึ่งก็ได้แก่ อเดล เอ็กโคปูลอส และ ลีอา เซย์ดูซ์ สองสาวจากภาพยนตร์เรื่องนี้

แต่หลังจากภาพยนตร์ได้รับรางวัลก็มีเรื่องราวมากมายออกมาจากปากนักแสดง อาทิ นักแสดงทั้งสองได้อ่านสคริปต์เพียงครั้งเดียว ทำให้พวกเธอต้องอิมโพรไวซ์คำพูดเอง, ฉากเซ็กส์ใช้เวลาถ่ายทำกว่า 10 วัน และผู้กำกับก็เคี่ยวเข็ญให้เธอแสดงเป็น 100 เทค

ลีอา เซย์ดูซ์ เข้าเรียนวิชาจิตรกรรมและประติมากรรมเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับบทบาท รวมถึงย้อมผมให้เป็นสีฟ้าหนึ่งเดือนก่อนการถ่ายทำ แต่ระหว่างการถ่ายเธอก็ต้องย้อมผมใหม่ทุกวันเพื่อความต่อเนื่อง ซึ่งไม่ใช่ใครอื่นที่ทำหน้าที่ย้อมผมให้เธอ แต่คือผู้กำกับนั่นเอง

ภาพยนตร์สร้างมาจากนิยายภาพในชื่อเดียวกันของนักเขียนหญิงชาวฝรั่งเศส จูลี มาโรห์ บอกเล่าเรื่องราวของอเดล เด็กสาววัย 15 ปี ที่ตกหลุมรักผู้หญิงผมฟ้าคนหนึ่งในระหว่างที่ข้ามถนน เพียงเสี้ยววินาทีนั้น ชีวิตของเธอก็เปลี่ยนไป และมันก็นำมาซึ่งจุดจบความสัมพันธ์กับชายหนุ่มที่เธอคบอยู่

จนวันหนึ่งโชคชะตาก็วนมาอีกครั้ง อเดลพบกับเอมม่าในบาร์ที่ห้อมล้อมไปด้วยคนรักเพศเดียวกัน พวกเธอกลายเป็นเพื่อนและเริ่มใช้เวลาด้วยกันมากขึ้น เอมม่าเป็นนักศึกษาศิลปะที่เพิ่งจบ เธอมีเส้นทางที่แน่นอนเป็นของตัวเองอย่างการเป็นศิลปิน อเดลเลือกที่จะไม่เรียนต่ออุดมศึกษา และเข้าสู่อาชีพคุณครูเด็กเล็ก

แต่ความรักสุกงอมไม่นานก็เน่าเสีย พวกเธอแบกรับบางอย่างไว้ในใจแตกต่างกัน ซึ่งในที่นี้เป็นเรื่องของการก้าวผ่าน และสังคมแวดล้อมด้วย ฝ่ายหนึ่งยอมอยู่ในเซฟโซนเพื่อรักษาความปลอดภัย แต่ฝ่ายหนึ่งพร้อมผลักดันเพื่อให้ก้าวเดิน ความไม่ลงรอยกันทางความคิดและความรู้สึกจึงปะทุขึ้นหลังจากนั้น แล้วช่วงเวลาที่บานสะพรั่งก็โรยราลง…

Carol (2015)

Carol ดัดแปลงมาจากนวนิยายโรแมนติก The Price of Salt เขียนโดย แพทริเซีย ไฮสมิธ ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1952 และตีพิมพ์ซ้ำในชื่อ Carol ปี 1990 ตัวละครแครอลและพล็อตของนวนิยายได้รับแรงบันดาลใจมาจากอดีตคู่รักของไฮสมิธ และเรื่องราวของเวอร์จิเนีย เคนท์ คาเธอร์วูด เนื้อหาจึงพูดถึงความสัมพันธ์ของผู้หญิงต่างวัยสองคน ซึ่งเกิดขึ้นในยุค 50s

บทภาพยนตร์เขียนโดยฟิลลิส เนกี ซึ่งเธอเขียนดราฟท์แรกเอาไว้ตั้งแต่เกือบ 20 ปีที่แล้ว และเธอยังเป็นเพื่อนกับแพทริเซีย ไฮสมิธ อีกด้วย ด้านสองนักแสดงนำของเรื่องนี้ได้แก่ เคท แบลนเช็ตต์ และ รูนีย์ มาร่า โดยส่วนตัวแล้วรูนีย์เป็นแฟนตัวยงของเคทมาตั้งแต่อายุ 13 ปี เธอจึงรู้สึกว่านี่เป็นสิ่งที่เกินความฝันมากที่ได้ร่วมงานกับเคท

ภาพยนตร์ย้อนกลับไปในยุค 50s ณ มหานครนิวยอร์ก ขณะที่แครอลกำลังมองหาของขวัญวันคริสต์มาสให้กับลูกสาววัย 4 ขวบ ในห้างสรรพสินค้า เธอจึงพบเข้ากับเทเรซ เบลิเว็ท เด็กสาวพนักงานขายที่มีแรงดึงดูดบางอย่าง ทั้งสองพบกันในช่วงเวลาสั้นๆ แต่นั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้น

ชีวิตส่วนตัวของแครอลจึงสับสนอลหม่านยิ่งขึ้น เพราะเดิมเธอก็กำลังตกอยู่ในสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออกอยู่แล้ว เพราะเผชิญหน้ากับปัญหาการหย่าร้าง เนื่องจากสามีจับได้ว่าแครอลมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับเพื่อนสาว แต่เมื่อเมล็ดพันธุ์ของความรักได้ถูกหว่านลงไปแล้ว แน่นอนมันย่อมหยั่งรากและแตกดอกออกผล แครอลจึงสานความสัมพันธ์กับเทเรซ แล้วความรู้สึกของทั้งคู่ก็พัฒนาขึ้นทุกขณะ ถึงมันจะเกิดขึ้นในสังคมที่ไม่เข้าใจความสัมพันธ์ในลักษณะนี้เลยก็ตาม มันเหมือนจะลึกซึ้งและมั่นคง แต่ขณะเดียวกันมันก็บอบบาง ทั้งจากภายในตัวละครเอง และสังคมที่ยังไม่ยอมรับความรักของคนเพศเดียวกัน

การแสดงของเคทและรูนีย์คือสิ่งที่สะกดหัวใจคนดูได้อยู่หมัด การสับสนในแววตา การแสดงออกถึงความเจ็บปวด และภาวะที่ต้องแบกรับกับสถานการณ์รอบข้าง ทั้งคู่ถ่ายทอดออกมาได้ครบถ้วนทุกความรู้สึก แม้ว่าประเด็นของภาพยนตร์จะไม่ได้ใหม่อะไร แต่หากมองจากช่วงเวลาที่หนังสือต้นฉบับออกมาแล้ว นี่นับเป็นเรื่องที่ค่อนข้างอ่อนไหวเลยทีเดียว แต่ถึงอย่างนั้นก็ใช่ว่าในปัจจุบันเรื่องราวเหล่านี้จะหมดไปแล้ว เพราะในหลายๆ ที่ก็ยังไม่เปิดรับเรื่องราวเช่นนี้เท่าไรนัก เชิญสัมผัสความรักอันละเมียดนี้ได้ทั้งจากภาพยนตร์และหนังสือ ใครอยากอ่านตามไปได้ที่สำนักพิมพ์เอิร์นเนส

The Handmaiden (2016)

ผลงานจากผู้กำกับชื่อดังชาวเกาหลี ปาร์คชานวุค ผู้ใช้ความรุนแรงและการล้างแค้นเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงหัวใจมนุษย์ โดย The Handmaiden ได้รับแรงบันดาลใจมาจากนวนิยาย Fingersmith ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2002 ตัวนวนิยายจะตั้งอยู่ในกรุงลอนดอนช่วงศตวรรษที่ 19 แต่ในภาพยนตร์จะตั้งอยู่ในประเทศเกาหลีช่วงปี 1930 ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของอาณานิคมญี่ปุ่น

ภาพยนตร์นำแสดงโดยคิมมินฮี ดาราสาวมากเสน่ห์ที่มีผลงานการแสดงมากมาย ประกบคู่กับดารารุ่นน้องมาแรงอย่างคิมแทรี ที่ได้รับเลือกบทบาทผ่านการคัดเลือกซึ่งมีผู้สมัครกว่า 1,500 คน ซึ่งผู้กำกับตัดสินใจเลือกเธอตั้งแต่ในเวลาออดิชั่นเพียง 10-15 นาที นี่จึงเป็นการแสดงภาพยนตร์เรื่องแรกของคิมแทรี

The Handmaiden เป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดของปาร์คชานวุค ในสหรัฐอเมริกา และเป็นภาพยนตร์ต่างประเทศที่ทำรายได้สูงสุดในสหราชอาณาจักรปี 2017

เรื่องราวมีฉากหลังเป็นประเทศเกาหลี ปี 1930 อันเป็นช่วงที่เกาหลียกอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น ซุคฮี เด็กสาวที่เติบโตมากับการเป็นมิจฉาชีพ เธอได้รับการจ้างวานจากท่านเคานต์ฟูจิวาระให้ไปรับหน้าที่สาวใช้ของฮิเดโกะ สาวญี่ปุ่นสูงศักดิ์ผู้มีสมบัติมหาศาล เพื่อล่อลวงให้เธอตกหลุมรักเขา และหวังฮุบมรดกนั้นไว้คนเดียว ขณะเดียวกันลุงของฮิเดโกะเองก็หวังจะแต่งงานกับหลานสาวเช่นกัน

โดยภาพยนตร์จะแบ่งออกเป็นสามส่วน หนึ่ง อารัมภบท ตั้งแต่ความเป็นอยู่ของซุคฮี จนเธอเข้ามาเป็นสาวรับใช้ สอง เหตุการณ์ในอดีตที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของฮิเดโกะกับคุณลุง รวมถึงความสัมพันธ์ที่กำลังก่อร่างสร้างตัวของฮิเดโกะกับซุคฮี และส่วนที่สาม บทสรุปที่เต็มไปด้วยการตลบตะแลง และชัยชนะที่สยบความเป็นชาย

จากจุดเริ่มต้นของเรื่องเราจะเห็นสังคมที่ชายเป็นใหญ่ พวกเขาควบคุมทุกอย่างให้เป็นไปตามที่ใจหวัง และคิดว่าทุกอย่างจะสำเร็จไปได้โดยง่าย แต่เมื่อมาถึงจุดหนึ่ง เราจะรู้ว่านั่นไม่ใช่ความจริง และเพศหญิงก็ไม่ได้อยู่ภายใต้อาณัตินั้นอย่างที่คิด เพศชายในเรื่องไม่ได้มีอำนาจอย่างแท้จริง แต่ในทางตรงกันข้าม เพศหญิงกลับเป็นผู้กุมบังเหียนทุกอย่าง เมื่อพวกเธอตัดสินจะช่วยเหลือกันและกัน นั่นจึงไม่มีสิ่งใดมาขวางกั้นเอาไว้ได้

Lovesong (2016)

ภาพยนตร์จากผู้กำกับหญิงชาวเกาหลี โซยองคิม ผู้สร้างชื่อเสียงให้กับตนเองจากภาพยนตร์รักเหงาๆ In Between Days (2006) ผลงานการกำกับเรื่องแรกที่ส่งผลให้เธอได้รับรางวัล Special Jury Prize จากเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ ก่อนที่เธอจะกลับมาสร้างความประทับใจ รวมถึงเรียกหยดน้ำตาจากผู้ชมอีกครั้งกับเรื่อง Treeless Mountain (2008)

ในเรื่อง Lovesong โซยองคิมดึงจีนา มาโลน นักแสดงสาวจากภาพยนตร์ The Hunger Games มาร่วมงานกับไรลีย์ คีโอ นักแสดงและนางแบบ ผู้เป็นหลานสาวแท้ๆ ของเอลวิส เพรสลีย์ หลายคนน่าจะคุ้นหน้าเธอจาก Mad Max: Fury Road (2015) เพราะเธอเป็นหนึ่งในแม่พันธุ์สุดเซ็กซี่ที่ตกหลุมรักวอร์บอย

Lovesong บทเพลงรักเก่าที่คุณจะยังรู้สึกได้เสมอเมื่อเปิดฟัง ไม่ต่างจากความรักบางความรักที่ไม่ว่าเมื่อไรก็ยังรู้สึกคุกรุ่นอยู่ในอกเสมอ ซาราห์และมินดี้เป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย พวกเธอมีช่วงเวลาดีๆ มีวีรกรรมบ้าๆ มีสิ่งที่ไม่ได้เล่า และมีสายใยบางอย่างต่อกันเสมอ ผ่านไปหลายปี จนซาราห์มีครอบครัวและลูกสาววัยกำลังน่ารัก แต่เธอกลับไม่มีความสุขกับชีวิตคู่เลย เพราะสามีแทบไม่เคยอยู่บ้าน ซาราห์เหนื่อยล้ากับทุกอย่างในปัจจุบัน เธอจึงต้องการความสบายใจและความปลอดภัยที่สามารถพักพิงได้ ดังนั้น เธอกับมินดี้จึงพบกันอีกครั้ง แล้วเริ่มใช้เวลาท่องเที่ยวไปตามรายทาง โดยมีลูกสาวตัวน้อยไปด้วย

ขณะที่ดู เราจะสัมผัสได้ทันทีว่าในแววตาทั้งคู่มีบางอย่างที่ไกลเกินกว่าความเป็นเพื่อน ซึ่งตลอดมาพวกเธอคงไม่เคยก้าวล้ำความสัมพันธ์นั้นไป แต่มาถึงตอนนี้ ในช่วงที่ใครคนหนึ่งอ่อนไหว เส้นบางๆ นั้นจึงเลือนลางลง จนพวกเธอก้าวข้ามมันไป ครั้นเมื่อฟ้าสางมาถึง มิตรภาพที่บริสุทธิ์จึงคล้ายมีมลทิน ซาราห์และมินดี้ห่างเหินกันไปหลังจากนั้น พวกเธอไม่สามารถจัดการกับความรู้สึกได้ ทั้งสับสนในสิ่งที่ทำลงไป การติดต่อขาดขาย จวบจนเมื่องานแต่งงานของมินดี้มาถึง การจะพบกันในงานแต่งงานนี้จะเป็นความยินดีหรือความเสียใจกันแน่ ใครเล่าจะล่วงรู้หัวใจของคนสองคน?

 บ่อยหนเราปล่อยปละความรู้สึกของใครคนอื่นไว้จนหาหนทางกลับมาสมานกันไม่ได้ ซึ่งนั่นอาจรวมถึงความรู้สึกของตัวเราเองด้วย ความคลุมเครือไม่เคยเป็นผลดีไม่ว่ากับเรื่องอะไร สิ่งที่ชัดเจนย่อมดีแล้ว ความสะเทือนใจหนักหน่วงของภาพยนตร์นี้อยู่ที่ช่วงฉากสุดท้าย ภายใต้ใบหน้ายิ้มแย้มนั้น เราไม่อาจคาดเดาได้เลยพกวเธอว่าแบกรับความปวดร้าวไว้มากมายขนาดไหน

Disobedience (2017)

ผลงานภาพยนตร์ภาษาอังกฤษเรื่องแรกของผู้กำกับฝีมือดี เซบาสเตียน เลลิโอ ที่หยิบนวนิยายในชื่อเดียวกันของนาโอมิ อัลเดอร์แมน มาดัดแปลง แสดงนำโดยเรเชล ไวสซ์ และราเชล แอน แม็กอดัมส์ ซึ่งนับเป็นการร่วมงานกันอย่างจริงจังของทั้งคู่ เพราะเรเชลและราเชลเคยร่วมงานกันมาแล้วครั้งหนึ่งใน To the Wonder (2012) แต่ฉากของเรเชล ไวสซ์ ถูกตัดทิ้งในท้ายที่สุด

Disobedience จะพาเราไปสำรวจชีวิตชุมชนชาวยิวผู้เคร่งศาสนาผ่านหญิงสาวสองคน หนึ่งคือ โรนิท ครูชก้า ช่างภาพสาวที่ตัดขาดจากพ่อผู้เป็นแรบไบมานานหลายปี เธออาศัยและทำงานในนิวยอร์ก คล้ายจะสุขสงบ แต่ลึกๆ แล้วเธอก็มีบางสิ่งที่ติดค้างอยู่ในใจ จนเมื่อมีเหตุร้ายให้เธอต้องกลับบ้าน นั่นก็คือความตายของพ่อเธอ บางสิ่งนั้นจึงถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้ง

การกลับมาร่วมพิธีศพที่บ้านทำให้โรนิทรู้สึกกระอักกระอ่วน เธอรับรู้ได้ว่าตัวเองไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับชุมชนออร์ธอด็อกซ์ชาวยิวอีกแล้ว ซ้ำร้ายโรนิทยังต้องพบกับเอสตี้อีก เอสตี้เป็นหญิงสาวที่เธอเคยรักสุดหัวใจ ความหลังครั้งเก่าจึงหวนกลับมา อดีตอันว้าวุ่นและความสัมพันธ์อันซับซ้อนกำลังสั่นสะเทือน ซึ่งมันก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมต่อหัวใจ รวมถึงกำลังลุกลามไปยังสิ่งที่กดทับพวกเธอเอาไว้ ทั้งสองถูกตีตราว่ามีความผิดตั้งแต่ความรักได้เกิดขึ้น แล้วใครกันคือผู้ลงทัณฑ์พวกเธอ พระเจ้า เพื่อนมนุษย์ ความรัก หรือสิ่งใด? และเหตุใดความรักจึงเป็นสิ่งผิด…

ตามศาสนาของพวกเธอ การรักเพศเดียวกันถือว่าเป็นบาป ดังนั้น ความรักที่เกิดขึ้นจึงกลายเป็นเรื่องเจ็บปวด ทั้งจากการแสดงออกไม่ได้ การถูกกีดกัน ความไม่สมหวัง และความรู้สึกผิดต่างๆ นานาที่ต้องแบกรับไว้ ศาสนาพันธนาการและตอกตรึงหัวใจพวกเธอ หากพวกเธอไม่เป็นคนปลดปล่อยตัวเอง ก็อาจไม่มีใครทำได้เลยตลอดกาล

Tags: , , , ,