หลังจากที่กระแสศิลปะ Abstract Expressionism ประสบความสำเร็จอย่างสูง และทำให้วงการศิลปะอเมริกันทะยานขึ้นสู่ความรุ่งโรจน์ กลายเป็นศูนย์กลางของวงการศิลปะโลก และเป็นผลให้กระแสความเคลื่อนไหวทางศิลปะใหม่ๆ เกิดขึ้นตามมาอีกหลากหลายแนวทาง ทั้งที่ได้รับอิทธิพลมาหรือมีแนวคิดที่เป็นปฏิกิริยาต่อต้าน  หนึ่งในนั้นคือกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะที่เรียกว่า ป็อปอาร์ต (Pop Art)

“ป็อปอาร์ต คือความนิยมอันฉาบฉวยชั่วครู่ยาม ความไร้ค่าราคาถูก ความซ้ำซาก ล้นเกิน เหลือเฟือของระบบอุตสาหกรรม ความอ่อนเยาว์ หลักแหลม ความเซ็กซี่ พลิกแพลง ความเปล่งประกาย และเงินทอง” – ริชาร์ด แฮมิลตัน

ป็อปอาร์ต เกิดขึ้นโดยได้รับอิทธิพลจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่ทำให้เกิดการพัฒนาของสื่อสารมวลชน ซึ่งหันมาหยิบจับเอาเรื่องราวรอบตัวทั่วๆ ไปมานำเสนอผ่านสื่อ ไม่ว่าจะเป็น โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร โฆษณา หนัง ดนตรี ไปจนถึงการ์ตูน ฯลฯ และส่งแรงกระตุ้นถึงผู้คน สังคม จนกลายเป็นวัฒนธรรมป็อป หรือวัฒนธรรมสมัยนิยมนั่นเอง

เดิมที ป็อปอาร์ต เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในอังกฤษในช่วงทศวรรษ 1950s และแพร่ขยายมายังอเมริกาในช่วงปลายทศวรรษเดียวกัน พร้อมๆ ไปกับการเติบโตของสังคมบริโภคนิยมหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ในเมืองใหญ่ๆ อย่าง ลอนดอน นิวยอร์ก และลอสแองเจลิส

โดยในปี 1952 กลุ่มศิลปินในลอนดอนที่เรียกขานตัวเองว่า Independent Group (กลุ่มศิลปินอิสระ) เริ่มนัดถกหัวข้อเกี่ยวกับที่ทางของวัฒนธรรมมวลชนในงานศิลปะ รวมถึงประเด็นเกี่ยวกับวัสดุเก็บตกเหลือใช้ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีสมาชิกเป็นศิลปินอย่าง เอดูอาร์โด เปาโลซซี (Edouardo Paolozzi) ริชาร์ด แฮมิลตัน (Richard Hamilton) สถาปนิก อลิสันและปีเตอร์ สมิธสัน  (Alison / Peter Smithson) นักวิจารณ์ศิลปะ ลอว์เรนซ์ อัลโลเวย์ (Lawrence Alloway) และ เรย์เนอร์ เบนแนม (Reyner Banham)

ด้วยความที่ประเทศอังกฤษในยุคต้นทศวรรษ 1950s เพิ่งฟื้นตัวจากความซบเซาหลังสงคราม พลเมืองมีความรู้สึกสองจิตสองใจกับวัฒนธรรมสมัยนิยมของอเมริกันที่แพร่หลายเข้ามา ในขณะที่ศิลปินกลุ่มนี้สงสัยใคร่รู้ในลักษณะเชิงพาณิชย์ของมัน พวกเขาสนใจวัฒนธรรมป็อปที่นับวันดูเหมือนจะเป็นหนทางก้าวสู่อนาคต ซึ่งวัฒนธรรมป็อปเหล่านั้นยังหมายรวมทั้งสิ่งที่พวกเขาพบเห็นในหนังตะวันตก นิยายวิทยาศาสตร์ หนังสือการ์ตูน บิลบอร์ด ดีไซน์ของยวดยานพาหนะ และดนตรีร็อกแอนด์โรลนั่นเอง

ผลงานศิลปะที่ถือได้ว่าเป็นผลงานป็อปอาร์ตชิ้นแรกๆ (ซึ่งมีคำว่า “ป็อป” อยู่ในผลงานเลยด้วยซ้ำ) เป็นผลงานภาพคอลลาจ (ภาพปะติด) ของ เอดูอาร์โด เปาโลซซี ที่มีชื่อว่า I Was a Rich Man’s Plaything (1947) ที่ประกอบด้วยภาพตัดปะของสาวพินอัพเกิร์ล, โลโกโคคา โคล่า, พายเชอร์รี่, เครื่องบินทิ้งระเบิดในสงครามโลกครั้งที่ 2 และมือผู้ชายถือปืนพก ที่พ่นก้อนเมฆฟูฟ่องสีขาวที่มีตัวอักษรคำว่า “POP!” ลอยอยู่ออกมา

I was a Rich Man’s Plaything

เอดูอาร์โด เปาโลซซี: I was a Rich Man’s Plaything (1947) คอลลาจ ภาพจาก https://goo.gl/pXC1Y4

อีกชิ้นเป็นผลงานภาพคอลลาจของ ริชาร์ด แฮมิลตัน ที่มีชื่อว่า Just What Was it That Made Yesterday’s Homes So Different, So Appealing? (1956) (ภาพเปิดของบทความนี้) ซึ่งเป็นภาพที่ปะติดปะต่อขึ้นจากภาพโฆษณาต่างๆ หลากหลาย เสียดสีสังคมบริโภคนิยมและสังคมชนชั้นกลางจากหลายแหล่งที่มา ทั้งจากโฆษณา สื่อสิ่งพิมพ์นิตยสาร และหนังสือพิมพ์ ผลงานที่เต็มไปด้วยการเสียดสีชิ้นนี้แสดงให้เห็นถึงจุดเชื่อมโยงอันสำคัญของอุตสาหกรรมการสร้างวัฒนธรรมป็อป ด้วยการใช้ภาพร่างกายกึ่งเปลือยที่ดูสมบูรณ์แข็งแรงและงดงามของชายหญิงมาปะติดปะต่ออย่างสวยงาม (แต่ไม่เป็นธรรมชาติ) เสริมแต่งด้วยองค์ประกอบของเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ในครัวเรือนอันทันสมัย (ในยุคนั้น) ที่ตัดมาจากภาพโฆษณาในนิตยสารต่างๆ นำมาปะติดจัดวางอย่างขัดแย้งแต่จงใจ

นอกจากนี้ องค์ประกอบของภาพยังเป็นการรวบรวมสื่อโฆษณาทางสายตาสมัยใหม่ (ในยุคนั้น) แทบทุกชนิด เช่น โปสเตอร์ ตราสินค้า ใบปิดหนัง องค์ประกอบทั้งหมดในภาพเป็นการวิพากษ์วิจารณ์และสะท้อนธรรมชาติการเป็นสื่อกลางของโฆษณาในวัฒนธรรมบริโภคนิยมออกมาอย่างโจ่งแจ้ง ขบขัน และแหลมคม ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้ ต่อมากลายเป็นสิ่งที่เราพบเห็นได้ในงานศิลปะแนวป็อปในปัจจุบัน

ภาพคอลลาจป็อปอาร์ตของเปาโลซซี และแฮมิลตัน ถ่ายทอดความรู้สึกอันผสมผเสของชาวยุโรปที่มีต่อวัฒนธรรมป็อปปูลาร์ของอเมริกัน รวมถึงยกย่องภาพลักษณ์และวัตถุที่ถูกผลิตเป็นจำนวนมากในระบบอุตสาหกรรม ไปพร้อมๆ กับการวิพากษ์วิจารณ์ความล้นเกินของมัน

Installation shot of the exhibition, Parallel of Life and Art, 1953

ในช่วงกลางทศวรรษ 1950s เหล่าศิลปินในนิวยอร์กต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของศิลปะสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากความเบื่อหน่ายศิลปะแบบ Abstract Expressionism หรือการต่อต้านแนวทางอันเคร่งครัดของศิลปะรูปแบบนิยมจากสถาบันศิลปะแบบโมเดิร์นนิสม์ทั้งหลาย ในช่วงเวลานี้นี่เองที่ศิลปินชาวนิวยอร์กอย่าง แจสเปอร์ จอห์น (Jasper Johns) หันเหจากแนวทางแบบ Abstract Expressionism และหยิบเอาวัตถุสิ่งของทั่วไปที่คนเห็นจนชินตาอย่าง เป้าปาลูกดอก ธงชาติ รอยประทับมือ, จดหมาย และตัวเลข มาสร้างสรรค์เป็นงานจิตรกรรม

ในขณะเดียวกัน ศิลปินอเมริกันอีกคนอย่าง โรเบิร์ต เราเชนเบิร์ก (Robert Rauschenberg) หยิบจับผสมผสานภาพและวัสดุเก็บตกเหลือใช้มาทำงานร่วมกับสื่อวัสดุแบบดั้งเดิมอย่างสีน้ำมัน สร้างสรรค์งานศิลปะลูกผสมที่หลอมรวมงานจิตรกรรมสองมิติเข้ากับงานประติมากรรมสามมิติ ที่มีชื่อเรียกว่า Combine painting เช่นเดียวกับศิลปินชาวอเมริกันอีกคนอย่าง อลัน คาโพรว (Allan Kaprow) ที่ริเริ่มงานศิลปะแบบ แฮ็พเพ็นนิง [1] และกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะ Fluxus [2] ที่หยิบเอามุมมองจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวทั่วโลกมาผสมผสานในงานศิลปะของพวกเขา ในเวลาต่อมาศิลปินเหล่านี้กลายเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางศิลปะที่เรียกกันว่า Neo-Dada [3]  ซึ่งกลายเป็นรากฐานของป็อปอาร์ตในเวลาต่อมา

โรเบิร์ต เราเชนเบิร์ก: Monogram (1955–59) งานจิตรกรรมแบบ Combine painting https://goo.gl/AGKuav

เมื่อกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะแบบหัวก้าวหน้าต่างๆ เกิดการเปลี่ยนผ่านและวิวัฒนาการ ผนวกกับผลงานของกลุ่มศิลปินอิสระในอังกฤษที่แพร่หลายมายังอเมริกา เหล่าศิลปินอเมริกันจึงเริ่มเดินตามแนวทางนี้ ด้วยการหยิบเอาวัตถุดิบและเรื่องราวจากวัฒนธรรมสมัยนิยมมาใช้ในงาน ไม่นานหลังจากนั้น ป็อปอาร์ตอเมริกันก็เริ่มปรากฏตัวขึ้นอย่างโดดเด่นในแวดวงศิลปะโลก เคียงคู่ไปกับกระแสศิลปะที่มีแนวทางใกล้เคียงกันในฝั่งยุโรปอย่าง Capitalist Realism [4] ของเยอรมัน และ Nouveau Réalisme [5] ของฝรั่งเศส

แกร์ฮาร์ด ริตช์เตอร์: Betty (1988) สีน้ำมันบนผ้าใบ ศิลปะแนว Capitalist Realism ภาพจาก https://goo.gl/1UD8yc

ในตอนแรก วัฒนธรรมป็อปถูกมองว่าเป็นปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมที่ฉาบฉวยและอายุสั้น แต่ถึงแม้เวลาจะผ่านไปหลายสิบปีแล้วก็ตาม มันก็ไม่เคยล้มหายตายจาก ความวูบวาบฉาบฉวยอันน่าตื่นตาของมันยังคงถูกพบเห็นได้ทุกแห่งทั่วโลกจนถึงทุกวันนี้ และป็อปอาร์ตก็หยิบเอาสิ่งเหล่านี้มานำเสนอผ่านงานศิลปะอีกทีหนึ่ง

ป็อปอาร์ต ไม่ได้หมายถึงสไตล์ กลุ่ม ลัทธิทางศิลปะ หรือตัวบ่งบอกยุคสมัยทางศิลปะแต่อย่างใด ขอแค่เพียงมีองค์ประกอบแห่งความเป็นป็อปอยู่ ก็เป็นป็อปอาร์ตได้ องค์ประกอบเหล่านั้นมักจะเป็นภาพหรือเรื่องราวของบุคคลหรือสิ่งของที่เป็นที่รู้จักอย่างดีในสังคม ไม่ว่าจะเป็น ดารา นักร้อง นักการเมือง เซเล็บฯ ซุป’ตาร์ อย่าง เอลวิส เพรสลีย์, มาริลิน มอนโรว์ ไปจนถึงแบรนด์สินค้ายอดฮิตอย่าง โคคาโคลา แมคโดนัลด์ หรือตัวการ์ตูนยอดนิยม อย่าง มิกกี้เมาส์ ฯลฯ รูปแบบก็มักจะแสดงออกด้วยสีสันสดใสและฉูดฉาดเพื่อดึงดูดความสนใจ ด้วยเทคนิควิธีไม่จำกัดรูปแบบ อาทิ ภาพวาด ภาพถ่าย ภาพพิมพ์ซิลก์สกรีน ออฟเซ็ต ภาพตัดปะ ภาพการ์ตูน ฯลฯ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อนำเสนอ ตีแผ่ หรือวิพากษ์สังคมและวัฒนธรรมสมัยนิยมที่รายล้อมตัวเรา

สาระสำคัญในงานป็อปอาร์ตนั้นห่างไกลจากเนื้อหาของศิลปะแบบประเพณีหรือศิลปะชั้นสูงอย่างเรื่องศีลธรรม ศาสนา เทวตำนาน หรือเรื่องราวอันยิ่งใหญ่ทางประวัติศาสตร์ (หรือถ้าหยิบมาใช้ก็เป็นไปในทำนองเสียดสีล้อเลียนเสียมากกว่า) นอกจากจะหยิบยกเอาบุคคลหรือสิ่งของที่เป็นที่รู้จักกันดีในสังคมมาทำเป็นงานศิลปะแล้ว ศิลปินป็อปอาร์ตยังเชิดชูเรื่องราวของผู้คนและวัตถุธรรมดาสามัญ และเสาะหาหนทางในการยกระดับสิ่งเหล่านี้ให้กลายเป็นศิลปะ โดยมีเป้าหมายเพื่อลบเลือนพรมแดนระหว่างศิลปวัฒนธรรมชั้นสูงและชั้นต่ำ ด้วยแนวคิดที่เชื่อว่า ไม่มีลำดับชั้นทางวัฒนธรรม สิ่งนี้กลายเป็นลักษณะเฉพาะตัวอันโดดเด่นและเปี่ยมแรงบันดาลใจของป็อปอาร์ต ทำให้มันเป็นหนึ่งในรูปแบบของศิลปะสมัยใหม่ที่เป็นที่รู้จักและจดจำมากที่สุด

ถึงแม้ป็อปอาร์ตจะมีแนวทาง ทัศนคติ และรูปแบบในการสร้างสรรค์ผลงานอันหลากหลาย แต่ส่วนใหญ่ งานเหล่านั้นลบเลือนอารมณ์ความรู้สึกออกไปแทบจะสิ้นเชิง ตรงกันข้ามกับการแสดงออกทางอารมณ์อันรุนแรงของศิลปะ Abstract Expressionism งานศิลปะป็อปอาร์ตส่วนใหญ่มีการแสดงออกที่ค่อนข้างเย็นชา กำกวม และเสียดสี แต่กระนั้นก็ดึงดูดความสนใจและกระตุ้นเร้าความรู้สึกของผู้ชมอย่างมาก

หากศิลปิน Abstract Expressionism สำรวจความบอบช้ำทางจิตวิญญาณของยุคสมัย ศิลปินป็อปอาร์ตก็สำรวจร่องรอยของความบอบช้ำแบบเดียวกันในโลกที่เป็นสื่อกลางของการสื่อสารมวลชน โฆษณา การ์ตูน และภาพลักษณ์อันเป็นที่นิยมในสังคมมวลชน ศิลปินป็อปอาร์ตเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างล้วนแล้วแต่เชื่อมโยงสัมพันธ์กัน และพยายามที่จะนำเสนอความสัมพันธ์นั้นออกมาอย่างตรงไปตรงมาผ่านงานศิลปะของพวกเขา

ศิลปินป็อปอาร์ตโอบรับการพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมและความรุ่งโรจน์ของสื่อสารมวลชนในช่วงเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง นักวิจารณ์บางคนกล่าวว่า ป็อปอาร์ตเป็นเสมือนภาพลักษณ์ในการสนองความคึกคักของโลกทุนนิยม การตลาด และลัทธิบริโภคนิยมอันล้นเกิน ในขณะที่บางคนนิยามว่าเป็นงานศิลปะที่วิพากษ์วิจารณ์สังคมและวัฒนธรรม และยกระดับสิ่งธรรมดาสามัญในชีวิตประจำวันให้กลายเป็นศิลปะชั้นสูง การหยิบเอาสินค้าอุปโภคบริโภคเหล่านั้นมานำเสนอให้กลายเป็นวัตถุทางศิลปะ ก็เหมือนกับเป็นการดึงให้ศิลปะลงมาอยู่กับวิถีชีวิตของผู้คนนั่นเอง

Fact Box

[1] แฮ็พเพ็นนิง (Happening) กระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะที่เกิดขึ้นในช่วงปลายยุค 1950s ถึงต้นยุค 1960s เน้นการแสดงสดอันแปลกแหวกแนว ที่เป็นการผสมผเสเหตุการณ์ต่างๆ หลากหลายเข้าไว้ด้วยกัน โดยส่วนใหญ่จะเป็นการแสดงแบบด้นสด และมักจะมีเหตุบังเอิญหรือเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงในระหว่างการแสดง ศิลปะการแสดงสดแฮ็พเพ็นนิง เน้นการปฏิสัมพันธ์ตอบโต้ระหว่างศิลปินกับสภาพแวดล้อม บรรยากาศ พื้นที่แสดงงาน ไปจนถึงปฏิกิริยาโต้ตอบของคนดู

[2] Fluxus กระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะของกลุ่มศิลปินหัวก้าวหน้าในนิวยอร์กในช่วงยุค 1960s ที่มีแนวคิดในการต่อต้าน (ค่านิยมเดิมๆ ของ) ศิลปะ (anti-art) และผสมผสานสื่อและวิธีการถ่ายทอดทางศิลปะอันหลากหลายเข้าไว้ด้วยกัน

[3] Neo-Dada เป็นกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะที่เกิดขึ้นในนิวยอร์กในช่วงยุค 1960s ที่มีการแสดงออกผ่านสื่ออันหลากหลายทั้ง ภาพ เสียง และงานวรรณกรรม และทำงานด้วยการใช้วัสดุสมัยใหม่ ภาพในวัฒนธรรมป็อบ ที่เน้นความเหลวไหลลักลั่น อันเป็นปฏิกิริยาที่ตอบโต้การใช้อารมณ์ความรู้สึกในการทำงานของศิลปิน Abstract Expressionism รวมถึงปฏิเสธขนบธรรมเนียม แนวคิดทางศิลปะและสุนทรียะแบบเดิมๆ อย่างสิ้นเชิง Neo-Dada ได้รับอิทธิพลจากขบวนการศิลปะ ดาดา (Dada หรือ Dadaism) ที่เริ่มต้นขึ้นในต้นศตวรรษที่ 20 โดยมีสมาชิกคนสำคัญอย่าง มาร์เซล ดูชองป์ ศิลปินกลุ่มนี้แนวคิดปฏิเสธความเป็นเหตุผลและจิตสำนึก ค่านิยม ตรรกะ รวมถึงต่อต้านนายทุน อุดมการณ์แบบชาตินิยม และลัทธิล่าอาณานิคมอย่างสิ้นเชิง เพราะพวกเขามองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นต้นเหตุที่พาผู้คนไปสู่ความหายนะ โดยเฉพาะในสงครามโลกครั้งที่ 1 จึงละทิ้งเหตุผลทั้งมวล แต่ใช้สัญชาตญาณและความบังเอิญ ซึ่งพวกเขาถือว่าเป็นอิสระและเสรีภาพ และใช้มันในการกระตุ้นผู้คนให้คิดถึงมุมมองและหนทางใหม่ๆ

[4] Capitalist Realism คือกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะที่เกิดขึ้นในเยอรมัน ซึ่งมีความใกล้เคียงกับป็อปอาร์ตอเมริกัน เริ่มต้นขึ้นในปี 1963 โดยศิลปินเยอรมัน ซิกม่า โพลเคอ (Sigmar Polke) และมีสมาชิกคนสำคัญอย่าง แกร์ฮาร์ด ริตช์เตอร์ (Gerhard Richter) และ คอนราด ลุค (Konrad Lueg) โดยศิลปินในกลุ่มนี้มุ่งเน้นในการนำเสนอการบริโภคนิยมและความฉาบฉวยเหลือทนของสังคมทุนนิยมร่วมสมัย ด้วยการหยิบเอาเรื่องราวจากวัฒนธรรมบริโภคนิยม รวมถึงนำสุนทรียศาสตร์แบบสื่อมวลชนและงานโฆษณามาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการสำรวจความเป็นไปได้เชิงสร้างสรรค์ในการผลิตซ้ำของเครื่องจักรกลในระบบอุตสาหกรรมด้วยการวาดภาพเลียนแบบภาพและข่าวในหนังสือพิมพ์ นิตยสาร และบรรจุภัณฑ์สินค้าต่างๆ ของโพลเคอ หรืองานจิตรกรรมที่วิเคราะห์และชำแหละสื่อสมัยนิยมอย่างภาพถ่าย ของ ริตช์เตอร์ เป็นต้น

[5] Nouveau Réalisme กระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศส ซึ่งมีความใกล้เคียงกับป็อปอาร์ตอเมริกันเช่นกัน เริ่มต้นขึ้นในปี 1960 โดยนักวิจารณ์ศิลปะ ปิแยร์ เรสตานี (Pierre Restany) ที่ร่างแถลงการณ์ “ปฏิญญาแห่งสัจนิยมใหม่” ที่ประกาศว่า Nouveau Réalisme (สัจนิยมใหม่) นั้นเป็นหนทางใหม่ในการเข้าถึงความจริง และร่วมลงชื่อโดยศิลปินชาวฝรั่งเศสคนสำคัญอย่าง อีฟว์ คไลน์ (Yves Klein) และศิลปินอีกหลายคน อาทิ ฌอง แทงกูลี (Jean Tinguely), นิกิ เดอ ซอง ฟาลล์ (Niki de Saint Phalle),  เรย์มง อาส์ (Raymond Hains) และ ฌาค วิลล์กลี (Jacques Villeglé) ที่ร่วมกันกันทำงานศิลปะที่หยิบฉวยเอาแรงบันดาลใจมาจากวัฒนธรรมมวลชนอย่างตรงไปตรงมา ที่เรสตานีนิยามว่าเป็นการ “รีไซเคิลในเชิงบทกวีของสัญลักษณ์แห่งสังคมเมือง ระบบอุตสาหกรรม และความเป็นจริงในสื่อโฆษณา” ด้วยการใช้เทคนิคหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้เทคนิค Décollage (แปลว่า ดึงออก) ซึ่งเป็นเทคนิคที่ตรงกันข้ามกับการคอลลาจ คือแทนที่จะสร้างภาพจากการตัดชิ้้นส่วนจากภาพต่างๆ มาปะติดกันเป็นภาพใหม่ เทคนิคนี้กลับเป็นการการตัด ฉีกทึ้งภาพเดิมออก โดยมากมักใช้ภาพโปสเตอร์แปะทับกันหลายชั้น แล้วตัดหรือฉีกบางส่วนแต่ละชั้นออกเพื่อสร้างภาพใหม่ขึ้นมา ถึงแม้จะมีแนวคิดที่ได้รับอิทธิพลจากป็อปอาร์ตอเมริกัน แต่ศิลปินกลุ่มนี้ก็มักทำงานกับวัตถุสามมิติเสียมากกว่า

 

หมายเหตุ: ภาพเปิด เป็นงานคอลลาจ ผลงานของ ริชาร์ด แฮมิลตัน ที่ชื่อ Just What Was it That Made Yesterday’s Homes So Different, So Appealing? (1956) ภาพจาก https://goo.gl/pU3EGa

 

อ้างอิง

http://www.theartstory.org/movement-pop-art.htm

http://www.tate.org.uk/art/art-terms/p/pop-art

https://www.moma.org/learn/moma_learning/themes/pop-art

Tags: