1

คุณคิดว่าระบอบเผด็จการหน้าตาเป็นอย่างไร

ผู้นำที่คุมคนในประเทศอย่างเข้มงวด ทำอะไรแปลกๆ น่าหัวเราะในสายตาชาวโลก เศรษฐกิจย่ำแย่ ไร้ซึ่งเสรีภาพ

แล้วคุณคิดว่าผู้นำระบอบเผด็จการเขาจะคุยก่อตั้งเป็นเครือข่ายกันไหม?

นี่คือคำถามที่น่าสนใจ ภายใต้โลกยุคนี้ ผู้นำจากประเทศเผด็จการ หรือเรียกให้สวยหรูว่า ‘อำนาจนิยม’ ต่างคบหาพูดคุย แบ่งปันองค์ความรู้กันไปมา พวกเขาเรียนรู้วิธีการคุมคนในประเทศให้อยู่ในความสงบราบคาบจากกันและกัน มีการส่งผ่านรูปแบบ เครื่องมือ และมีความร่วมมือกันทางเศรษฐกิจมากกว่าเดิม

ในบรรดามหาประเทศหัวแถวอำนาจนิยมนั้น ไม่มีใครยิ่งใหญ่กว่า วลาดีมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย และ สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ทั้งสองประเทศเป็นประเทศใหญ่ มั่งคั่งร่ำรวย เป็นมหาอำนาจ ถึงแม้ว่าในอดีตอาจมีขัดแย้งกันบ้าง แต่ปัจจุบันนี้ทั้งสองกระชับความสัมพันธ์กันอย่างแนบชิด และมีสัมพันธไมตรีดีต่อกันมาก

ตอนนี้จีนกับรัสเซียกลายเป็นแนวร่วมและหัวแถวของขบวนการประเทศเผด็จการอำนาจนิยม มีเพื่อนร่วมอุดมการณ์มากมาย มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เป็นต้นแบบแนวทางอำนาจนิยมเผด็จการยุคใหม่ ที่คุมคนในประเทศได้อย่างอยู่หมัด และยังมีเศรษฐกิจรุ่งโรจน์ มีพลานุภาพกองทัพที่น่าเกรงขาม คนในประเทศมีทั้งนิยมสุดใจ และเกลียดสุดขั้ว แต่เพราะกฎหมายเอื้อต่อผู้มีอำนาจ จึงสามารถปราบผู้เห็นต่างโดยไม่สนใจใยดีการกดดันจากนานาชาติ

นี่จึงเป็นประเทศต้นแบบแห่งเผด็จการยุคใหม่ ที่ทันสมัยกว่าเดิม เป็นประเทศในฝันที่ผู้นำ ‘บางคน’ อยากเดินตามรอยเป็นอย่างมาก นี่คือช่วงเวลาอับแสงและถดถอยของประชาธิปไตย แต่เป็นไฟโลกันต์ที่โชติช่วงของอำนาจนิยม

2

สี จิ้นผิง กับ วลาดีมีร์ ปูติน มีบางอย่างที่คล้ายกัน พวกเขาเป็นผู้นำที่มีอำนาจล้นฟ้า และคาดว่าจะอยู่ไปอีกนาน ถึงขั้นตายคาเก้าอี้ได้

ตัวสีเอง เป็นลูกชนชั้นนำในพรรคคอมมิวนิสต์จีน วัยเด็ก เขาได้ร่วมงานเลี้ยงระดับรัฐพิธีเป็นประจำ แต่พลันที่พ่อตกจากอำนาจ เมื่อเกิดการปฏิวัติวัฒนธรรมขึ้น สีในวัยหนุ่มต้องกระเด็นไปทำงานชนบท แม้จะกลับมาได้ แต่สี จิ้นผิงก็ได้เห็นการแตกหักระดับกวาดล้างเอาตายของชนชั้นนำจีน หากต้องเด็ดหัวพวกเดียวกันเอง พวกเขาก็ไม่รอช้าที่จะดำเนินการ เพื่อรักษาอำนาจ

นี่เป็นบทเรียนที่สำคัญของสี จิ้นผิง หากอยากอยู่ในอำนาจไปนานๆ จงทำทุกวิถีทาง ไม่ต้องสนต้นทุนเท่าไหร่ เพื่ออำนาจ เอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม

เมื่อสื่อตะวันตกนำเสนอภาพลบของจีน พวกเขาก็ใช้สื่อของตัวเองสร้างภาพลักษณ์ในแง่ดีขึ้นมา ความพยายามจะปิดล้อมจีนทั้งทางทะเลและทางระบอบเศรษฐกิจไม่เป็นผล มันเป็นยุทธวิธีโบราณอย่างยิ่ง เมื่อสีโดนปิดล้อม เขาก็เปิดเส้นทางเศรษฐกิจใหม่อย่างไม่เกรงกลัวพวกตะวันตกอีกต่อไป

แน่นอนว่าเป้าหมายชิ้นต่อไปของสี ก็คือการยึดไต้หวันมาให้ได้

3

สำหรับปูตินแล้ว การล่มสลายของสหภาพโซเวียตถือเป็นหายนะครั้งใหญ่ ในช่วงที่โซเวียตถึงกาลอวสาน สงครามเย็นยุติ ปูตินทำงานด้านข่าวกรองอยู่ในเยอรมันตะวันออก เขาต้องออกมายืนต่อหน้าฝูงชนชาวเยอรมันที่ออกมาประท้วง และต้องการจะบุกเข้าไปในสำนักงานข่าวกรองของโซเวียตที่ตั้งอยู่ในเยอรมันตะวันออก

ปูตินในวัยหนุ่มออกมาห้ามปราม ย้ำว่านี่เป็นเขตอำนาจของโซเวียต หากบุกเข้าไป ทหารโซเวียตจะลั่นกระสุนใส่ฝูงชนอย่างแน่นอน โดยในตอนนั้นทางกลุ่มผู้ประท้วงถามว่าปูตินเป็นใคร เขาตอบว่าตัวเองเป็นล่าม

ผู้ชุมนุมชั่งใจก่อนเคลื่อนขบวนผ่าน ไม่บุกเข้าไปในสำนักงานข่าวกรองของโซเวียต หากผู้ชุมนุมตัดสินใจบุกเข้าไป ก็จะพบความจริงที่ว่าไม่มีทหารโซเวียตในนั้น และจะไม่มีการลั่นกระสุนใส่ใดๆ ทั้งสิ้น มันเป็นการโกหกของปูติน

ช่วงที่โซเวียตล่มสลาย ปูตินกับลูกน้องในเยอรมันตะวันออกทยอยเผาเอกสารลับอย่างต่อเนื่อง พวกเขาพยายามสอบถามผู้บังคับบัญชาว่าจะต้องทำอย่างไรต่อจากนี้

แต่ไม่มีคำสั่งใดๆ ส่งกลับมา

นั่นคือช่วงอัปยศอดสูที่สุดของปูติน เขาได้เห็นประเทศที่รักล่มสลาย ดังนั้นเมื่อโซเวียตแตกเป็นรัสเซีย และปูตินได้ก้าวสู่เส้นทางแห่งอำนาจ เขาต้องไม่ทำให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นอีก

รัสเซียยุคใหม่ ภายใต้พระเจ้าซาร์องค์ใหม่อย่างปูติน เขาจัดการคุมคนในประเทศอย่างเข้มงวด สิ่งที่ปูตินทำและสั่นคลอนโลกตะวันตกก็คือการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารปลอมในอินเทอร์เน็ต

ทุกแอพพลิเคชันทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ยูทูบ ซึ่งเป็นผลผลิตที่นายทุนตะวันตกรังสรรค์มา หวังจะร้อยโลกเข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน ถูกรัสเซียย้อนศรอย่างเจ็บปวด ชาติตะวันตกต่อสู้กับข่าวปลอม ไม่ว่าจะในอังกฤษหรือแม้แต่ในสหรัฐอเมริกา

ปูตินใช้สื่อออนไลน์อย่างเป็นงานมาก นอกจากการแฮกแล้ว เขายังสร้างข่าวลือต่างๆ นานาเพื่อบั่นทอนฝ่ายตรงกันข้ามไม่ว่าจะในประเทศไหนๆ ผลงานโดดเด่นก็คือการปล่อยข่าวลือจนทำให้ โดนัลด์ ทรัมป์ มีส่วนในการชนะเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีจนได้

รัสเซียยุคใหม่ไม่ใช่เผด็จการไร้ประสิทธิภาพ พวกเขาคุมอำนาจในชนชั้นนำได้อย่างเบ็ดเสร็จ แผ่นดินที่กว้างใหญ่ไพศาล มีทรัพยากรมหาศาล รัสเซียส่งออกระบอบอำนาจนิยม ให้คำปรึกษาไปทั่วโลก นับเป็นภัยคุกคามต่อระบอบประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่ง

สำหรับปูตินแล้ว สงครามเย็นไม่เคยจบสิ้น

4

การส่งออกองค์ความรู้เผด็จการของจีนและรัสเซียนั้นน่าสนใจมาก มันมีตั้งแต่การสร้างองค์กรข่าว ไปจนถึงการตั้งสถาบันการศึกษาเพื่อสนับสนุนและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่ประเทศตัวเอง และด้วยเงินทุนที่หนามาก ทำให้สื่อของรัสเซียและจีนขยายอิทธิพลไปได้อย่างรวดเร็ว

พวกเขาใช้เทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัย ภาพสวย เล่าเรื่องน่าสนใจ ไม่ทื่อแบบสื่อเผด็จการสมัยก่อนอีกแล้ว ยังไม่นับว่าสถาบันขงจื้อตามมหาวิทยาลัยทั่วโลก ก็ทำหน้าที่ปรับภาพลักษณ์ที่ดีให้กับจีนด้วย

จีนและรัสเซียยังสนับสนุนประเทศที่มีผู้นำเผด็จการด้วย เช่นในเมียนมา ที่ปกครองโดยรัฐบาลทหาร พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย เมียนมาใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ประท้วง ศัตรูทางการเมือง และประชาชนอย่างเต็มที่ โดยซื้ออาวุธจากจีนและรัสเซียที่ให้การสนับสนุน แลกกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แม้เมียนมาจะถูกคว่ำบาตรจากตะวันตก แต่ก็ไม่ได้สะทกสะท้านอะไรทั้งสิ้น

หลักการที่แนวร่วมเผด็จการเห็นตรงกันคือ อย่าให้ตัวเองตกจากอำนาจเด็ดขาด ทำอย่างไรก็ได้ให้อยู่ในอำนาจนี้ไว้ ไม่ว่าจะต้องใช้ต้นทุนเท่าไหร่ ระบอบเศรษฐกิจจะฉิบหายอย่างไร ไม่ต้องสนใจ จงอยู่ในอำนาจให้ได้

แนวคิดนี้ตรงกับรัฐบาลตาลีบันแห่งอัฟกานิสถาน พวกเขาไม่สนใจเศรษฐกิจประเทศที่ล่มจมและพังทลายอย่างมากแม้แต่น้อย ประชาชนอดอยาก ล้มตาย แต่ตาลีบันขอแค่อยู่ในอำนาจให้ได้ หรือในรัฐบาลเวเนซุเอลาก็เป็นเช่นนั้น พวกเขาทำคนอดอยากล้มตาย แต่เครือข่ายชนชั้นนำยังสุขสบายและอยู่รอดได้ แม้จะถูกกดดันแค่ไหนก็ตาม

สำหรับประเทศเผด็จการ ประชาชนไม่ใช่สมการหลักที่พวกเขาต้องคิดถึงเป็นอย่างแรก และพวกเขาก็ไม่แคร์ด้วย

เบลารุสเองก็มีผู้นำที่อยู่ในอำนาจจากการชนะเลือกตั้งด้วยวิธีการโกงแบบถล่มทลาย พวกเขาล้อมปราบผู้ประท้วงด้วยความรุนแรงเฉียบขาด ในช่วงการประท้วงที่เบลารุส รัสเซียส่งกำลังเข้ามาคุมการประท้วงแทนตำรวจเบลารุสที่กำลัง ‘เข้าเกียร์ว่าง’ พวกเขาส่งนักข่าวรัสเซียมาทำข่าวสร้างภาพลักษณ์ด้านดีให้กับเบลารุส นี่ไม่ใช่เผด็จการแบบทื่อๆ แต่เล่นได้หลายฉาก ปั่นได้หลายทาง สนับสนุนกันและกัน

ซีเรีย รัฐบาลเผด็จการสังหารคนในประเทศอย่างเลือดเย็นและรุนแรง ใช้ทั้งอาวุธชีวภาพ อันเป็นสิ่งต้องห้ามในการทำสงครามมานมนาน แต่พวกเขาก็กล้าใช้ สุดท้ายการใช้ต้นทุนที่โหดเหี้ยม กลับทำให้พวกเขาชนะสงครามกลางเมือง อยู่ในอำนาจได้อย่างสบายๆ พวกเขาทำสำเร็จเพราะได้รับการหนุนหลังจากรัสเซีย

นี่คือรูปแบบที่รัสเซียและจีนใช้ พวกเขาสร้างแนวร่วมตัวเองขึ้นมา สนับสนุนกัน ให้การช่วยเหลือกัน เมื่อประเทศตะวันตกยังคงใช้ระบบการคว่ำบาตร ยิ่งทำให้ประเทศเผด็จการอำนาจนิยมพึ่งพิงกันมากขึ้น พวกเขาไม่จำเป็นต้องไยดีโลกตะวันตก ในเมื่อพวกเขาได้สร้างโลกอีกใบขึ้นมา มันทรงพลังและเอื้อประโยชน์มากกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ

เผด็จการยุคนี้ไม่ใช่ผู้นำโด่ๆ เพียงคนเดียวที่ครองอำนาจ แต่ยังมีเครือข่ายทั้งนักธุรกิจ ข้าราชการที่พร้อมทำงานรับใช้ และมหามิตรต่างประเทศ ดังเช่นตุรกีที่เคยประณามจีนเรื่องการกดขี่คนอุยกูร์ แต่ต่อมาก็งดประณามและเห็นดีเห็นงามด้วย เพราะผลประโยชน์ทั้งสองลงตัวกัน ดังเช่นชาติอาหรับตะวันออกกลางหลายประเทศที่จับมือกับจีน โดยไม่สนใจเรื่องอุยกูร์แต่อย่างใด

ผู้นำจากประเทศเหล่านี้ได้สร้างเครือข่ายทางเศรษฐกิจกันเองขึ้นมา รัสเซียเตรียมให้ก๊าซธรรมชาติกับจีนเพิ่มมากกว่าเดิมหลายเท่า จีนเองก็ขยายเศรษฐกิจให้รัสเซียได้ร่วมผลประโยชน์ การจับมือร่วมกันของชาติเผด็จการ เป็นการตอบโต้โลกเสรีที่พยายามปิดล้อมพวกเขา

ไม่เพียงเท่านั้น เหล่านักธุรกิจจากโลกเสรีจากประเทศที่ยึดถือระบอบประชาธิปไตย คุณค่าสิทธิมนุษยชน ก็มีผลประโยชน์ทับซ้อนเอี่ยวกับประเทศเหล่านี้ด้วย บริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติของโลก แทบจะหงอกลายเป็นลูกไก่ในกำมือของผู้นำเหล่านี้ แค่จีนขยับส่งเสียงไม่พอใจ บริษัทยักษ์ใหญ่จากตะวันตกก็แทบจะ “ได้ครับผม” อยู่แล้ว

สิ่งเหล่านี้ทำให้การต่อสู้รุกกลับของชาติจากโลกเสรีทำได้ยากมากขึ้น และที่สำคัญผู้นำระบอบประชาธิปไตยมีวาระอำนาจ ต้องกลับไปเลือกตั้ง ต้องกลับไปหาประชาชน ซึ่งผู้นำเผด็จการไม่ต้องกังวลเรื่องนี้ พวกเขาอาจจะมีการเลือกตั้ง แต่นั่นก็เป็นพิธีการหลอกๆ เท่านั้น ดังนั้นชาติประชาธิปไตยเสรีนิยมจำนวนมาก จึงเลือกอยู่เป็น อยู่เฉย ต่อการคุกคามของอำนาจนิยม

ยกตัวอย่าง เยอรมันซึ่งมีท่าทีต่อการคุกคามยูเครนของรัสเซียเบาบางลงมาก เพราะมีผลประโยชน์ร่วมกันเรื่องท่อก๊าซอยู่ ยังไม่นับบริษัทนายทุนเยอรมันที่ไปลงทุนในรัสเซียและจีนเป็นจำนวนมาก จนมีพลังในการกดดันผู้นำของตัวเองได้ด้วย

ยุคสมัยนี้ เราได้เห็นข้อจำกัดของระบอบประชาธิปไตย และได้เห็นการคุกคามจากระบอบอำนาจนิยมหนักหน่วงมาก

5

พลานุภาพของเครือข่ายอำนาจนิยมเข้มแข็งกว่าเดิม ทันสมัยกว่าเดิม เกี่ยวดองกันซับซ้อนยุ่งเหยิงกันไปมา พวกเขามีทั้งทุน เงิน อำนาจ ความโหดเหี้ยมที่พร้อมจะสนับสนุนซึ่งกันและกัน ยิ่งรัสเซียกับจีนกระชับมิตรแน่นขึ้น เครือข่ายอำนาจนิยมก็ยิ่งยิ้มกริ่ม

นี่ดูเหมือนการประชุมของเหล่าวายร้ายในหนังฮอลลีวูดมากๆ แต่มันเป็นความจริงที่สุดสยอง

ยุทธวิธีที่ชาติเสรีนิยมเคยปิดล้อม คว่ำบาตรกดดันชาติเผด็จการ ไม่มีวันใช้ได้ผลอีกต่อไปแล้ว พวกเขามีเครือข่ายเป็นจำนวนมากเกินกว่าที่จะรับมือไหวแล้ว การต่อสู้กับเครือข่ายอำนาจนิยมต้องใช้วิธีใหม่ และคนในประเทศเหล่านี้ต้องตระหนักว่า ถ้อยคำ “เราชนะแน่ ให้มันจบที่รุ่นเรา” ไม่ได้ง่ายอีกต่อไป ศัตรูมีพลวัตร ทันสมัยกว่าเดิม พร้อมทำลายความหวัง ความฝันเสรีภาพของผู้คนอย่างเลือดเย็นด้วย

เราได้แต่หวังว่าระบอบประชาธิปไตยจะเอาตัวรอดได้อีกครั้ง ต้องยอมรับว่าอีกฝ่ายมีแรงอาฆาตประชาธิปไตยและเสรีภาพมากกว่าปกติด้วย

เพราะสำหรับชาติเผด็จการแล้ว ประชาธิปไตยคือภัยที่พวกเขากลัวมากสุด จากบทเรียนการสิ้นสุดของสงครามเย็น อาหรับสปริง ผู้นำเผด็จการที่ถูกโค่นล้มจากการปฏิวัติลุกฮือของประชาชน หากพวกเขาพ่ายแพ้ มันอาจหมายถึงชีวิตและความตาย ทุกอย่างจะพังพินาศหมดแน่นอน

ทั้งหมดนี้ทำให้เครือข่ายเห็นร่วมกันว่า ต้องหยุดการเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศตัวเองให้ได้ ไม่อย่างนั้นมันจะพังกันเป็นแถบๆ 

เพราะการปฏิวัติประชาธิปไตยก็เหมือนโรคติดต่อ ถ้าคุณเอาสิ่งนี้ออกไปจากประเทศหนึ่งได้ คุณก็หลีกเลี่ยงการปะทุในที่อื่นได้เช่นกัน

 

ข้อมูลอ้างอิง

https://www.theatlantic.com/magazine/archive/2021/12/the-autocrats-are-winning/620526/

https://asia.nikkei.com/Editor-s-Picks/China-up-close/Analysis-Russia-deal-gives-Xi-safety-net-for-potential-Taiwan-action

https://www.nytimes.com/2022/01/26/briefing/russia-ukraine-trump-nato.html

The Chancellor: The Remarkable Odyssey of Angela Merkel โดย Kati Marton

Tags: , , , , , , ,