ปี 2022 วาระการเมืองเวียนมาบรรจบ ปีนี้มีหลายประเทศในทวีปเอเชีย ถึงเวลาเลือกตั้งผู้นำคนใหม่ ทั้งเกาหลีใต้ เขตปกครองพิเศษฮ่องกง ฟิลิปปินส์ และการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์จีน บางประเทศก็เป็นการขับเคี่ยวของผู้นำรุ่นใหม่ที่ออกนโยบายเปลี่ยนโฉมหน้าประเทศ แต่ก็มีบาดแผลชนักติดหลังที่ทำให้คนเลือกไม่ค่อยลง จึงนับเป็นปีที่น่าตื่นตาตื่นใจอย่างยิ่ง

ขณะที่บางแห่ง ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งอาจจะได้เลือกคนเดิม คนที่เขาบอกให้เลือก บางประเทศ ประชาชนจะได้เลือกตั้งอดีตลูกผู้นำเผด็จการ ที่ประชาชนพร้อมใจกันโค่นล้มมาเมื่อหลายสิบปีก่อน ขณะที่บางแผ่นดินก็เพียงแค่ประทับตรายาง ให้ผู้นำบางคนดำรงตำแหน่งได้ตลอดชีพ ซึ่งหมายถึงว่าไม่ต้องเสียเวลาเลือกอีก

แต่ไม่ว่าการเลือกตั้งจะจบลงอย่างไร นี่คือปรากฏการณ์ที่ต้องตามติด กับทวีปที่มีประชากรมากที่สุดในโลก ทุกย่างก้าวจึงเต็มเป็นไปด้วยความน่าสนใจที่ต้องพิจารณาเป็นพิเศษ และทั่วทั้งโลกล้วนจับตามอง เพื่อดูว่าดุลแห่งอำนาจจะหันเหไปทิศทางไหน

1. เกาหลีใต้ เข้าคูหา แต่กากบาทไม่ค่อยลง

รัฐธรรมนูญเกาหลีใต้กำหนดให้ประธานาธิบดีอยู่ในวาระได้ 5 ปี ดำรงตำแหน่งได้สมัยเดียว ดังนั้นประธานาธิบดีคนปัจจุบัน มุน แจ-อิน (Moon Jae-in)จึงต้องหลีกทางให้ผู้นำคนต่อไป ซึ่งมีคู่แข่ง 2 คนต่างขับเคี่ยวกันชนิดที่ว่าผลโพลชี้ว่ามีการนำกันไม่เกิน 1% เรียกว่าเป็นการเลือกตั้งที่น่าจะเชือดเฉือนพลิกไปพลิกมาได้ตลอดเวลา และอะไรก็เกิดขึ้นได้จนกว่าจะถึงเดือนมีนาคม

การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้เป็นการต่อสู้กันระหว่าง ลี แจ มยอง (Lee Jae-myung) อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดคยองกี จากพรรครัฐบาล กับคู่แข่งจากพรรคอนุรักษ์นิยม ซึ่งเป็นอดีตอัยการอย่าง ยุน ซอก ยูล (Yoon Suk-yeol) โดยผลสำรวจล่าสุดปรากฏว่าลีมีคะแนนนำยุนอยู่ที่ 36% ต่อ 35%

“มันเป็นการเลือกตั้งที่ผู้สมัครไม่ได้พร้อมอะไรเลย เหมือนช่วงที่คนไปเลือกประธานาธิบดี พัค กึน-ฮเย (Park Geun-hye) ซึ่งต่อมาก็โดนถอดถอนเพราะปัญหาคอร์รัปชัน” คนหนุ่มเกาหลีใต้วัย 20 บอกกับสื่อ

คนรุ่นใหม่ของเกาหลีใต้ต่างไม่แสดงตัวว่าสังกัดพรรคการเมืองไหน และการเลือกตั้งครั้งนี้ก็ดูไร้ความหวังอยู่มาก เพราะบาดแผลชนักติดหลังของทั้งลี แจ มยอง และยุน ซอก ยูล ก็มีประวัติด่างพร้อยอย่างมาก

เริ่มที่ ลี แจ มยอง ซึ่งอยู่พรรคเดียวกับประธานาธิบดี มุน แจ-อิน และได้แยกตัวออกมาจากนายเก่า เพื่อแสดงวิสัยทัศน์ที่น่าสนใจเพื่อดึงดูดประชาชน ด้วยนโยบายสนับสนุนการลงทุน โดยมีนโยบายเพื่อดึงดูดคนรุ่นใหม่

แต่ลีก็มีประวัติด่างพร้อย ทั้งข่าวคาวทุจริตคอร์รัปชัน จนคนตั้งคำถามว่าเหมาะจะเป็นประธานาธิบดีหรือไม่ ยังไม่นับว่าตัวเขาเคยซ้อมภรรยาถึงขั้นกระดูกหัก จนต้องเข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาล ด้านลูกชายก็ยังติดการพนันงอมแงม แถมเคยไปใช้บริการนวดแถมนาบจากโสเภณีอีกด้วย

นอกจากนี้ ในช่วงที่ลีเป็นทนายความ เขาเคยว่าความให้กับหลานที่ก่อเหตุฆาตกรรมแฟนสาวกับแม่ เมื่อปี 2006 โดยการแทงทั้งคู่ไปเกือบ 20 แผล โดยลีว่าความลดภาพการฆาตกรรมให้เหลือเพียงความรุนแรงระหว่างคู่รักเท่านั้น

ด้านยุน ซอก ยูล มีนโยบายที่เน้นคนรุ่นใหม่ ลดความขัดแย้งระหว่างรุ่นเช่นกัน แต่คนรอบตัวเขาล้วนถูกครหาเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชันทั้งนั้น เริ่มจากเมียที่ถูกกล่าวหาว่าทำเรซูเม่ปลอม จนต้องออกมาขอโทษสังคม แถมภรรยาคนเดิมยังไปทุจริตโยงกับบริษัทนำเข้ารถยนต์ด้วย ไม่เพียงเท่านั้นแม่ยายของยุนยังติดคุก 3 ปี หลังจากมีพฤติกรรมทุจริตในการบริหารโรงพยาบาลอีกด้วย

คนเกาหลีใต้จำนวนมากบอกว่า มันเป็นการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ที่ผู้สมัครมีแต่ภาพลักษณ์ในแง่ลบ และไร้รสนิยมที่สุดเท่าที่การเลือกตั้งหลังระบบเผด็จการล่มสลายเคยมีมา

“คาดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ คนเกาหลีใต้จะออกไปกาผู้สมัครที่พวกเขาเกลียดน้อยกว่าอีกฝ่ายเท่านั้นเอง”

2. ฮ่องกง เลือกคนที่เราให้คุณเลือก

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เขตปกครองพิเศษฮ่องกงมีความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก นับตั้งแต่การรุบคืบครั้งสำคัญของจีนแผ่นดินใหญ่ กับนโยบายที่ผูกมัดรัดฮ่องกงให้แน่นแฟ้นกว่าเดิม ด้วยกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ ทำให้เสรีภาพของสื่อและประชาชนในฮ่องกงจางหายไปกว่าเดิมมาก

การเลือกตั้งสภานิติบัญญัติหรือเลือกผู้แทนในฮ่องกงในช่วงที่ผ่านมา คนออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งกันน้อยมาก เพียง 30.2% แตกต่างจากเมื่อครั้งก่อนที่คนไปใช้สิทธิ์กันเกินครึ่ง นี่คือการแสดงพลังประท้วง ไม่เห็นด้วย เพราะผู้สมัครที่ลงสมัครต่างเป็นบุคคลที่ได้รับการการันตีจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนมาแล้ว กลั่นกรองมาให้กากบาท ซึ่งแทบจะไม่มีประโยชน์อะไรเลยกับการเลือกตั้ง

ยังไม่นับว่าในช่วงที่มีการเลือกตั้งนั้น เจ้าหน้าที่ได้ปิดสื่อ จับกุมผู้บริหาร จับกุมนักเคลื่อนไหวทางการเมือง อดีต ส.ส. ที่ฝักใฝ่ในระบอบประชาธิปไตยกันเสียเกลี้ยง

เดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ ฮ่องกงจะได้เลือกตั้งกันอีกครั้ง โดยเป็นการเลือกผู้ว่าเขตบริหารพิเศษฮ่องกงคนใหม่กันอีกครา และดูเหมือนว่าฮ่องกงอาจจะได้ผู้นำคนปัจจุบันอย่าง แคร์รี แลม (Carrie Lam) ซึ่งบริหารเกาะฮ่องกงด้วยหมัดเหล็ก และอิงแอบแนบชิดกับจีนแผ่นดินใหญ่มากกว่าเดิม โดยเธอยืนหยัดต่อสู้กับกลุ่มเยาวชนปลดแอกฮ่องกงที่เรียกร้องระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง จนถูกใจพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นอย่างมาก

อีกไม่ถึง 2 เดือนกับการเลือกตั้งผู้บริหารพิเศษฮ่องกงคนใหม่ จนถึงขณะที่เขียนต้นฉบับนี้ ยังไม่มีผู้บริหารข้าราชการท่านใดประกาศลาออกมาหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งก็ไม่ใช่ว่าจะทำได้ง่ายๆ เพราะผู้สมัครจะต้องได้รับการรับรองจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนก่อน

ดังนั้น แคร์รี แลม ที่ค่อนข้างแสดงตัวว่าจะลงสมัครอีกสมัย ซึ่งกำหนดตำแหน่งวาระละ 5 ปี ก็คงจะเป็นผู้สมัครตัวเก็ง ที่เก็งกันมาจากจีนแผ่นดินใหญ่แล้ว

ดังนั้นนี่คือการเลือกตั้งที่เสมือนเป็นการให้เลือก ‘คนที่จัดหามาให้’ ทำให้นึกถึงคำพูดอันโด่งดังของเลขาธิการของพรรคสังคมนิยมแห่งเยอรมันตะวันออก อย่างวอลเตอร์ อูลบริชท์ ที่บอกไว้ว่า 

“จงทำให้ทุกอย่างดูเหมือนประชาธิปไตย แต่ทั้งหมดอยู่ในการควบคุมของพวกเรา”

3. ฟิลิปปินส์ เหล้าเก่าในขวดเก่า

เดือนพฤษภาคมนี้ กำลังจะถึงคิวของฟิลิปปินส์กับการเลือกตั้งประธานาธิบดี ซึ่งครั้งนี้ก็ช่างน่าตื่นตายิ่งนัก นอกจากนักมวยระดับโลกอย่าง แมนนี ปาเกียว (Manny Pacquiao) ประกาศลงสมัครขอคะแนนจากคนในประเทศให้ไปถึงตำแหน่งประธานาธิบดีแล้ว การที่ประธานาธิบดีคนปัจจุบันอย่าง โรดรีโก ดูแตร์เต (Rodrigo Duterte) ประกาศไม่ลงสมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี ยิ่งทำให้ทุกอย่างเปิดกว้างเข้าไปใหญ่

ทั้งนี้ ต้องเข้าใจว่าประธานาธิบดีฟิลิปปินส์จะดำรงตำแหน่งได้สมัยเดียว เพียง 6 ปี เดิมทีมีการคาดว่าลูกสาวของดูแตร์เตอาจลงเลือกตั้ง เพื่อปกป้องพ่อจากนโยบายฆ่าตัดตอนฉบับตากาล็อก ที่มีการสังหารประชาชนที่ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติดเป็นจำนวนมาก ซึ่งถ้าพิจารณาจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ผู้นำฟิลิปปินส์ที่ลงจากตำแหน่ง มักจะหนีการต้องขึ้นศาลในข้อหาคอร์รัปชัน ทุจริตในช่วงดำรงตำแหน่งไม่พ้น และลงท้ายก็ต้องไปติดคุกทุกครั้ง

ดูเหมือนดูแตร์เตมั่นใจว่าเขาเอาอยู่ แต่ก็ยังไม่วางใจทั้งหมด จึงส่งลูกสาวชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีแทน (ซึ่งตำแหน่งประธานาธิบดีกับรองประธานาธิบดีนั้นจะเลือกตั้งกันคนละครั้ง) และดูแตร์เตก็ไม่ขอลงสมัครตำแหน่งวุฒิสมาชิก เรียกได้ว่าเขามั่นใจว่าไม่ต้องมีอภิสิทธิ์ทางการเมืองก็น่าจะรอดคุกได้

แม้สีสันอาจจะอยู่ที่ แมนนี ปาเกียว แต่คะแนนเขายังตามตัวเก็งอันดับ 1 ณ ตอนนี้อยู่ห่างไกล

โดยผู้นำที่ผลสำรวจมาแรงแซงทุกโค้งคือ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ (Ferdinand Marcos Jr.) ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของอดีตประธานาธิบดี เฟอร์ดินาน มาร์กอส ผู้อื้อฉาวที่ถูกประชาชนชาวฟิลิปปินส์โค่นล้ม หลังบริหารประเทศด้วยกฎอัยการศึกมาอย่างยาวนาน

เหตุการณ์นี้เป็นเรื่องเหลือเชื่ออย่างมาก กับการที่ลูกชายของอดีตผู้นำเผด็จการที่ปกครองประเทศด้วยการคอร์รัปชันและความรุนแรง จะสามารถมีช่องทางและเส้นทางในการกล้าลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีได้

ที่สำคัญมาร์กอส จูเนียร์ ยังมีคะแนนโดดเพิ่มขึ้นเกือบครึ่งของผลสำรวจในช่วงเดือนธันวาคม หลังจากเดือนกันยายนเขายังมีคะแนนคนนิยมอยู่ที่ 15% ว่ากันว่าที่ผลสำรวจเขาพุ่งขึ้น เพราะการจับมือเป็นพันธมิตรกับดูแตร์เต ที่คนจำนวนมากยังนิยมตัวเขาอยู่ โดยมีพันธมิตรคือลูกสาวของดูแตร์เต ซึ่งลาออกจากนายกเทศมนตรีเมืองดาเวา ทางตอนใต้ของประเทศ เพื่อลงชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี และนับเป็นการผนึกกำลังกันอย่างลงตัวมาก

อย่างไรก็ดี ตัว มาร์กอส จูเนียร์ เอง ก็ไม่ได้แตกต่างจากพ่อ เพราะมีความผิดจากเรื่องการหลบเลี่ยงภาษีในช่วงยุค 90s ซึ่งความผิดนี้จะส่งผลให้เขาต้องห้ามลงสมัครเลือกตั้งได้ โดย กกต. ฟิลิปปินส์ได้ยกคำร้องไปแล้วคดีหนึ่ง แต่วิบากกรรมยังไม่หมด เพราะยังมีคดีเกี่ยวกับภาษีที่รอมาร์กอส จูเนียร์ชี้แจงอีก 3 คดีด้วยกัน ดังนั้นจึงต้องจับตาสถานการณ์ของมาร์กอสคนลูกว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป

ทางประธานาธิบดีดูแตร์เต ได้หันมาสนับสนุนมาร์กอส จูเนียร์ หลังจากเขาเคยชสนับสนุนวุฒิสมาชิกคนหนึ่ง แต่คะแนนไม่ค่อยพุ่ง จนต้องถอนตัวออกไป ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ดูแตร์เตเองยังด่ามาร์กอสคนลูกว่าเป็นผู้นำที่อ่อนแอ และเป็นเด็กที่ถูกเอาใจจนเคยตัว

จะว่าไปฟิลิปปินส์ก็ถือเป็นการเมืองที่มากสีสัน เพราะผู้สมัครหลายคนก็วนเวียนอยู่ในวงการนี้ไม่เคยเปลี่ยน นับเป็นเหล้าเก่าในขวดเก่าที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

4. จีน ประธานสี ผู้นำตลอดชีพ จะได้ไม่ต้องเลือกกันอีก

เติ้ง เสี่ยวผิง (Deng Xiaoping) ผู้นำแมวเก้าชีวิตที่ยิ่งใหญ่ของจีน ได้กำหนดให้ตำแหน่งผู้นำประเทศดำรงตำแหน่งได้เพียง 2 สมัย ซึ่งมีวาระแต่ละสมัย 5 ปี ดังนั้น 10 ปีที่ครองอำนาจก็น่าจะเพียงพอแล้ว เพราะเหตุผลที่ไม่อยากให้มีการอยู่ในอำนาจนานจนหลงระเริง เหมือนในยุคสมัยเหมา เจ๋อตง ที่อยู่ในอำนาจนาน จนคิดว่าจะทำอะไรก็ได้ และเกิดการปฏิวัติวัฒนธรรมอันเหี้ยมโหด กว่าจีนจะรอดมาได้ ก็มีคนตายไปจำนวนมาก พร้อมทั้งเจอวิบากกรรมอย่างเจ็บปวด

ดังนั้น ผู้นำจีนทั้ง เจียง เจ๋อหมิน (Jiang Zemin) และ หู จิ่นเทา (Hu Jintao) ต่างทำตามคำสั่งของเติ้ง เสี่ยวผิง โดยการอยู่ในตำแหน่ง 2 สมัย 10 ปี และถอนตัวอย่างเคร่งครัด กระทั่งผู้นำคนปัจจุบัน สี จิ้นผิง (Xi Jinping) ได้ฉีกกฎ โดยขออยู่ในตำแหน่งไปตลอดชีพ เรียกได้ว่ายกระดับสถานะตัวเองไปเทียบเท่ากับประธานเหมา เจ๋อตง

ขณะนี้มีการคาดว่าปี 2022 จะเป็นปีสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและของทั้งโลก เพราะจากผลสำรวจของพรคคอมมิวนิสต์จีน ประชาชนในประเทศกว่า 85% ต่างสนับสนุนให้มีการรื้อฟื้นตำแหน่งประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งเดิมเป็นตำแหน่งของเหมา เจ๋อตง และถูกยุบไปหลังเหมาตาย ดูเหมือนว่าคนจีนจะอยากให้มีตำแหน่งนี้กลับมาใหม่ และมอบมันให้กับ อะแฮ่ม… จะใครอีก ถ้าไม่ใช่ สี จิ้นผิง ผู้นี้

แม้การประชุมสมัชชาใหญ่ของพรรคจะยังไม่กำหนดวัน แต่มีการคาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งจะใกล้เคียงกับช่วงเลือกตั้งกลางเทอมทั้ง ส.ส. และวุฒิสมาชิกของอเมริกาด้วย และจะมีผลต่อความมั่นคงของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ซึ่งอเมริกาและจีนก็ยังคงทำสงครามเย็นกันอย่างดุเด็ดเผ็ดมัน

หากตำแหน่งประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีนถูกรื้อฟื้นมาใหม่ มันก็จะเป็นการปูทางให้ สี จิ้นผิง ขึ้นเป็นผู้นำจนกว่าจะหมดลมหายใจจากโลกใบนี้ไป แน่นอนว่าการประชุมสมัชชาใหญ่ จะต้องมีการลงคะแนน แต่ก็รู้ๆ กันอยู่ว่าทุกอย่างจบลงตั้งแต่ก่อนประชุมแล้ว แม้ที่ผ่านมาจะมี 3 กฎเหล็กในการประชุมที่บอกว่า จะต้องไม่มีลัทธิบูชาบุคคล จะต้องไม่มีตำแหน่งทางการเมืองที่ดำรงตำแหน่งไปตลอดชีวิต และจะต้องต้องไม่มีการเปลี่ยนแปลงระบบผู้นำเด็ดขาด ซึ่งเป็นกฎที เติ้ง เสี่ยวผิง ผู้ล่วงลับเน้นย้ำไว้

แต่ดูเหมือนสี จิ้นผิงจะล้างมรดกของเติ้งทิ้งหมด แล้วมุ่งหน้าสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญพรรคใหม่ เพื่อเปิดทางให้ตัวเขาเอง ซึ่งทุกอย่างนี้เราจะได้ร่วมกันจับตามองในช่วงสิ้นปี 2022 เพราะมันส่งผลต่อทั้งโลก โดยเฉพาะไต้หวัน ซึ่งสี จิ้นผิงประกาศกร้าวว่าจะต้องเอากลับมาอยู่ในการปกครองของจีนให้ได้ โดยถือเป็นนโยบายระยะยาวที่อาจทำให้อเมริกาไม่ยอมอย่างเด็ดขาด

สรุป

นี่เป็นเพียงตัวอย่างหอมปากหอมคอของการเลือกผู้นำแบบฉบับเอเชียที่น่าสนใจ จากเกาหลีใต้ สู่ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ และจบที่จีน ดังนั้นปี 2022 จึงถือเป็นการผลัดใบที่ตื่นตาตื่นใจในเอเชีย เพราะมีการเลือกตั้งที่หลากหลาย ทั้งเลือกตั้งจริงๆ ให้เลือกแบบกาไม่ลง บังคับเลือก เลือกกันแบบงงๆ และต้องเลือกเพื่อจะได้ไม่ต้องเลือกอีก ทั้งหมดนี้จึงเป็นปรากฎการณ์ที่น่าสนใจสำหรับโลกใบนี้ และถือเป็นปีที่ต้องจับตากันแบบห้ามกะพริบเลยทีเดียว

 

อ้างอิง

https://www.scmp.com/news/hong-kong/politics/article/3161844/hong-kong-chief-executive-election-2022-why-years

Your predictions for Asia in 2022 – Nikkei Asia

Disillusioned younger voters hold key to South Korea presidential race – Nikkei Asia

2022 look ahead: Mudslinging dominates South Korea’s election – Nikkei Asia

Marcos firms up lead in latest Philippine presidential poll – Nikkei Asia

Xi says 2022 party congress will be ‘major event’ for China’s politics – Nikkei Asia

Tags: , , , , , ,