ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม เป็นช่วงเวลาที่เครื่องจักรไอน้ำเข้ามาเป็นปัจจัยการผลิตในโรงงาน เพราะว่าเครื่องจักรสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องไม่เหน็ดเหนื่อย แถมยังทำงานได้แม่นยำกว่ามนุษย์ และสามารถผลิตสินค้าได้ปริมาณมาก

‘ลัดไดท์’ เป็นชื่อของกลุ่มคนที่ต่อต้านการใช้เครื่องจักรในโรงงาน ซึ่งต้องการเรียกร้องความเป็นธรรมเพราะถูกเครื่องจักรแย่งงาน แต่ในอีกทางหนึ่ง การต่อต้านเครื่องจักรที่มาทำงานแทนที่คนก็เหมือนกับการต่อต้านเทคโนโลยีไปด้วย กลุ่มคนที่ไม่ยอมรับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจึงได้ชื่อว่าเป็นลัดไดท์ไปโดยปริยาย

ชื่อนี้ คาดว่าน่าจะมาจาก เน็ด ลัดด์ หรือ เอ็ดเวิร์ด ลัดด์ (Ned Ludd/Edward Ludd) (ราวปี 1779) ซึ่งทำลายหูกทอผ้าที่เป็นเครื่องจักรไปถึงสองเครื่องเพื่อระบายอารมณ์ จนทำให้เป็นเรื่องเล่าต่อๆ กันเวลาที่เครื่องทอผ้าในโรงงานเสียหรือหยุดทำงาน ก็จะอ้างความผิดว่า “เน็ด ลัดด์ เป็นคนทำ”

จากประวัติศาสตร์นี้ก็พอเห็นได้ว่าข้อพิพาทระหว่างแรงงานและเครื่องจักรที่กำลังจะเข้ามาแทนที่แรงงานไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เกิดขึ้นมากว่าสองร้อยปีแล้ว และในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ก็มีประโยคคุ้นหูที่บอกว่า “คุณจะต้องเอาร่างไปขวางฟันเฟือง ไปขวางล้อเอาไว้!” ( And you’ve got to put your bodies upon the gears and upon the wheels) ซึ่งเป็นคำกล่าวของ มาริโอ ซาวิโอ (Mario Savio) นักเคลื่อนไหวด้านสหภาพแรงงานที่กล่าวไว้เมื่อปี 1964 คำพูดนี้ยังใช้เป็นตอนต้นของเพลง timelessness ของ Fear Factory วงเมทัลที่มีเนื้อหาถึงการต่อสู้กับเครื่องจักร และตอนต้นของ Wretched and King เพลงของวงดังอย่าง Linkin Park

‘ลัดไดท์’ เป็นชื่อของกลุ่มคนที่ต่อต้านการใช้เครื่องจักรในโรงงาน ซึ่งต้องการเรียกร้องความเป็นธรรมเพราะถูกเครื่องจักรแย่งงาน

จากทาสรับใช้ กลายเป็นคู่แข่งในการทำงานของมนุษย์

คำว่า Robot หรือ Robota มีที่มาจากภาษาเชคแปลว่า ทาสรับใช้ (Forced Laborer) แต่ปัจจุบันนี้ หุ่นยนต์พัฒนามาจนมีระดับความซับซ้อนที่มากไปกว่าแขนกลที่เพียงทำหน้าที่ซ้ำๆ ในโรงงานอุตสาหกรรม

หุ่นยนต์ที่มีระบบการสั่งการอัตโนมัติ (Automated System) ก็สามารถทำงานด้วยตัวเองตั้งแต่ต้นจนจบ เช่น เครื่องบินทิ้งระเบิดไร้คนขับที่สามารถตัดสินใจยิงจรวดเองได้ หุ่นยนต์ที่สามารถเปิดประตูด้วยตัวเองได้ แต่สำหรับ AI หรือปัญญาประดิษฐ์นั้น เป็นเครื่องจักรที่มีการเรียนรู้ ซึ่งการเรียนรู้ของมันมาจากระบบประสาทเทียม (Neural Network System) ทำให้เครื่องจักรสามารถแก้ไขข้อผิดพลาดของตนเองได้โดยไม่ต้องมีมนุษย์มาป้อนคำสั่ง นั่นหมายความว่า การทำงานของเครื่องจักรจะมีมนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้องน้อยลงเรื่อยๆ เพราะว่าเครื่องจักรไม่เพียงแต่ทำงานด้วยตัวเองได้เท่านั้น มันยังเรียนรู้งานของมันได้อีกด้วย

หากเรามองความก้าวหน้าของหุ่นยนต์ในฐานะเทคโนโลยี เราก็จะเห็นว่า ตัวเทคโนโลยีไม่ได้อยู่ได้ด้วยตัวมันเอง มันเป็นระบบการทำงานที่มีภาคส่วนต่างๆ มาเกี่ยวข้อง แต่ระบบที่ฉลาดขึ้นเรื่อยๆ ดูเหมือนจะทำให้บทบาทการทำงานของมนุษย์ลดลงด้วยเช่นกัน

 

การเมืองในเทคโนโลยี

พื้นฐานสำคัญเวลาที่พูดถึงปรัชญาเทคโนโลยีคือ เทคโนโลยีเกี่ยวข้องกับสังคมทางใดทางหนึ่งเสมอ เพราะมันทำงานอยู่ในกิจกรรมต่างๆ ของสังคม เช่น รถยนต์ไร้คนขับจะวิ่งไม่ได้ถ้าไม่มีถนน ระบบนำทาง และอินเทอร์เน็ต ดังนั้นเวลาพูดถึงรถยนต์ไร้คนขับ จะรวมเอาสิ่งแวดล้อมหรือระบบที่ทำให้มันทำงานเข้าไปด้วย

แนวคิดแบบสารัตถะนิยมทางเทคโนโลยี ของ ไฮเด็กเกอร์ (Heidegger) ที่เสนอว่าเทคโนโลยีมีเป้าหมายมาแล้วตั้งแต่ต้น ที่นอกจากจะเป็นตัวกำหนดกรอบการเข้าใจโลกแล้ว เป้าหมายซึ่งเป็นเนื้อแท้ของเทคโนโลยีก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้

ไฮเด็กเกอร์มองว่า ความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบที่เกิดจากเทคโนโลยี เป็นเพราะเทคโนโลยีมีเป้าหมายล่วงหน้า เช่น ปืนที่ดีคืออาวุธที่มีพลังทำลาย ดังนั้น การใช้ปืนจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพัฒนาเพื่อให้เกิดการทำลายล้าง

แต่นักปรัชญาคนสำคัญที่คิดตรงกันข้ามกับสารัตถะนิยมทางเทคโนโลยี คือ แอนดรูว์ ฟีนเบอร์ก(Andrew Feenberg) ที่เสนอว่า เทคโนโลยีไม่ได้มีสารัตถะตายตัว และเป้าหมายของเทคโนโลยีควบคุมได้ด้วยอำนาจ นั่นคือ คนในสังคมมีอำนาจตัดสินใจใช้เทคโนโลยีไปในทางใดทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัยเทคโนโลยี หรือผู้ใช้เทคโนโลยี ที่ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ทางเทคนิค

ตัวอย่างเช่น เร็วๆ นี้ มีการพบว่าระบบการระบุใบหน้า  ซึ่งออกแบบโดยคนขาว มีอคติ ซึ่งแสดงถึงอคติในเทคโนโลยี หรืออีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ การออกกฏหมายควบคุมน้ำยาซักผ้าเพื่อไม่ให้วัยรุ่นกิน (น้ำยาซักผ้าถือเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ความรู้ด้านเคมีเพื่อสังเคราะห์สารทำความสะอาด และการออกแบบน้ำยาซักผ้าไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อให้กินได้ตั้งแต่ต้น) ซึ่งมันแสดงให้เห็นว่าสังคมมีส่วนกำหนดลักษณะของเทคโนโลยี ไม่ใช่เพียงแค่บริษัทที่เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์เท่านั้น

แอนดรูว์ ฟีนเบอร์ก เสนอว่า คนในสังคมมีอำนาจตัดสินใจใช้เทคโนโลยีไปในทางใดทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัยเทคโนโลยี หรือผู้ใช้เทคโนโลยี ที่ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ทางเทคนิค

แรงงานกับเทคโนโลยี

เมื่อเทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของสังคมทั้งหมด การพิจารณาหุ่นยนต์ในฐานะเทคโนโลยีที่จะแย่งงานมนุษย์ ก็ควรจะมองไปที่ภาพของระบบของสังคมทั้งหมด การงานต่างๆ ที่เราทำก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมโดยรวมทั้งนั้น ถ้าเครื่องจักรจะกระทบกับงาน มันก็จะกระทบกับสังคมโดยรวมไปด้วย

ความกังวลที่ว่า AI กำลังจะเข้ามาแทนที่อาชีพต่างๆ ในไม่ช้า ไม่ได้แตกต่างจากการต่อสู้ของลัดไดท์ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม แต่ถ้าเราพิจารณาถึงเป้าหมายของกลุ่มลัดไดท์จะเห็นว่า ปัญหาไม่ใช่การต่อต้านเทคโนโลยี แต่ปัญหาคือความเป็นธรรมระหว่างการใช้เทคโนโลยีกับแรงงานที่เสียผลประโยชน์มากกว่า

ดังนั้น ปัญหาในการใช้ AI กับงานรูปแบบต่างๆ จึงไม่ใช่เรื่องที่ว่า AI จะมาแทนที่ใคร หรือใครจะตกงานบ้าง แต่เป็นประเด็นที่ว่า AI หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามาใช้ในสังคมจะให้อะไรแก่สังคมบ้าง เพราะถ้าหากมันไม่ใช่เทคโนโลยีที่สร้างสรรค์สวัสดิภาพแก่สังคม เทคโนโลยีก็ไม่ต่างอะไรจากเครื่องมือของนายทุนหรือเครื่องมือของผู้มีอำนาจ ที่เมื่อนำมาใช้แล้วจะเป็นประโยชน์แก่ผู้มีอำนาจและนายทุนเท่านั้น

เรื่องการเมืองในเทคโนโลยีช่วยให้เราเห็นว่า การใช้เทคโนโลยีในสังคม มีเรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจของ ‘ผู้เชี่ยวชาญ’ กับ ‘สังคมของการใช้เทคโนโลยี’ อยู่ ถ้าหากผู้ที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีใช้เทคโนโลยีตามอำเภอใจก็จะมีผู้เสียผลประโยชน์ เหมือนที่กลุ่มลัดไดท์เคยได้รับผลกระทบจากเครื่องจักรมาแทนที่แรงงาน

และความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ว่านี้ เป็นเรื่องต่อรองได้ นั่นหมายความว่า แท้จริงแล้วผู้เชี่ยวชาญและเจ้าของเทคโนโลยีไม่ได้มีสิทธิ์ขาดในการกำหนดใช้เทคโนโลยี

กล้องถ่ายรูปในสมาร์ทโฟนเป็นตัวอย่างที่ดีที่จะบอกว่า ‘สังคมของการใช้เทคโนโลยี’ กำหนดการออกแบบของผู้เชี่ยวชาญได้เหมือนกัน เพราะโดยลักษณะการทำงานแล้ว สมาร์ตโฟนคือโทรศัพท์ที่สามารถลงโปรแกรมและเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต แต่การแข่งขันระหว่างผู้ผลิตโทรศัพท์ กลับชูประเด็นเรื่องกล้องถ่ายรูปที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ถ่ายรูปสวยขึ้น หรือแม้กระทั่งแต่งภาพให้สวยเกินจริงได้ ลูกเล่นเกี่ยวกับการถ่ายภาพกลายเป็นจุดเด่นของสมาร์ตโฟนรุ่นสูงๆ เพียงเพราะว่าผู้ใช้นิยมถ่ายรูปด้วยสมาร์ตโฟน ทำให้ผู้ผลิตต้องให้ความสำคัญโทรศัพท์ที่ถ่ายรูปสวยมากกว่าโทรศัพท์ที่ฟังเพลงเพราะหรือโทรศัพท์ที่สมบุกสมบันทนแรงกระแทก

แนวคิดแบบฟีนเบอร์กแสดงให้เห็นว่า ถ้าหากพิจารณาเทคโนโลยีในสังคมอย่างแท้จริงแล้ว มันมีพลวัตระหว่างผู้เชี่ยวชาญและสังคมของการใช้เทคโนโลยีอยู่เสมอ เพียงแต่ผู้ใช้อาจจะไม่รู้ตัวว่าการใช้เทคโนโลยีมีบทบาทในการกำหนดทิศทางของเทคโนโลยี

แท้จริงแล้วผู้เชี่ยวชาญและเจ้าของเทคโนโลยีไม่ได้มีสิทธิ์ขาดในการกำหนดใช้เทคโนโลยี

งานเปลี่ยนแปลงได้ ก็สร้างขึ้นใหม่ได้

ถ้ามองย้อนไปในประวัติศาสตร์ของการผลิตแบบอุตสาหกรรม ทุกวันนี้สหภาพแรงงานและกฏหมายแรงงานเป็นเครื่องมือในการต่อรองและคุ้มครองไม่ให้แรงงานถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายทุน แต่ในแง่มุมของเทคโนโลยีแล้วอาจจะมีความแตกต่างอยู่บ้างเล็กน้อย เพราะดูเหมือนการไม่ยอมรับเทคโนโลยีเพราะกลัวว่าจะตกงาน จะกลายเป็นการต่อต้านเทคโนโลยีและไม่ยอมรับวิทยาการที่สร้างขึ้นโดยความรู้ใหม่ๆ

ความแตกต่างระหว่างการขูดรีดแรงงานกับการใช้เทคโนโลยี ก็คือ ความเข้าใจในเรื่องเทคโนโลยีอาจเป็นทางออกสำหรับความกลัว ว่างานของมนุษย์จะกลายเป็นงานของเครื่องจักรไปทั้งหมด

สตีฟ วอซเนียค (Steve Wozniak) ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทแอปเปิ้ลให้ความเห็นไว้อย่างน่าสนใจว่า “ถ้างานบางอย่างหายไป ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีงานอื่นมาแทน”

สิ่งที่จะสนับสนุนความคิดของวอซเนียคก็คือ แรงงานฝีมือมนุษย์มีความก้าวหน้า และมีทักษะที่ซับซ้อนขึ้น เมื่อมองย้อนไปในประวัติศาสตร์ เมื่อ 60 หรือ 70 ปีก่อน คนที่อ่านหนังสือออกหรือเขียนหนังสือได้จะมีโอกาสได้งานสูงกว่าคนอื่น แต่ในปัจจุบัน ทักษะอ่านออกเขียนได้เป็นมาตรฐานของแรงงาน คนที่อ่านออกเขียนได้ ไม่ได้มีโอกาสได้งานมากขึ้นในปัจจุบัน หรือเช่นในสมัยนี้ การใช้คอมพิวเตอร์ได้ก็ไม่ใช่ข้อได้เปรียบที่จะได้งานทำ แต่มันจะกลายเป็นข้อเสียเปรียบทันทีหากใช้คอมพิวเตอร์ไม่เป็นเลย

ถ้างานบางอย่างหายไป ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีงานอื่นมาแทน

และเมื่อเทคโนโลยีซับซ้อนขึ้นก็มีงานใหม่ๆ ด้วยเช่นกัน อาชีพอย่างนักวิเคราะห์ข้อมูล นักกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ (E-sport) อาชีพรีวิวสินค้า หรือ youtuber ก็เป็นอาชีพที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ มันแสดงให้เห็นว่า มนุษย์มีศักยภาพในการปรับตัวให้เข้ากับสังคมและยุคสมัย ความรู้และทักษะฝีมือแรงงานมีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น

แต่สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามในความเปลี่ยนแปลงที่เป็นผลมาจากเทคโนโลยีก็คือ การใช้เทคโนโลยีได้สร้างความเป็นธรรมให้กับสังคมหรือไม่? และการแสวงหางานใหม่ๆ ไม่ควรจะเป็นภาระของแรงงานอยู่ฝ่ายเดียว แน่นอนว่าเทคโนโลยีที่ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ จะต้องมีทักษะแรงงานที่เท่าทันกับเทคโนโลยี แต่ทักษะฝีมือแรงงานเป็นสิ่งที่ต้องฝึกฝนและเรียนรู้ การพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะมันแสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีที่จะเข้ามาใช้ในสังคมไม่ได้เป็นประโยชน์แก่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในสังคม แต่ความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีจะช่วยยกระดับฝีมือแรงงาน และอาจจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานฝีมือได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม เรื่องความเป็นธรรมในการใช้เทคโนโลยีไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง และมันเป็นหน้าที่ของหน่วยงานหรือองค์กรว่าจะสร้างงานและส่งเสริมทักษะให้กับแรงงานอย่างไรบ้าง ซึ่งเรื่องความเป็นธรรมของแรงงานคือสิ่งที่กลุ่มลัดไดท์ซึ่งถูกตราหน้าว่าเป็นผู้ต่อต้านเทคโนโลยีเรียกร้องมาโดยตลอด

Tags: