นโยบายเศรษฐกิจกลายเป็นประเด็นหลักที่หลายพรรคให้ความสำคัญ เพราะใครๆ ก็ห่วงเรื่องปากท้อง หลายนโยบายเป็นเรื่องที่แค่ฟังก็รู้แล้วว่าดี (แต่จะทำจริงได้ไหมก็ต้องลองให้โอกาส)
ด้วยจำนวนนโยบายมากมายที่หลายพรรคโยนไอเดียกันออกมา เราลองสรุปคอนเซ็ปต์หลักๆ ที่แต่ละพรรคใช้ออกแบบนโยบายเศรษฐกิจของตัวเองมาหาเสียง ทั้งพรรคเศรษฐกิจใหม่ที่เน้นความเป็นศูนย์กลาง พรรคเพื่อไทยที่เกาะติดเรื่องเงินๆ ทองๆ พรรคพลังประชารัฐที่ระดมเอา ‘ของใหม่ๆ’ มาใส่ พรรคอนาคตใหม่ที่จะมุ่งไปรื้อระบบเดิมที่ผูกขาด และพรรคประชาธิปัตย์ที่บอกว่าจะกระจายรายได้และความเจริญก่อน
นอกจากนี้ เรายังแถมนโยบายพรรคอื่นๆ เป็นน้ำจิ้ม เช่น นโยบายปลูกต้นไม้ใช้หนี้ ปลดหนี้ กยศ. ด้วยการทำความดี หรือการผลักดันเศรษฐกิจด้วยการสร้างสถานบันเทิงครบวงจรแบบลาสเวกัสในไทย เป็นต้น (อ่านได้ตอนท้ายของบทความ)
เศรษฐกิจใหม่ : ที่ 1 และศูนย์กลาง
ว่าด้วยนโยบายเศรษฐกิจ ก็ขอเริ่มที่พรรคเศรษฐกิจใหม่ ที่เราได้ยินบ่อยๆ ก็คงเป็นการผลักอุตสาหกรรมบันเทิงไทยไปสู่โลก
โดยภาพรวม พรรคนี้นำเสนอเรื่องความเป็นที่ 1 เป็นศูนย์กลาง หรือเป็นอะไรบางอย่างของโลกเสมอ เช่น ให้ไทยเป็นศูนย์กลางการเงินของเอเชียโดยการเปิดเสรีทางการเงิน หรือการประกาศให้ไทยเป็นประเทศปลอดภาษีอันดับ 1 ของโลก เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว หรือการกำหนดให้ไทยเป็นเมืองการผลิตยาของโลก โดยเชิญอุตสาหกรรมการผลิตยาจากประเทศต่างๆ มาผลิตยาจากสารเคมีและสมุนไพรเขตร้อน
นอกจากความเป็นศูนย์กลางแล้ว ยังมีแนวคิดแหวกๆ อย่างการทำให้ ‘การค้าออนไลน์’ เป็นอาชีพสงวนของคนไทย ซึ่งก็น่าติดตามว่าในโลกไร้พรมแดนเช่นนี้ อาชีพนี้จะกลายเป็นอาชีพสงวนได้อย่างไร
สำหรับนโยบายเศรษฐกิจอื่นๆ ได้แก่ การจัดการโครงสร้างบริการธนาคารที่มีอยู่แล้ว เช่น ให้ธุรกิจประกันชีวิตและบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน แยกออกมาจากธนาคาร เพื่อให้ลูกค้ากู้เงินได้โดยไม่ต้องทำประกันชีวิต และกำหนดให้ดอกเบี้ยเงินกู้-เงินฝากต่างกันไม่เกิน 3% แถมยังคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวน (ถึงธนาคารล้ม เราก็ไม่เสี่ยงสูญเงินทั้งหมดไป)
อีกเรื่องก็คือการค้าขายและการผลิต สนับสนุนทั้งการเปิดนิคมอุตสากรรมชายแดนเพื่อให้ไทย-ลาว-พม่า-กัมพูชา ได้ทำงานร่วมกัน และสนับสนุนสตรีตฟู้ดให้ได้มีที่ทาง โดยการจัดระเบียบและหาสถานที่ทดแทน มากกว่าเน้นกวาดล้าง
สรุปนโยบาย
|
เพื่อไทย : ปัญหาเงินๆ ทองๆ
อาจเป็นคอนเซ็ปต์ที่เด่นชัดของพรรคเพื่อไทย ว่าการหาเสียงจะเน้นหนักไปที่เรื่องเงินๆ ทองๆ ครั้งนี้แตกหน่อออกมาเป็น 4 ประเด็น ไม่ว่าจะเรื่องหนี้ ทุน ภาษี หรือหวย
เริ่มจาก ‘ปรับโครงสร้างหนี้’ ธุรกิจรายย่อยและพักหนี้เกษตรกร 3 ปี เพื่อเตรียมรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจโลก แล้ว ‘เติมทุน’ ด้วยการตั้งสถาบันพัฒนารายได้ในทุกจังหวัด อีกทั้งยัง ‘ลดภาษี’ เพื่อขยายฐานภาษี ใช้เหตุผลว่าจะทำให้คนทั่วๆ ไปมีรายได้มากขึ้น
จะเห็นว่านโยบายเพื่อไทยเน้นไปที่การแก้ปัญหาหนักอกหนักใจของคนตัวเล็กตัวน้อยก่อน เพื่อให้มีเรี่ยวแรงมาสู้ต่อในระบบเศรษฐกิจ โดยไม่ได้เน้นว่าธุรกิจเหล่านั้นต้องอยู่ในอุตสาหกรรมประเภทใดจึงจะได้รับการสนับสนุน
ส่วนสุดท้ายที่ฮือฮากันมากเมื่อวันที่ 16 มี.ค. 62 ก่อนการเลือกตั้งล่วงหน้า 1 วัน คือนโยบาย ‘หวยบำเหน็จ’ หรือนวัตกรรมการซื้อหวยที่กลายมาเป็นเงินออม เรียกในชื่อทางการว่า ‘สลากการออมแห่งชาติ’ ซึ่งคนรักหวยยังได้ลุ้นเลขท้าย 2 ตัว 3 ตัวเหมือนเดิม แต่เงินที่ซื้อไปก็กลายเป็นเงินออมที่มีเงินปันผลให้ และเมื่ออายุ 60 ปี จะได้รับเงินทั้งหมดคืน รวมทั้งดอกเบี้ยด้วย (ถ้าเสียชีวิตก่อน ก็ตกทอดให้ลูกหลาน) แต่หวยนี้ไม่ได้ออกสองครั้งต่อเดือนเหมือนหวยทั่วไป จะออกเพียงเดือนละครั้งเท่านั้น
หวยบำเหน็จ เข้ามาตอบคำถามว่า เราจะทำให้คนไทยมีวัฒนธรรมการออมได้อย่างไร แต่แทนที่จะเพิ่มดอกเบี้ยเงินฝากเพื่อดึงดูดใจ ก็ทำ ‘หวย’ ที่คนซื้อกันเพื่อสะสมความหวังในชีวิตอยู่แล้ว ออกมาเป็นเงินออมที่เห็นเป็นรูปธรรม อาจเรียกว่าเป็นหมัดฮุกที่ทำให้หลายๆ คนต้องโพล่งออกมาว่า “คิดได้ไง”
สรุปนโยบาย
|
พลังประชารัฐ : สารพัดสิ่งล้ำๆ จำนวนมาก
แม้จะโดนค่อนขอดว่าเป็นพรรคที่กลุ่มเป้าหมายอาจดูหน้าตาไม่ทันสมัย แต่น่าสนใจว่าหากเปิดเข้าไปดูนโยบายพรรคในด้านเศรษฐกิจ จะพบคลังศัพท์ทันสมัยจำนวนมาก เหมือนกับว่าลิสต์คำเหล่านั้นมาเป็นแกนหลักใช้ร่างนโยบาย เช่น อินเทอร์เน็ต 5G อีคอมเมิร์ส เว็บไซต์ สตาร์ตอัป ฟรีแลนซ์ เศรษฐกิจแบ่งปัน (sharing economy) Hackathon ฯลฯ บอกว่าทั้งหมดนี้ รัฐจะสนับสนุนเต็มที่
หากตีความโดยรวมอาจพูดได้ว่า พรรคพลังประชารัฐมุ่งจะพัฒนาเศรษฐกิจให้คึกคักขึ้นด้วยการ ‘สร้าง’ สิ่งใหม่ๆ เห็นได้จากตัวเลขตั้งเป้ามากมาย “สร้าง 5 ล้าน Smart SMEs / 1 ล้าน Smart Farmers / 1 ล้าน Startups / 1 ล้าน Makers และ 1 ล้านร้านค้าปลีกชุมชน” โดยการให้ทั้งเงินทุนและการศึกษา นอกจากนี้ ยังจะจัด Hackathon ทุกงานสายอาชีพ นำมาเป็นโครงการเพื่อพัฒนาประเทศไทย แล้วทำจริงใน 1 ปี
ส่วนปัญหาคาใจเก่าๆ อย่างนโยบายด้านการเกษตร พรรคพลังประชารัฐก็ชูชุดตัวเลข “3 เพิ่ม 3 ลด” ซึ่งรัฐเข้าไปจัดการหรือให้อะไรบางอย่างกับเกษตรกร เช่น ลิสต์รายชื่อพืชและสัตว์เศรษฐกิจ ให้นวัตกรรม ให้เงินกู้ พักหนี้ ประกันภัยพืชผล ให้แหล่งน้ำ ปุ๋ยและน้ำมันประชารัฐ อย่างไรก็ตาม ในแง่การตลาดและการขาย มีเพียงการชะลอการขายและการขายตรงออนไลน์มาตอบโจทย์เรื่องราคา
ส่วนการสนับสนุนเศรษฐกิจแบ่งปัน ได้แก่ การมีศูนย์เครื่องมือทางการเกษตรประจำหมู่บ้าน ให้ทุกคนเช่ายืมในราคาถูก และโรงไฟฟ้าชุมชนที่ไม่ขึ้นตรงกับ กฟผ. สร้างแพลตฟอร์มบ้านของผู้สูงอายุกับนักเรียนต่างถิ่นได้แชร์กัน ธุรกิจเปิดบ้านให้นักท่องเที่ยวเช่าได้ถูกต้องตามกฎหมายและเก็บภาษีเงินได้
สรุปนโยบายเศรษฐกิจพรรคพลังประชารัฐเมนูหลัก1. ยกระดับความสามารถผู้ผลิต 2. การเกษตรประชารัฐ 4.0 ด้วยนโยบาย “3 เพิ่ม 3 ลด” : เพิ่มราคา ทางเลือก นวัตกรรม / ลดภาระหนี้ ความเสี่ยง และต้นทุน 3. กระจายรายได้ด้วยการท่องเที่ยวชุมชน 4. ชูเศรษฐกิจสร้างสรรค์และเศรษฐกิจแบ่งปัน 5. เศรษฐกิจชีวภาพ อุตสาหกรรมหมุนเวียน นวัตกรรมสีเขียว 6. โครงสร้างพื้นฐานแห่งอนาคต เช่น 5G 7. ลดอุปสรรค เพิ่มโอกาสในการดำเนินธุรกิจ ปฏิรูประบบราชการ ของหวาน
|
อนาคตใหม่ : รื้อก่อนสร้าง
ในมุมตรงกันข้ามกับพรรคพลังประชารัฐที่จะสร้างสารพัดสิ่งใหม่ พรรคอนาคตใหม่เริ่มไปตั้งต้นที่การรื้อระบบที่เป็นอยู่ ทำลายทุนผูกขาดทั้งหลาย กำจัดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมของธุรกิจน้อยใหญ่ตั้งแต่เริ่ม ด้วย 4 นโยบายหลัก ได้แก่
- การผูกขาดจากสัมปทานต่างๆ ของรัฐ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ ดิวตี้ฟรี บริการสาธารณะต่างๆ จัดการประมูลให้โปร่งใส เพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาเป็นผู้เล่น
- แก้กฎหมายที่เอื้อให้เกิดการผูกขาดหรือกีดกันการแข่งขันทางการค้า เช่น อุตสาหกรรมเหล้าและเบียร์ ที่จากเดิมจะผลิตเบียร์ขายในที่สาธารณะได้ กำลังการผลิตขั้นต่ำอยู่ที่ 10 ล้านลิตร / ปี ซึ่งเอื้อต่อรายใหญ่และกีดกันรายย่อย
- ลดการผูกขาดการเข้าถึงแหล่งทุน จากเดิมมีธนาคารพาณิชย์ 10 กว่าแห่งที่ต่างมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ ทั้งหมด พรรคจะเปิดใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคารเพิ่มขึ้น โดยมีเงื่อนไขว่าธนาคารใหม่นี้จะต้องมีสำนักงานใหญ่อยู่ต่างจังหวัด
- บังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้าอย่างจริงจัง แม้ประเทศไทยจะกฎหมายป้องกันการฮั้วราคา ป้องกันการใช้มาตรการทางการตลาดต่างๆ กีดกันคู่แข่งรายใหม่ อยู่แล้ว แต่ไม่เคยถูกบังคับใช้จริงจัง
ส่วนในด้านการเกษตร นอกจากประเด็นเกษตรก้าวหน้าที่เน้นลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร พรรคอนาคตใหม่เสนอการ ‘ปลดล็อก’ ทั้งที่ดินและหนี้สิน สองตัวการสำคัญที่ทำให้เกษตรกรพัฒนาได้ยาก
ด้านที่ดิน ได้แก่ ระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับประชาชนที่ต้องการเพียงที่ดินทำกิน สะสางพื้นที่ป่าด้วยการขีดเส้นใหม่และแก้กฎหมายป่าไม้ที่ซ้ำซ้อน จัดการพื้นที่ให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้ ชุมชนทำงานร่วมกับกับองค์กรปกครองท้องถิ่น และออกเอกสารสิทธิ์ในพื้นที่ที่หมดสภาพป่าไปแล้วให้สอดคล้องกับความเป็นจริง (เช่น เป็นพื้นที่ที่หน่วยงานราชการเข้าไปใช้งานปลูกสร้างอาคารต่างๆ แล้ว)
ด้านการปลดล็อกหนี้ พรรคอนาคตใหม่ไม่ได้เลือกใช้วิธีการพักหนี้เหมือนพรรคเพื่อไทยหรือพรรคพลังประชารัฐ แต่เสนอการ ‘ปลดหนี้’ โดยตั้งวงเงินไว้ 4,000 ล้านบาท
สรุปนโยบายเศรษฐกิจพรรคอนาคตใหม่
|
ประชาธิปัตย์ : กระจายรายได้ กระจายความเจริญ
ถือเป็นพรรคที่เสนอนโยบายทางเศรษฐกิจมามากมายหลากหลายด้าน แถมยังเน้นคำว่า ‘การเมืองสุจริต’ มาเป็นจุดขายเมื่อไม่นานมานี้ และโดยภาพรวม พรรคเน้นไปที่คำว่า ‘กระจาย’ ทั้งกระจายรายได้ระหว่างชั้น และกระจายความเจริญระหว่างเมือง
นโยบายทางเศรษฐกิจหลักๆ ของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นการเข้าไปช่วยเหลือคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 120,000 บาทต่อปี ทั้งในด้านที่ดิน รายได้ แหล่งน้ำ ประกอบด้วยโครงการโฉนดสีฟ้า ซึ่งจะให้ชุมชนจัดการที่ดินตัวเองตาม พ.ร.บ. โฉนดชุมชน ทำให้ที่ดิน ส.ป.ก. กู้ได้ และสืบทอดถึงลูกหลานได้ จัดตั้งกองทุนน้ำชุมชน เพื่อให้เกษตรกรมีน้ำใช้ตลอดปี ประกันรายได้เกษตรกรและแรงงาน มีเบี้ยให้ผู้สูงอายุและผู้ยากไร้ (รายได้ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อปี)
ส่วนเศรษฐกิจในภาพรวม คือการเปลี่ยนตัวชี้วัดเศรษฐกิจ จาก GDP เป็น PITI (Prosperity Index Thailand Initiative) เรียกเก๋ๆ ว่า “ปิติ” ซึ่งจะดูทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมมหานคร พัฒนา 12 มหานคร กระจายความเจริญ ลดความเหลื่อมล้ำ
จะมีการแก้ระบบภาษี ด้วยแนวคิด “เก็บคนรวย ดูแลคนรายได้ปานกลาง และให้สวัสดิการพื้นฐานแก่คนยากจน” เช่น เก็บภาษีหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เก็บภาษีจากธุรกิจที่มีการผูกขาดและมีสิทธิในการกำไรสูงกว่าผู้ประกอบการทั่วไปเพราะใบอนุญาตประเภทพิเศษที่ได้จากรัฐ เป็นต้น
ต่างจากพรรคเพื่อไทยและประชารัฐที่จะพักหนีั้ หรืออนาคตใหม่ที่จะปลดหนี้เกษตรกร พรรคประชาธิปัตย์จะแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ หนี้บัตรเครดิต และหนี้เกษตรกร ด้วยการร่าง พ.ร.บ.บัตรเครดิตให้คิดดอกเบี้ยให้เป็นธรรม รีไฟแนนซ์หนี้นอกระบบเข้าในระบบ และไม่ให้ ธ.ก.ส. ยึดที่ดินทำกินของเกษตรกรที่เข้าโครงการแก้หนี้
ส่วนมุมมองการออม พรรคจะรองรับสังคมสูงอายุด้วยการยกระดับกองทุนการออมแห่งชาติ แต่ในส่วนนี้ไม่ได้ลงรายละเอียดว่าทำอย่างไร
เช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ และพรรคอนาคตใหม่ พรรคประชาธิปัตย์จะปฏิรูประบบราชการ นอกจากนี้จะปรับปรุงกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างและผลักดันสตาร์ตอัปให้เชื่อมโยงกับรัฐ
ปัญหาการเกษตร นอกจากสนบัสนุนเรื่องที่ดินและแหล่งน้ำ พรรคจะส่งเสริมเกษตรกรเป็น ‘ผู้ประกอบการ’ ทางการเกษตร เน้นการพัฒนาการบริหารจัดการ กระบวนการผลิต R&D แปรรูป แบรนดิ้ง การตลาด และให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันเข้าถึงตลาดได้เอง
สรุปนโยบายเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์เมนูหลัก
เมนูของหวาน
|
นโยบายพรรคอื่นๆ
พรรครวมพลังประชาชาติไทย
- ให้เกษตรกรขายพืชผลหลัก เช่น ข้าว ข้าวโพด ยางพารา ปาล์ม และมันสำปะหลัง แล้วมีกำไรไม่น้อยกว่า 100% ของต้นทุนการผลิต
- ตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษทุ่งกุลา เป็นต้นแบบความพอเพียง เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เชิงโบราณคดี และเชิงวัฒนธรรมไปด้วย
- มีมาตรการดูแลผู้ที่ถูกปลดออกจากงานจากสภาวะทางเศรษฐกิจหรือการเปลี่ยนแปลงใหญ่ทางเทคโนโลยี ด้วยการให้เงินสงเคราะห์เป็นเวลา 12 เดือนเพื่อตั้งตัวใหม่
- อนุญาตและส่งเสริมให้เกษตรกรและชุมชนปลูกไม้ยืนต้นที่เคยเป็นไม้หวงห้าม เช่น ไม้สัก ไม้พะยูง เพื่อการใช้สอยเองหรือจำหน่าย
- เปลี่ยน ส.ป.ก.4-01 ให้เป็นโฉนด (โฉนดหลังแดง) ห้ามซื้อขาย แต่สามารถนำไปใช้ในการค้ำประกันการกู้ยืมหรือใช้ประกันตัวเมื่อมีคดีได้
พรรคความหวังใหม่
- ทบทวนสัมปทานที่ไม่เป็นธรรม
- น้ำมันราคาถูก
- ประกันราคาพืชผล
พรรคประชาชนปฏิรูป
สนับสนุนการปลูกต้นไม้โตไว้ แก้ปัญหารายได้
พรรคประชาธิปไตยใหม่
จัดตั้งโรงพยาบาลรักษาหนี้ ปลูกต้นไม้ใช้หนี้
พรรคเครือข่ายชาวนา
ออกกฎหมายเก็บภาษีสินค้าทุนทางการเกษตร
พรรคพลังชาติไทย
5 โครงการหาเงิน “หาเงินก่อน ทำนโยบาย” 1. ขุดคลองไทย 2.เปิดสถานบันเทิงครบวงจรแบบลาสเวกัส 3. ทำเกษตรอินทรีย์ทั้งประเทศ 4. การท่องเที่ยวมาตรฐานสากล 5. เปิดศูนย์กลางการเงินโลก
พรรคพลังท้องถิ่นไท
หนุนสินค้าชุมชนเป็นสินค้าสวัสดิการของรัฐ
พรรคพลังไทยดี
ปลดหนี้ กยศ. ด้วยการทำความดี
พรรคมหาชน
ยกเลิก พ.ร.บ. การค้าประเวณี และตั้งคาสิโนได้แบบมีเงื่อนไข
พรรคประชานิยม
ให้นายจ้างจ่ายเงินประกันสังคมแทนลูกจ้าง
พรรคทางเลือกใหม่
กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการให้สินเชื่อผ่านเจ้าบ้านที่มีชื่อในทะเบียนบ้าน
พรรคแทนคุณแผ่นดิน
- มีรายได้ระหว่างเรียน
- ได้รับเอกสารสิทธิที่ดินทับซ้อน
พรรคประชาภิวัฒน์
- สนับสนุนเบี้ยยังชีพแม่เลี้ยงเดี่ยว 10,000 บาทต่อเดือน
- ล้างประวัติเครดิตบูโร
พรรคไทยรักธรรม
มุ่งให้ประชาชนมีอาชีพเสริมนอกจากอาชีพหลัก และจัดหาตลาดให้
พรรคชาติไทยพัฒนา
พัฒนาเศรษฐกิจด้วยการท่องเที่ยว
อ้างอิง
- https://www.nep.or.th/policy/
- https://www.prachachat.net/politics/news-299325
- https://www.posttoday.com/politic/news/580914
- https://act-party.org/party-policy/
- https://www.thairath.co.th/content/1522605
- https://www.youtube.com/watch?v=5FzmvsW30SQ
- https://pprp.or.th/%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%A9%E0%B8%90%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90/
- https://www.msn.com/th-th/news/politics
- https://futureforwardparty.org/about-fwp/our-policies/%E0%B8%97%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%A9%E0%B8%90%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%94
- https://futureforwardparty.org/about-fwp/our-policies/%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B2
- https://www.ptp.or.th/page/policy
- แอปพลิเคชัน SmartVote