จะดีแค่ไหน ถ้าไม่มีคนที่ต้องถูกด่าว่า “พวกไม่มีการศึกษา” ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยนัย เพราะทุกคนมีสิทธิได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน —นั่นคงเป็นภาพฝันอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทยที่หลายคนอยากให้เกิดขึ้น และความหวังของเรานั้นก็คงอยู่ที่รัฐบาลชุดที่กำลังจะมาถึง …

เพราะการศึกษาคือรากฐานที่สำคัญที่สุด และเป็นปัญหาที่ต้องการการแก้ไขอย่างที่สุด หลายปีมานี้ เราพบเห็นปัญหาเกี่ยวกับการศึกษาไทยมากมาย ตั้งแต่ที่เห็นภาพชัดอย่างเรื่องการคัดเลือกนักเรียนเข้าโรงเรียน ‘ดีๆ’ ที่โยงไปถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา คุณภาพครู คุณภาพการเรียนการสอน จนถึงคุณภาพของบุคลากรที่เป็นผลผลิตทางการศึกษา ประสิทธิภาพของกระทรวงศึกษาธิการ ฯลฯ จึงอยากชวนมาดูกันว่านโยบายด้านการศึกษาของพรรคการเมืองต่างๆ ที่อาสาเข้ามาบริหารประเทศจะพาเราไปใกล้ภาพฝันนั้นได้มากแค่ไหน

ทั้งหมดนี้สรุปจากเวทีปราศรัย การแถลงนโยบายของพรรคการเมือง รายการเสวนา ฯลฯ น่าสนใจว่ามีหลายนโยบายที่แต่ละพรรคเห็นตรงกัน เช่น การให้ความสำคัญกับเด็กแรกเกิดจนถึง 8 ขวบ, การสนับสนุนเป็นเงินก้อนให้กับแต่ละครอบครัว, การให้ความสำคัญกับการเรียนสายอาชีพ, คืนครูให้ห้องเรียน หรือการปรับโครงสร้างกองทุนกู้ยืมทางการศึกษา ฯลฯ ส่วนรายละเอียดจะเป็นอย่างไรนั้น มาว่ากันไปเป็นพรรคๆ

พรรคอนาคตใหม่

พรรคชี้ให้เห็นว่า “ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เป็นรากฐานของปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ” (ที่ประเทศไทยมีอยู่สูงปรี๊ด) โดยอนาคตใหม่เสนอนโยบายปฏิวัติการศึกษา ที่มีหัวใจหลักคือ ‘เมกะโปรเจกต์ 1 แสนล้านบาท ใช้ในระยะเวลา 3 ปี’

โดยเงินก้อนใหญ่นี้ ทางพรรคแจกแจงว่าจะนำไปใช้ในการ

  • ศูนย์เลี้ยงเด็กคุณภาพ 20,000 โรงทั่วประเทศไทย เป็นสำคัญ

  • ยกระดับอุปกรณ์การเรียน ห้องสมุด และไว-ไฟ ในโรงเรียนทั้งหมด 17,000 แห่งทั่วประเทศ

  • ยกระดับอุปกรณ์ฝึกทักษะในสถาบันฝึกอาชีวะ 900 แห่ง ทั่วประเทศไทย

นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีก ได้แก่

  • เงินสนับสนุนเยาวชน/เงินเดือนเยาวชน มอบเงินค่ายังชีพให้คนที่อยู่ในระบบการศึกษา ดึงงบมาจากการจัดสรรภาษีใหม่ และการจัดสรรงบประมาณใหม่

  • มอบเงินสนับสนุนการศึกษาเดือนละ 1,200 บาทให้พ่อแม่

  • นักโภชนาการ 1 คน ต่อ 1 เขตการศึกษา เพราะอาหารคือพื้นฐานที่ดีที่สุด

  • ยุบโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการที่ไม่จำเป็น

  • ยุบโครงการที่ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียนทิ้ง

  • งบประมาณที่ยิงตรงมาที่โรงเรียน คณะกรรมการโรงเรียนจาก 8 กลุ่มที่อยู่ใกล้ชิดที่สุด นักเรียนเอง ครูอาจารย์ และคนในท้องถิ่น โดยข้อมูลในการบริหาร ต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ

  • ปรับหลักสูตร ลดการท่องจำ เพิ่มทักษะชีวิตและอาชีพ วิชาหลักน้อยลง วิชาเลือกมากขึ้น

  • สนับสนุนการฝึกงานตั้งแต่ ม.ต้น และได้รับค่าตอบแทนในการฝึกงาน

  • ลดภาระทางธุรการและเอกสาร ให้ครูได้สอนอย่างเต็มที่

  • สร้างครูต้นแบบจากครูรุ่นใหม่ โรงเรียนละ 1 คน

  • สนับสนุนให้เกิดการตัดสินใจร่วมกันระหว่างสภานักเรียน โรงเรียน และผู้ปกครอง

  • ปรับข้อสอบให้สนับสนุนวิธีการคิด ไม่ใช่ท่องจำ

พรรคเพื่อไทย

“ครั้งนี้เพื่อไทยเอาจริงเรื่องการศึกษา และให้ความสำคัญกับมันมาก โจทย์เราเข้าใจชัด และเราจะจ่ายยาตามโรคที่มี” —นพดล ปัทมะ คณะทำงานนโยบายการศึกษา พรรคเพื่อไทย

เพื่อไทยชูนโยบายสายคล้องจองอย่าง “เรียนก่อน ผ่อนทีหลัง” เป็นตัวเด่น นอกจากนี้พรรคเพื่อไทยมุ่งแก้ปัญหาหลัก 3 ข้อ นั่นคือ 1) ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา 2) พัฒนาคุณภาพการศึกษาในทุกช่วงชั้นเรียน 3) พัฒนาการบริหารจัดการด้านการศึกษา ให้ท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการจัดการมากขึ้น มีรายละเอียดคือ

  • เรียนฟรี 15 ปี ต้องฟรีจริงๆ รัฐต้องจัดสรรงบประมาณให้ได้ เติมเม็ดเงินในกองทุนความเสมอภาคทางการศึกษา

  • เปลี่ยน กยศ. เป็น “เรียนก่อน ผ่อนทีหลัง” ผ่อนเมื่อมีงานทำและมีรายได้ ปลดผู้ค้ำประกันออกไป ไม่เก็บดอกเบี้ย ชำระเรียบร้อยชำระประวัติ

  • ยกระดับ‘smart day care ศูนย์ดูแลเด็กเล็ก 20,000 แห่งทั่วประเทศ’ ต้องมีมาตรฐานระดับชาติ

  • เพิ่มเม็ดเงินในการศึกษาปฐมวัย ที่เป็นพื้นฐานสำคัญ

  • ICL กองทุนกู้ยืมด้านการศึกษาต้องยังคงอยู่

  • One Laptop per Child แล็ปท็อปหนึ่งเครื่องต่อเด็กหนึ่งคน

  • ดึงดูดให้คนเรียนอาชีวะมากขึ้น

  • ปรับบทบาทมหาวิทยาลัย บางคณะต้องยุบ เพราะเด็กเกิดน้อยลง

  • ปรับการจัดสรรงบประมาณโรงเรียน ไม่ใช่นับรายหัว โรงเรียนเด็กน้อยได้น้อย โรงเรียนเด็กเยอะได้เยอะ

  • คืนครูให้ห้องเรียน ครูต้องใช้เวลาเพื่อการสอนมากกว่าการจัดการ

  • ลดขนาดห้องเรียน ให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพมากขึ้น

  • คืนโรงเรียนให้ผู้ปกครอง ให้ครูและผู้ปกครองได้สื่อสารกันมากขึ้น เพื่อการพัฒนาแนวทางการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ

  • โครงการหนึ่งอำเภอสองภาษา เด็กไทยจะต้องสื่อสารได้ทั้ง 3 ภาษา (ไทย อังกฤษ และจีน) ผ่านครูเจ้าของภาษา และต่อยอดทักษะภาษาอังกฤษให้ดียิ่งขึ้น

  • ปรับปรุงหลักสูตร ไม่ใช่นกแก้วนกขุนทอง ต้องเป็นนกอินทรี

พรรคประชาธิปัตย์

ทางฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ มากับ 7 เป้าหมาย มุ่งไปที่เด็กและเยาวชน ได้แก่ 1) ให้เด็กและเยาวชนมีสุขภาพแข็งแรง 2) ให้เด็กคิดวิเคราะห์ และนำความรู้ไปใช้ได้ 3) คนไทยต้องใช้สองภาษาได้เป็นอย่างต่ำ 4) ใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ได้ 5) มีคุณธรรมและจิตสาธารณะ 6) เข้าใจสิทธิและหน้าที่ตัวเอง 7) มีทักษะชีวิต เช่นการจัดการเรื่องการเงิน

ส่วนวิธีการ มี 10 ข้อ ได้แก่

  • ‘เกิดปั๊บ รับสิทธิเงินแสน’ โดยเงิน 1 แสน แบ่งเป็นแรกเกิด ให้ทันที 5,000 บาท หลังจากนั้นให้เงิน 1,000 บาทต่อเดือน จนกว่าจะอายุครบ 8 ปี (ย้ำว่านี่ไม่ใช่ประชานิยม แต่เป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐาน)

  • ศูนย์เด็กเล็กคุณภาพดีทั่วไทย ต้องการให้มีในทุกชุมชน

  • สนับสนุนอาหารเช้าและอาหารกลางวันฟรี มีคุณภาพ ปลอดคอร์รัปชันในโรงเรียน

  • ปรับการเรียนการสอน ให้เด็กพูดได้สองภาษา นำชาวต่างชาติมาสอนตั้งแต่อนุบาล ตามที่สำเร็จมาแล้วในโครงการนำร่องที่จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งต้องขยายไปทั่วประเทศ

  • ยกเครื่องระบบการศึกษาให้มีคุณภาพในทุกช่วงชั้น ใครเก่งเรื่องไหน พุ่งไปสู่การต่อยอดได้ โดยไม่มีสายวิทย์-สายศิลป์มาขวางกั้น ให้สอบเฉพาะวิชาที่จำเป็นต่อการเรียนต่อ

  • สนับสนุนให้คนเรียนต่อในสายอาชีพ ให้มีอัตรา 50-50 ต่อคนเรียนสายสามัญ เพราะเราขาดบุคลากรด้านนี้ ให้ทุนเรียนฟรีถึงระดับ ปวส. และร่วมมือกับเอกชนในการฝึกอาชีพ หาพื้นที่รองรับหลังเรียนจบ

  • ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ให้คูปองกับผู้ใหญ่ ในการฝึกทักษะหรือเรียนรู้ในหลักสูตรต่างๆ

  • ‘คืนครูให้นักเรียน’ จ้างบุคลากรด้านธุรการและเอกสาร ใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย ให้ครูได้ทำหน้าที่สอนจริงๆ

  • ‘กองทุน Smart Education’ ตั้ง สสก. (นึกภาพ สสส.แต่ทำงานด้านการศึกษา) เปิดให้เอกชนเข้ามาช่วยสนับสนุนการศึกษา

  • กระจายอำนาจออกจากกระทรวงศึกษาธิการ ให้ชุมชนมีส่วนในการบริหาร ให้โรงเรียนทั่วประเทศได้ใช้งบประมาณจัดหาสิ่งที่ต้องการจริงๆ ให้สอดคล้องกับปริมาณนักเรียน

พรรคพลังประชารัฐ

พรรคกล่าวว่าอยากสนับสนุนการศึกษานอกโรงเรียน ที่จะนำไปสู่การใช้ชีวิตและการสร้างอนาคต โดยมีนโยบายที่เห็นภาพ เช่น

  • ‘ธนาคารเพื่อการศึกษา’ สร้างระบบที่ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

  • ให้ชุมชนและผู้ปกครองมีส่วนในการดูแลระบบการศึกษาในโรงเรียน แทนกระทรวงศึกษาธิการ

  • ขยายโรงเรียนประชารัฐร่วมพัฒนา จาก 77 แห่ง เป็น 1,000 แห่งทั่วประเทศ

  • ให้เด็กเรียนเรื่อง coding และเทคโนโลยี AI ตั้งแต่ มัธยมปลาย

  • แจก ‘ซิมประชารัฐพัฒนาการเรียนรู้’ ให้ใช้อินเทอร์เน็ตราคาถูกกว่าปกติ

  • ปลดหนี้ครู – หนี้ กยศ.

  • ประกันรายได้หลังเรียนจบปริญญาตรี เริ่มต้นที่ 18,000 บาท

พรรคภูมิใจไทย

  • กระจายอำนาจในการจัดการงบประมาณ ไม่ได้มาจากส่วนกลางอย่างเดียว

  • ปรับโครงสร้างหนี้ กยศ. (ซึ่งตอนนี้มีคนที่ค้างอยู่ในระบบ 4 ล้านคน)

  • สนับสนุนการศึกษาออนไลน์ ให้เด็กเรียนรู้ด้วยตัวเองตั้งแต่ระดับประถมศึกษา

  • สนับสนุนนวัตกรรมส่งเสริมการเรียนรู้

พรรคชาติไทยพัฒนา

  • ให้ลูกหลานเกษตรกรเรียนฟรีถึงระดับปริญญาตรี เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการเกษตรอย่างต่อเนื่อง

  • การศึกษาขั้นพื้นฐานเรียนฟรีทั้งหมด

  • ชวนครูกลับมาสอนและพัฒนาบ้านเกิด

  • กระจายอำนาจและการจัดการงบประมาณไปสู่ชุมชน

  • ปรับหลักสูตรการศึกษา นำเทคโนโลยีมาช่วยในการเรียนการสอน มีตำราเรียนสำหรับกลุ่มบุคคลพิเศษ เช่นผู้พิการ ออทิสติก หรือเด็กอัจฉริยะ

  • นำกระทรวงศึกษาธิการออกจากระบบการเมือง หารัฐมนตรีคนกลางที่จะไม่ถูกโยกย้ายจากการแบ่งเค้กทางการเมือง

พรรคชาติพัฒนา

พรรคให้ความสำคัญกับความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา รวมถึงเด็กด้อยโอกาสและเด็กพิเศษที่แท้จริงแล้วมีศักยภาพ จนถึงการกีฬา และลดช่องว่างของครอบครัว

  • สนับสนุนการเรียนให้พัฒนา

  • สนับสนุนให้เด็กใช้ภาษาได้อย่างน้อย 3 ภาษา

  • ทุนครูเทคโนโลยี อำเภอละ 1 ล้านบาท

  • ส่งเสริมอุทยานการเรียนรู้ ควบคู่ไปกับการกีฬา

ที่มา:

https://www.youtube.com/watch?v=c4JFfFhcAcY กุลธิดา

https://www.youtube.com/watch?v=dOpu1-cM5Yo ร่วมพูดคุยกับ ‘นพดล ปัทมะ’ คณะทำงานนโยบายการศึกษา พรรคเพื่อไทย, ‘กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ’ รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และ ‘พะโยม ชิณวงศ์’ คณะทำงานยุทธศาสตร์ พรรคภูมิใจไทย

https://www.youtube.com/watch?v=gvv7kEshXHM พรรคประชาธิปัตย์ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

https://www.matichon.co.th/politics/news_1390460

https://campus.campus-star.com/variety/101217.html

https://news.thaipbs.or.th/content/278195

 

Tags: , , , ,