ย้อนกลับไปวันที่ 13 สิงหาคม 2565 เกิดเหตุการณ์ระทึกขวัญ หลังนักเขียนชื่อดังชาวอังกฤษเชื้อสายอินเดีย ‘ซัลมัน รัชดี’ (Salman Rushdie) ถูกชายนิรนามคนหนึ่งจู่โจมทำร้ายอย่างอุกอาจด้วยการชกต่อย พร้อมใช้มีดปลายแหลมแทงบริเวณท้องและลำคอ ขณะกำลังขึ้นเวทีบรรยายในงานวิชาการของสถาบันเชาทากัว รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐฯ ต่อหน้าผู้เข้าร่วมงานกว่า 2,500 ราย ก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐนิวยอร์กจะเข้าจับกุมผู้ก่อเหตุทันควัน

นับเป็นโชคดีของซัลมันที่รอดพ้นจากความตาย แต่จากการถูกทำร้ายก็อาจส่งผลให้เขากลายสถานะเป็นผู้พิการ หลังแพทย์วินิจฉัยว่าดวงตาของเขาเสียหายอย่างหนัก เส้นประสาทที่แขนข้างหนึ่งถูกตัดขาด ตับถูกแทงจนเสียหายอย่างหนัก ยังไม่นับรวมบาดแผลทางจิตใจหลังหายเป็นปกติ

เวลาต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐนิวยอร์กเปิดเผยว่าผู้ที่ทำร้ายซัลมันคือ ฮาดี มาร์ทา อายุ 24 ปี จากเมืองแฟร์วิลล์ รัฐนิวเจอร์ซีย์ ที่แม้จะยังไม่มีการเปิดเผยถึงแรงจูงใจ แต่ก็มีการคาดการณ์ว่าชนวนเหตุแห่งความอาฆาตคงหนีไม่พ้นงานเขียนของซัลมันที่มีชื่อว่า ‘โองการปีศาจ’ (The Satanic Verses) นวนิยายเรื่องดังในปี 1988 ที่ถูกมองว่ามีเจตนาดูหมิ่นศาสนาและศาสดาของชาวมุสลิม ซึ่งรุนแรงถึงขั้นที่ อยาตอลเลาะห์ โคไมนี (Ayatollah Khomeini) อดีตผู้นำทางจิตวิญญาณของการปฏิวัติอิสลามเคยตั้งค่าหัวซัลมัน จนต้องหลบหนีและกลายเป็นผู้ลี้ภัยนานกว่า 5 ทศวรรษ

ไม่ใช่แค่กรณีของซัลมันเท่านั้น ที่กลุ่มคนในวิชาชีพสื่อสารมวลชนถูกกลุ่มผู้ศรัทธาศาสนาหัวรุนแรงทำร้าย เพราะหากย้อนกลับไปเมื่อปี 2015 สำนักพิมพ์ชาร์ลี เอบโด ก็ถูกกลุ่มผู้ก่อการร้ายกราดยิงด้วยอาวุธสงครามจนมีผู้เสียชีวิต 12 ราย สาเหตุเพราะที่ตีพิมพ์การ์ตูนล้อเลียนศาสดามูฮัมหมัด

Ways of Being Wild EP นี้ มิได้มีเจตนาชี้นำให้เกิดความเกลียดชังต่อพี่น้องเพื่อนร่วมโลกชาวอิสลาม แต่อยากชวนคุณผู้ฟังมาร่วมวิเคราะห์หาสาเหตุจากกรณีของการทำร้ายซัลมัน รัชดี ว่าเหตุใดศาสนาจึงกลายเป็นเครื่องมือให้กลุ่มคนกลุ่มหนึ่งใช้เป็นข้ออ้างกระทำความรุนแรง รวมถึงมองมุมคนทำอาชีพสื่อฯ ว่าสมควรยกนิยามคำว่า ‘เสรีภาพ’ มาใช้วิพากษ์วิจารณ์หรือล้อเลียนความเชื่อของผู้อื่นได้โดยปราศจากบรรทัดฐานจริงหรือ?

Tags: ,